Wednesday, October 1, 2014

หุ้นไม่มีค่าพีอี, หุ้น P/E สูง, หุ้น P/E ต่ำ, หุ้นตั้งไข่, หุ้นฟื้นไข้ (1)






ช่วงนี้ที่คณะละครสัตว์แอบเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจนน่าตกใจ นั่นคือ สมาชิกหลายตัว เช่น ยีราฟ สิงโต ม้าลาย ฮิปโป และแม้กระทั่งกระต่ายน้อย ต่างก็พร้อมใจกันซื้อโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนมาใช้พร้อมๆกัน

สาเหตุที่ลุงแมวน้ำรู้ก็เพราะว่าช่วงนี้บรรดาสมาชิกคณะละครสัตว์ต่างก็ชอบมานั่งคุยกันในสวนในช่วงที่ว่างเว้นจากการแสดง และลุงก็สังเกตเห็นว่าแต่ละตัวมีโทรศัพท์ใหม่เอี่ยมอ่อง ต่างหัดใช้กันเป็นการใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นยี่ห้อและรุ่นเดียวกัน แสดงว่าซื้อมาพร้อมๆกันและซื้อตามกัน โอ ลุงแมวน้ำช่างสังเกตแบบนี้เป็นนักสืบได้เลย ^_^

“นี่เกิดอะไรกันขึ้นเนี่ย ทำไมเกิดมีสมาร์ทโฟนพร้อมๆกัน” ลุงแมวน้ำถามอย่างแปลกใจขณะเดินเข้าไปในศาลาชมสวนที่สมาชิกกำลังชุมนุมกันอยู่

“เราซื้อสมาร์ทโฟนมาเพื่อเทรดหุ้นออนไลน์จ้ะ” ฮิปโปตอบ

“หา” ลุงแมวน้ำอุทาน “เอายังงั้นเลยเรอะ”

“ใช่แล้วลุง เราต้องใจจะลงทุนกันอย่างจริงจัง ซื้อโทรศัพท์แบบนี้มาจะได้ติดตามราคาหุ้นได้” สิงโตตอบ “ติดตามราคาได้ทุกที่ ทุกเวลา แม้ขณะแสดงอยู่”

“นี่เป็นความคิดนายจ๋อใช่ไหม” ลุงแมวน้ำถาม “แล้วดูราคาหุ้นตอนแสดงเดี๋ยวก็ได้แสดงผิดคิว เผลอๆได้ตกงานกันยกแก๊งรวมทั้งลุงด้วย”

“นี่ไม่ใช่ความคิดของผมนะลุง พวกนี้เห็นผมมีก็เลยอยากได้บ้าง ก็เท่านั้นเอง ผมไม่ได้ยุยงอะไรเลย” ลิงจ๋อรีบแก้ตัว

“อ้อ นายก็มีด้วย” ลุงแมวน้ำหันมาถามนายจ๋อ

“ซื้อก่อนหน้าพวกนี้วันเดียวเองครับลุง พอผมเอามาอวดก็เลยอยากได้กันบ้าง” ลิงพูด

“สมาร์ทโฟนนี่สะดวกมากเลย ฉันไม่ต้องลำบากโทรศัพท์ที่ตู้สาธารณะอีก” ยีราฟพูดบ้าง

“มาร์เก็ตติ้งชวนพวกเราเข้ากลุ่มไลน์ด้วย มีหุ้นเด็ดบอกทุกวันเลย” ม้าลายพูดบ้าง

“กลุ่มไลน์หุ้นนี่มันดีจริงๆเลยฮะลุง อีกไม่นานเราจะรวยกันแล้ว เย้...” กระต่ายน้อยครึกครื้นบ้าง

“ลุงไม่อยากเชื่อเลย” ลุงแมวน้ำอุทาน แล้วพูดต่อ “ลุงว่าชีวิตมันคงไม่ง่ายขนาดนั้นหรอก นี่ดัชนีใกล้ 1600 แล้ว นายจ๋อยังบ่นอยู่เลยว่าติดดอยอยู่หลายตัว”

“นั่นมันตัวเก่าๆน่ะลุง เดี๋ยวนี้ผมเปลี่ยนแนวแล้ว หุ้นที่ซื้อในช่วงหลังไม่ใช่หุ้นเน่า ไม่ได้ติดดอย” ลิงพูด “แต่ที่ลุงพูดมาก็ถูก กำไรไม่ใช่ได้มาง่ายๆ มีเหตุการณ์ฆาตกรรมหมู่หมกยอดดอยเกิดขึ้นแทบทุกวัน”

“ลุงแมวน้ำจ๊ะ ไหนๆลุงมาแล้วก็นั่งคุยกันก่อน ฉันมีเรื่องอยากจะถาม” ยีราฟพูด

“มียีราฟจะถามอะไรล่ะ” ลุงแมวน้ำพูด “แต่พูดก็พูดเถอะ ลุงห่วงแม่ฮิปโปจัง”

“ลุงห่วงแม่ฮิปโปทำไม” ลิงจ๋อถาม

“กลัวแม่ฮิปโปกลืนโทรศัพท์ลงท้องไปน่ะสิ สมาร์ทโฟนเครื่องนิดเดียว หล่นเข้าท้องแม่ฮิปโปได้สบายๆเลย” ลุงแมวน้ำแสดงความเป็นห่วง

“น่นสิลุง ฉันก็ห่วงตัวเองเหมือนกัน วันก่อนก็เพิ่งกลืนลูกกอล์ฟลงท้องไป” ฮิปโปบ่น

“แม่ยีราฟจะถามอะไรล่ะ” ลุงแมวน้ำวกกลับมาที่ยีราฟคอยาว

“หุ้นไร่ถั่วฝักยาวที่ฉันอยากซื้อแต่นายจ๋อห้ามไว้เพราะค่าพีอีสูงร้อยกว่าเท่านั่นน่ะ ลุงมีความเห็นว่ายังไง พีอีร้อยกว่าเท่านี่แพงจริงไหม” ยีราฟถาม “ฉันขอถามสั้นๆแค่นี้แหละ”

“แม่ยีราฟถามประโยคเดียวว่าพีอีร้อยกว่าเท่าแพงไหม คำถามสั้นๆแต่ลุงต้องตอบหลายวันเลยเชียวเพราะต้องอธิบายกันยาว” ลุงแมวน้ำพูด “คำถามของแม่ยีราฟน่าสนใจ ถ้าอย่างนั้นใครที่สนใจก็มาคุยกันหลังเลิกงานก็แล้วกัน”

“ดีเลยฮะ คุยกันเยอะๆสนุกดี” กระต่ายน้อยพูดอย่างร่าเริง “บอกหุ้นเด็ดด้วยนะครับลุง”

“ที่จริงลุงอยากคุยเรื่องแนวคิดเกี่ยวกับการลงทุนเสียก่อน เพราะทัศนคติในการลงทุนก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทัศนคติเปรียบเสมือนส่วนฐานราก ฐานรากดีสิ่งปลูกสร้างก็มั่นคง ฐานรากแย่สิ่งปลูกสร้างก็อาจพังได้” ลุงแมวน้ำพูด “แต่ในเมื่อแม่ยีราฟมีคำถามเรื่องค่าพีอี เรามาคุยเรื่องค่าพีอีก่อนก็แล้วกัน จากนั้นวันหลังค่อยมาอื่นเรื่องอื่นๆ ลุงขอเวลาเตรียมข้อมูลก่อน ใครสนใจวันพรุ่งนี้แวะมาคุยกัน”


อัตราส่วนพีอี (P/E ratio) เครื่องมือประเมินหุ้นอย่างคร่าวๆ


วันรุ่งขึ้น ลุงแมวน้ำแวะไปที่ศาลาในสวนอีกครั้งหนึ่ง เห็นบรรดาสมาชิกคณะละครสัตว์กำลังคุยเฮฮาเรื่องหุ้นกันอยู่

“ลุงแมวน้ำมาแล้วคร้าบ” ลุงแมวน้ำทักทาย “วันนี้เรามาคุยเรื่องหุ้นกับค่าพีอีกัน”

บรรดาสมาชิกเริ่มล้อมวงเข้ามา กระต่ายน้อยกระโดดแผลวมานั่งอยู่แถวหน้าเพราะตัวเล็กกว่าเพื่อน นั่งเหยียดแข้งเหยียดขาสบายใจ เท้าหน้าข้างหนึ่งถือแครอต อีกข้างหนึ่งถือสมาร์ทโฟน ใบหูยาวกระดิกไปมาอย่างอารมณ์ดี

“เริ่มได้เลยฮะลุงแมวน้ำ ผมเตรียมของว่างไว้รอฟังลุงแล้ว” กระต่ายน้อยพูด

“แครอตนี่เตรียมไว้ให้ลุงเหรอ ขอบใจกระต่ายน้อยมาก” ลุงแมวน้ำปลื้ม

“เปล่าฮะ ผมเตรียมของว่างไว้กินเองระหว่างที่ฟังลุงคุย” กระต่ายน้อยตอบ “ลุงก็รู้นี่ฮะว่าผมหิวบ่อยๆ”

“ฮิฮิ ลุงแมวน้ำเห็นความแสบของกระต่ายน้อยหรือยัง” ลิงหัวเราะ “เอากาวมาซ่อมหน้าหน่อยไหมลุง”

“อะแฮ่ม” ลุงแมวน้ำกระแอมแก้เขิน “เรามาเริ่มคุยกันดีกว่า ก่อนอื่น ลุงขอตอบคำถามของแม่ยีราฟก่อนเรื่องค่าพีอีสูงร้อยกว่าเท่าแล้วยังลงทุนได้ไหม ในความเห็นของลุงก็คือ บางครั้งหุ้นที่มีค่าพีอีสูงก็ยังน่าลงทุน ในขณะที่บางครั้งหุ้นที่ค่าพีอีต่ำก็ไม่น่าลงทุน”

“อ้าว ไหงยังงั้นล่ะลุง” ลิงทักท้วง “ก็ลุงเคยบอกว่าให้เลือกหุ้นที่ค่าพีอีต่ำเอาไว้ก่อน”

“ลุงถึงได้บอกไงว่าการลงทุนไม่ใช่เรื่องง่าย มันไม่มีอะไรตายตัวหรอก” ลุงแมวน้ำพูด “ที่ลุงบอกว่าให้เลือกหุ้นพีอีต่ำเอาไว้ก่อนนั่นก็ใช่ เพราะโดยทั่วไปก็ต้องถือหุ้นที่มีค่าพีอีต่ำมีแต้มต่อที่ดีกว่าหุ้นที่ค่าพีอีสูง แต่หากเราเข้าใจที่มาที่ไปของค่าพีอีและเข้าใจในหุ้นที่เราลงทุน เราก็จะรู้ว่ามันก็มีข้อยกเว้นได้ เราถึงได้มาคุยกันในวันนี้ไงล่ะ”

“อ้อ ยังงั้นคุยต่อเลยลุง อย่าชักช้า ลุงเป็นลุงแมวน้ำนะ ไม่ใช่ลุงเต่า” ลิงหัวเราะ “ช้าไม่ทันใจวัยรุ่นเลย”

เสียงคุยค่อยๆเงียบลง ลุงแมวน้ำเห็นว่าทุกคนพร้อมฟังกันแล้วจึงเริ่มการบรรยาย

“อันที่จริงแล้วค่าพีอีนั้นเป็นข้อมูลเชิงปัจจัยพื้นฐาน นักลงทุนในสายปัจจัยทางเทคนิคก็ไม่ได้ใช้กันหรอก แต่ว่า ดังที่ลุงเคยคุยให้ฟังว่าหากนำปัจจัยพื้นฐานมาประกอบปัจจัยทางเทคนิค จะยิ่งช่วยในการคัดเลือกหุ้นเพื่อลงทุนได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นในวันนี้เราจะมาคุยกันถึงเรื่องค่าพีอี ที่มาที่ไปของค่าพีอีและการนำไปใช้ในการคัดเลือกหุ้น ทำไมหุ้นพีอีต่ำบางครั้งก็ไม่น่าลงทุน ทำไมหุ้นพีอีสูงก็ยังลงทุนได้ รวมทั้งหุ้นที่ไม่มีค่าพีอี ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แต่เนื่องจากเรื่องมันยาว ดังนั้นเราจึงต้องค่อยๆคุยและทำความเข้าใจกันทีละประเด็น อย่าใจร้อนกัน เพราะว่าหากเข้าใจไม่ถูกต้องและนำไปใช้ไม่เหมาะ การลงทุนก็เสียหายได้

“เรามาทบทวนกันก่อนว่าค่าพีอีนั้นคืออะไร ค่าพีอีนั้นอาจเรียกและเขียนได้หลายอย่าง เช่น พีอีเรโชหรือสัดส่วนพีอี (P/E ratio) บางทีก็เรียกว่าพีอีเฉยๆ รวมทั้งค่าพีอีนี้บางทีก็เขียนย่อเป็น PER ดังนั้นบางทีจึงเรียกว่าค่าพีอีอาร์ แต่ขอให้เข้าใจว่าชื่อที่พูดมาทั้งหมดนี้คือเรื่องเดียวกันทั้งหมด

“ค่าพีอีนี้ชื่อเต็มก็คือ price to earning ratio หมายถึงราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ เป็นเครื่องมืออย่างง่ายที่ใช้ในการประเมินราคาหุ้นว่าถูกหรือแพง แต่เป็นการประเมินในเบื้องต้นเท่านั้น คือดูคร่าวๆนั่นเอง”


สัดส่วนพีอี (P/E ratio) บางทีก็เรียกว่าพีอีเฉยๆ รวมทั้งค่าพีอีนี้บางทีก็เขียนย่อเป็น PER ดังนั้นบางทีจึงเรียกว่าค่าพีอีอาร์ P คือ price แปลว่าราคา ส่วน E คือ earning per share หรือกำไรสุทธิต่อหุ้น


“เหรอจ๊ะลุง แล้วที่ว่าหุ้นถูกหรือว่าหุ้นแพงนั้นดูยังไง เท่าไรจึงถูก เท่าไรจึงแพง” ยีราฟสงสัย

“มันไม่มีคำตอบตายตัวหรอกแม่ยีราฟ” ลุงแมวน้ำตอบ “ก่อนอื่นต้องเข้าใจความหมายของค่าพีอีก่อน ค่าพีอีนี้อธิบายเป็นภาษาง่ายๆก็คือตอนนี้ราคาหุ้นเป็นกี่เท่าของกำไรสุทธินั่นเอง เนื่องจาก P คือ price แปลว่าราคา ส่วน E คือ earning per share หรือกำไรสุทธิต่อหุ้น

“สมมติว่าหุ้นไร่ถั่วฝักยาวตอนนี้ราคา 10 บาท และผลประกอบการไร่ถั่วมีกำไรสุทธิ 1 บาทต่อหุ้น ดังนั้นค่าพีอีคำนวณด้วยการนำ P มาหารด้วย E ก็คือ 10/1 ดังนั้นค่า P/E ratio ของหุ้นไร่ถั่วฝักยาวตอนนี้คือ 10 เท่า คือราคาเป็น 10 เท่าของกำไรสุทธิต่อหุ้น

“ทีนี้เอาใหม่ สมมติว่าเดือนหน้า ราคาหุ้นกลายเป็น 12 บาท ณ เวลานั้น ค่าพีอีก็เปลี่ยนไป คือกลายเป็น 12/1 นั่นคือ 12 เท่านั่นเอง

“ดังนั้นค่าพีอีเป็นการประเมินความคุ้มค่าโดยเอาราคาหุ้น ณ เวลาใดเวลาหนึ่งมาเทียบกับกำไรสุทธิต่อหุ้น เปรียบเทียบได้กับว่ามีต้นทุเรียนพันธุ์ดี ออกลูกปีละ 1 ผล ถามว่าถ้าขายราคาต้นละ 10 บาท 20 บาท 50 บาท ราคาไหนน่าซื้อกว่ากัน

“ราคาต้นละ 10 บาทสิฮะ เพราะว่าคุ้มค่ากว่า ออกลูกปีละผลจะซื้อแพงไปทำไม” กระต่ายน้อยตอบ “แต่ว่าทุเรียนที่ไหนของลุงฮะ ออกลูกปีละผล”

“นี่ลุงสมมติให้ตัวเลขเข้าใจง่ายๆเท่านั้น” ลุงแมวน้ำหัวเราะ “การตีความค่าพีอีโดยทั่วไปก็เหมือนเราซื้อต้นทุเรียนในตัวอย่างของลุงนั่นแหละ ยิ่งซื้อราคาสูงเท่าไรความคุ้มค่ายิ่งน้อยลง


ค่าพีอีสองแบบ มองไปข้างหลัง กับมองไปข้างหน้า


“นอกจากนี้ก็ยังมีรายละเอียดเพิ่มเติมอีก นั่นคือ ค่าพีอีมีทั้งพีอีในอดีต และพีอีในอนาคต ค่าพีอีในอดีตเรียกว่า trailing P/E ratio เป็นการคำนวณจากผลประกอบการย้อนหลังไป 4 ไตรมาสหรือหนึ่งปีนั่นเอง คิดง่ายๆก็คือปีที่แล้วทุเรียนออกลูกมากี่ผล ให้เอาค่านั้นมาคำนวณ

“กับ พีอีในอนาคต หรือ forward P/E ratio คือค่าพีอีที่คำนวณจากผลประกอบการคาดหมายล่วงหน้าสี่ไตรมาส คิดง่ายๆก็คือเราคาดหมายว่าปีหน้าทุเรียนจะออกลูกกี่ผล ก็เอาค่านั้นมาคำนวณ


ค่าพีอีย้อนหลัง หรือ trailing PER มองผลประกอบการย้อนหลังไปสี่ไตรมาสหรือหนึ่งปี


ค่าพีอีล่วงหน้า หรือ forward PER มองผลประกอบการล่วงหน้าไปสี่ไตรมาสหรือหนึ่งปี



“ชักเริ่มงง” ยีราฟทำหัวโคลงเคลง “แล้วพีอีอดีตกับพีอีอนาคต ค่าไหนใช้ดีกว่ากันล่ะลุง”

“โดยปกติหากไม่บอกอะไรเป็นพิเศษ ค่าพีอีที่เห็นในหน้าหนังสือพิมพ์ทั่วไปมักเป็นพีอีในอดีต เพราะผลกำไรในอดีตนั้นเป็นข้อมูลที่หาง่าย ส่วนพีอีในอนาคตนั้นต้องอาศัยความรู้และข้อมูลในการประเมินผลกำไรในอนาคตซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก ค่าพีอีในอนาคตย่อมมีประโยชน์กว่า เพราะว่าการซื้อหุ้นคือการซื้ออนาคต ดังนั้นหากมีข้อมูลในอนาคตย่อมมีประโยชน์กว่า แต่ก็อีกนั่นแหละ อนาคตเป็นเรื่องไม่แน่นอน ดังนั้นการประเมิน forward P/E ratio นั้น ก็ต้องทำใจว่ามีโอกาสคลาดเคลื่อนได้สูง

“ใช้ค่าพีอีแบบไหนดี โดยทั่วไปมีอะไรก็ใช้อันนั้นนั่นแหละ หมายความว่า หากได้ค่าพีอีมา ถ้าไม่ได้บอกอะไรพิเศษก็ถือว่าใช้กำไรสุทธิในอดีตมาคำนวณ คือถือว่าเป็น trailing P/E ratio เอาไว้ก่อน หากมีระบุว่าเป็น forward P/E ratio การใช้ค่าพีอีล่วงหน้าก็ยิ่งดี

“แล้วอะไรคือถูก อะไรคือแพงล่ะลุง ยังไม่ตอบฉันสักที” ยีราฟทวงอีก

“แม่ยีราฟอย่าเพิ่งใจร้อนสิ การลงทุนไม่ควรใจร้อน ไม่อย่างนั้นจะพลาดได้ง่าย คำตอบที่ว่าอะไรถูกอะไรแพงโดยดูจากค่าพีอีนั้น ลุงต้องอธิบายอีกหลายวันทีเดียว” ลุงแมวน้ำตอบ “แต่ว่าลุงไม่ได้มุ่งตอบแต่เฉพาะคำถามของแม่ยีราฟหรอกนะ เรื่องที่ลุงเล่าก็จะเป็นความรู้ในการลงทุนอื่นๆประกอบไป พวกเราจะได้รู้เกี่ยวกับหุ้นหลายๆแบบด้วย เช่น หุ้นตั้งไข่ หุ้นฟื้นไข้ ฯลฯ ดังนั้นค่อยๆคุยกันไป


โรงงานของลุงแมวน้ำ


“เอาล่ะ เรารู้ที่มาของการคำนวณค่าพีอีแล้ว คราวนี้เรามาเข้าเรื่องการลงทุนของเรากัน เราจะใช้ค่าพีอีช่วยในการลงทุนได้อย่างไร พูดง่ายๆก็คือจะใช้ค่าพีอีช่วยในการคัดเลือกหุ้นได้อย่างไรนั่นเอง แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นนั้น เราต้องสมมติตัวเองว่าเป็นเถ้าแก่เจ้าของกิจการเสียก่อน

“คราวนี้หลับตา และจินตนาการว่าเราเป็นเจ้าของกิจการโรงงานแห่งหนึ่ง เป็นโรงงานที่ผลิตหมอนข้างรูปลุงแมวน้ำ”

“สมมติเป็นร้านอาหารได้ไหม ฉันอยากทำร้านอาหาร” ฮิปโปถาม “จะซื้อหุ้นทำไมต้องไปสมมติว่าเป็นเถ้าแก่ด้วยล่ะ”

“ร้านอาหารไม่ได้ จินตนาการว่าเป็นโรงงานผลิตหมอนข้าง” ลุงแมวน้ำตอบ “การซื้อหุ้นเป็นการลงทุน เรามีส่วนเป็นเจ้าของกิจการส่วนหนึ่ง นั่นคือ เราเป็นเถ้าแก่อยู่ครึ่งตัว ดังนั้นสมมติว่าเป็นเจ้าของกิจการน่ะถูกแล้ว”

“โอม จงหลับ จงหลับ จงหลับ” ลิงจ๋อร่ายคาถาพึมพำ “คร่อก ฟี้”

“อ้าว อย่าเพิ่งหลับ ฟังลุงก่อน” ลุงแมวน้ำหัวเราะขำกับท่าทางของลิงจ๋อ แล้วพูดต่อไป

“ขอให้เราสวมบทบาทของเถ้าแก่โรงงานผลิตหมอนข้างก่อน เราเห็นว่าหมอนข้างลุงแมวน้ำต้องขายดีแน่ๆเพราะว่าลุงแมวน้ำน่ารักฝุดๆ” พูดถึงตอนนี้ได้ยินเสียงแหวะเบาๆ แต่ลุงแมวน้ำก็ยังพูดต่อไป

“การทำโรงงงานผลิตสินค้าต้องมีอะไรบ้างล่ะ ต้องมีสถานที่ ต้องมีเครื่องจักร ต้องมีส่วนการผลิตคือวัตถุดิบและพนักงานผลิต ต้องมีส่วนงานออฟฟิสคือพนักงานบัญชี พนักงานขาย พนักงานการเงิน พวกนี้ต้องลงทุนไปก่อนทั้งนั้น กำไรยังไม่ทันเห็นแต่ว่าเงินลงทุนต้องจ่ายไปก่อนแล้ว นี่คือการทำธุรกิจ



ข้อมูลโดยสรุปของโรงงานลุงแมวน้ำ


“เอาละ ทีนี้จินตนาการต่อไป โรงงานผลิตนี้มีเครื่องจักรที่มีกำลังการผลิตสินค้าได้ 85 ชิ้นต่อปี ราคาขายชิ้นละ 100 บาท มีต้นทุนเป็นสองส่วนหลัก คือ

“ต้นทุนการผลิตหมอนข้างชิ้นละ 5 บาท เรียกว่าเป็นต้นทุนการผลิต ประกอบด้วยค่าวัตถุดิบกับค่าแรงของพนักงานผลิต เฉลี่ยแล้วเป็นต้นทุนชิ้นละ 5 บาท ผลิตน้อยก็จ่ายน้อย ผลิตมากก็จ่ายมาก ขึ้นกับจำนวนที่ผลิต

“นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในส่วนงานออฟฟิสอีก ซึ่งงานออฟฟิสนี้จ้างพนักงานเป็นรายเดือน ไม่ว่าจะผลิตน้อยหรือมากก็ต้องจ่ายคงที่ สมมติว่าค่าใช้จ่ายส่วนงานออฟฟิสนี้จ่ายเดือนละ 4000 บาทต่อเดือน เรียกว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหาร

“แล้วก็สมมติต่ออีกนิดหนึ่ง นั่นคือ ธุรกิจของลุงแมวน้ำนี้มีจำนวนหุ้นทั้งหมด 1000 หุ้น ราคาตลาดหุ้นละ 100 บาท”

“นี่เราไม่ใช่นักลงทุนสายเทคนิค และไม่ใช่สายปัจจัยพื้นฐาน แต่เป็นสายพันธุ์ใหม่ เรียกว่า นักลงทุนสายจิน” ลิงพูดเบาๆทั้งที่ยังหลับตา

“สายจินคืออะไรฮะน้าจ๋อ” กระต่ายน้อยถาม

“สายจินตนาการไง” ลิงตอบ “ลุงแกมีแต่โขดหิน โรงงานอะไรที่ไหน มโนล้วนๆเลย ขืนหลับตาจิตนาการต่อไปคงได้หลับกันจริงๆ ชักง่วงแล้ว”

Tuesday, September 23, 2014

23/09/2014 วัฏจักรชีวิต วัฏจักรเศรษฐกิจ วัฏจักรกิจการ และวัฎจักรราคาหุ้น (3)






“ลุงแมวน้ำ ผมอยากรู้ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ต่างๆสะท้อนภาพของเศรษฐกิจจริงได้มากน้อยแค่ไหน” ม้าลายพูดขึ้นบ้าง ม้าลายกับสิงโตยังไม่ค่อยซักถามอะไรนัก อาจจะกำลังตั้งหลักอยู่ “ผมฟังวิทยุ นักวิเคราะห์คุยให้ฟังว่าเศรษฐกิจของยุโรปยังไม่ค่อยดี แต่ตลาดหุ้นเยอรมนีขึ้นไปเรื่อยๆ ทำจุดสูงสุดใหม่ได้อีกด้วย แล้วแบบนี้หมายความว่ายังไงที่ตลาดหุ้นกับเศรษฐกิจจริงไม่ไปด้วยกัน

“เป็นคำถามที่ดีทีเดียว” ลุงแมวน้ำชม “ที่จริงก็มีนักลงทุนมากมายสงสัยเรื่องนี้กับตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกัน เนื่องจากอเมริกากำลังฟื้นฟูเศรษฐกิจของตนเองจากความบอบช้ำกรณีวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ พูดง่ายๆก็เสมือนกับคนป่วยที่กำลังฟื้นตัวอยู่ แต่ทำไมตลาดหุ้นจึงได้ขึ้นเอา ขึ้นเอา และทำสถิติจุดสูงสุดตลอดกาลใหม่ได้ ราวกับว่ามีเศรษฐกิจที่โดดเด่นยังงั้นแหละ”

“นั่นสิครับลุง เป็นเพราะอะไร เพราะตลาดถูกปั่นใช่ไหม” ลิงถามด้วย “ในตลาดย่อมต้องมีเจ้ามือเสมอ”

“เจ้ามืออะไรที่ไหนลุงก็ไม่รู้หรอก” ลุงแมวน้ำขำกับทฤษฎีเจ้ามือปั่นหุ้นของลิงจ๋อ “หากว่าเราคุยเรื่องนี้ก็ต้องแตกประเด็นยาวอีก เดี๋ยวเรื่องวัฏจักรจะคุยกันไม่จบ วันนี้ลุงอยากจับประเด็นเรื่องวัฏจักรก่อน คำถามนั้นลุงขอตอบแบบคร่าวๆก่อนก็แล้วกัน ใน คหสต...”

“เดี๋ยว” ลิงรีบขัด “คหสต คืออะไร”

“อ้าว นายจ๋อไม่รู้จักหรือ” ลุงแมวน้ำถาม

“เพิ่งเคยได้ยินนี่แหละ” ลิงพูด ยีราฟ ฮิปโป ม้าลาย สิงโต ต่างก็ทำหน้างงๆ

“ผมรู้ฮะลุง คหสต คือ ความเห็นส่วนตัว ฮ่ะฮ่ะฮ่ะ” กระต่ายน้อยหัวเราะขำ “ทำไมลุงรู้จักภาษาเด็กแนวด้วยล่ะฮะ”

ลิงส่ายหัว “ลุงแมวน้ำจะวัยรุ่นเกินไปหน่อยไหมเนี่ย”

“ก็บอกแล้วว่าลุงหาความรู้รอบพุงอยู่เสมอ พยายามไม่ให้ตกกระแส” ลุงแมวน้ำพูด “เอ้า มาวกเข้าเรื่องของเรากันต่อ ในความเห็นของลุง ดัชนีตลาดหุ้นมีลักษณะสำคัญอยู่สองประการ

“ประการแรก ดัชนีตลาดหุ้นเป็นตัวบ่งชี้ล่วงหน้า หรือที่เรียกว่า leading indicator คือบ่งชี้ความคาดหวังของนักลงทุนต่อสภาพเศรษฐกิจ ดัชนีตลาดหุ้นสะท้อนการคาดการณ์ในอนาคตราว 6-12 เดือนข้างหน้ามากกว่าที่จะสะท้อนภาพเศรษฐกิจในอดีตหรือในปัจจุบัน

“ประการที่สอง บริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นเป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูง แม้จะเป็นกิจการที่ตลาดหุ้นจัดให้เป็นกิจการขนาดเล็ก (small cap) ก็ยังมีมูลค่ากิจการเป็นร้อยล้านบาท ทำธุรกิจกับนานาชาติ ไม่ใช่กิจการของชาวบ้านร้านถิ่นทั่วไปที่ขายของในชุมชน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าตลาดหุ้นหรือว่าดัชนีตลาดหุ้นนั้นสะท้อนภาพของเศรษฐกิจระดับบน ไม่ใช่เศรษฐกิจระดับล่าง ก็คิดดูง่ายๆ ตอนนี้เศรษฐกิจภาคการเกษตรของเรากำลังมีปัญหา ราคาข้าวกับยางพาราซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของไทยมีราคาผลผลิตตกต่ำ แถมขายไม่ออก ชาวนาชาวสวนกระเป๋าแบน ขาดสภาพคล่อง แล้วดัชนีตลาดหุ้นไทยขึ้นได้อย่างไร

“ลุงขอพูดคร่าวๆแค่นี้ก่อนละกัน เรามาคุยกันเรื่องวัฏจักรกันต่อก่อนดีกว่า เนื่องจากเรื่องวัฏจักรและกราฟระฆังคว่ำนี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจสภาพเศรษฐกิจรวมทั้งตลาดหุ้นต่อไป”



ต่อยอดกิจการ ยุทธวิธียื้อวัฏจักร


“เรามายกตัวอย่างร้านกาแฟแม่เล็กกันอีกครั้งหนึ่ง ลองดูกราฟในภาพนี้อีกที” ลุงแมวน้ำพูดพลางหยิบกราฟรูปเดิมขึ้นมาให้ดู







“ร้านของแม่เล็กเป็นร้านขายกาแฟ สินค้าของแม่เล็กมีเพียงอย่างเดียว นั่นคือ กาแฟ วัฏจักรของผลิตภัณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งมันก็ไม่เที่ยงแบบนี้แหละ ไม่มีสินค้าใดอยู่ค้ำฟ้าหรือ เกิดมาแล้วอยู่ได้สักพักก็เสื่อมไป ยอดของจึงเป็นไปตามกราฟของวัฏจักรสินค้า และเป็นรูประฆังคว่ำ

“กราฟแสดงวัฏจักรผลิตภัณฑ์กาแฟของแม่เล็กดำเนินอยู่ได้เพียงปีเดียว นั่นคือ จากเกิดจนเสื่อมและดับไปใช้เวลาหนึ่งปี และเนื่องจากร้านของแม่เล็กมีสินค้าเพียงอย่างเดียว ดังนั้นกราฟแสดงวัฏจักรของกิจการแม่เล็กจึงเป็นแบบเดียวกับกราฟแสดงวัฏจักรของผลิตภัณฑ์

“ทีนี้ลุงถามกระต่ายน้อยว่า ถ้าหากแม่เล็กขายกาแฟไม่ออก และไม่อยากเลิกกิจการ แม่เล็กควรทำอย่างไร”

กระต่ายน้อยกะพริบตากลมโตใสแจ๋ว แทะแครอตไปพร้อมกับตอบลุงแมวน้ำ

“ลุงสมมติไม่ค่อยสมจริงนี่ฮะ ใครเขาขายสินค้าเพียงอย่างเดียวกัน เขาก็ต้องขายหลายๆอย่างสิฮะ ถ้ากาแฟขายไม่ดีก็หาสินค้าอย่างอื่นมาเพิ่ม อย่างเช่นขายแครอตด้วย” กระต่ายน้อยตอบ พร้อมเคี้ยวตุ้ยๆ

“ขายถั่วฝักยาวด้วยก็ได้” ยีราฟเสนอบ้าง

“ถูกต้องนะคร้าบ” ลุงแมวน้ำตอบ “นั่นคือ หาอย่างอื่นมาขายด้วย ขายของหลายๆอย่าง

“เอาละ ที่ลุงอยากจะบอกก็คือ หากกิจการมีสินค้าเพียงอย่างเดียว กราฟของกิจการจะเป็นเส้นเดียวกับกราฟของผลิตภัณฑ์ คือเมื่อผลิตภัณฑ์ดับไป กิจการก็ดับตามไปด้วย ดังนั้น หากกิจการไม่ต้องการดับไปแบบนั้นก็ต้องหาสินค้ามาหลายๆตัว เข้ามาในเวลาต่างๆ ผลิตภัณฑ์บางตัวดับไป แต่บางตัวก็ยังรุ่งอยู่

“เมื่อเป็นเช่นนี้ กราฟของวัฏจักรกิจการก็จะเบี่ยงเบนไปจากกราฟของวัฎจักรผลิตภัณฑ์เดี่ยวแล้ว คือไม่ได้เป็นเส้นเดียวกันแล้ว  นี่คือยุทธวิธีในการยื้อชีวิตของกิจการให้ยืดยาวออกไป

“และอันที่จริงแล้ว ตัวผลิตภัณฑ์เองก็อาจยื้อชีวิตของตนเองออกไปได้อีก ด้วยการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างกรณีกาแฟแม่เล็ก หากต้องการยื้ออายุการขายกาแฟออกไปก็อาจลองปรับปรุงรสชาติของกาแฟเสียใหม่ เปลี่ยนสูตรในการชงว่างั้นเถอะ หรือเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามดึงดูด ก็อาจยืดอายุผลิตภัณฑ์กาแฟไม่ให้ดับเร็วก็เป็นไปได้

“เอาละ ผลของการยื้อชีวิตของผลิตภัณฑ์ หรือชีวิตของกิจการ ทำให้เส้นกราฟวัฏจักรเบี่ยงเบนไป เบี่ยงไปยังไง ลองดูภาพนี้กัน”

ลุงแมวน้ำพูดจบก็หยิบเอากราฟออกมาให้ดูอีก


การยืดวัฏจักรของผลิตภัณฑ์ออกไปโดยการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์อาจเสื่อมความนิยมจากคู่แข่ง หรือจากความล้าสมัยของตัวผลิตภัณฑ์เอง การปรับปรุงผลิตภัณฑ์อาจช่วยเพิ่มยอดขายได้ ทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่ต้องเดินไปสู่จุดจบ



“นี่คือตัวแบบ แสดงผลของการยื้อชีวิตของผลิตภัณฑ์หรือยื้อชีวิตของกิจการออกไป นั่นคือ พยายามไม่ให้เส้นกราฟเข้าสู่ช่วงดับสูญ ด้วยการต่อยอด ดังที่เราคุยกันมาแล้ว หากการต่อยอดเกิดผล ยอดขายกลับเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นดังกราฟรูปนี้ เส้นกราฟยอดขายกลับกระดกขึ้นไปอีก”

“เอาละ ทีนี้ลุงจะไม่พูดถึงกราฟวัฏจักรของผลิตภัณฑ์แล้วนะ เพราะกิจการส่วนใหญ่ไม่ได้มีผลิตภัณฑ์เดียวหรอก เราจะพูดไปเน้นกันที่วัฏจักรของกิจการ แต่ก็ให้เข้าใจว่าพื้นฐานของวัฏจักรของผลิตภัณฑ์และกิจการนั้นมาจากที่เดียวกัน

“กลยุทธ์ในการยื้อวัฏจักรของกิจการไม่ให้หมดอายุหรือดับไป ก็ต้องใช้การต่อยอด ซึ่งทำได้หลายอย่าง เช่น ในเชิงการผลิตก็ด้วยการหาผลิตภัณฑ์ใหม่เข้ามาเสริม การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ การนำเทคโนโลยีการผลิต หรือนวัตกรรมการผลิตต่างๆเข้ามาเสริม

“หรือหากมองในเชิงการตลาด ก็อาจต่อยอดกิจการด้วยการชุบชีวิตหรือรีแบรนดิงผลิตภัณฑ์ 

“และหากมองในเชิงเทคโนโลยีการจัดการ วิธีการเพิ่มรายได้ที่ง่ายและเร็ว นั่นก็คือ M&A (merging and acquisition) พูดง่ายๆก็คือการต่อยอดธุรกิจด้วยการเทกโอเวอร์ ซื้อกิจการอื่นๆเข้ามาควบรวมกับกิจการเดิมนั่นเอง วิธีนี้เป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน เป็นเหมือนการเรียนลัด ไม่ต้องไปสร้างกิจการเอง ซื้อกิจการอื่นเข้ามาเลย และนี่เองคือโมเดลธุรกิจของหลายๆกิจการในตลาดหุ้น ที่เน้นการเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยการซื้อกิจการ จนบางกิจการอาจเรียกได้ว่าซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า งบการเงินของกิจการที่ควบรวมกันแล้วจะดูดี คือยอดขายเพิ่มแบบก้าวกระโดด เนื่องจากเป็นยอดของของกิจการเดิมรวมกับกิจการใหม่ ลองมาดูภาพนี้กัน”

ลุงแมวน้ำหยิบกราฟออกมาอีกแผ่นหนึ่ง



รูปแบบของการยืดวัฎจักรของกิจการ เช่น การควบรวมกิจการ จะทำให้ยอดขายเติบโตอย่างกระโดดเนื่องจากรายได้จากกิจการเดิมรวมกับรายได้ของกิจการใหม่ ส่วนการต่อยอดในบางกรณีเกิดผลเพียงแค่ประคองกิจการให้ทรงตัวต่อไปเท่านั้น หรือในบางกรณีการต่อยอดเกิดผลแค่ในช่วงสั้นๆ แต่แล้วก็ไปไม่ไหว



“นี่คือกราฟที่แสดงผลของการต่อยอดกิจการ ซึ่งลุงขอแบ่งออกเป็นสามแบบ ค่อยๆดูตามไป

“ดูรูปบนสุดก่อน ยอดขายของกิจการโตแบบก้าวกระโดดแทนที่จะเสื่อมถอย การควบรวมกิจการหรือว่าการเทคโอเวอร์กิจการมักให้ยอดขายโตกระโดดแบบนี้

“มาดูกันที่รูปกลาง นี่ก็เป็นการต่อยอดที่เมื่อต่อยอดแล้วไม่ได้ทำให้ยอดขายโตขึ้น เพียงแค่ช่วยให้ยอดขายทรงตัวอยู่ได้เท่านั้น เช่นการออกผลิตภัณฑ์ใหม่มาทดแทนผลิตภัณฑ์เดิม ก็อาจช่วยแค่รักษายอดขายไม่ให้ตกเท่านั้น แต่จะให้โตไปกว่านี้อาจทำไม่ไหว

“มาดูกันที่รูปล่าง รูปนี้คือการต่อยอดที่ยื้อไม่ไหว เช่น การออกผลิตภัณฑ์ใหม่หรือการรีแบรนด์ผลิตภัณฑ์เดิม ที่ทำแล้วตลาดไม่ตอบรับ คือยอดขยับแค่ตอนต้นๆเท่านั้น แต่สุดท้ายก็ร่วงแบบเดิม ภาษาวัยรุ่นบอกว่าต่อยอดแล้วไม่เวิร์ก”

จากนั้นลุงแมวน้ำก็กางภาพอีกแผ่นหนึ่งตามมา


วัฏจักรของกิจการแบ่งเป็น 6 เฟส คือระยะตั้งไข่ เติบโต อืด อิ่ม เสื่อม และดับ ในเชิงอุดมคติแล้ว การต่อยอดหวังผลที่ยืดขั้นเติบโตให้ได้นานที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผลจากการต่อยอดอาจไม่ได้ยืดขั้นเติบโตเสมอไป อาจไปยืดในขั้นอืด อิ่ม หรือเสื่อม ให้ยาวนานออกไปแทน ซึ่งก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไร แต่ไม่ว่าเฟสใดจะยืดอายุไปได้นานเท่าใดก็ตาม ท้ายที่สุดก็ยังต้องก้าวเข้าสู่เฟสถัดไปอยู่ดี


“เอาละ ลุงแมวน้ำขอสรุปด้วยภาพนี้ละกัน รูปนี้พิเศษอยู่หน่อย ตรงที่ว่าแบ่งวัฏจักรเป็น 6 เฟส ลุงขอเรียกว่าเป็นระยะต่างๆ 6 ระยะ คือ ตั้งไข่ เติบโต อืด อิ่ม เสื่อม และเลิก

“การต่อยอดกิจการนั้น ในเชิงอุดมคติแล้ว ใครๆก็อยากต่อยอดในขั้น ‘เติบโต’ เพื่อยืดเส้นกราฟในขั้นเติบโตไปให้ได้นานที่สุด กิจการใดที่ทำได้ตามนี้ก็จะมีเส้นกราฟในขั้นเติบโตที่ชันและกินเวลายาวนาน ถ้าแบบนี้ละก็วิเศษสุดยอดไปเลย

“แต่กฎของธรรมชาตินั้นไม่ได้ละเว้นใคร มีเกิดย่อมมีเสื่อมและมีดับ จะช้าหรือเร็วเท่านั้น ดังนั้น ในทางปฏิบัติ หรือว่าในชีวิตจริง กิจการที่พยายามต่อยอดนั้น อาจไปเพิ่มขั้นเติบโตให้ยาวนานออกไปอีกหน่อย หรือไม่ก็ไปยืดขั้น ‘อืด’ ให้ยาวนาน

“หรือถ้าทำไม่ไหวก็ขอไปยื้อในขั้น ‘อิ่ม’ ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ กิจการที่ยื้อในขั้นอิ่มได้นานๆนั้นจะได้กราฟทรงระฆังแบนเป็นยอดภูกระดึง หรือเป็นธุรกิจ cash cow นั่นเอง

“และถ้าหากยังไม่ไหวอีก ก็ขอให้การต่อยอดนั้นยืดขั้น ‘เสื่อม’ ไปให้ยาวนานที่สุด พวกนี้จะได้กราฟระฆังที่หางข้างขวาลากยาว

“แต่อย่างไรก็ตาม การต่อยอดกิจการเป็นการยืดเฟสใดเฟสหนึ่งให้ยาวออกไปเท่านั้น อาจจะหลายปีหรือหลายสิบปีก็ตาม แต่ท้ายที่สุดก็ยังต้องเดินเข้าสู่เฟสถัดไปอยู่ดี”



ต่อยอดกิจการสู่การต่อยอดเศรษฐกิจ



“เป็นไงบ้าง นั่งอ้าปากหวอเชียว พอเข้าใจใช่ไหม” ลุงแมวน้ำถามเพื่อความแน่ใจ

“พอเข้าใจจ้ะลุง” ยีราฟตอบ ตัวอื่นๆก็พยักหน้าไปด้วย

“ถ้ายังงั้นเรามาต่อกันอีกหน่อย” ลุงแมวน้ำพูด “การต่อยอดกิจการนั้นส่งผลดังที่ลุงแมวน้ำอธิบายมา และในทำนองเดียวกัน หากเป็นเศรษฐกิจของประเทศซึ่งก็คือกิจการของประเทศนั่นเอง เราก็ใช้แนวคิดนี้อธิบายเช่นกัน

“เศรษฐกิจของประเทศมีขึ้น มีลง เพราะผลจากการที่แต่ละประเทศพยายามพัฒนาและต่อยอดเศรษฐกิจของตน ไม่มีประเทศไหนปล่อยเศรษฐกิจตามบุญตามกรรมหรือ ต่างก็พยายามพัฒนาต่อยอดกันทั้งนั้น ดังนั้น ในระดับเศรษฐกิจของประเทศ เราก็สามารถใช้แนวคิดของภาพ เกิด โต อืด อิ่ม และเสื่อมได้เช่นกัน นั่นคือ ความพยายามต่อยอดนั้นไปเกิดผลให้กราฟในเฟสใดยืดขยายออกไป

“ยกตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ นั่นคือ เศรษฐกิจจีนไง เมื่อก่อน จีนต้องพยายามทำให้เศรษฐกิจโตปีละสองหลักให้ได้ หมายความว่าต้องให้โตปีละกว่า 10% แต่เร่งมากจนตัวเองแย่ เกือบจะได้กราฟแบบนี้ คือตอนขึ้นก็เป็นพลุ ตอนลงก็เป็นผีพุ่งใต้ ดีที่ตอนหลังจีนปรับตัวใหม่ ขอโตเพียงปีละ 7.5% นั่นคือ เสมือนกับว่าจีนพยายามยืดกราฟในขั้น เติบโต ในวัฏจักรให้ยืดยาวออกไป โดยลดความชันของกราฟเฟสนี้ลงมา”





“ไม่ใช่ว่าตอนนี้จีนอยู่ในขั้น อืด หรือฮะ” กระต่ายน้อยไม่วายสงสัย “จากปีละกว่า 10% เหลือ 7.5% น่าจะเรียกว่าอืด”

“อัตราปีละ 7.5% ถือว่าเป็นอัตราเติบโตที่ยังสูงอยู่ ลุงจึงยังมองว่าเป็นเติบโตอยู่ เพียงแต่ลดระดับลงมาบ้าง แต่ยังไม่น่าเข้าขั้นอืด อย่างสหรัฐอเมริกาสิที่น่าจัดอยู่ในเฟส อืด หรืออาจจะเป็นเฟส อิ่ม ก็ได้ แต่เรื่องนี้เราเอาไว้คุยกันต่ออีกทีหนึ่ง” ลุงแมวน้ำพูด

“เหมือนนั่งเรียนหนังสือในโรงเรียนฝึกละครสัตว์เลย” ลิงบ่นอุบอิบ “ง่วงชะมัด”

“หัวข้อนี้อาจจะเหมือนกางตำราคุย แต่กราฟทรงระฆังคว่ำนี้มีความสำคัญ ลุงจึงอยากให้เข้าใจที่มาที่ไปกัน กราฟรูปนี้จะเป็นประโยชน์ในการลงทุนของเราในโอกาสต่อไป ซึ่งเราจะค่อยๆคุยกัน” ลุงแมวน้ำสรุปในที่สุด