Saturday, June 2, 2012

เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ ทำโยเกิร์ตโพรไบโอติกสูตร (เกือบ) เจกินเองกันดีกว่า (ตอนที่ 1)






เมื่อวานตลาดหุ้นไหลลงเป็นน้ำตก คงมึนไปตามๆกัน ตกกลางคืน (กลางคืนวันศุกร์ต่อเช้าวันเสาร์ตามเวลาบ้านเรา) หุ้นยุโรปและสหรัฐอเมริกาถล่มลงมาอีก ไม่รู้ว่าวันจันทร์จะเป็นอย่างไร ลุงแมวน้ำก็ได้แต่พยายามเตือนด้วยความเป็นห่วง ลุงแมวน้ำผ่านเรื่องพวกนี้มาเยอะแล้วและต้องจ่ายค่าบทเรียนด้วยตนเอง ก็ได้แต่หวังว่าพวกเราจะเรียนรู้จากอุทาหรณ์ของผู้อื่นได้บ้างจะได้ประหยัดค่าบทเรียนที่จะต้องจ่ายเองลงไปได้ และหวังว่าพวกเราคงปลอดภัยกันดี ลุงแมวน้ำมองเหตุการณ์ครั้งนี้ค่อนข้างร้าย คิดว่ายังมีอะไรที่ตามมาอีกเยอะ แต่ว่าเรื่องมันยาว เล่าวันเดียวคงไม่จบ คงต้องทยอยเล่าไปเรื่อยๆว่าทำไมลุงแมวน้ำจึงมองเช่นนั้น

อ้อ วันนี้วันหยุด พักกายพักใจกันก่อนดีกว่า ไม่เอาๆ ยังไม่คุยเรื่องลงทุน มาคุยเรื่องสุขภาพกันดีกว่า

พุทธภาษิตบอกว่า อโรคยา ปรมาลาภา คนวัยหนุ่มสาวอาจจะยังไม่เข้าใจความหมายอย่างแจ่มแจ้ง แต่เมื่อสูงอายุแล้วนั่นแหละจึงจะเข้าใจว่ามีเงินทองกองท่วมอยู่ข้างหน้าก็ไม่สู้มีสุขภาพที่ดี เรื่องนี้ลุงแมวน้ำไม่ได้พูดเวอร์ เมื่อถึงคราวมีอายุก็จะทราบดีเอง

ปัจจัยหนึ่งของการมีสุขภาพที่ดีก็คือการกินอาหารที่ดี และอาหารสุขภาพอย่างหนึ่งที่ลุงแมวน้ำอยากแนะนำก็คือโยเกิร์ต หากทำได้ก็ลอง ทำโยเกิร์ตกินเอง ดีกว่า ทั้งประหยัดและออกแบบได้เองด้วย หลายคนคงนึกงงว่ากินโยเกิร์ตต้องออกแบบอะไรด้วยหรือ อ่านต่อไปก่อน ลุงแมวน้ำจะค่อยๆเล่าให้ฟัง การทำโยเกิร์ตกินเองนั้นไม่ยาก โดยเฉพาะการทำโยเกิร์ตกินเองสูตรลุงแมวน้ำนั้นง่ายที่สุดในโลกเพราะว่าลุงแมวน้ำเองก็ไม่ชอบทำอะไรยากๆ ไม่ได้แปลว่าขี้เกียจนะ ^__^

โยเกิร์ตนั้นภาษาอังกฤษเขียนได้สองอย่าง คือ yogurt กับ yoghurt อย่างหลังนี่ใช้กันน้อย ส่วนใหญ่นิยมเขียนว่า yogurt มากกว่า ใครเขียนแบบหลังนี่สันนิษฐานเอาไว้ก่อนว่าเป็นคนโบราณ ^_^ โยเกิร์ตเป็นอาหารหมัก (fermented food) แบบหนึ่ง ภาษาไทยเรียกว่า นมเปรี้ยว แต่ส่วนใหญ่เรียกทับศัพท์ว่าโยเกิร์ตมากกว่าเรียกนมเปรี้ยว บรรดาอาหารที่หมักด้วยจุลินทรีย์ในโลกนี้มีเยอะแยะมากมาย อย่างเช่น เนยแข็งเป็นอาหารที่หมักด้วยรา แหนมก็เป็นอาหารที่หมักด้วยแบคทีเรีย กิมจิก็หมักด้วยแบคทีเรีย แม้แต่เส้นขนมจีนที่เรียกว่าขนมจีนเส้นหมักก็หมักด้วยแบคทีเรีย และยิ่งไปกว่านั้น บรรดาสุรา ไม่ว่าไวน์ วิสกี้ วอดก้า ตลอดไปจนถึงอุ สาโท ข้าวหมาก ก็ล้วนเกิดจากการหมักด้วยยีสต์ทั้งสิ้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าอาหารที่หมักด้วยจุลินทรีย์นั้นมีอยู่มากมาย

จะสังเกตได้ว่าที่ลุงแมวน้ำพูดถึงอาหารหมักต่างๆนั้นหากจะจับแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆก็คงพอเห็นได้ว่าอาหารหมักที่เราคุ้นเคยกันดีมีอยู่สองกลุ่มใหญ่ นั่นคือ หมักแล้วเมา คือได้แอลกอฮอล์ กับที่ หมักแล้วเปรี้ยว คือได้รสเปรี้ยว ไม่ว่าจะเป็นซาวเออร์เคราต์ (sauerkraut) อันเป็นผักดองของเยอรมัน กิมจิผักดองแบบเกาหลี โยเกิร์ต แหนม พวกนี้เป็นกลุ่มมีรสเปรี้ยวทั้งสิ้น ซึ่งจุลินทรีย์กลุ่มสำคัญที่ทำให้เกิดการหมักแล้วได้รสเปรี้ยวนี้ก็คือกลุ่มหลักก็คือแลกโตแบซิลลัส (Lactobacillus) ที่สร้างกรดแลกติก (lactic acid) และอีกตัวหนึ่งคือสเตรปโตคอกคัส เทอร์โมฟิลลัส (Streptococcus thermophilus) ตัวหลังนี่ลุงแมวน้ำยังไม่พูดถึงละนะ เพราะจะทำให้เนื้อหามากเกินไป

เจ้าแลกโตแบบซิลลัสนี้หน้าตาเป็นอย่างไรอย่าไปสนใจมันเลย เพราะหน้าตามันเป็นแท่งๆ ตัวเล็กมาก มองไม่เห็นหรอก ต้องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์จึงจะเห็น แต่ประโยชน์ของมันมีมากมาย เพราะมันเป็นจุลินทรีย์ประจำถิ่นที่อาศัยอยู่ในลำไส้และบนผิวหนังของเรา พวกจุลินทรีย์ประจำถิ่นนี้มีความสำคัญเพราะว่าเป็นเจ้าถิ่นที่คอยปกป้องจุลินทรีย์ก่อโรคที่มารุกราน ดังนั้นการดูแลให้มีจุลินทรีย์ประจำถิ่นอยู่ในปริมาณพอควรจึงเป็นเรื่องจำเป็น ลุงแมวน้ำอยากยกตัวอย่างเรื่องสบู่หรือเจลที่ใช้อาบน้ำล้างหน้ากัน ที่เห็นโฆษณากันว่าทำความสะอาดลึกล้ำ สะอาดทุกรูขุมขน หรือช่วยฆ่าเชื้อบนผิวหนัง พวกนั้นเป็นการสร้างความเข้าใจที่ผิดให้แก่ผู้บริโภค สบู่หรือเจลทำความสะอาดที่ดีนั้นต้องทำความสะอาดแค่พอสมควรก็พอแล้ว เนื่องจากว่าหากอำนาจการชะล้างสูงเกินไปจะไปล้างหรือทำลายจุลินทรีย์ประจำถิ่นรวมทั้งล้างไขมันเคลือบผิวที่คอยรักษาความชุ่มชื้นแก่ผิวหนังออกมากเกินไป ทีนี้ละ ผิวหนังจะระคายเคืองและอักเสบติดเชื้อได้ง่าย จะยิ่งเป็นผลเสียในภายหลังมากกว่า

อ้าว ว่าจะคุยเรื่องโยเกิร์ตไหงไปพูดเรื่องสบู่กับเจลทำความสะอาดเสียได้ งั้นมาเข้าเรื่องกันต่อ ^_^

ดังที่ลุงแมวน้ำบอกไปแล้วว่าการกินอาหารหมักเปรี้ยวที่ไม่ผ่านการปรุงให้สุกนั้นมีประโยชน์เพราะทำให้ร่างกายได้รับเชื้อจุลินทรีย์พวกแลกโตแบซิลลัสลงไป (ขอเน้นว่าอาหารต้องยังไม่ผ่านการปรุงสุก เพราะหากให้ความร้อนจนสุกจุลินทรีย์ก็ตายไปหมด ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากจุลินทรีย์อีก คงได้แค่รสเปรี้ยวเท่านั้น) เท่ากับช่วยเติมจุลินทรีย์ประจำถิ่นลงไปในลำไส้ คือปกติในลำไส้ของเราก็มีจุลินทรีย์ประจำถิ่นอยู่แล้ว แต่ในบางภาวการณ์เจ้าถิ่นก็อาจอ่อนแอหรือว่าเหลืออยู่น้อยได้ เช่น ตอนที่เราท้องเสีย หรือว่ากินยาปฏิชีวนะลงไป ดังนั้นการเติมจุลินทรีย์ประจำถิ่นลงไปในลำไส้บ้างเป็นครั้งคราวก็เท่ากับช่วยเสริมทัพให้เข้มแข็งอยู่เสมอ แต่ระวังอย่ากินมากเกินไป กินมากก็ท้องเสียได้เหมือนกัน กินอะไรก็ให้พอดีๆไว้ดีกว่า เหมือนกับน้ำมันมะพร้าวน่ะ ใครที่เกาะกระแสกินน้ำมันมะพร้าวเป็นประจำควรหมั่นวัดค่าคอเลสเตอรอลและค่าแอลดีแอล (LDL) ทุกสามเดือน ไม่อย่างนั้นอาจเสียใจเพราะเส้นเลือดมี LDL ไปอุดตันมากมายโดยไม่รู้ตัว อ้าว นอกเรื่องอีกแล้ว

ลุงแมวน้ำเล่าเกร็ดให้ฟังนิดหน่อย เกี่ยวกับแลกโตแบซิลลัสนี่แหละ คือเรื่องที่ว่าทำไมยาคูลท์จึงได้ดังมาจนทุกวันนี้ ไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อว่ายาคูลท์ขึ้นราคากลายเป็นข่าวดังขึ้นหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับเลยทีเดียว อะไรจะขนาดนั้น

ยาคูลท์ในขวดทรงคอดขนาดเล็ก ที่เราเห็นคุ้นเคยกันมานาน พร้อมกับวลีที่โด่งดังมากในยุคหนึ่ง คือ "ถามสาวยาคูลท์สิคะ" (แต่ถามแล้วตอบได้หรือเปล่านี่ไม่รู้นะ ขึ้นอยู่กับคำถามด้วยว่าถามอะไร ^_^) ยาคูลท์นี่เริ่มวางขายตั้งแต่ 50 ปีมาแล้ว คือประมาณปี 2504 ตอนนั้นลุงแมวน้ำยังว่ายน้ำเล่นอยู่แถวขั้วโลกมั้ง ชื่อยาคูลท์ก็เพี้ยนมาจากโยเกิร์ตนี่แหละ เป็นเครื่องดื่มที่ได้จากการหมักด้วยจุลินทรีย์แลกโตแบซิลลัส แต่ทว่าเป็นสายพันธุ์เฉพาะของญี่ปุ่นเขา มีการจดสิทธิบัตรไว้ด้วย เมื่อตอนที่ขายใหม่ๆก็ไม่ดังหรอก แต่หลายปีต่อมา เกิดมีกรณีอหิวาตกโรคระบาด ตอนนั้นยาคูลท์ก็ส่งผลิตภัณฑ์ไปให้ผู้ป่วยอหิวาต์ที่นอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลดื่ม จากนั้นก็ร่ำลือกันว่าผู้ที่ดื่มยาคูลท์แล้วสามารถหยุดอาการถ่ายท้องได้ นั่นแหละ ยาคูลท์จึงได้ดังเป็นพลุตั้งแต่นั้นมา

คงจะพอเห็นประโยชน์ของโยเกิร์ตกันบ้างแล้ว เพราะว่ายาคูลท์นั้นก็คือโยเกิร์ตชนิดหนึ่งที่หมักด้วยจุลินทรีย์สายพันธุ์เฉพาะนั่นเอง อย่ากระนั้นเลย ลองมาทำโยเกิร์ตกินเองกันบ้างดีกว่า

อ้อ ยังไม่ได้สิ ยังไม่ได้พูดถึงเรื่อง โพรไบโอติกส์ (probiotics) หรือว่า จุลินทรีย์โพรไบโอติก (probiotic microorganism) เลย งั้นลุงแมวน้ำขอเล่าเรื่องโยเกิร์ตและโพรไบโอติกส์กับการเลือกโยเกิร์ตที่มีวางขายในท้องตลาดก่อนก็แล้วกัน แล้วค่อยไปทำโยเกิร์ตกินเองกัน

โยเกิร์ตนั้นเป็นอาหารหมัก หรือหากจะพูดให้เจาะจงก็คือเป็นนมหมักเปรี้ยว การทำโยเกิร์ตนั้นมีกันมานานนับพันปีแล้ว จากหลักฐานที่พบเชื่อกันว่าต้นกำเนิดของโยเกิร์ตนั้นน่าจะมาจากพื้นที่ในบริเวณที่ยุโรปเชื่อมต่อกับเอเชีย ซึ่งก็คือแถวๆตะวันออกกลางเรื่อยมาจนถึงอินเดียและซินเกียงของจีนในปัจจุบัน โดยในย่านนั้นมีวัฒนธรรมเกี่ยวกับการผลิตนมเปรี้ยวกันมานมนานแล้ว

โยเกิร์ตที่วางขายกัน ไม่ว่าจะเป็นในบ้านเราหรือในต่างประเทศ ก็หนีไม่พ้นมีอยู่ 3 แบบ นั่นคือ

โยเกิร์ตแบบถ้วย (ภาษาเทคนิคเรียก stirred yogurt แต่คนทั่วไปไม่เรียกกัน) กลุ่มนี้เป็นโยเกิร์ตที่ผลิตแบบดั้งเดิม คือเอานมมาหมักแล้วนมจะจับตัวเป็นลิ่มคล้ายเต้าหู้อ่อนหรือเต้าฮวย แต่เนื้ออ่อนกว่ามาก พวกนี้เป็นโยเกิร์ตเชื้อเป็น คือจุลินทรีย์ในถ้วยยังมีชีวิตอยู่ พวกนี้กินแล้วร่างกายได้ประโยชน์ ที่เห็นวางขายจะมีทั้งรสดั้งเดิม (plain yogurt) คือไม่ได้ปรุงอะไร เอานมเปรี้ยวมาใส่ถ้วยเฉยๆ กับโยเกิร์ตที่เติมผลไม้นั่นโน่นนี่เข้าไปเพื่อให้กินอร่อยขึ้น

โยเกิร์ตแบบดื่ม (drinking yogurt) พวกนี้คือโยเกิร์ตที่ใช้เวลาหมักนมสั้นๆ จนยังไม่ทันเกิดลิ่ม (นมจับตัวเป็นลิ่มนี้เรียกว่าเกิด curd) แล้วนำมาปรุงรสเป็นเครื่องดื่ม มักไม่ใส่เนื้อผลไม้ แต่แต่งกลิ่นรสให้เป็นแบบเครื่องดื่ม พวกนี้ก็เป็นโยเกิร์ตแบบเชื้อเป็นเช่นกัน แต่ปริมาณเชื้อน้อยกว่าโยเกิร์ตแบบถ้วยเพราะระยะเวลาการหมักสั้นกว่า

โยเกิร์ตแบบผ่านความร้อน (heat treated yogurt) เป็นโยเกิร์ตที่ผ่านความร้อนหลังการหมักเพื่อยืดอายุการวางขายบนชั้นให้นานขึ้น พวกนี้จะเป็นโยเกิร์ตเชื้อตาย ยังคงได้คุณประโยชน์จากสารอาหารต่างๆแต่ไม่ได้ประโยชน์จากเชื้อจุลินทรีย์ ภาชนะบรรจุเป็นได้หลายอย่าง ต้องอ่านฉลากให้ดี ลุงแมวน้ำไม่แน่ใจว่าในบ้านเรามีโยเกิร์ตแบบนี้ขายหรือไม่ เอาไว้จะจะลองสังเกตดูอีกครั้งหนึ่งแล้วจะเอามาบอก

นอกจากนี้โยเกิร์ตแบบถ้วยและแบบดื่มยังมีลูกเล่นต่างๆได้มากมาย อย่างเช่น ผลไม้และกลิ่นที่ปรุงแต่ง การเลือกใช้นมที่มาหมักว่าใช้นมแบบไขมันสูงหรือไขมันต่ำ น้ำตาลสูงหรือน้ำตาลต่ำ แล้วยังมีเติมใยอาหาร เติมนั่น โน่น นี่ เข้าไปอีก ฯลฯ

ยังไปไม่ถึงโพรไบโอติกส์เลย ลุงแมวน้ำเมื่อยครีบแล้ว ขอติดเอาไว้ก่อนละกัน เอาไว้คุยกันต่อในตอนหน้าคร้าบบบบบ ^_^


โยเกิร์ตแบบถ้วย (โยเกิร์ตเชื้อเป็น)




โยเกิร์ตแบบดื่ม ใช้เวลาหมักสั้นกว่า ปริมาณจุลินทรีย์น้อยลง (โยเกิร์ตเชื้อเป็น)


โยเกิร์ตแบบผ่านความร้อน ทำให้ยืดอายุบนชั้นวางขายได้นานขึ้น เช่น โยเกิร์ตทั่วไปอาจวางได้ 30 วัน แต่หากผ่านความร้อนอาจวางบนชั้นได้นานถึง 50 วัน ดูหน้าตาแล้วบอกไม่ได้ว่าผ่านความร้อนมา ต้องอ่านฉลากเอา (โยเกิร์ตเชื้อตาย)

Friday, June 1, 2012

31/05/2012 * ลงทุนอะไรดีในคลื่นเศรษฐกิจ C (1)


การลงทุนและค่าเงิน 01/06/2012 (รายงานวันเทรดที่ 31/05/2012)



วันที่ 31/05/2012 ตลาดหุ้นย่านเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่เปิดลบค่อนข้างลึกแล้วกลับมาดีขึ้นในช่วงบ่าย ทำให้ปิดลบไม่มากนัก ส่วนใหญ่ปิดลบไม่ถึง -1% ตลาดหุ้นไทย SET index สวนกระแส สามารถปิดบวกได้ โดย SET index ปิดที่ 1141.50 (-0.25%) ต่างชาติซื้อสุทธิ 137 ล้านบาท

ส่วนตลาดฝั่งยุโรปกลับตรงขามกับเอเชีย คือเปิดเขียวแต่แล้วก็ไหลลงค่อนข้างลึก แต่ก็ดีขึ้นจนปิดลบไม่มากนัก บางตลาดก็ปิดบวกได้ ดัชนีเอเธนคอมโพสิต (Athex composit index) ของกรีซ +2.7% DAX ของเยอรมนีปิด -0.3%

ตลาดหุ้นฝั่งอเมริกา ด้านบราซิลดัชนีโบเวสปา (Bovespa Index) +0.9% ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (DJI) ของสหรัฐอเมริกาวันนี้ผันผวน แต่สุดท้ายปิดแดง -0.2%

ทางด้านค่าเงิน วันที่ 31 เงินดอลลาร์ สรอ ทรงตัว ดัชนีดอลลาร์ สรอ ปรับตัวในกรอบ 82.7 จุดถึง 83.2 จุด เงินสกุลยุโรปเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย จะมีก็เพียงเงินรูเบิลของรัสเซียที่อ่อนค่ามากหน่อย -1.8%

ทางด้านเงินเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่ทรงตัว เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย เงินดอลลาร์ออสเตรเลีย +0.4% เงินดอลลาร์สิงคโปร์ไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนเงินบาท +0.2% เงินเยนที่แข็งค่าแรง +0.9%

ทางด้านตลาดสินค้าโภคภัณฑ์เมื่อวันที่ 31/05/2012 กลุ่มน้ำมันดิบปรับตัวลงต่อ ทั้ง wti และเบรนต์ -1.3% ด้านทองคำไม่ทรงตัว ทองแดง -0.6% สินค้าเกษตรวันนี้ลงแรงหน่อย ดัชนีสินค้าเกษตร 72.05 จุด (-1.4%) สินค้าหลักข้าวโพด ถั่วเหลือง ข้าวสาลีลงทั้งสามตัว

เช้านี้ (01/06/2012) ดัชนีดอลลาร์ สรอ (USD index) อยู่ที่ 83.2 จุด เงินยูโร 1.235 ดอลลาร์ สรอ/ยูโร เงินเยน 78.51 เยน/ดอลลาร์ สรอ เงินบาท 31.83 บาท/ดอลลาร์ สรอ

น้ำมันดิบ wti 86.2 ดอลลาร์ สรอ/บาเรล น้ำมันดิบเบรนต์ 101.6 ดอลลาร์ สรอ/บาเรล ทองคำ 1555 ดอลลาร์ สรอ/ทรอยออนซ์


ลงทุนอะไรดีในคลื่นเศรษฐกิจ C


เมื่อวานลุงแมวน้ำทิ้งท้ายเอาไว้ว่าเศรษฐกิจขาลงนี้จะเอาเงินไปไว้ที่ไหนดีหรือว่าจะ ลงทุนอะไรดี ลุงแมวน้ำก็ไม่มีคำตอบตายตัวหรอก แต่ว่าจะเอาอดีตมาทบทวนให้ดูว่าเมื่อตอนที่โลกอยู่ในคลื่นเศรษฐกิจ A หรือว่าช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์นั้นอะไรเป็นอะไรกันบ้าง จากนั้นก็เอามาเทียบเคียงกับสถานการณ์ในตอนนี้

ลองมาดูภาพนี้กันก่อน


กราฟเปรียบเทียบราคาสินทรัพย์ประเภทต่างๆในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ


ที่ลุงแมวน้ำมาช้าก็เพราะภาพนี้แหละ แต่งภาพยากจัง คือถ้าจับภาพมาเฉยๆละก็ง่าย ลุงแมวน้ำทำได้ไม่เสียเวลาอะไร แต่หากเป็นการนำข้อมูลหลายๆอยางมารวมกันและต้องแต่งภาพเองแล้วละก็ลุงแมวน้ำจะใช้เวลาค่อนข้างมาก ก็มีแค่สองครีบกับปลายจมูกนี่ ก็เลยช้าหน่อย ^_^

ภาพนี้เป็นกราฟของอะไรหลายๆอย่างรวมกัน เรามาดูกรอบเวลากันก่อน ในภาพนี้กินเวลาตั้งแต่คลื่น A คลื่น B และคลื่น C ตามสมมติฐานที่ลุงแมวน้ำเคยนับคลื่นใหญ่เอาไว้ ที่จริงคลื่น A นั้นเริ่มตั้งแต่ปี 2007 แต่ว่าลุงแมวน้ำทำกราฟไปไม่ถึง ตัดตอนมาเริ่มที่ปี 2008 เลย

สินทรัพย์ที่เอามาเปรียบเทียบกันมี 4 อย่าง ก็คือ หุ้น ซึ่งลุงแมวน้ำใช้ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐอเมริกาเป็นตัวแทนของสินทรัพย์ประเภทหุ้น ที่เห็นเป็นเส้นสีน้ำเงินใช้สัญลักษณ์ GSPC

นอกจากนี้ตัวแทนของหุ้นอีกตัวหนึ่งคือดัชนี DAX ของ เยอรมนี เห็นเป็นเส้นสีเขียวอ่อนที่ล้อไปกับเส้นสีน้ำเงิน

สินทรัพย์อื่นก็มี คือ กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ทองคำ (ใช้สัญลักษณ์ GLD เส้นสีเขียวเข้ม) น้ำมันดิบ (ใช้สัญลักษณ์ DBO เส้นสีน้ำตาล) และ สินค้าเกษตร (ใช้สัญลักษณ์ DBA เส้นสีฟ้า)

และมีพิเศษอีกหนึ่งเส้น คือเส้นสีแดง EDV เส้นนั้นคือ กองทุนพันธบัตร กองทุนนี้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันที่อายุประมาณ 20-30 ปีเป็นหลัก (คือดูเรชันสูง)

เรื่องกรอบเวลา จากในรูป โซนที่สีพื้นเป็นสีชมพูคือช่วงที่เป็นคลื่น A ส่วนโซนที่พื้นเป็นสีเขียวอ่อนคือช่วงที่เป็นคลื่น B ตามสมมติฐานของลุงแมวน้ำ และส่วนสุดท้าย โซนที่พื้นสีขาว คือช่วงที่ลุงแมวน้ำคาดว่าเป็นคลื่นเศรษฐกิจ C

เอาละ จากรูป มาดูช่วงคลื่น A กันก่อน โซนอื่นอย่าเพิ่งดู เส้นทั้งหมดนี้สัมพัทธ์กันหรือว่าเปรียบเทียบกัน ทุกอย่างตั้งต้นที่ 0 เท่ากันหมด จะเห็นว่าเมื่อเริ่มต้นคลื่น A น้ำมันดิบยังพุ่งทะยานได้ แต่อย่างอื่นค่อยๆลง พอมาถึงช่วงที่ตลาดหุ้นไหลของคลื่น A (คลื่นย่อย 3 ใน A) ทุกอย่างก็ลงมาหมด หุ้น น้ำมัน สินค้าเกษตร สินทรัพย์ที่มีค่าเพิ่มขึ้นคือพันธบัตรกับทองคำ แต่หากลองสังเกตในรายละเอียดจะเห็นว่าในช่วงต้นทองคำก็เป๋เหมือนกัน คือราคาทองคำไหลลงมาด้วย แต่พอท้ายช่วงคลื่น A คือในราวปลายปี 2008 ราคาทองคำจึงค่อยดีดตัวขึ้นมา แต่ในขณะเดียวกันราคาพันธบัตรอ่อนตัวลง ความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2008 เป็นต้นมาเป็นเพราะผลจากมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องหรือ QE1 ที่ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป จากนั้นโลกก็ค่อยๆเข้าสู่คลื่น B

สภาพการณ์ในตอนนี้ที่เป็นคลื่น C เปรียบเทียบไปก็มีหลายอย่างที่คล้ายตอนต้นคลื่น A นั่นคือหุ้นตก พันธบัตรขึ้น และสินค้าโภคภัณฑ์และราคาทองคำลดลง อีกทั้งต่างก็ไม่มีมาตรการ QE ช่วยเช่นกัน ที่แตกต่างกันชัดเจนก็คือราคาน้ำมันดิบตอนนี้ไม่ได้พุ่งเหมือนช่วงปี 2007-2008

มาถึงตอนนี้แล้วพอมองออกหรือยังว่าควรลงทุนอะไรดี???

อนาคตไม่จำเป็นต้องเลียนแบบอดีตอย่างชนิดก้าวต่อก้าว แต่ก็พอบอกอะไรได้บ้าง อย่างน้อยจากภาพนี้ก็แสดงให้เห็นว่าในคลื่น C นี้ ควรเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆเอาไว้ก่อน แทนที่จะคิดว่าควรลงทุนอะไรดี

ยังไม่จบครับ ลุงแมวน้ำยังมีประเด็นที่จะคุยกันต่อ แต่ว่าขอผัดไว้เป็นตอนต่อไป ลุงแมวน้ำต้องไปแสดงแล้ว ^_^


อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลสำคัญ เมื่อ 31/05/2012



ดัชนีตลาดหุ้นสำคัญในโลก เมื่อ 31/05/2012