Thursday, October 10, 2013

10/10/2013 * เขื่อนแม่วงก์ 101 ป่าสร้างได้ สัตว์ป่าก็สร้างได้ (2)






“เรื่องมันเป็นอย่างนี้ กระต่ายน้อยค่อยๆฟังลุงเล่าไปก่อน” ลุงแมวน้ำพูด “ในปี 2532 กำหนดให้มีการทำอีไอเอของโครงการเขื่อนแม่วงก์ หลังจากนั้นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็รับไปดำเนินการ กว่าจะทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) และแผนแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIMP) แล้วเสร็จก็ปาเข้าไปปี 2537 โน่น ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะว่าโครงการขนาดใหญ่แบบนี้ผลกระทบซับซ้อนมาก การศึกษาและประเมินผลกระทบต้องลงพื้นที่ ใช้เวลาในการเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ ประเมิน นานนับปีอยู่แล้ว เมื่อกรมชลประทานที่เป็นเจ้าของเรื่องได้รับรายงานมา ก็ส่งให้ คชก พิจารณา”

“โอ๊ย ตัวละครชักเยอะ” ยีราฟเริ่มบ่น ทำปากยู่ยี่ “จำยากจัง แล้ว คชก เป็นใครกันอีกละคะลุง”

“คชก ย่อมาจาก คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ” ลุงแมวน้ำตอบ

“เอ๊ะ อีไอเอ ต้องผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินี่ลุง แล้ว คชก นี่มาจากไหนกัน” ลิงจ๋อก็งงด้วย

“คือยังงี้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินี้เป็นคณะกรรมการระดับชาติ มีหน้าที่ในการพิจารณาอนุมัติอีไอเอจริงๆ แต่ว่าในเชิงโครงสร้างการทำงานแล้ว คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเปรียบเสมือนหัวหรือว่าศีรษะ มีหน้าที่คิดและตัดสินใจ แต่ว่าคนเรามีแต่หัวไม่ได้ ต้องมีมือไม้แขนขา ดังนั้นกฎหมายจึงกำหนดให้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานแขนขา ที่คอยชงเรื่อง กลั่นกรองเรื่อง ให้แก่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยที่ สผ นี้มีคณะกรรมการในสังกัดอยู่หลายคณะที่มีความชำนาญแตกต่างกันไปในแต่ละสาขา

“คชก หรือคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ก็เป็นคณะผู้ชำนาญในสังกัดของ สผ ที่คอยช่วยชงเรื่องในด้านโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ คณะกรรมการอื่นๆก็เอาไว้คอยชงเรื่องในด้านอื่นๆ เช่น คณะกรรมการผู้ชํานาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโรงไฟฟ้าพลังความร้อน คณะกรรมการผู้ชํานาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านเหมืองแร่ และอุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่ เป็นต้น” ลุงแมวน้ำตอบ

“โอ๊ย ฉันละมึน ตัวละครและชื่อย่อเยอะจัง จะจำไหวไหมเนี่ย ความจำไม่ค่อยดีอยู่ด้วย” ยีราฟบ่น

“ทีแม่ยีราฟดูซีรีสซ์เกาหลี ชื่อยากๆ ยาวๆ ยังจำได้ เห็นจ้องทีวีตาแป๋ว ไม่บ่นสักคำ” ลิงจ๋อเหน็บแนม

“วุ้ย ดันเห็นอีก” ยีราฟสาวหัวเราะกิ๊ก

“ก็นี่แหละ เรื่องราวมันยาวเป็นมหากาพย์ อีกทั้งมีรายละเอียดมาก ดังนั้นคนทั่วไปพอเริ่มติดตามข่าวหน่อยก็จะมึนแล้ว ก็เลยละความสนใจไปเลย แต่ที่จริงเรื่องนี้มีผลกระทบต่อพวกเราทุกคน ไม่ว่าเราจะอยู่ นครสวรรค์ กรุงเทพฯ สงขลา หรือจังหวัดอื่นๆก็ตาม ดังนั้นลุงจึงพยายามไปช้าๆ อธิบายง่ายๆ ไล่เรียงไปตามลำดับไงล่ะ” ลุงแมวน้ำพยายามวกเข้าเรื่อง

“เอ้า ต่อเลยลุง” ลิงจ๋อเร่ง “กรมชลประทานเสนอรายงานอีไอเอให้ คชก พิจารณา แล้วไงต่อ”

“กรมชลประทานเสนอรายงานอีไอเอให้ คชก พิจารณาในปี 2537 ในปีเดียวกันนั้นเอง คชก ก็พิจารณาและแจ้งต่อกรมชลประทานว่ารายงานผลกระทบนี้ยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ ให้ไปศึกษาเพิ่มเติมมาอีก โดยให้ศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบสิ่งแวดล้อมบริเวณเขาชนกันด้วยเนื่องจากในการศึกษาความเหมาะสมของโครงการพบว่าที่ตั้งโครงการบริเวณเขาชนกันจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าบริเวณเขาสบกก กรมชลประทานก็ไปว่าจ้างปริษัทเอกชนให้ทำการศึกษาเพิ่มเติม หลังจากนั้นก็ส่งเรื่องให้ คชก อีก

“ต่อมาในปี 2541 โครงการเขื่อนแม่วงก์ก็เข้าที่ประชุมของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  (กก. วล.) โดยคณะกรรมการยังไม่เห็นชอบกับอีไอเอในตอนนั้น และมีมติให้ไปศึกษาเพิ่มเติมอีกในหลายประเด็น โดยเฉพาะปัจจัยที่มีผลกระทบต่อนิเวศวิทยา การประเมินต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม กับ... อันนี้นี่สำคัญมากนะ ฟังข้อความต่อไปนี้ให้ดี

“มติของ กก.วล. มีต่อไปอีกว่า ให้กรมชลประทานไปวิเคราะห์ต้นทุนโครงการเขื่อนแม่วงก์ ทั้งกรณีตั้งที่เขาสบกก และกรณีที่ตั้งที่เขาชนกัน เปรียบเทียบกับต้นทุนในการสร้างฝายและที่เก็บกักน้ำแบบอื่นๆ แทนการสร้างเขื่อน

“นอกจากนี้ กก. วล. ยังมีมติให้ทำประชาพิจารณ์โครงการเขื่อนแม่วงก์ด้วย แล้วนำมาเสนอ กก. วล. เพื่อพิจารณาอีก”

“ฟังแล้วจ้ะ แล้วยังไง” ยีราฟสงสัย


“จำเอาไว้ก่อน แล้วฟังลุงเล่าต่อ” ลองแมวน้ำพูด “ต่อมา ปี 2543 กรมชลประทานก็ไปทำประชาพิจารณ์มา การทำประชาพิจารณ์นั้นจัดที่กรุงเทพฯที่เอง มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วม 8100 คน แต่ว่ามาร่วมประชาพิจารณ์จริงเพียง 564 คน ไหงน้อยยังงี้ก็ไม่รู้ เมื่อทำประชาพิจารณ์แล้วเสร็จ ก็รวบรวมผล ส่งให้ สผ เพื่อเอาเข้าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมต่อไป

“ต่อมา ปี 2545 ผลการศึกษาเพิ่มเติมก็ถูกนำเข้าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ กก. วล. ก็ยังไม่เห็นชอบกับอีไอเออยู่ดี เพราะว่ากรมชลประทานวิเคราะห์เปรียบเทียบเฉพาะกรณีที่ตั้งเขื่อนที่เขาสบกก กับที่เขาชนกัน เพียงสองแห่งเท่านั้น

“กก. วล. ให้กรมชลประทานหาทางเลือกของที่ตั้งโครงการ และศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องการบริหารการจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบในลักษณะบูรณาการ ก็ให้การบ้านแก่กรมชลประทานไปทำมาอีก

“ในปี 2547 ก็มีการส่งอีไอเอให้ สผ เพื่อยื่นเข้า กก. วล. อีก ในครั้งนี้ สผ ซึ่งเป็นผู้ชงเรื่องเข้าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ทวงติงกรมชลประทานไปว่า ข้อมูลที่นำเสนอมาเป็นข้อมูลเดิมๆ  การบ้านที่ว่าให้ศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องการบริหารการจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบในลักษณะบูรณาการ ก็ยังไม่ได้ตอบมา มีแค่การเปรียบเทียบการสร้างเขื่อนที่เขาสบกกกับที่เขาชนกันเท่านั้น

“ต่อมา ในปีเดียวกันนั้นเอง เรื่องก็เข้า กก.วล. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็ยังไม่ให้ความเห็นชอบอีไอเอของเขื่อนแม่วงก์อีก โดยครั้งนี้ กก. วล. ก็ย้ำการบ้านไปอีกสองข้อ คือ ข้อแรก ให้กรมชลประทานประสานการดำเนินการวางแผนบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำแม่วงก์ ให้สอดคล้องกับแผนการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำสะแกกรังของคณะอนุกรรมการลุ่มน้ำสะแกกรัง เพื่อหาข้อยุติในการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบในลักษณะบูรณาการ โดยพิจารณาให้มีผลกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ตลอดจนความขัดแย้งกับราษฎรน้อยที่สุด

“การบ้านข้อสองก็คือ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำวิธีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงกลยุทธ์ (SEA: Strategic Environmental Assessment) มาใช้ในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย

“นี่คือการบ้านในปี 2547 ต่อมา ปี 2550 กรมชลประทานก็ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้ทำการศึกษา SEA”

“โห มหากาพย์จริงๆ ลากยาวมานับสิบปีเลย” ยีราฟสาวให้ความเห็นพร้อมกับทำน้ำลายหยดแหมะลงบนหัวกระต่ายน้อย ลุงแมวน้ำกับลิงจ๋อรีบถอยห่างจากยีราฟเพื่อตั้งหลัก

“ยัง ยังไม่จบเท่านี้” ลุงแมวน้ำพูด “จะเห็นว่าโครงการนี้ลากยาวจริงๆ ที่เมื่อกี้ลุงบอกว่าให้ฟังห้ดี ก็คือลุงอยากให้สังเกตว่า ความล่าช้าในการพิจารณาอีไอเอส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าทางต้นเรื่อง คือกรมชลประทานทำการศึกษาผลกระทบมาไม่เรียบร้อย และเมื่อให้ทำการบ้านเพิ่มเติมไปก็ยังทำไม่เรียบร้อยอีก ดังนั้นเมื่อเข้า กก. วล. คณะกรรมการจึงยังไม่ให้ความเห็นชอบ 



การที่ผลการศึกษาหรือว่าอีไอเอถูกตีกลับตั้งหลายรอบ ทั้งที่ คชก ทักท้วงในชั้นต้น และที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติทักท้วง สะท้อนว่าโครงการนี้ต้องมีปัญหาอะไรสักอย่างแน่ แต่กรมชลประทานก็พยายามอย่างยิ่งที่จะเข็นเรื่องนี้ให้ผ่านให้ได้ 

“ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 เกิดมหาอุทกภัยในที่ราบภาคกลาง สร้างความเสียหายครอบคลุมพื้นที่ 39 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพฯด้วย ความเสียหายเกิดขึ้นทั้งพื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่เกษตร และพื้นที่อยู่อาศัย ลุงแมวน้ำยังต้องแบกกระสอบทรายจนปวดพุงปวดหลัง หลังจากน้ำลด ในปี 2555 รัฐบาลก็ทำโครงการเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท หรือว่าสามแสนห้าหมื่นล้านบาท เพื่อบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ 39 จังหวัด โดยกรรมวิธีการสร้างโครงการนั้นไม่ได้ทำมาจากแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ แต่ว่าเป็นการรวมเอาโครงการเขื่อนและโครงการบริหารจัดการน้ำต่างๆที่มีโครงการอยู่แล้ว มามัดรวมกันเป็นฟ่อน รวม 9 ฟ่อนหรือว่า 9 โมดูล แต่ละฟ่อนนั้นก็ประกอบด้วยโครงการย่อยหลายโครงการ

“ส่วนโครงการเขื่อนแม่วงก์นั้นถูกมัดรวมอยู่ในฟ่อนที่เรียกว่าโมดูล A1 และเขื่อนแม่วงก์เป็นโครงการรุ่นแรกของของโครงการเงินกู้เพื่อบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านนั่นเอง”



Monday, October 7, 2013

08/10/2013 * เขื่อนแม่วงก์ 101 ป่าสร้างได้ สัตว์ป่าก็สร้างได้ (1)






หมายเหตุ 

บทความชุดเขื่อนแม่วงก์นี้ลุงแมวน้ำเขียนขึ้นเพื่อปูพื้นเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับความขัดแย้งกรณีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ให้พวกเราได้ทราบกัน หลายคนคงได้อ่านข่าวเกี่ยวกับการคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ แต่ก็อาจไม่ทราบถึงที่มาที่ไปว่าเป็นอย่างไร เพราะว่าเรื่องมันยาวมาก ประกอบกับบางคนอาจเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ที่จริงแล้วเรื่องเขื่อนแม่วงก์นี้มีผลกระทบต่อพวกเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นแง่การก่อหนี้สาธารณะซึ่งเราทุกคนต้องช่วยกันแบกรับไปจนถึงคนรุ่นหลัง การทำลายทรัพยากรซึ่งเราทุกคนมีส่วนร่วมกันเป็นเจ้าของ รวมทั้งการทุจริตเชิงนโยบาย การฉ้อราษฎร์บังหลวงทั้งตามน้ำและทวนน้ำที่อาจเกิดขึ้นได้ที่มีผลต่อความรุ่งเรืองหรือเสื่อมโทรมของประเทศ

ลุงแมวน้ำพยายามเขียนให้ง่ายที่สุด ลำดับความเป็นมา รวบรวมประเด็นสำคัญ สำหรับคนที่ไม่ได้ติดตามเรื่องมาเลย หรือได้ยินได้ฟังมาบ้างแต่ยังไม่เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร จะเรียกว่าเป็น เขื่อนแม่วงก์ 101 หรือ เขื่อนแม่วงก์สำหรับผู้ไม่รู้เรื่องราวมาก่อน ก็ได้ โปรดสละเวลาอ่านกันสักนิดนะคร้าบ เพื่อประโยชน์ของพวกเราทุกคน ^_^



เช้าวันหยุดปลายเดือนที่ผ่านมา อากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน ช่วงนั้นฝนตกเกือบทุกวัน ทำให้อากาศเย็นสบาย แต่ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง ที่จริงเสียหลายอย่างด้วย เพราะแม้ว่าอากาศในกรุงเทพฯจะเย็นสบายขึ้น แต่ก็ต้องแลกด้วยความเฉอะแฉะ รถติด และน้ำท่วมขัง นอกจากนี้ ในต่างจังหวัดหลายพื้นที่ก็เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมด้วย

วันนั้นลุงแมวน้ำมีหนังสือที่ตั้งใจจะอ่านอยู่หลายเล่ม หลังจากที่ทำอะไรต่ออะไรเสร็จเรียบร้อย ลุงก็เอาหนังสือมาอ่าน ลุงแมวน้ำยังชอบอ่านหนังสือเป็นเล่มๆอยู่ รู้สึกสบายตากว่าอ่านบนแท็บเลต การอ่านอะไรบนหน้าจอทำให้ตาล้าเร็ว หากอ่านมากๆก็มักทำให้ปวดตา

ทีแรกก็นั่งดูหนังสือ... ก็อยู่แถวๆโขดหินแสนสุขนั่นแหละ นั่งไปนั่งมามาก็เปลี่ยนเป็นนอนดูหนังสือ แต่สุดท้ายก็กลายเป็นหนังสือดูลุงแทนเสียได้ ก็อากาศมันน่านอนนี่นา ^_^

“ลุงแมวน้ำ ลุงแมวน้ำ ตื่นหน่อย แหม มาทีไรเห็นลุงหลับทุกที” ลุงแมวน้ำได้ยินเสียงแว่วๆ เหมือนมีคนกำลังเรียกอยู่

ลุงแมวน้ำงัวเงีย โงนเงน ลุกขึ้นมาดูว่าใครกำลังเรียก ก็ปรากฏว่าเป็นนายลิงจ๋อ หนึ่งในสมาชิกคณะละครสัตว์นั่นเอง ลุงแมวน้ำรีบสลัดความง่วง ลุกขึ้นนั่ง พลางวางมาดว่ากำลังอ่านหนังสือง่วนอยู่

“หลับอะไรที่ไหนกัน ลุงแค่พักสายตาเท่านั้นเอง อ่านหนังสือนานๆแล้วเมื่อยตา” ลุงแมวน้ำอธิบาย

“ฮึ พักสายตา ผมมาดูลุงอยู่ตั้งนาน เห็นหลับตา แถมยังกรนอีกด้วย” นายจ๋อพยายามเปิดโปงลุงแมวน้ำ “กรนเป็นเสียงดนตรีเชียว”




เมื่อลุงแมวน้ำหายง่วง ก็สังเกตว่าลิงจ๋อมอมแมมไปมากทีเดียว ไม่เห็นนายจ๋อมาสองสามวันแล้ว ที่มอมแมมคงเป็นเพราะออกไปเที่ยวข้างนอกมาเป็นแน่

“นายจ๋อไปเที่ยวที่ข้างนอกมาเหรอ มอมแมมมาเชียว” ลุงแมวน้ำพูด

“เปล่าเที่ยวเสียหน่อย ผมไปเดินทางไกลมา” ลิงจ๋อพูด “เดินมาจากอยุธยาโน่น”

“เดินจากอยุธยาทำไม นี่ติดหุ้นถึงขนาดไม่มีค่ารถเลยเหรอ” ลุงแมวน้ำแปลกใจ

“ลุงก็ พูดซะ” ลิงจ๋อประท้วง “นี่เรียกว่าผมลงทุนระยะยาวต่างหาก แล้วเงินค่ารถก็มีด้วย”

“เอ้า ลงทุนระยะยาวก็ได้ แล้วทำไมต้องเดินมาจากอยุธยา” ลุงแมวน้ำวกเข้าประเด็น

“ก็ผมไปร่วมเดินคัดค้านรายงานอีเอชไอเอ (EHIA) ของโครงการเขื่อนแม่วงก์มาน่ะสิ พวกเราที่คณะละครสัตว์นี่ก็ไปร่วมด้วยหลายตัวทีเดียว” ลิงจ๋ออธิบาย “เขาเดินมากันตั้งแต่นครสวรรค์เข้ากรุงเทพฯ แต่พวกเราไม่ได้เดินตลอดช่วง เราไปสมทบที่อยุธยา แล้วก็เดินเข้ากรุงเทพฯมา”

“ยังงี้นี่เอง ลุงไม่ยักรู้เรื่อง” ลุงแมวน้ำถึงบางอ้อ “มิน่าล่ะ สองวันนี้ที่โรงละครสัตว์ถึงได้เงียบๆ ลุงยังนึกว่าฝนตก งดแสดง แล้วออกไปเที่ยวกันเสียอีก”

“ลุงแมวน้ำจะไปสนใจเรื่องป่าเขา กวาง เสือโคร่ง ทำไม เรื่องไกลตัวลุงนี่ ถ้าเป็นนกเพนกวิน หมีขาว ล่ะก็ว่าไปอย่าง” นายจ๋อตัดพ้อ “ผมชวนลุงแล้วแต่ลุงไม่สนใจจะเข้าร่วม ตอนจะไปเดินผมเลยไม่ได้บอกลุงอีกที”

“ลุงไม่ได้บอกว่าไม่สนใจ แต่ลุงบอกว่าขอศึกษาก่อนไง” ลุงแมวน้ำพูดแก้

“ก็นั่นไง คือลุงบอกปัดแบบไม่ให้ผมเสียน้ำใจ” นายจ๋อยิ่งพูดยิ่งเครียด ดูนายจ๋อจริงจังกับเรื่องเขื่อนแม่วงก์นี้มาก

“ทำไมคิดอย่างนั้นล่ะ” ลุงแมวน้ำพูดพลางเอาครีบชี้ให้ดูกองหนังสือที่อยู่ข้างๆตัวลุง “เห็นกองหนังสือพวกนี้ไหม นี่คือ รายงานการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรือที่เรียกว่าอีเอชไอเอ (EHIA, Environmental Health Impact Assessment) ของโครงการเขื่อนแม่วงก์ เป็นฉบับร่าง ที่พวกนายกำลังคัดค้านกันนั่นแหละ ลุงหามาอ่านดู จะได้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ชุดหนึ่งมีตั้งหลายเล่ม หนักหลายกิโลกรัมทีเดียว”

“เอ่อ...” นายจ๋อถึงกับเงิบ “นี่ลุงหามาอ่านเลยเหรอ ผมนึกว่าลุงไม่สนใจเสียอีก”



“ลุงขอศึกษาก่อน เพราะว่าหากลุงจะค้านก็จะได้ค้านด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่ค้านอย่างไม่เข้าใจเพราะไปฟังเขาเล่ามา ลุงถือหลักกาลามสูตร อย่าฟังเขาเล่าว่า” ลุงแมวน้ำอธิบาย “ความรวดเร็วการแบ่งปันข่าวสารในเครือข่ายสังคมเป็นเรื่องดาบสองคม ข้อดีคือข่าวสารแพร่ได้กว้างอย่างฉับไว สามารถเร้าอารมณ์ร่วมของมวลชนได้ง่าย แต่ข้อเสียก็คือหากนำไปใช้ในทางไม่สร้างสรรค์ก็จะกลายเป็นเหมือนลัทธิล่าแม่มดในยุคก่อน คือผิดถูกไม่รู้ล่ะ แต่ฉันเอาด้วยไว้ก่อน เพราะสถานการณ์สร้างอารมณ์ร่วม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาก็เป็นตัวอย่างของการทำลายล้างจากอารมณ์ร่วมพาไป และก็เหมือนหุ้นผีบอกนั่นแหละ บอกกันทั่ว รู้กันทั่ว และเจ๊งกันทั่ว เพราะแห่กันเข้าไปซื้อโดยเชื่อที่เขาบอกต่อๆกันมา”

“ประโยคหลังนี่คุ้นๆนะลุง ลุงกำลังว่าใครอยู่หรือเปล่า” ลิงจ๋อทำเสียงอ่อยลง ดูหายเครียดไปไม่น้อย “ลุงอ่านแล้วได้ความยังไงบ้างล่ะ เห็นลุงหลับตาอ่านแบบนี้เมื่อไรจะรู้เรื่องเสียที”

“ไม่ได้หลับตาอ่าน ลุงแค่พักสายตา” ลุงแมวน้ำเถียง “ก็อ่านไปได้พอสมควรแล้ว ได้ความยังไงแล้วจะเล่าให้ฟังอีกที”

“ได้เลยลุง ถ้ายังงั้นตอนบ่ายผมมาหาลุงอีกทีหนึ่ง ลุงเล่าให้ผมฟังหน่อยนะ” ลิงจ๋อพูดแล้วก็กระโดดเอาหางคล้องกิ่งไม้และห้อยโหนจากไป



มหากาพย์เขื่อนแม่วงก์





ตอนบ่าย

บ่ายวันนั้นลิงจ๋อมาหาลุงแมวน้ำตามที่ได้นัดกันไว้ แต่ไม่ได้มาเพียงตัวเดียว ยีราฟและกระต่ายก็มาด้วย

“อ้าว ไม่นึกว่าแม่ยีราฟกับกระต่ายน้อยจะมากับนายจ๋อด้วย นี่ว่างกันหรือไง” ลุงแมวน้ำทักทาย

“ว่างจ้ะลุง เดี๋ยวค่ำๆค่อยแสดง” ยีราฟสาวผู้พิสมัยถั่วฝักยาวตอบ

“แล้วกระต่ายน้อยสนใจเรื่องเขื่อนแม่วงก์กับเขาด้วยเหรอ” ลุงแมวน้ำถามอีก

“พี่จ๋อชวนมาฮะ ผมอยู่แต่ในหมวก ไม่มีอะไรทำ เลยมาด้วย” กระต่ายน้อยตอบ พลางทำจมูกฟุดฟิดและกระดิกหางปุยไปมาตามประสากระต่าย

กระต่ายน้อยแต่งตัวอย่างดี แตกต่างจากกระต่ายทั่วไป เพราะมีระดับเป็นถึงกระต่ายของนักมายากล ลุงแมวน้ำไม่ค่อยได้เจอกระต่ายน้อยบ่อยนัก เนื่องจากส่วนใหญ่ซ่อนตัวอยู่แต่ในหมวกของนักมายากล นานๆจึงจะออกมาเสียที ลุงก็ไม่รู้เหมือนกันว่าในหมวกมีอะไรทำถึงได้อยู่ในนั้นได้ตั้งนานสองนาน

“เอ้า ลุงแมวน้ำ เริ่มได้เลย อ่านรายงานผลกระทบแล้วได้ความยังไงบ้าง” ลิงจ๋อเร่งรัด ดูลิงกระตือรือร้นกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ

“แล้วแม่ยีราฟกับกระต่ายน้อยรู้ความเป็นมา ที่มาที่ไปของเขื่อนแม่วงก์นี่แล้วหรือ” ลุงแมวน้ำถาม

“ยังเลยฮะลุง” กระต่ายน้อยตอบ “ผมไม่รู้เรื่องเลย ผมเป็นกระต่ายเมือง ไม่รู้ข่าวเรื่องเขื่อนเลย” กระต่ายพูด

“ฉันเคยได้ยินจ้ะลุง ทีแรกก็เห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว เลยไม่ได้สนใจ ถ้าเป็นเรื่องถั่วฝักยาวละก็ว่าไปอย่าง” ยีราฟพูดบ้าง “แต่ได้ยินนายจ๋อพูดให้ฟังบ่อยๆ ก็ชักสนใจบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่องหรอก”

“ถ้าอย่างนั้นลุงเท้าความตั้งแต่ต้นเรื่องเลยก็แล้วกัน พวกเราจะได้รู้ที่มาที่ไปของเขื่องแม่วงก์นี้ และจะได้เข้าใจว่าทำไมจึงเป็นประเด็นในคนออกมาคัดค้าน” ลุงแมวน้ำพูด “ที่จริง แม้ว่าพวกเราอยู่กันที่กรุงเทพฯ แต่กรณีเขื่อนแม่วงก์ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย แม้ว่าเขื่อนนี้จะกำหนดที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ แต่ผืนป่าที่กำลังจะถูกทำลายไปเพราะการสร้างเขื่อนนั้นถือได้ว่าเป็นสมบัติของคนทั้งชาติ จะว่าเป็นสมบัติของมนุษยชาติก็ว่าได้ ดังนั้นพวกเราทุกคนควรมีสิทธิ์หวงแหนและคัดค้านได้หากการดำเนินการสร้างเขื่อนมีข้อน่าสงสัย”

“เป็นสมบัติของคนทั้งชาติเลยเหรอลุง” กระต่ายน้อยถาม ดวงตากลมโต สีแดงใสแจ๋ว “เพราะอะไรฮะ”

“ใช่แล้ว” ลุงแมวน้ำตอบ “ลุงกำลังจะอธิบายฟัง ค่อยๆฟังลุงลำดับความไปก็แล้วกัน”

ลุงแมวน้ำหยุดคิดนิดหนึ่ง แล้วจึงพูดต่อ

“ที่จริงเรื่องโครงการเขื่อนแม่วงก์นี้ ถึงตอนนี้ก็มีคนพูดถึงและเขียนถึงกันมากพอสมควรแล้ว หากเราต้องการหาข้อมูลก็สามารถหาอ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ไม่ยาก เอาเป็นว่าลุงจะพูดในบางแง่มุมที่ต่างจากที่คนอื่นๆก็แล้วกัน

“ความเป็นมาของเขื่อนแม่วงก์นี้เรียกได้ว่าเป็นระดับมหากาพย์เลยทีเดียว โดยแนวคิดเรื่องเขื่อนกั้นลำน้ำแม่วงก์นี้ต้องเท้าความกันตั้งแต่ยุค พ.ศ. 2513 หรือสี่สิบกว่าปีมาแล้ว โดยในยุคนั้นกรมชลประทานได้เริ่มทำการสำรวจความเป็นไปได้ในการพัฒนาลุ่มน้ำสะแกกรัง โดยลุ่มน้ำสะแกกรังนี้ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ อุทัยธานี กำแพงเพชร และนครสวรรค์ ซึ่งลำน้ำแม่วงก์นี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำสะแกกรังด้วย โดยลำน้ำแม่วงก์ไหลผ่านอำเภอลาดยาวและอำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์

“ในฤดูน้ำหลาก หลายพื้นที่ในลุ่มน้ำสะแกกรังมักเกิดปัญหาน้ำท่วม แนวคิดของเขื่อนแม่วงก์ในยุคนั้นจึงเกิดจากชาวบ้าน อำเภอแม่วงก์ ลาดยาว ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมจากลำน้ำแม่วงก์ ที่ได้เป็นเห็นผลดีจากโครงการเขื่อนภูมิพลที่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ จึงทำให้อยากได้เขื่อนมาแก้ปัญหาน้ำท่วมบ้าง และมีการผลักดันผ่านทางนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งดังที่ลุงบอกว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่กรมชลประทานทำการสำรวจความเป็นไปได้ในการพัฒนาลุ่มน้ำสะแกกรังอยู่แล้ว

“เอาละ ทีนี้ตัดภาพมาที่ปี พ.ศ. 2525 ซึ่งในช่วงปี พ.ศ. 2525-2529 เป็นช่วงเวลาภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 5 หรือที่เรียกสั้นๆว่า แผน 5 ซึ่งแผน 5 นั้นเน้นการขยายพื้นที่ชลประทานและพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก โดยโครงการพัฒนาลุ่มน้ำสะแกกรังได้ถูกบรรจุเอาไว้ในแผน 5 นี้ด้วย

“ประจวบกับในปี พ.ศ. 2526 เกิดน้ำท่วมใหญ่ในหลายอำเภอของจังหวัดนครสวรรค์ ทำให้ประชาชนในพื้นที่เรียกร้องต้องการเขื่อนเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม และในปี พ.ศ. 2528 องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่าไจก้า (JICA) ก็ได้เข้ามาช่วยเรื่องการศึกษาการพัฒนาลุ่มน้ำสะแกกรังและศึกษาความเหมาะสมของการสร้างเขื่อนแม่วงก์”

“ปี 26 จำได้จ้ะ ปีนั้นอย่าว่าแต่น้ำท่วมใหญ่ที่นครสวรรค์เลย ที่กรุงเทพฯก็มีน้ำท่วมใหญ่ ตอนนั้นฉันยังเด็กอยู่เลย โชคดีที่คอยาว จึงลอยคอรอดมาได้” ยีราฟสาวพูดขึ้นบ้าง

“แล้วผลการศึกษาของไจก้าเป็นยังไงบ้างล่ะลุง” ลิงจ๋อถาม

“ก็สรุปว่าโครงการเขื่อนแม่วงก์มีศักยภาพ เหมาะสมที่จะสร้างได้” ลุงแมวน้ำตอบ

“เดี๋ยวก่อน ลุงแมวน้ำ ขอถามอีกนิด แล้วเขื่อนแม่วงก์นี่ตั้งอยู่ที่ไหนกัน” กระต่ายน้อยสงสัยบ้าง

“ตรงนี้แหละที่เป็นประเด็นสำคัญของมหากาพย์เรื่องนี้” ลุงแมวน้ำตอบ “สถานที่ตั้งของเขื่อนแม่วงก์ หรือว่าจุดที่จะสร้างเขื่อน หรือว่าตำแหน่งหัวเขื่อน ทั้งสามคำนี้มีความหมายเดียวกัน จากการสำรวจเบื้องต้นที่ทำไว้เดิมของกรมชลประทานและของไจก้า มีตัวเลือกอยู่สองพื้นที่ คือสร้างกั้นลำน้ำแม่วงก์ตรงบริเวณเขาสบกก และกับที่บริเวณเขาชนกัน อยู่ในอำเภอแม่วงก์ทั้งคู่

“ผลการสำรวจในยุคนั้นออกมาว่า บริเวณเขาชนกันนั้นสามารถสร้างเขื่อนที่เก็บกักน้ำได้ในปริมาณมากกว่า แต่ว่าโครงสร้างชั้นหินใต้ดินไม่แข็งแรง ไม่เหมาะกับการสร้างเขื่อน อีกทั้งในพื้นที่เขาชนกันมีราษฎรอยู่อาศัยมากกว่า ยากแก่การโยกย้าย ดังนั้นการศึกษาจึงพุ่งเป้ามาที่บริเวณเขาสบกก ตำบลแม่เล่ย์ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ปัจจุบันอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ โดยบริเวณที่จะเป็นหัวเขื่อนนั้นมีลักษณะเป็นป่าที่ราบต่ำ อยู่ริมน้ำ และมีความอุดมสมบูรณ์มาก”



“อ้อ เข้าใจแล้วฮะ ยังงั้นลุงแมวน้ำเล่าต่อเลยฮะ” กระต่ายน้อยตอบ

“จากผลสำรวจของไจก้า ดังนั้นต่อมา ในปี พ.ศ. 2532 คณะรัฐมนตรีในยุคนั้นจึงมีมติให้กรมชลประทานไปดำเนินการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่าอีไอเอ (EIA, Environmental Impact Assessment)”

“อีไอเอ คืออะไร แล้วทำไปทำไมฮะ” กระต่ายน้อยกระดิกหางปุกปุยถามอีก

“อีไอเอนั้นเป็นเรื่องที่เราเอาองค์ความรู้มาจากฝรั่งตะวันตก ใช้กับการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ใดๆที่อาจเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างรุนแรง” ลุงแมวน้ำตอบ  “อีไอเอคือการศึกษา วิเคราะห์ และประเมินผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ทั้งทางบวกและทางลบ ของโครงการนั้น อีกทั้งยังรวมไปถึงการกำหนดวิธีการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้นด้วย

“กระบวนการทำอีไอเอนั้นต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญ และเขียนเป็นรายงานออกมา รายงานอีไอเอนี้มีความสำคัญมาก เพราะการทำโครงการขนาดใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบรุนแรง กฎหมายระบุว่าต้องให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประเมินอีไอเอให้ผ่านเสียก่อน หากรายงานอีไอเอยังไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ก็ยังทำโครงการนั้นๆไม่ได้”

“การทำอีไอเอนั้นศึกษาและประเมินผลกระทบ พร้อมกับกำหนดวิธีการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ใน 4 ด้าน คือ ด้านกายภาพ ได้แก่พวก ดิน น้ำ อากาศ ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรขณะที่มีการก่อสร้างโครงการและหลังจากก่อสร้างโครงการไปแล้ว ด้านที่สองก็คือด้านทรัพยากรชีวภาพ ว่าโครงการส่งผลต่อระบบนิเวศอย่างไร ด้านที่สามคือคุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ ศึกษาผลกระทบว่าการใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และด้านที่สี่ คุณค่าต่อคุณภาพชีวิต เป็นการศึกษาผลกระทบของโครงการที่กระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่”

“อ้อ เข้าใจแล้วฮะ เป็นอันว่าเขื่อนแม่วงก์นี้เริ่มทำอีไอเอตั้งแต่เมื่อยี่สิบกว่าปีมาแล้ว ไหงทำนานจัง จนป่านนี้ยังไม่เสร็จ” กระต่ายน้อยถามอีก

“กระต่ายน้อยเข้าใจผิดแล้ว อีเอไอนี้ทำเสร็จแล้ว เขียนเป็นรายงานออกมาแล้ว แต่สอบไม่ผ่านต่างหาก” ลิงจ๋อช่วยตอบ