Sunday, December 15, 2013

15/12/2013 เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ: วันหวานกับสายลมเหนือ






ลุงแมวน้ำไม่ได้เขียนบทความเบาๆ เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ มานานพอสมควรแล้ว เนื่องจากช่วงหลังมีเรื่องนั้นเรื่องนี้แทรกเข้ามามากมาย จนลุงไม่สามารถเขียนได้ ดังที่พวกเราคงพอทราบกันอยู่ และลุงแมวน้ำก็เชื่อว่าช่วงนี้หลายคนคงวุ่นวายมีงานเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะนอกจากกิจวัตรที่ดำเนินไปตามปกติแล้วยังต้องไปเดินเล่นแถวถนนราชดำเนินอีกด้วย

ลุงแมวน้ำนอกจากจะไม่ได้เขียนสารคดีวันหยุดแล้ว แม้แต่การออกกำลังกายก็พลอยต้องงดไปด้วย ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี เพราะการออกกำลังกายถือเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับชีวิตคนเมือง ยิ่งทำงานออฟฟิส นั่งโต๊ะเกือบทั้งวัน ยิ่งควรต้องหาเวลาออกกำลังกายบ้าง แต่เอาละ ลุงแมวน้ำไม่แก้ตัวละ เอาเป็นว่า ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป ลุงจะกลับไปออกกำลังกายที่สวนลุมตามปกติ เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะยืดเยื้อ ก็พยายามกลับมาแบ่งเวลาไปออกกำลังกาย

สถานการณ์ทางการเมืองไม่ค่อยดี ภาวะเศรษฐกิจก็ไม่ค่อยดี แถมตลาดหุ้นยังตกอีกต่างหาก หากเรื่องการเมืองมีแนวโน้มยืดเยื้อ ตลาดหุ้นก็คงซึมลงเรื่อยๆ หลายคนคงรู้สึกเซ็งกับพอร์ตสีแดงและน้ำค้างบนยอดดอย วันนี้เรามาคุยเรื่องเบาๆ หวานๆ ในวันเก่าๆ ให้สดชื่นกันสักหน่อยดีกว่า

ตอนนี้อากาศของประเทศไทยตอนบนและตอนกลางเย็นลงแล้ว ยกเว้นตอนล่างของประเทศที่ยังเผชิญกับพายุฝนอยู่ในหลายพื้นที่ อากาศที่เย็นลงนั้นเกิดจากอิทธิพลของลมเหนือที่พัดลงมาจากจีน ปีนี้อากาศค่อนข้างแปรปรวน ล่าสุดนี้ประเทศอียิปต์ก็มีหิมะตกแบบเหลือเชื่อ แต่ก็เป็นไปแล้ว ส่วนประเทศไทยเอง ตั้งแต่วันที่ 16-20 ธนวาคมนี้ กรมอุตุฯบอกว่าตอนบนและตอนกลางของประเทศจะหนาวเย็นลงแบบฉับพลัน คืออุณหภูมิจะลดลงอย่างรวดเร็วราว 8-10 องศาเซลเซียส หากเป็นดังนั้นจริง อุณหภูมิในกรุงเทพฯคงต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียสเป็นแน่ ส่วนภาคเหนือยิ่งไม่ต้องพูดถึง คงได้เห็นต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส ผู้สูงอายุควรระวังสุขภาพจากอากาศที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ลุงแมวน้ำเริ่มก็กินสมุนไพรฟ้าทะลายโจรเพื่อป้องกันหวัดแล้ว

อากาศเย็นๆ ทำให้ลุงแมวน้ำนึกถึงบทเพลงเก่าบทหนึ่ง ชื่อบทเพลง สายลมเหนือ เป็นเพลงรักหวานๆปนเหงา เศร้านิดๆ คิดถึงหน่อยๆ ลุงแมวน้ำจึงขอนำบทเพลงนี้มาฝากพร้อมทั้งเล่าเกร็ดความเป็นมาให้พวกเราฟังและอ่านกันเพลินๆในวันหยุดนี้


สายลมเหนือ

เพลง สายลมเหนือ นี้ เป็นเพลงในจังหวะควิกวอลตซ์ (quick waltz) ทำนองเพลงเอามาจากเพลงฝรั่งที่ชื่อ Daisy Bell ส่วนเนื้อเพลงนั้นประพันธ์โดยครูไสล ไกรเลิศ ซึ่งลุงแมวน้ำจะขอเล่าเรื่องเกี่ยวกับความเป็นมาของเพลงสายลมเหนือเสียก่อน จากนั้นจึงจะเล่าเกี่ยวกับเพลง Daisy Bell ในตอนท้าย

ครูไสล ไกรเลิศ เป็นครูเพลงที่โด่งดังมากในยุคก่อน คือเมื่อ 50-60 ปีมาแล้ว เป็นทั้งนักร้องและนักแต่งเพลง โดยเฉพาะฝีมือการประพันธ์เนื้อเพลงนั้นเก่งมาก สามารถเลือกใช้ถ้อยคำ สัมผัส และวรรณยุกต์ได้อย่างลงตัวกับทำนองเพลง อีกทั้งเนื้อหาของเพลงก็คมคาย

แต่ก็นั่นแหละ ในยุคก่อน คำกล่าวที่ว่า ศิลปินไส้แห้งนั้นเป็นความจริง ต่างจากศิลปินนักร้อง นักแสดง นักเขียน ในสมัยนี้ ที่สามารถทำรายได้อย่างงดงาม ส่วนเมื่อก่อนนั้นศิลปินไม่รวยเลย โดยเฉพาะนักเขียน ไม่ว่าจะเขียนนิยายหรือเขียนเพลง ยิ่งจัดว่าเป็นอาชีพที่ไส้แห้งจริงๆ แม้ว่าจะโด่งดังเพียงใดแต่ก็ทำรายได้ไม่ได้มาก เนื่องจากระบบการใช้ลิขสิทธิ์ในยุคนั้น นักเขียนจะขายลิขสิทธิ์ในเพลงหรือนิยายให้แก่นายทุนแบบขายขาด คือรับเงินมาก้อนหนึ่ง แล้วนายทุนก็นำเรื่องหรือเพลงนั้นไปผลิต จะขายได้ร่ำรวยเท่าไร นักเขียนจะไม่เกี่ยวด้วยเลย เพราะขายขาดไปแล้ว แม้แต่นักเขียนชื่อดังอย่าง ป. อินทรปาลิต ซึ่งเขียนนิยายเสือใบ เสือดำ พล นิกร กิมหงวน ที่นักอ่านติดกันงอมแงมทั้งบ้านทั้งเมือง ตัวจริงก็ยังต้องอาศัยอยู่ในบ้านเช่า ไม่มีกำลังที่จะซื้อบ้านเป็นของตนเอง แต่สำนักพิมพ์รวยไม่รู้เท่าไร ซึ่งต่างจากในปัจจุบันที่ระบบการใช้ลิขสิทธิ์เป็นการเช่าเป็นส่วนใหญ่ นักประพันธ์จะได้รับค่าตอบแทนดีกว่าเมื่อสมัยก่อน

ครูไสลก็เช่นกัน เข้าข่ายศิลปินไส้แห้ง แม้มีชื่อเสียงและผลงานแต่ก็ยังต้องอาศัยอยู่บ้านเช่า สำหรับเพลงสายลมเหนือนั้นมีเกร็ดความเป็นมาที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

เนื้อเพลงเพลงสายลมเหนือนี้แต่งขึ้นในปี พ.ศ. 2493 ก็ห้าสิบกว่าปีมาแล้ว ตอนนั้นเข้าขั้นตกอับ อยู่บ้านเช่าซึ่งค้างค่าเช่าจนถูกตัดน้ำตัดไฟฟ้า ภรรยาก็ทนสภาพไม่ไหว จึงแยกย้ายไปอยู่บ้านแม่ ส่วนครูไสลนั้นก็ยังคงปักหลักเขียนเพลงอยู่ในบ้านที่ไม่มีทั้งน้ำและไฟฟ้า และเพลงสายลมเหนือนี้ก็ถูกกลั่นกรองออกมาในช่วงชีวิตที่คับแค้นช่วงนั้นนั่นเอง


เพลงสายลมเหนือ
คำร้อง ไสล ไกรเลิศ

พริ้วลมลอยอยู่ ดอกบานแล้วดูโสภา
แลสวยงามสง่า อยากเด็ดเจ้ามาไว้ชม
บุญน้อยเลยไม่สมภิรมย์ได้ เฉิดฉวีมีสง่าร้อยมาลัย
เด็ดไปเอาไว้เชย เจ้าเคยเอาไว้ชม
กลัดเสียบผมชมต่างตา คราจากกัน

ฉันคอยเธออยู่ ผ่านเลยฤดูเหมันต์
คอยหายใจหวั่น ภาพเธอผ่องพรรณเย้าตา
คืนนี้จันทร์แจ่มฟ้านภาผ่อง สุขอย่างนี้มีเธออยู่รู้ใจปอง
พี่เชยปรางเนื้อทอง เจ้ามองสะเทิ้นอาย
หลบชม้ายชายเนตรเมินเชิญพี่ชม

ลมเหนือโชยรักเอยเจ้าโรยร่วงหล่น
ใจหม่นทนระทม ลมเหนือเยือนรักเอย
เจ้าเตือนใจข่ม สุดหาใดห่มฤทัย

ลมพัดพามณฑาเจ้าหอมยังไม่สิ้น
หอมเอยเพียงกลิ่นนวลเนื้อละไม
คนรักกันมาพลันห่างเหินเมินไปได้
ไม่เหลือเยื่อใยโอ้ใจเจ้าเอย

ฉันคอยเธออยู่ ผ่านเลยฤดูเหมันต์
คอยหายใจหวั่น ภาพเธอผ่องพรรณเย้าตา
คืนนี้จันทร์แจ่มฟ้านภาผ่อง สุขอย่างนี้มีเธออยู่รู้ใจปอง
พี่เชยปรางเนื้อทอง เจ้ามองสะเทิ้นอาย
หลบชม้ายชายเนตรเมินเชิญพี่ชม


ลองคิดดู หากใครที่อยู่ในสภาพตกอับคับแค้นอย่างนั้น แต่ยังสามารถแต่งเพลงรักหวานๆออกมาได้ ลุงแมวน้ำว่าคนนั้นต้องเป็นคนที่มีกำลังใจเข้มแข็ง ยิ้มสู้กับชีวิต และมองชีวิตในแง่บวกอย่างมากทีเดียว

ในเนื้อเพลง ครูไสลฝากความไปถึงคนรักว่ายังรออยู่เสมอ ทำนองเพลงในจังหวะควิกวอลต์ได้สร้างบรรยากาศหวานๆ อ้อนๆ แอบเหงานิดๆ นอกจากนี้แล้วยังแอบวางมุขใส่ไปในเนื้อเพลงด้วย นั่นคือ ท่อนที่ว่า


       ลมพัดพามณฑา เจ้าหอมยังไม่สิ้น
      หอมเอยเพียงกลิ่น เนื้อนวลละไม


ละไมก็คือชื่อของภรรยาของครูไสลนั่นเอง เป็นการแอบฝากสาสน์ไปถึงภรรยาผ่านทางเนื้อเพลงอย่างแนบเนียน ถ้าไม่บอกก็คงไม่มีใครรู้  ^_^

เพลงนี้บันทึกเสียงในปี พ.ศ. 2494 ผู้ร้องคนแรกคือลุงวิเชียร ภู่โชติ แต่เวอร์ชันนี้ไม่ค่อยดัง ที่ดังและยังขับร้องเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้เป็นเวอร์ชันของลุงสุเทพ วงศ์กำแหง

สำหรับคลิปที่ลุงแมวน้ำนำมาฝากในวันนี้เป็นคลิปเพลงสายลมเหนือ เวอร์ชันที่ร้องโดยลุงสุเทพ คลิปนี้เป็นคลิปของสเก็ตลีลาที่นำเพลงนี้มาใช้ประกอบการเล่นสเก็ต ก็ต้องอธิบายไว้สักหน่อย เดี๋ยวดูแล้วจะงงว่าทำไมสายลมเหนือเกี่ยวอะไรกับการเล่นสเก็ตน้ำแข็ง



Daisy Bell (Daisy, Daisy หรือ A Bicycle Built for Two)


หลังจากที่รู้จักกับเพลงสายลมเหนือแล้ว คราวนี้ ลุงแมวน้ำจะเล่าเกร็ดเกี่ยวกับทำนองของเพลงนี้บ้าง

ทำนองเพลงสายลมเหนือนี้นำมาจากเพลงฝรั่งที่ชื่อเดซีเบลล์ (Daisy Bell) ซึ่งชื่อนี้เป็นชื่อเพลงแต่ดั้งเดิม ซึ่งต่อมาเมื่อเพลงนี้โด่งดัง ก็มีผู้ที่เรียกเพลงนี้ว่า Daisy, Daisy บ้าง หรือบางทีก็เรียกว่า A Bicycle Built for Two บ้าง ตามแต่ความคุ้นปาก ดังนั้นจึงดูเหมือนว่าเพลงนี้มีหลายชื่อ

เพลงเดซีเบลล์นี้ปัจจุบันมีสถานะเป็นเพลงเด็กหรือเพลงพื้นบ้านที่เด็กอเมริกันคุ้นหูกันดี แต่ที่จริงแล้วเมื่อก่อนจัดเป็นเพลงป๊อปที่โด่งดังมาก ไม่ใช่เพลงเด็ก

เพลงนี้แต่งโดยชาวอังกฤษที่อยู่ในอเมริกา ชื่อ แฮร์รี แด็กเคอร์ (Harry Dacre) แด็กเคอร์เขียนเพลงนี้ในปี พ.ศ. 2435 (ค.ศ. 1892) หรือเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว

แรงบันดาลใจที่ทำให้แด็กเคอร์เขียนเพลงนี้ก็คือ ตอนที่แด็กเคอร์มาจากอังกฤษได้นำจักรยานมาด้วย ซึ่งการนำจักรยานเข้าไปในประเทศสหรัฐอเมริกาต้องเสียภาษีด้วย ก็น่าจะเป็นราคาพอสมควรอยู่ เพื่อนของแด็กเคอร์จึงล้อเล่นว่าดีนะที่ไม่ได้เอาจักรยานแบบสองที่นั่งมา ไม่อย่างนั้นคงต้องเสียภาษีเป็นสองเท่าของจักรยานที่นั่งเดียว

และนี่เอง ทำให้แด็กเคอร์ปิ๊งความคิดที่จะแต่งเพลงโดยใช้จักรยานสองที่นั่ง (a bicycle built for two หรือเรียกว่า tandems) เป็นหัวข้อ โดยแต่งทำนองในจังหวะควิกวอลตซ์และเขียนเนื้อร้องแบบขำๆ เกี่ยวกับชายหนุ่มที่หลงรักสาวน้อยที่ชื่อเดซี เบลล์ และอยากขอสาวแต่งงาน แต่ด้วยความที่มีเงินน้อย จะจัดรถม้าให้เจ้าสาวนั่งตามธรรมเนียมก็มีเงินไม่พอ จึงตะล่อมสาวคนรักว่าใช้จักรยานสองที่นั่งแทนรถม้าก็ดูเก๋ไม่เบา และตั้งชื่อเพลงนี้ว่า Daisy Bell

จักรยานแบบสองที่นั่งที่เรียกว่า tandems หรือ a bicycle built for two ในเนื้อเพลง



หลังจากที่แด็กเคอร์ประพันธ์เพลงนี้เสร็จ ปรากฏว่าขายไม่ออก คือไม่มีค่ายไหนนำไปผลิต ต่อมาแด็กเคอร์ได้พบกับเคที ลอว์เรนซ์ (Katie Lawrence) นักร้องอเมริกันแต่ได้เจอกันทีลอนดอน ลอว์เรนซ์สนใจเพลงนี้และได้นำไปเปิดการแสดงในลอนดอน ก็ปรากฏว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี


โปสเตอร์โฆษณาการแสดงเพลงเดซีเบลล์ในลอนดอนของเคที ลอว์เรนซ์ ค.ศ. 1892

หลังจากที่ประสบความสำเร็จในลอนดอน ค่ายเพลงในอเมริกาก็ไม่เกี่ยงงอนแล้ว ดังนั้นเพลงนี้จึงดังในอังกฤษก่อน แล้วจึงค่อยมาดังในอเมริกาในเวลาต่อมา และจัดว่าเป็นเพลงอมตะของอเมริกาเพลงหนึ่งในที่สุด

เพลงเดซีเบลล์นี้ เนื้อเพลงดั้งเดิมของแด็กเคอร์ยาวมากทีเดียว แต่ต่อมาก็ถูกตัดทอนให้สั้นลงตามกาลเวลาที่ผ่านไป มีนักร้องที่ร้องเพลงนี้เยอะมาก เนื้อร้องก็มีหลายเวอร์ชันมาก ลุงแมวน้ำหาเพลงต้นฉบับยุคเคที ลอว์เรนซ์ร้องในปี 1892 มาไม่ได้ ที่เก่าแก่ที่สุดที่หามาได้คือเวอร์ชันของเจอรัลด์ แอดัมส์ (Gerald Adams) ที่บันทึกแผ่นเสียงในราวปี ค.ศ. 1925 และอีกเวอร์ชันหนึ่งที่ดังมากคือของแนต คิง โคล (Nat King Cole) ในราวปี ค.ศ. 1963 ให้สังเกตว่าเวอร์ชันของแอดัมส์ เนื้อร้องถูกตัดทอนลงมาจากต้นฉบับเดิม ส่วนของโคลนั้นยิ่งสั้นลงไปอีก เหลือเพียงทำนองในท่อนคอรัสและแปลงเนื้อเพลงออกไปอีก

วันนี้ลุงแมวน้ำพามาฟังเพลงพร้อมทั้งเล่าเกร็ดเล็กๆน้อยๆในอดีต เพื่อผ่อนคลายบรรยากาศ หวังว่าพวกเราฟังเพลงรักหวานๆแล้วคงพอผ่อนคลายความเคร่งเครียดลงได้บ้างนะคร้าบ ^_^




เพลงเดซีเบลล์เวอร์ชันที่ร้องโดยเจอรัลด์ แอดัมส์ ในราวปี 1925 บันทึกลงบนแผ่นเสียงดังที่เห็นในคลิป การเล่นก็ต้องเล่นด้วยเครื่องเล่นแผ่นเสียงซึ่งตัวที่ถ่ายสัญญาณของร่องแผ่นเสียงเป็นสัญญาณแอนาล็อกก็คือหัวเข็มแผ่นเสียงนั่นเอง แผ่นเสียงก่อนปี ค.ศ. 1949 ผลิตด้วยวัสดุครั่ง (shellac) อันเป็นสารผสมในกลุ่มชัน เรซิน ขี้ผึ้ง





เพลงเดซีเบลล์เวอร์ชันที่ร้องโดยแนต คิง โคลในราวปี 1963 เนื้อเพลงในเวอร์ชันนี้ถูกตัดทอนให้สั้นลงเหลือเพียงทำนองในท่อนคอรัสเท่านั้น ภาพนี้เป็นภาพซองใส่แผ่นเสียงพร้อมแผ่นเสียงเพลงเดซีเบลล์ แผ่นเสียงในยุคหลังปี 1949 มีพัฒนาการไปอย่างมาก โดยเปลี่ยนจากวัสดุครั่งไปเป็นวัสดุไวนิลซึ่งเป็นพอลิเมอร์ ปัจจุบันเครื่องเล่นแผ่นเสียงและแผ่นเสียงยังมีซื้อขายกันอยู่ ถือเป็นของเล่นไฮโซ


DAISY BELL
by Harry Dacre

There is a flower within my heart
Daisy, Daisy
Planted one day by a glancing dart
Planted by Daisy Bell
Whether she loves me or loves me not
Sometimes it's hard to tell
yet I am longing to share the lot
Of beautiful Daisy Bell

chorus: Daisy, Daisy give me your answer do
     I'm half crazy, all for the love of you
     It won't be a stylish marriage
     I can't afford a carriage
     But you'll look sweet on the seat
     Of a bicycle built for two


We will go "tandem" as man and wife
Daisy, Daisy
"Ped'ling" away down the road of life
I and my Daisy bell
When the road's dark we can both despise
P'licemen and lamps as well
There are "bright lights" in the dazzling eyes
Of beautiful Daisy Bell

*** CHORUS ***


I will stick by you in "wheel" or woe
Daisy, Daisy
You'll be the bell(e) which I'll ring, you know
Sweet little Daisy Bell
You'll take the "lead" in each "trip" we take
Then if I don't do well
I will permit you to use the break
My beautiful Daisy Bell

*** CHORUS ***

Friday, November 29, 2013

29/11/2013 40 ปี 14 ตุลา กับปฏิบัติการยึดประเทศไทย 2556: ตอนที่ 7 รุ่งอรุณแห่งประชาธิปไตย




“ในวันที่ 15 ตุลาคม การปราบปรามประชาชนยังดำเนินต่อไป โดยฝ่ายรัฐบาลออกข่าวใส่ร้ายผู้ชุมนุมว่าเป็นผู้สนับสนุนลัทธิคอมมิวนิสต์ที่สวมรอยเข้ามาและมีอาวุธหนัก จึงต้องปราบปราม แต่ประชาชนไม่เชื่อและลุกฮือขึ้นสู้ด้วยความโกรธแค้น เลือดของประชาชนที่เปื้อนอยู่บนถนนราชดำเนินและบริเวณใกล้เคียงไม่ได้ทำให้ประชาชนหวาดหวั่น แต่ตรงกันข้าม กลับยิ่งหนุนเนื่องเข้าต่อสู้กับกองกำลังของหทารและตำรวจ ประชาชนในเขตกรุงเทพและอีกหลายท้องที่ในต่างจังหวัดลุกฮือขึ้นมาต่อต้านรัฐบาล แม้แต่นักเรียนก็ยังออกมาต่อสู้ด้วย






“สถานการณ์วุ่นวายและสับสนอลหม่านอย่างที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่สังหารนั้นสยดสยองมาก สมัยนั้นไม่มีโทรศัพท์มือถือ การติดต่อสื่อสารระหว่างมวลชนในสถานการณ์อันยุ่งเหยิงเช่นนั้นทำไม่ได้เลย ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาขาดการติดต่อกับมวลชน ไม่มีใครรู้ว่าแกนนำศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกทั้งยังมีข่าวลือว่าแกนนำนิสิตนักศึกษาบางคนเสียชีวิตไปแล้ว แกนนำที่ยังเหลืออยู่จึงมีการจัดตั้งศูนย์ปวงชนชาวไทยขึ้นมาชั่วคราวเพื่อประสานงานกับมวลชนและเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ โดยแกนนำของศูนย์ปวงชนชาวไทยบางคนก็อย่างเช่นจิรนันท์ พิตรปรีชา”

“นักเขียน กวีซีไรต์นี่ลุง” ลิงจ๋อพูด

“ใช่แล้ว คุณจิรนันท์ก็เป็นหนึ่งในผู้นำนิสิตนักศึกษาในยุค 14 ตุลาคม” ลุงแมวน้ำตอบ จากนั้นเล่าต่อ

“สุดท้ายทหารเองทนดูไม่ไหว ผบ.ทบ. ในขณะนั้นไม่เห็นด้วยกับการปราบปรามประชาชนอย่างไร้มนุษยธรรม โดย ผบ.ทอ. กับ ผบ.ทร. ก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน สร้างแรงกดกัดแก่จอมพลถนอมเป็นอย่างมาก เพราะอำนาจที่คุมกองกำลังอย่างแท้จริงนั้นอยู่ที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพนั่นเอง ไม่ใช่อยู่ที่ ผบ.สส.

“เรื่องราวเท่าที่เผยแพร่สู่สังคมก็มีเพียงสั้นๆเท่านี้ แต่ลุงแมวน้ำคาดว่าเรื่องนี้คงมีรายละเอียดเบื้องหลังอีกมากมายที่เกิดขึ้นในวันที่ 15 ตุลาคม เพราะในที่สุด ในตอนเย็นวันนั้นเอง จอมพลถนอมลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทหารและตำรวจยุติการปราบปรามประชาชนและถอยกลับเข้ากรมกอง ในตอนหัวค่ำ สถานีวิทยุก็ออกข่าวว่าถนอม ประภาส ณรงค์ ได้เดินทางออกจากประเทศไทยไปแล้ว

“ทันทีที่ข่าวนี้แพร่ออกไป สถานการณ์ความรุนแรงก็สงบลง” ลุงแมวน้ำเล่าจนจบพร้อมกับถอนหายใจเมื่อนึกถึงเหตุการณ์อันสยดสยองในอดีต




“คราวนี้จบจริงๆใช่ไหมฮะ” กระต่ายน้อยถาม

“คราวนี้จบจริงๆ” ลุงแมวน้ำตอบ “เมื่อเหตุการณ์รุนแรงยุติลง มวลชนที่เหลืออยู่ก็ร่วมแรงร่วมใจกันสะสางเรื่องราวต่อมา ทั้งสะสางสถานที่ ทั้งลำเลียงผู้บาดเจ็บไปโรงพยาบาล จัดการกับศพของผู้เสียชีวิต รวมทั้งทำความสะอาดถนนหนทางและจัดการจราจร เพื่อให้ชีวิตและเศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้ แม้แต่นักเรียนที่เป็นลูกเสือจราจรก็มาช่วยโบกรถตามสี่แยก”




“ฟังแล้วสยดสยองจัง” แม่ยีราฟพูดพลางหลับตาปี๋ “ไม่อยากนึกภาพตามเลย แล้วผู้คนบาดเจ็บล้มตายไปเท่าไรนะลุง”

“เสียชีวิตไป 77 คนและบาดเจ็บพิการรวม 857 คน นี่คือยอดอย่างเป็นทางการ แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีผู้ที่หายสาบสูญอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งผู้ที่หายสาบสูญนี้คาดว่าคงเสียชีวิตไปแล้ว” ลุงแมวน้ำตอบ

“แล้วหลังจากนั้นบ้านเมืองเป็นอย่างไรบ้างละลุง ดีขึ้นไหม” ลิงจ๋อถาม

“ถ้าดูในระดับจุลภาค ส่วนที่ร้ายก็มี นั่นคือครอบครัวของผู้ที่ล้มตาย และบาดเจ็บพิการ ครอบครัวของวีรชนเหล่านี้ต้องทุกข์โทมนัส เหล่านี้บางคนเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว ทำให้ครอบครัวต้องขาดรายได้ ไหนจะมีเรื่องค่ารักษาพยาบาลอีก ยิ่งผู้ที่บาดเจ็บพิการนั้นบางคนชีวิตเปลี่ยนไปราวกับตกนรก สถาบันครอบครัวต้องอัปปางลง สุดท้ายก็กลายเป็นวีรบุรุษที่โลกไม่ลืม แต่ก็ไม่ค่อยได้เหลียวกลับมาดูแลนัก




“แต่หากมองในแง่มหภาค การเปลี่ยนแปลงโดยประชาชนในครั้งนั้นทำให้สังคมไทยอภิวัฒน์ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ยุคของการปกครองแบบคณาธิปไตยโดยคณะเผด็จการทหารหมดสิ้นลง เราได้รัฐธรรมนูญ และได้รัฐบาลผู้บริหารประเทศที่มาจากการเลือกตั้ง แม้ว่าอิทธิพลของทหารจะยังไม่หมดไป แต่ก็ค่อยๆลดลง โดยเฉพาะในแง่ธุรกิจการค้า

“ดังที่ลุงบอกว่าในยุคนั้นเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ โดยกระแสทุนจากต่างชาติหลั่งไหลเข้ามา ทำให้ประเทศไทยพัฒนาเศรษฐกิจไปได้อย่างรวดเร็ว มีการค้าการลงทุนใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย หลัง 14 ตุลา จุดเปลี่ยนก็เกิดขึ้นก็คือจากเดิมที่ธุรกิจต่างๆต้องพึ่งพาระบบทหารตำรวจอุปถัมภ์ อิทธิพลของระบบพรรคพวกเหล่านี้ก็ลดน้อยลง ก็กลายมาเป็นว่าใครจะทำธุรกิจการค้าก็ไม่ต้องไปพึ่งพาเส้นสายอิทธิพลของนายทหารตำรวจใหญ่ๆ ไม่ต้องมอบหุ้นลมให้ฟรีๆ ไม่ต้องเอารูปนายทหารตำรวจใหญ่มาติดผนัง การทำธุรกิจก็สะดวกและเสรีมากยิ่งขึ้น” ลุงแมวน้ำพูด

“จากวันนั้นถึงวันนี้ เหตุการณ์ในอดีตกับปัจจุบันเกี่ยวข้องกันอย่างไรล่ะลุง ถึงได้เอามาเล่าเนี่ย” ลิงจ๋อถามอีก

“ไม่สังเกตหรือว่าเหตุการณ์หลายๆเรื่องในอดีตคล้ายคลึงกับในปัจจุบัน จะเรียกว่ากงล้อของประวัติศาสตร์หมุนเวียนมาอีกก็พอได้” ลุงแมวน้ำตอบ “และที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งก็คือ หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สถานภาพของนิสิตนักศึกษาได้ถูกยกสูงขึ้นกว่าเดิมอีก หนุ่มสาวนิสิตนักศึกษาถือเป็นเสาหลักต้นหนึ่งของสังคมทีเดียว และถูกเปรียบเป็นโคมที่ส่องแสงนำทางสังคมด้วย”

“ขนาดนั้นเชียว” ลิงจ๋อทึ่ง

“แน่นอน และหลังจากนั้นมา นิสิตนักศึกษาก็กระตือรือร้นและมีบทบาททางการเมืองอย่างต่อเนื่องและมากมาย ซึ่งประเด็นนี้ต่างกับในปัจจุบัน ที่นิสิตนักศึกษายุคนี้เป็นยุคที่มีบทบาททางการเมืองน้อยกว่าสมัยนั้นมาก แต่เรื่องนี้ลุงของยกเอาไว้ก่อน ยังไม่พูดต่อ” ลุงแมวน้ำพูด “แต่ที่จะบอกก็คือว่าหนุ่มสาววีรชน 14 ตุลาในวันนั้น คือคนในยุคเบบี้บูมเมอร์ และหนุ่มสาวที่ต่อต้านระบอบคณาธิปไตยแบบเผด็จการทหารในวันนั้นบางส่วนก็กลายมาเป็นผู้สนับสนุนระบอบคณาธิปไตยแบบเผด็จการทุนนิยมในวันนี้นั่นเอง"

“ยังไงฮะลุง อธิบายความหมายหน่อยฮะ ป๋มยังไม่เข้าใจ” กระต่ายน้อยทำหน้าสงสัย กระดิกหางปุกปุยไปมา

“คณาธิปไตยคือระบอบการปกครองที่ปกครองประเทศแบบผูกขาดโดยคนเพียงกลุ่มเดียว สมัยก่อนเรามีคณาธิปไตยแบบเผด็จการทหาร หมายความว่าเป็นการปกครองประเทศที่ผูกขาดโดยกลุ่มทหารเพียงกลุ่มเดียวนั่นเอง”  ลุงแมวน้ำอธิบาย

“ฮะ แล้วคณาธิปไตยแบบเผด็จการทุนนิยมละฮะลุง” กระต่ายน้อยถามต่อ

“ก็คือระบอบการปกครองทีปกครองประเทศโดยคนกลุ่มเดียว เพียงแต่ว่าคนกลุ่มนั้นไม่ใช่ทหาร แต่เป็นกลุ่มทุนกลุ่มหนึ่งที่ผูกขาดอำนาจการปกครองประเทศเอาไว้นั่นเอง โดยเนื้อหาและรูปแบบแล้วคล้ายกันมาก เพียงแต่เปลี่ยนตัวละครเท่านั้นเอง” ลุงแมวน้ำตอบ

“แต่ตอนนี้เราเป็นประชาธิปไตยนะจ๊ะลุง ไม่ใช่เผด็จการ” ยีราฟแย้ง

“เมื่อก่อน ตอนยุค 14 ตุลา เราก็เป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน ก็เป็นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา เพียงแต่ว่าเป็นแต่ในนามไง แต่โดยเนื้อหาแล้วก็ต้องมาดูกันอีกที

“อย่างเช่นกรณีเหตุการณ์ปัจจุบันนี้ เราก็เห็นประจักษ์ชัดแล้วว่าประเทศไทยถูกปกครองด้วยกลุ่มทุนกลุ่มหนึ่ง ที่ครอบงำทั้งคณะรัฐบาลและสภา สามารถออกกฎหมายอะไรก็ได้ที่ตนต้องการ รวมทั้งแก้ไขหรือไม่รับกฎหมายอะไรก็ได้ที่ตนไม่ต้องการ นี่ก็คือเนื้อหาเป็นคณาธิปไตยแบบเผด็จการทุนนิยมไง” ลุงแมวน้ำอธิบาย

“และที่สำคัญและน่าเหลือเชื่อก็คือ นิสิตนักศึกษาหลายคนที่ต่อต้านคณาธิปไตยเผด็จการทหารถนอม ประภาส ณรงค์ ในยุคโน้น กลายมาเป็นผู้สนับสนุนคณาธิปไตยแบบเผด็จการทุนนิยมในวันนี้” ลุงแมวน้ำพูดต่อ

“อึ้งกิมกี่” ลิงจ๋ออุทาน “ทำไมเป็นยังงั้นไปได้”