Wednesday, October 24, 2012

24/10/2012 สรุปภาวะการลงทุนรอบสัปดาห์ (15/10/2012 - 19/10/2012) * อเมริกาฉุดโลก


วันนี้เรามาสรุปความเปลี่ยนแปลงของตลาดในรอบสัปดาห์ที่แล้วกัน แม้ว่าจะช้าไปหน่อยแต่ลุงแมวน้ำคิดว่ายังมีประโยชน์ครับ

สัปดาห์ที่ผ่านมา 15/10/2012 ถึง 19/10/2012 สถานการณ์ในแต่ละภูมิภาคแตกต่างกันไป

มาเริ่มที่ตลาดหุ้นกันก่อน ดูตลาดหุ้นยุโรปก่อนก็แล้วกัน ตลาดหุ้นทางฝั่งยุโรปในสัปดาห์ที่ผ่านมาสดใสทีเดียว ตลาดหุ้นเยอรมนีปรับขึ้นไป +2.05% สถาบันจัดอันดับมูดีส์คงอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลสเปนเอาไว้ ทำให้สถานการณ์ดูดีมีความหวัง แม้ว่าสถาบันจัดอันดับอื่นจะลดความน่าเชื่อถือของธนาคารสเปนลงไปอีก ตลาดหุ้นสเปน กรีซ อิตาลีขึ้นแรง

ทางด้านสหรัฐอเมริกา เป็นช่วงที่ผลประกอบการไตรมาสสามทยอยออกมา บริษัทยักษ์ใหญ่ของ สรอ หลายแห่งมีผลประกอบการที่ดี แต่หลายแห่งที่ปล่อยออกมาในตอนท้ายสัปดาห์ก็น่าผิดหวัง และหลายแห่งที่น่าผิดหวังนี้เองที่ฉุดตลาดหุ้นอเมริกันและยุโรปในช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้วต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ไม่ให้ไปไหน ส่งผลทำให้ตลาดโลกโดยรวมพลอยถูกฉุดลงมาด้วย บริษัทยักษ์ที่ผลประกอบการน่าผิดหวังก็เช่น Microsoft, General Electric, McDonald's, Google, DuPont, United Technologies, 3M ฯลฯ

ทางด้านตลาดหุ้นเอเชียก็ปรับตัวขึ้น แต่รวมแล้วยังไม่แรงเท่ายุโรป ตลาดหุ้นญี่ปุ่นขึ้นแรง +5.5% ตามมาด้วยตลาดหุ้นจีนและฮ่องกง ปัญหาเรื่องการพิพาทหมู่เกาะเตียวหยูระหว่างจีนกับญี่ปุ่นก่อนหน้านี้แรงกันทั้งคู่ ส่งผลให้คนจีนแอนตี้สินค้าญี่ปุ่นจนญี่ปุ่นอ่วม แถมสื่อมวลชนจีนยังเขียนวิจารณ์อีกว่ารัฐบาลจีนน่าจะขายพันธบัตรญี่ปุ่นออกมาเพื่อสั่งสอนญี่ปุ่นเสียหน่อย เนื่องจากจีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ ถือพันธบัตรญี่ปุ่นเอาไว้เยอะมาก แต่ญี่ปุ่นไม่กลัวเรื่องนี้เพราะหากขายออกมาจริงเงินเยนจะอ่อน ญี่ปุ่นชอบมาก ที่ไม่ชอบคือถูกจีนแอนตี้สินค้ามากกว่า จากกรณีพิพาทดังกล่าว ตอนนี้ดูมีแนวโน้มว่าจะเจรจากันได้เพราะทะเลาะกันจนเศรษฐกิจเจ็บตัวไปบ้างแล้วทั้งคู่

ด้านตะวันออกกลาง เหตุการณ์ยังไม่ค่อยสงบ เรื่องซีเรียยังคาราคาซังอยู่

ตลาดหุ้นไทย SETI ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.83% น้อยกว่าเพื่อนบ้าน ต่างชาติยังขายสุทธิสลับซื้อสุทธิ แสดงว่าต่างชาติเองก็ยังรีๆรอๆดูอยู่

มาดูทางด้านตลาดสินค้าโภคภัณฑ์กันบ้าง ในสัปดาห์ที่แล้วสินค้าโภคภัณฑ์ดูแปลกๆและยุ่งๆชอบกล โลหะมีค่ากับน้ำมันดิบไม่ค่อยดี ทองคำร่วง -2% โลหะเงินร่วง -4.7% น้ำมันิบเบรนต์ร่วง -3% ส่วนสินค้าเกษตรกลับปรับตัวขึ้น ฝ้ายขึ้นแรง +7.7% ตามมาด้วยโกโก้ +5.2% ข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่วเหลือง ขึ้นหมด ส่วนยางพาราร่วงแรง

ด้านตลาดอัตราแลกเปลี่ยน สัปดาห์ที่แล้วเงินดอลลาร์ สรอ ทรงตัว แกว่งไปมาในกรอบ ไม่ได้ไปไหน แต่ราคาน้ำมันดิบกับทองคำร่วงแรงกว่าค่าเงิน เงินสกุลยุโรปแข็งค่า ส่วนเงินสกุลเอเชียไม่แน่นอน ดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่า เงินเยนอ่อนค่า ส่วนเงินบาทอ่อนค่าลง -0.26%

ด้านตลาดตราสารหนี้ สัปดาห์ที่แล้วผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันอายุ 10 ปี เพิ่มขึ้น 11 จุดเบสิส ส่วนตลาดพันธบัตรไทยนั้นเมื่อวันที่ 17/10/2012 ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 สลึง เหลือ 2.75 บาท ทำให้วันนั้นเพียงวันเดียวเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลดลงตลอดทั้งเส้นค่อนข้างมาก ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุคงเหลือ 10 ปีลดลง 16 จุดเบสิส (basis point, bp) ในวันเดียว ทำให้อัตราผลตอบแทนไม่ค่อยน่าจูงใจแล้วเพราะคงแพ้เงินเฟ้อ แต่ก็น่าจะมีผลด้านการสกัดเงินทุนไหลเข้าจากต่างชาติลงได้บ้าง แนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอเมริกันค่อยๆปรับสูงขึ้นแสดงว่าเงินไหลออกจากตลาดพันธบัตรไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างอื่นมากขึ้น ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยนั้นลดต่ำลงจนไม่ค่อยจูงใจแล้ว แบบนี้หมายความว่าเงินเก่าที่ลงทุนอยู่ในตลาดพันธบัตรก็ยังคงอยู่ต่อไป แต่เงินใหม่ที่จะเข้ามาคงคิดหนักเพราะผลตอบแทนไม่ดีแล้ว เงินใหม่ที่เข้ามามีแนวโน้มกระจายไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอื่นมากขึ้น

อ้อ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย อายุคงเหลือ 10 ปี ณ 19/10/2012 อยู่ที่ 3.41% ลดลงทั้งสัปดาห์คิดเป็น -9 จุดเบสิส ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเมื่อเดือนกันยายน 2555 เทียบกับเดือนกันยายน 2554 (คือรอบหนึ่งปี ล่าสุด) อยู่ที่ 3.38%

วันนี้ลุงแมวน้ำมีภาพมาฝากหลายภาพ ลุงแมวน้ำทำตารางสรุปรายสัปดาห์เวอร์ชันใหม่มาให้ดูกัน แต่ก่อนจะดูขอให้มา อัปเดตตลาดเมื่อวันที่ 23/10/2012 กันก่อน วันที่ 23 นี้ไทยเราหยุดราชการ ตลาดไม่ได้เทรด แต่ตลาดชาติอื่นยังทำการ ลุงแมวน้ำจึงนำภาพสรุปมาให้ดู ตลาดวันที่ 23 นี้ไม่ค่อยดีเท่าไร ผลประกอบการของสหรัฐอเมริกาเป็นตัวฉุดตลาด


สรุปตลาดหุ้นที่สำคัญทั่วโลก 23/10/2012


สรุปอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลสำคัญทั่วโลก 23/10/2012


สองภาพนี้ลุงแมวน้ำเอามาจาก CNN ดูง่ายดีกว่าของ yahoo เสียอีก


เอาละ หลังจากดูสรุปรายวันไปแล้ว คราวนี้มาดูตารางสรุปรายสัปดาห์กัน วันนี้มี 2 ตาราง หน้าตาคล้ายๆกันแต่คำนวณไม่เหมือนกัน ตารางแรกที่เห็นต่อไปนี้คือสรุปแบบเดิมที่เราดูกันเป็นประจำทุกสัปดาห์

ดูตารางแรกแล้วแล้วเลื่อนลงไปดูตารางที่สองด้วยนะคร้าบ


Photobucket



ข้างล่างต่อไปนี้เป็นตารางสรุปรายสัปดาห์แบบเพิ่มเติม ลุงแมวน้ำคำนวณขึ้นมาใหม่ ความแตกต่างอยู่ตรงที่ราคาปิดหรือดัชนี (ในคอลัม close price) ปกติจะเป็นราคาปิดหรือดัชนีปิด ณ วันทำการสุดท้ายของสัปดาห์ แต่สำหรับตารางข้างล่างนี้ลุงแมวน้ำคำนวณเป็นคะแนนมาตรฐาน (standard score) นั่นคือ เมื่อแปลงเป็นคะแนนมาตรฐานแล้วสามารถเปรียบเทียบกันได้ เอาไว้ใช้ดูความแรงของตลาดหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ในเชิงเปรียบเทียบกันนั่นเองว่าใครแรงกว่าใครและใครน่าลงทุนกว่าใคร

วิธีคิดของลุงแมวน้ำก็คือ ให้ราคาหรือดัชนีของทุกรายการ ตั้งต้นที่ก้นเหวของวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ราคาหรือดัชนีที่ก้นเหวคิดเป็น 0 ก้นเหวของแต่ละตัวจะอยู่ที่ประมาณปลายปี 2008 ถึง 2009 ไม่ได้เกิดขึ้นในวันเดียวกัน

ลองมาดูตัวอย่างกัน อย่างดัชนี SET ของไทย ก้นเหวอยู่ที่วันที่ 29/10/2008 ดัชนี SETi ณ วันนั้นคิดเป็น 0 จากวันนี้ถึงวันนี้ SETi ปรับขึ้นขึ้นมาแล้วเป็น 240.42% จากวันฐานหรือวันก้นเหว ดังนั้นคะแนนมาตรฐานของ SETi ในตารางข้างล่างนี้จะรายงานเป็น 240.42 จุด

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เทียบกันได้ในแง่ความแรง อย่างเช่นดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ DJI ตอนนี้มีคะแนนมาตรฐานที่ 103.81 จุด แสดงว่าตลาดหุ้นไทยแรงกว่า DJI เยอะทีเดียว ส่วนตลาดหุ้นอินโดนีเซีย (JKSE) ได้ 289.71 จุด สรุปได้ว่าตลาดหุ้นย่านเอเชียนั้นตลาดหุ้นไทยที่ผ่านมาเด่นมาก แรงสุด เป็นรองแค่ตลาดหุ้นอินโดนีเซียเท่านั้น 

ทองคำ GC คะแนนเป็น 144.54 จุด แสดงว่าเทรดหุ้นไทยกำไรดีกว่าเทรดทองอีก ส่วนโลหะเงิน SI 265.15 จุด เงินแรงกว่าทอง แรงกว่าหุ้นไทยด้วยนิดหน่อย

สรุปแล้วหากดูจากอดีต สวรรค์ก็อยู่ที่ตลาดหุ้นไทยนี่เอง ไม่ต้องดิ้นรนไปเทรดที่ไหนให้ไกลหรอก แต่อย่าลืมว่านี่คือเรื่องอดีต อดีตไม่ได้รับประกันอนาคตนะคร้าบ แต่ก็พอใช้เป็นแนวทางอะไรได้บ้างละน่า ^_^

มีข้อควรระวังอยู่บ้าง ตลาดหุ้นบางตลาดก้นเหวไม่ได้อยู่ในช่วงปี 2008-2009 หรือก้นเหวไม่ได้อยู่ในช่วงแฮมเบอร์เกอร์ ยกตัวอย่างเช่นตลาดหุ้นจีน ก้นเหวของตลาดหุ้นจีนเพิ่งเกิดไม่กี่วันมานี้เอง หรืออย่างตลาดหุ้นกรีซ ก้นเหวเกิดขึ้นในปีนี้เอง นี่คือข้อยกเว้น ซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่รายการเท่านั้น

รายการที่เป็น #N/A แปลว่าข้อมูลไม่พอ ส่วนใหญ่มักหมายถึงฐานข้อมูลที่ลุงแมวน้ำมีอยู่มีไม่ถึงปี 2008 นั่นคือ เลยคำนวณไม่ได้

ลองดูตารางข้างล่างนี้ให้คุ้นในเชิงการเปรียบเทียบ เพราะต่อไปลุงแมวน้ำจะเขียนบทความเรื่องการสแกนหาหุ้นเด่น ต้องใช้คะแนนมาตรฐานทำนองนี้ด้วยคร้าบ ^__^



Photobucket

Monday, October 22, 2012

22/10/2012 * แนวโน้มยังไปต่อ เตรียมรับมือเงินเฟ้อ


อัตราดอกเบี้ยแท้จริงของบัญชีเงินฝากธนาคารแบบฝากประจำ 1 ปี อัตราดอกเบี้ยแท้จริงของพันธบัตรรัฐบาลไทย และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ในรอบ 11 ปี



ดัชนีดอลลาร์ สรอ (US dollar index)


อรุณสวัสดิ์คร้าบ


ช่วงนี้ลุงแมวน้ำคงต้องมาแบบผลุบๆโผล่ๆ เป็นนินจาแมวน้ำไปอีกสักพักหนึ่ง งานเยอะเหลือเกิน รับจ๊อบวุ่นวายไปหมด ขอเวลาให้ลุงทำเว็บไซต์ขายของให้เรียบร้อยก่อน จนป่านนี้ยังไม่เสร็จเลย และที่สำคัญก็คือช่วงนี้แหล่งข้อมูลทั้งหุ้นและฟิวเจอร์สของลุงแมวน้ำรวนอย่างหนัก ซ่อมข้อมูลกันจนมึน ตอนนี้ก็ยังซ่อมไม่เสร็จ ยังต้องใช้เวลาอีกหน่อย

มาดูกันเป็นบางประเด็นก็แล้วกัน ช่วงนี้ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกายังไม่ไปไหน มิหนำซ้ำเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมายังลงอีกด้วย เพราะผลประกอบการไตรมาสสามของบริษัทใหญ่ในอเมริกาออกมาดูไม่ค่อยดี น้ำมันกับทองคำเลยร่วง ตอนนี้พวกน้ำมัน ทองคำ สินค้าเกษตร เป็นสัญญาณขายอยู่ หากวิเคราะห์ทางเทคนิคด้วยระดับฟิโบนาชชีเป้าหมาย (targetting Fibonacci) ทองคำยังดูไม่ออกว่าจะลงได้แค่ไหน ส่วนน้ำมันดิบเบรนต์อาจลงได้ถึงต้นๆของ 100 ดอลลาร์ สรอ คือร้อยกว่าๆ ส่วนยางพารา RSS3 ก็มีสัญญาณขาย อาจลงได้ถึง 91.5 บาท

ตัวเลขที่บอกข้างบนคือใช้การประเมินจากกราฟราคาของสินค้าแต่ละตัว คือใช้ปัจจัยทางเทคนิคของตนเองล้วนๆ แต่หากพิจารณาปัจจัยค่าเงินดอลลาร์ สรอ ประกอบ ตอนนี้เงินดอลลาร์ สรอ กำลังอยู่ในทิศทางขาลง มีรีบาวด์บ้างแต่ก็น่าจะลงต่อ หากดอลลาร์ สรอ อ่อนตัว ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆน่าจะลงไม่มาก อาจไม่ลงลึกถึงขนาดที่ลุงแมวน้ำประเมินไว้

สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา อัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารแบบประจำ 1 ปี สองอย่างนี้แพ้เงินเฟ้อมาตลอด คือคิดเทียบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปแล้วติดลบเกือบตลอดทุกเดือน สำหรับในขณะนี้ ผลจากโครงการประชานิยมต่างๆซึ่งเป็นการก่อหนี้สาธารณะในระยะยาว ก็คือการนำเงินในอนาคตมาใช้ คล้ายๆกับ QE นั่นเอง ผลจากโครงการต่างๆของรัฐทำให้ประเทศไทยมีการบริโภคที่สูง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบที่ค่อยๆปรับตัวขึ้นมาตลอด กระแสเงินที่ไหลเข้า จึงส่งผลกับอัตราเงินเฟ้อของไทยค่อยๆเพิ่มขึ้น ตอนนี้อัตราผลตอบแทนแท้จริงของพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุคงเหลือ 10 ปี (real 10 yr Thai gov bond yield) จนถึงกันยายน 2012 เหลือประมาณ 0.2% ใกล้แพ้เงินเฟ้อเต็มที คิดว่าของเดือนตุลาคมนี้คงติดลบหรือว่าแพ้เงินเฟ้อแล้ว

ปัจจัยต่างๆเหล่านี้จะมีส่วนกดดันให้เงินไหลเข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้นและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ (ทั้งจากเงินของต่างชาติและเงินของนักลงทุนไทยเอง) ดังนั้นหากไม่มีเหตุการณ์พิเศษที่รุนแรงจนทำให้สถานการณ์พลิกผัน ลุงแมวน้ำคาดว่าตลาดหุ้นไทย รวมทั้งตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกากับยุโรป น่าจะไปต่อได้อีกพักใหญ่ๆทีเดียว คือถ้าไม่ใช่คลื่น B ใหญ่ก็ต้องเป็นคลื่น 5 ใหญ่ แต่ถึงอย่างไรสุดท้ายก็ต้องจบคลื่น ตอนนี้เราก็ตามแนวโน้มไปก่อน ไปไหนเราก็ไปด้วย เมื่อไรจบคลื่นในที่สุดเราก็ต้องรู้เองจนได้ ที่สำคัญคือต้องอย่าเทรดเกินตัวเพราะย่ามใจ เทรดเท่าที่มีกำลังรับความเสี่ยงได้

รูปที่นำมาฝากวันนี้เป็นดัชนีดอลลาร์ สรอ (US dollar index) กับ อัตราดอกเบี้ยแท้จริงของบัญชีเงินฝากธนาคารแบบฝากประจำ 1 ปี อัตราดอกเบี้ยแท้จริงของพันธบัตรรัฐบาลไทย และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยตลอดระยะเวลา 11 ปี คือตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา

สำหรับภาพดัชนีดอลลาร์ สรอ เมื่อดูแนวโน้มแล้วน่าจะอยู่ในคลื่นขาลง หมายความว่าดอลลาร์ สรอ มีแนวโน้มอ่อนตัว ระหว่างทางก็คงมีเด้งขึ้นบ้างอันเป็นการรีบาวด์ในขาลง

สำหรับอีกภาพหนึ่ง เป็นภาพอัตราผลตอบแทนแท้จริง หมายถึงว่าหักลบอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (headline inflation) ออกไปแล้ว วิธีดูก็คืออะไรที่อยู่ต่ำกว่า 0 (คือติดลบนั่นเอง) นั่นคือแพ้อัตราเงินเฟ้อ จะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยแท้จริงของเงินฝากประจำแบบ 1 ปี (เส้นสีฟ้า) ส่วนใหญ่แพ้เงินเฟ้อตลอด มีชนะบ้างแค่บางช่วง แสดงว่าหากคิดยังชีพด้วยดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารคงยาก เพราะเงินด้อยค่าลงเรื่อย

ส่วน อัตราผลตอบแทนแท้จริงของพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี (เส้นสีเขียว) แพ้เงินเฟ้อบ้าง ชนะเงินเฟ้อบ้าง ส่วนใหญ่ชนะเงินเฟ้อได้ แต่ต่อจากนี้ไปคงแพ้เงินเฟ้อแล้ว ตีความอย่างง่ายๆได้ความว่าผู้ที่ยังชีพจากการซื้อพันธบัตรแล้วรับดอกเบี้ย หากเดิมพออยู่ได้ ต่อไปคงไม่ค่อยพอแล้วล่ะ แต่หากเดิมไม่พอใช้อยู่แล้วต่อไปยิ่งแย่กว่าเดิม

ส่วน อัตราผลตอบแทนแท้จริงของพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 20 ปี (เส้นสีม่วง) อาการดีกว่าเส้นสีเขียวหน่อยนึง แต่ต่อไปไม่แน่เพราะว่าเส้นสีม่วงกำลังดิ่งลงเช่นกัน

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (เส้นสีน้ำตาล) ที่ผ่านมามีทั้งแพ้และชนะอัตราเงินเฟ้อ เมื่อไรที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อก็จะสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้เพราะสร้างแรงจูงใจในการออม แต่เนื่องจากผลของ QE จากประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่หลายๆประเทศทำให้มีกระแสเงินต่างชาติไหลเข้ามาในบ้านเรา หากเงินเข้ามามาก เงินบาทก็เฟ้อ การกดอัตราดอกเบี้ยนโยบายช่วยสกัดเงินต่างชาติได้บ้าง แต่ก็ทำลายแรงจูงใจในการออมของประชาชนในประเทศ ทำให้ต้องควักกระเป๋านำเงินออมมาลงทุน สุดท้ายเงินก็อาจเฟ้อได้อีก เรียกว่าผลเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง เรื่องเงินเฟ้อในภาวะ QE เช่นนี้ดูแลยากและเลี่ยงไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องเกิด อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือที่ช่วยดึงรั้งสถานการณ์ไว้ได้บ้างเท่านั้นเอง


เมื่อไรที่ลุงแมวน้ำซ่อมข้อมูลเสร็จจะพยายามเขียนบทความให้อ่านกันอีกครับ มีเรื่องที่อยากเขียนหลายเรื่องทีเดียว

อ้อ ช่วงนี้มีงานสัปดาห์หนังสือที่ศูย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์นะคร้าบ แวะหาชมและหาซื้อหนังสือกัน มีอบรม สัมมนาสั้นๆ และเปิดตัวหนังสือด้วยตลอดงาน ลุงแมวน้ำก็คิดว่าจะไปหาความรู้รอบพุงเช่นกัน แล้วเจอกัน ^__^