Monday, November 24, 2014

การประเมินราคาเป้าหมายด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานผสมการวิเคราะห์ทางเทคนิค (3)




เมื่อสองตอนที่แล้วลุงแมวน้ำได้แนะนำให้รู้จักการใช้เครื่องมือทางสายการวิเคราะห์ทางเทคนิคคือเครื่องมือฟิโบนาชชี เครื่องมือทางสายปัจจัยพื้นฐาน นั่นคือค่าพีอีล่วงหน้า นำมาใช้ร่วมกันในการประเมินราคาเป้าหมาย พร้อมกับยกกรณีศึกษาหุ้น Spali มาให้ดูกัน ในตอนนี้ลุงแมวน้ำจะลองยกกรณีศึกษามาให้ดูกันอีกหลายกรณี กรณีศึกษาที่จะยกมานี้ลุงแมวน้ำจะไปอย่างรวดเร็ว คือไม่อธิบายมากเหมือนในกรณี Spali เพราะถือว่ามีประสบการณ์มาบ้างแล้ว

กรณีศึกษา EA


EA เป็นหุ้นที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับพลังงานทดแทน มีทั้งการผลิตไบโอดีเซลและโรงไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่เป็นโซลาร์ฟาร์มแบบพีวี (Photovoltaic solar farm)

หุ้นในแนวผลิตโรงไฟฟ้านั้นที่จริงเป็นหุ้นมั่นคง (defensive stock) ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อตั้งโรงงานสำเร็จและดำเนินการผลิตไฟฟ้าขายแล้วจะสร้างรายได้ค่อนข้างสม่ำเสมอ เนื่องจากทำสัญญาขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าไว้แล้ว และโรงงานหนึ่งก็ผลิตไฟฟ้าได้ในปริมาณที่ค่อนข้างคงที่ คือเต็มกำลังการผลิตเท่าไรก็เท่านั้น จะไปเร่งรัดให้ผลิตมากกว่านั้นก็ไม่ได้ ดังนั้นรายได้ในอนาคตจึงมักคงที่และสม่ำเสมอ ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ แต่สำหรับตลาดหุ้นไทยนั้นเก็งกำไรในหุ้นพลังงานทดแทนโดยเฉพาะโซลาร์ฟาร์มกันอย่างดุเดือด

หุ้นพลังงานทดแทนโดยเฉพาะโซลาร์ฟาร์มนั้นสามารถคาดการณ์ผลประกอบการได้ค่อนข้างใกล้เคียง เนื่องจากการก่อสร้างโซลาร์ฟาร์มใช้เวลาประมาณ 9-12 เดือน ดังนั้นผู้ที่สร้างโซลาร์ฟาร์มในปี 2014 นี้ก็สามารถคาดการณ์รายได้ในปี 2015 ได้อย่างใกล้เคียง ส่วนผู้ที่สร้างในปี 2015 ไม่น่ารับรู้รายได้ทันในปี 2015

ลองมาดูแนวโน้มประมาณการผลประกอบการปี 2015 ของหุ้น EA กัน เข้าไปที่เว็บไซต์ settrade.com จะได้ค่าออกมาดังนี้




มีโบรกเกอร์ 2 รายประเมินกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ของ EA ในปี 2015 เฉลี่ยแล้วได้ EPS 2015F เป็น 0.80 บาท/หุ้น เราก็นำมาใส่ในตารางคำนวณ P/E ล่วงหน้า ดังนี้




หากมองจากค่า P/E ล่วงหน้า ราคาหุ้น 20 บาท forward P/E ที่ 25 เท่าก็ซื้ออนาคตปี 2015 ไปในราคาที่เรียกว่าไม่ถูกนัก

ทีนี้ลองมาดูการวิเคราะห์ทางเทคนิคดูบ้าง ดูภาพต่อไปนี้



จากเครื่องมือฟิโบนาชชีเป้าหมาย ราคาที่เป็นไปได้ในปี 2015 คือที่ระดับ 161.8% คือ 27.5 บาท หรือที่ระดับ 261.8% คือ 30.5 บาท

พิจารณาจากพีอีล่วงหน้าและระดับฟิโบนาชชีแล้ว ราคาที่เป็นไปได้และรองรับอนาคตปี 2015 คือที่ 27.5 บาท ซึ่งที่ราคานี้เป็นระดับพีอีล่วงหน้าประมาณ 35 เท่า ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ซื้ออนาคตอย่างแพงทีเดียว

ทีนี้มาดูกันต่อไปอีกนิดหนึ่ง ลองมานับคลื่นประกอบด้วย ดังภาพต่อไปนี้




จะเห็นว่าราคา 27.5 บาทในตอนนี้เป็นระดับราคาเป้าหมายที่ค่อนข้างแพงแล้ว รวมทั้งยังอาจจะจบคลื่น 5 อันเป็นคลื่นขาขึ้นลูกสุดท้ายแถวๆนี้ด้วย


กรณีศึกษา SPCG


SPCG เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หรือที่เรียกว่าโซลาร์ฟาร์มแบบพีวี จากการประเมินคาดว่าราคาเป้าหมายที่รองรับผลประกอบการปี 2015 น่าจะเป็น 56 บาท ซึ่งราคาแถวๆนี้เป็นพีอีล่วงหน้าประมาณ 22.5 เท่า จัดว่าเป็นราคาที่สมเหตุผล










กรณีศึกษา KTB


กลุ่มโรงไฟฟ้าเป็นกลุ่มที่คาดการณ์ผลประกอบการณ์ได้ง่าย เพราะแหล่งที่มาของรายได้ค่อนข้างแน่นอน ส่วนกิจการธนาคารนั้นคาดการณ์ผลประกอบการณ์ให้แม่นยำได้ยาก เนื่องจากรายได้หรือว่าผลประกอบการณ์ในอนาคตนั้นขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขันของธุรกิจธนาคารด้วยกัน ดังนั้นการประเมินจึงมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้มาก ยิ่งการคาดการณ์ทางปัจจัยพื้นฐานยากขึ้น การประเมินทางเทคนิคก็ยิ่งมีส่วนช่วย

กิจการธนาคารปกติไม่ค่อยดูค่าพีอีกัน แต่จะดูค่า P/B มากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม การประเมินของเราก็ยังใช้ค่าพีอีล่วงหน้า

เราจะไปกันอย่างเร็วๆ วิธีประเมินก็เช่นเดียวกับกรณีศึกษาก่อนหน้า แต่มีข้อควรระวังไว้นิดหนึ่ง นั่นก็คือ กิจการธนาคารมักเทรดกันที่พีอีไม่สูง แม้ในตลาดขาขึ้นแรงๆ พีอีของธนาคารก็มักต่ำกว่าพีอีของกิจการในอุตสาหกรรมอื่นๆ ดังนั้น ราคาประเมินควรกำหนดกรอบพีอีอย่าให้พีอีสูงนัก ในกรณีศึกษานี้ลุงแมวน้ำให้ค่าพีอีล่วงหน้าที่เหมาะสมไม่เกิน 15 เท่า







ผลการประเมิน เราก็ได้ราคาเป้าหมายที่รองรับผลประกอบการปี 2015 ของ KTB นั่นคือ หากปีหน้าภาวะตลาดเป็นขาขึ้น KTB ควรไปได้ถึงประมาณ 34 บาท

ลุงแมวน้ำยังมีกรณีศึกษาอีกนิดหน่อย คราวหน้าเราจะมาดูกรณีที่ประเมินยากๆ รวมทั้งการประเมินราคาเป้าหมายในยามตลาดขาลง

Wednesday, November 19, 2014

การประเมินราคาเป้าหมายด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานผสมการวิเคราะห์ทางเทคนิค (2)






ค่าที่เราจะนำมาใช้ก็คือ forward EPS ของปี 2015 ซึ่งในตารางนี้แสดงไว้ในคอลัมน์ EPS 2015F นั่นเอง (ในกรอบสีแดง)

แต่อย่างไรก็ดี ค่าที่แสดงในเว็บเพจหน้านี้เป็นลักษณะของการรวบรวมประมาณการของนักวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ต่างๆ หรือที่เรียกว่าเป็น consensus ดังนั้น หุ้นแต่ละตัวอาจมีนักวิเคราะห์เข้ามาให้ตัวเลขประมาณการมากน้อยไม่เท่ากัน สำหรับหุ้นศุภาลัยนี้มีนักวิเคราะห์ให้ค่าประมาณการเอาไว้ถึง 12 โบรกเกอร์ ซึ่งถือว่าเยอะทีเดียว

ในกรณี Spali นี้มี EPS 2015F (F หมายถึง forecast คือบอกว่าเป็นค่าประมาณการ) แล้วจะเอาค่าประมาณการค่าไหนมาใช้ดีล่ะ


แนวคิดในการเลือกค่าประมาณการของกำไรสุทธิต่อหุ้นล่วงหน้า (forward EPS)


ในกรณีที่มีค่า forward EPS ให้หลายๆค่า ลุงแมวน้ำมีหลักในการเลือกมาใช้ดังนี้

  1. ใช้ค่าเฉลี่ย หลักการนี้ก็คือการนำเอาค่า forward EPS ทั้งหมดมาเฉลี่ยกัน แล้วนำค่าเฉลี่ยที่ได้มาใช้
  2. ใช้ค่ามัธยฐาน (median) ค่าฐานนิยมเป็นค่ากลางของข้อมูลชนิดหนึ่ง อธิบายง่ายๆคือการเอาค่า forward EPS ทั้งหมดมากางเรียงกันจากน้อยไปมาก จากนั้นจิ้มเอาค่าที่อยู่กลางชุดข้อมูลมาใช้ สถานการณ์ที่เหมาะจะใช้มัธยฐานก็คือ ในบางกรณี ค่าประมาณการจากนักวิเคราะห์บางรายอาจโด่งออกไป เช่น สูงเว่อหรือต่ำเว่อ หากเรานำค่าเฉลี่ยมาใช้ ค่าเฉลี่ยที่ได้อาจคลาดเคลื่อนจากความจริงไปมาก การใช้ค่ามัธยฐานแทนกก็อาจช่วยลดความคลาดเคลื่อนได้
  3. ใช้ค่าที่เกาะกลุ่มกัน คือตัดค่าโด่งทิ้งไป เลือกเอาแต่ค่าที่เกาะกลุ่มกันมาเฉลี่ย (ภาษาคณิตศาสตร์เรียกว่าค่าฐานนิยมนั่นเอง) สถานการณ์ที่เหมาะจะใช้ค่าที่เกาะกลุ่มกันคือ ในกรณีที่มีค่าประมาณการหลายๆค่า และค่าประมาณการบางค่าโด่งออกไป หากมีค่าประมาณน้อยค่าก็ไม่เหมาะที่จะใช้
  4. เลือกค่าใดค่าหนึ่งจากโบรกเกอร์หรือนักวิเคราะห์ที่เราคิดว่าน่าเชื่อถือมากที่สุด เช่น หากเรารู้ว่าโบรกเกอร์รายใดชำนาญในการวิเคราะห์กลุ่มอสังหาริมทรัพย์มาก เราก็อาจเจาะจงเลือกค่าประมาณการจากโบรกเกอร์นั้นมาใช้

สำหรับกรณีศึกษาของลุงแมวน้ำนี้ ลุงแมวน้ำใช้ค่าเฉลี่ยก็แล้วกัน ค่าประมาณการของ EPS 2015F ที่ลุงแมวน้ำใช้ก็คือ 2.87 บาท/หุ้น

หมายเหตุไว้นิดหนึ่ง ที่ลุงแมวน้ำเลือกใช้ค่าเฉลี่ย 2.87 นั้น ที่จริงแล้วลุงแมวน้ำแอบไปอ่านบทวิเคราะห์หลายๆฉบับที่แสดงการคำนวณไว้ด้วย ลุงคิดว่าค่านี้น่าจะใกล้เคียงความจริง


การคำนวณราคาเป้าหมายจาก forward EPS และ forward P/E ratio

เมื่อเราได้ค่า EPS ล่วงหน้ามาแล้ว จากนั้นขั้นต่อไปเราก็จะนำค่านี้มาคำนวณราคาเป้าหมายที่ระดับพีอีล่วงหน้า (forward P/E ratio) ต่างๆกัน โดยใช้สูตรดังนี้

ราคาเป้าหมาย = EPS ล่วงหน้า คูณ พีอีล่วงหน้า

Target price = forward EPS x forward P/E ratio

ดังนั้น ถ้าเราต้องการรู้ว่าราคาเป้าหมายที่ค่าพีอีล่วงหน้า 15 เท่า เป็นเท่าไร ก็นำ 2.87 คูณด้วย 15 ได้เป็น 43.1 นั่นคือ ราคาเป้าหมาย ณ พีอีล่วงหน้า 15 เท่า คือ 43.1 บาท เป็นต้น

จากนั้นเราก็คำนวณราคาเป้าหมายที่ค่า พีอีล่วงหน้า ต่างๆ แล้วทำเป็นตาราง ดังนี้




ผลที่ได้จากตารางนี้ก็คือ ราคาเป้าหมายที่เป็นไปได้ ณ ค่าพีอีล่วงหน้าต่างๆนั่นเอง ลุงแมวน้ำเลือกใช้ช่วงของค่าพีอีล่วงหน้าตั้งแต่ 12.5 เท่า ไปจนถึง 25 เท่า ซึ่งราคาเป้าหมายที่พีอีล่วงหน้า 25 เท่าถือว่าซื้ออนาคตไปมากแล้ว ไม่ควรใช้ค่าพีอีล่วงหน้าที่สูงกว่านี้ เนื่องจากเป็นการคาดหวังที่เลิศลอยเกินไป

เอาละ ลุงแมวน้ำคำนวณราคาเป้าหมายด้วยวิธี EPS ล่วงหน้าได้มาตั้งหลายค่า แล้วจะเลือกใช้ค่าไหนดีล่ะ


ผสมเทคนิคกับปัจจัยพื้นฐาน



เราก็ย้อนไปดูที่กราฟรูปเดิมของเราที่ประเมินราคาเป้าหมายโดยใช้วิธีฟิโบนาชชี และดูว่ามีระดับฟิโบนาชชีอะไรบ้างที่สอดคล้องกับราคาเป้าหมายของวิธี EPS ล่วงหน้า




ผลปรากฏว่าที่ระดับฟิโบนาชชีสำคัญ 423.6% ได้ราคาเป้าหมาย 56 บาท




ส่วนวิธีคำนวณจาก EPS ล่วงหน้า ที่ค่าพีอีล่วงหน้า 20 เท่า ได้ราคาเป้าหมาย 57.4 บาท ค่าพีอีล่วงหน้า 20 เท่าสำหรับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในตลาดขาขึ้นเป็นค่าที่พีอีที่ไม่สูงนัก มีความเป็นไปได้ ดังนั้นราคาเป้าหมายของ Spali ที่รองรับผลประกอบการปี 2015 มีโอกาสไปได้ถึง 56-57 บาท


วิธีการนำราคาเป้าหมายไปใช้ในการลงทุน 


ราคาเป้าหมายของ Spali ที่ 56 บาทนี้เป็นราคาเป้าหมายที่มีโอกาสเป็นจริงสูง เพราะประเมินค่อนข้างอนุรักษ์นิยม การนำไปใช้ในการลงทุนก็คือ เมื่อราคาไปถึงใกล้ๆ 56 บาทแล้วไปต่อไม่ไหว ไหลลงมาจนเกิดสัญญาณขาย ก็ขายตามไป 

หากราคาไปเกิน 56 บาทก็ไม่ต้องทำอะไร ถือไปก่อน ไปไหนไปด้วย เมื่อใดที่ราคาไหลลงมาจนเกิดสัญญาณขายจึงค่อยขาย

ราคาเป้าหมายนี้ใช้ได้ถึงเมื่อใด โดยปกติแล้วตลาดหุ้นมักมองล่วงหน้าไปอย่างน้อย 6 เดือน ดังนั้น ราคานี้หากจะเกิดก็ควรเกิดไม่เกิน มิถุนายน 2015 หลังจากมิถุนายน 2015 ไปแล้ว นักลงทุนน่าจะใช้ราคาเป้าหมายของปี 2016 มากกว่า แต่นี่เป็นแนวคิดคร่าวๆเท่านั้น ในทางปฏิบัติคงต้องดูสถานการณ์เมื่อกลางปี 2015 มาถึงด้วย

ขายไปแล้วทำยังไงต่อ รอกลับเข้าลงทุนอีกได้หรือไม่ ข้อนี้ตอบยาก แนวคิดก็คือ ควรหาข้อมูล EPS 2016F มาพิจารณาก่อน หากผลประกอบการของหุ้นมีการเติบโตก็กลับเข้าลงทุนอีกได้ หาก EPS 2016F ทรงตัวหรือลดลงก็อาจมองหุ้นตัวอื่นไปดีกว่า 

วิธีประเมินราคาเป้าหมายโดยใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคผสมกับปัจจัยพื้นฐานนั้นยังเหมาะสำหรับผู้ที่ลงทุนในหุ้นหรือดัชนีต่างประเทศด้วย เนื่องจากการไปลงทุนในต่างประเทศนั้นข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานของหุ้นอาจหายากหรือหากมีก็อ่านไม่เข้าใจด้วยอุปสรรคทางภาษา หรือข้อมูลอาจไม่ค่อยน่าเชื่อถือ ฯลฯ การใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคเพียงอย่างเดียวก็มีโอกาสพลาดได้ แต่สิ่งที่พอหาได้ไม่ยากก็คือกราฟกับ forward EPS นั่นแหละ มีอะไรก็ใช้อย่างนั้น นำมาใช้ร่วมกันช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนในต่างประเทศได้


ทำไมจึงเลือก Spali เป็นกรณีศึกษา


แล้วก็มาถึงบทเฉลยที่ว่าทำไมลุงแมวน้ำจึงเลือก Spali เป็นกรณีศึกษา ที่จริงก็ไม่ได้เจาะจงเลือกหุ้น Spali หรอก แต่ลุงตั้งใจเลือกกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เป็นกรณีศึกษา เหตุผลก็เนื่องจากว่ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์นี้มีค่า แบ็กล็อก (backlog) หรือยอดขายที่ตุนอยู่ในมือแต่ยังไม่ได้บันทึกบัญชีอยู่ ซึ่งก็คือยอดขายที่มีการวางเงินดาวน์แล้วแต่ยังไม่ได้โอนนั่นเอง บริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ๆมักมีแบ็กล็อกที่ตุนอยู่ในมืออาจถึง 12 เดือนล่วงหน้าทีเดียว ดังนั้น การคำนวณ EPS ล่วงหน้าในหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์มักทำได้ค่อนข้างใกล้เคียงความจริง เนื่องจากคำนวณจากแบ็กล็อกนั่นเอง และหาก EPS ล่วงหน้าประมาณได้ใกล้เคียงความจริง ราคาเป้าหมายที่ประเมินได้ก็ย่อมมีโอกาสเกิดได้สูงด้วย


ในตอนต่อไป ลุงแมวน้ำจะลองดูกรณีศึกษาในหุ้นตัวอื่นกัน ลุงแมวน้ำจะลองคำนวณราคาเป้าหมายของหุ้นในกลุ่มโซลาร์ฟาร์มยอดนิยมด้วย ^_^