กรมอุตุฯบอกว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ลุงแมวน้ำก็ดีใจ เพราะคิดว่าจะหมดฝนเสียที ฤดูฝนปีนี้ฝนตกบ่อย ธุรกิจการแสดงซบเซา รายได้ของลุงไม่ค่อยดีเลย โชคดีที่ยังพอมีเงินปันผลพอประทังไปได้
ช่วงนี้ธุรกิจรายย่อยที่เกี่ยวกับการบริโภคไม่ค่อยดีเลย พูดง่ายๆก็คือพ่อค้าแม่ขายที่ค้าขายเล็กๆน้อยๆนั่นเอง ข้าวของก็แพง ข้าวไข่เจียวทอดขายริมทางเท้าใส่กล่องโฟม ขายกล่องละ 25 บาท ขายไม่ดีเลย ข้าวไข่เจียวที่เมื่อไม่กี่ปีก่อนกล่องละ 10 บาทน่ะ ตอนนี้กล่องละ 25 บาทแล้ว แม่ค้าบอกว่าขายต่ำกว่านี้ก็อยู่ไม่ไหว เพราะวัตถุดิบขึ้นราคาไปหมด ครอบครัวก็ต้องกินต้องใช้ก็ต้องขายราคานี้แหละ ยิ่งวันหนึ่งขายได้ไม่กี่กล่อง ตั้งราคาต่ำกว่านี้ก็อยู่ไม่ไหว ลุงก็คิดอยู่เหมือนกันว่าจะขายดีได้ยังไง เพราะว่าถัดไปไม่ไกลมีร้านสะดวกซื้อ ข้างในร้านขายข้าวกล่องราคากล่องละ 29 บาท ลุงฟังแล้วก็ได้แต่ถอนใจ เพราะสมัยนี้ธุรกิจรายย่อยหรือกลุ่มธุรกิจไมโครที่ค้าขายเล็กๆน้อยๆดูจะอยู่ยากขึ้น >.<
อ้าว ลุงวกไปถึงไหนละเนี่ย ไม่ได้ตั้งใจจะพูดเรื่องข้าวกล่อง แต่ก็วันหยุดละนะ ไม่มีอะไรต้องรีบ ก็คุยกันสบายๆ
ที่จริงที่ลุงอยากเล่าในวันนี้ก็คือกองทุนรวม คนไทยใจดี เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้
กองทุนรวมคนไทยใจดี (BKIND) นี้เป็นกองทุนรวมของค่ายบัวหลวง ลงทุนในหุ้นไทยซึ่งเป็นหุ้นที่คัดเลือกแล้วว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคมใน 4 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม (Environment), สังคม (Social), บรรษัทภิบาล (Good Governance) และต่อต้านคอร์รัปชั่น (Anti-Corruption) หรือหลัก ESGC เพิ่งจัดสัมมนาเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้เอง นอกจากนี้กองทุนยังกำหนดให้นำเงิน 40% ของค่าธรรมเนียมการจัดการ หรือคิดเป็น 0.8% ของมูลค่ากองทุนรวม ไปบริจาคให้กับมูลนิธิหรือหน่วยงานใดที่มีส่วนร่วมเพื่อสังคมไทย อย่างน้อยปีละ 1 ครั้งด้วย
ดูแล้วก็เข้าท่า เพราะกองทุนนี้นอกจากเลือกลงทุนในหุ้นที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมแล้วกองทุนรวมเองยังมีการทำซีเอสอาร์ด้วย ถ้ามองในแง่การตลาดก็คือกองทุนรวมนี้มาในแนวที่แตกต่างจากกองทุนอื่นๆ เพราะเล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้ลงทุนด้วย เนื่องจากไม่ได้ตอบสนองแค่เรื่องผลตอบแทนด้านตัวเงิน แต่เป็นผลตอบแทนด้านจิตใจด้วย เนื่องจากกองทุนนี้ยังเปิดจองอยู่ดังนั้นจึงยังไม่รู้ว่าลงทุนในหุ้นอะไรบ้าง แต่ว่าน่าสนใจทีเดียว ลุงก็อยากเห็นหุ้นในพอร์ตของกองทุนเช่นกัน
พูดถึงเรื่องกองทุนรวมคนไทยใจดี ทำให้ลุงนึกถึงกิจการประเภทหนึ่ง ที่เรียกว่า กิจการเพื่อสังคมหรือวิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise)
วิสาหกิจเพื่อสังคมนี้โดยรูปแบบก็คือองค์การธุรกิจหน่วยหนึ่งนั่นเอง อาจตั้งเป็นรูปบริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือเป็นเจ้าของเดียวก็ได้ แต่ความพิเศษอยู่ตรงที่ว่าธุรกิจที่ทำนี้เป็นธุรกิจที่มุ่งตอบโจทย์แก้ปัญหาสังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ธุรกิจที่ค้ากำไรทั่วๆไป
ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจขายมุ้ง หากขายมุ้งตามตลาดนัดก็ถือว่าเป็นธุรกิจทั่วๆไป แต่หากธุรกิจขายมุ้งนี้ไปขายในถิ่นธุรกันดารที่ไข้เลือดออกระบาด มุ้งกันยุงเหล่านี้จะช่วยลดป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในท้องถิ่นนั้นได้ส่วนหนึ่ง ดังนั้นธุรกิจขายมุ้งในถิ่นธุรกันดารนี้จึงเป็นธุรกิจเพื่อสังคมด้วย
นี่ยกตัวอย่างแบบง่ายๆ ดังนั้นก็สรุปว่าธุรกิจเพื่อสังคมนั้นนอกจากเป็นธุรกิจที่คิดดี ทำดี ทั่วโลกมีการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมกัน เนื่องจากหากมีธุรกิจแนวนี้มากๆสังคมจะน่าอยู่ขึ้น ในบ้านเราก็มีการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมเช่นกัน โดยมีหน่วยงานที่สนับสนุนก็คือ สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (TSEO)
ลุงแมวน้ำก็สนใจธุรกิจแนวนี้ ติดตามมาโดยตลอด ปัญหาใหญ่ๆที่ลุงเห็นก็คือ ผู้ประกอบการเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว มีไฟ มีใจ แต่ไม่ค่อยมีทุน พอไปจับธุรกิจเข้าก็ทำแบบเล็กๆ ทำใหญ่ไม่ได้ ก็หาพนักงานยากอีก เพราะปัจจุบันแรงงานก็หายากอยู่แล้ว ยิ่งหน่วยงานเล็กๆยิ่งหาพนักงานยาก
ปัญหาใหญ่อีกอย่างคือเรื่องราคา ธุรกิจเพื่อสังคมนี้ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเล็ก ดังนั้นต้นทุนจึงสูง การตั้งราคาขายจึงแข่งขันยาก และยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ผู้ประกอบการหลายรายกลับพบว่าความที่เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นกลายเป็นว่าตั้งราคาสูงไม่ได้ เพราะลูกค้าถามว่าก็เพื่อสังคมแล้วทำไมคิดแพง คือที่จริงก็ไม่ได้แพงเพราะว่าไปโขกราคาหรอก แต่เนื่องจากกิจการเล็กต้นทุนสูงดังที่ว่า ดังนั้นราคาขายก็สูงหน่อยเพื่อให้อยู่ได้ แต่กลายเป็นว่าลูกค้าไม่ได้เห็นใจ กลับมองในแง่ลบว่าเอาความเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมมาอ้างเพื่อโขกราคา กลายเป็นแบบนั้นไป
ลุงเคยคุยกับผู้ประกอบการและว่าที่ผู้ประกอบการ (ว่าที่ผู้ประกอบการคือเตรียมตัวอยู่ ยังไม่ได้เป็นผู้ประกอบการ) หลายราย ก็พบว่ามีปัญหากู้ธนาคารไม่ผ่าน คือพวกนี้กู้พวกสินเชื่อ sme น่ะ แผนธุรกิจไม่ผ่านบ้าง ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำบ้าง ก็แบบเดียวกับธุรกิจทั่วๆไป แต่เท่าที่คุยเรื่องแผนธุรกิจมาหลายๆราย ลุงก็ว่าหากเป็นไปตามแผนที่คุยมาก็โอกาสรอดน้อยจริงๆ เพราะหลายๆแผนพบว่าว่าที่ผู้ประกอบการเป็นคนใจดีมากๆ แผนธุรกิจจะออกไปทางทำมูลนิธิมากกว่า อีกประการ เรื่องกฎหมายที่เอื้อแก่ผู้ประกอบการแนวนี้ก็ยังไม่ชัดเจน คือตอนนี้เป็นกฎหมายทั่วไปเหมือนธุรกิจธรรมดา เสียภาษีก็เหมือนธุรกิจทั่วไป เพราะการแยกแยะว่าธุรกิจใดเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมก็ยากอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ทำกิจการฝึกอบรม ถือว่าเป็นกิจการเพื่อสังคมไหม เพราะการให้ความรู้ ก็ถือว่าช่วยแก้ปัญหาสังคม ถ้าตอบว่าใช่ แปลว่าธุรกิจฝึกอบรมทุกอย่างก็เข้าข่ายธุรกิจเพื่อสังคมไปหมด ไม่ว่าเจ้าของกิจการจะมีเจตนาทำเพื่อค้ากำไรแพงๆหรือเพื่อฝึกอาชีพคนจนก็ตาม เป็นต้น
ธุรกิจเพื่อสังคมหลายรายทีเดียวที่ลงทุนเอง แม้กู้ไม่ผ่านแต่ว่ามีความฝันอยากจะทำ ก็ลงทุนเอง โดยยืมเงินญาติพี่น้องมาทำ ก็ทำให้สายป่านสั้นมากๆ เมื่อกระแสเงินสดน้อยโอกาสรอดก็น้อยลง ลุงก็ไม่มีสถิติอะไรเป็นเรื่องเป็นราวหรอกนะ แต่พิจารณาจากตัวแบบทางธุรกิจก็เห็นว่าธุรกิจที่กู้ไม่ผ่านเพราะแผนธุรกิจไม่ผ่านนี่หากมาทำเอง โอกาสรอดก็ไม่เยอะ
ลุงก็อยากเห็นธุรกิจเพื่อสังคมของคนไทยเติบโตสวยงามละนะ อุดมการณ์สร้างสรรค์ของคนหนุ่มสาวนั้นมีคุณค่า สมควรช่วยพวกเขาเอาฝันนั้นมาทำให้เป็นความจริง
แม้ลุงไม่ได้ทำธุรกิจเพื่อสังคม เพราะให้ลุงทำลุงก็คงทำไม่รอด ยากเอาการอยู่ ไหนจะเรื่องบริหารคน ไหนจะเรื่องบริหารธุรกิจ เรื่องขาดแคลนบุคลากรนี่ปัญหาใหญ่ แต่ลุงก็มีวิธีการของลุง ลุงกันรายได้ส่วนหนึ่งทำเป็นกองทุนส่วนตัว ลุงก็ให้การศึกษาเด็ก ช่วยเหลือคนพิการ สงเคราะห์สัตว์จรจัด ก็ว่าไปเรื่อย ทำมาหลายสิบปีแล้วตัวแต่ลุงยังหนุ่ม ทุกวันนี้ลุงก็ใช้ผลตอบแทนจากการลงทุนนี่แหละ ทำกองทุนส่วนตัว ใครที่ซื้อหุ้นต่อจากลุงก็ถือว่าได้มีส่วนช่วยกองทุนของลุงด้วย ^_^
วันนี้คุยกันเรื่อยเปื่อย ไม่มีอะไรเป็นโล้เป็นพาย แต่อีกไม่นานเมื่อเข้าฤดูหนาว เดี๋ยวลุงจะไปเที่ยวต่างจังหวัดแล้ว คงมีเรื่องท่องเที่ยวมาเล่าให้ฟังคร้าบ ^_^