ค่าเงินเช้านี้ 14/02/2012 (รายงานวันเทรดที่ 13/02/2012)
เมื่อวันที่ 10 ตลาดหุ้นฝั่งเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่ปิดเขียว มีเพียงจีนที่ปิดลบเล็กน้อย Set index ปิดที่ 1117.40 เพิ่มขึ้น +0.4% ต่างชาติขายสุทธิประมาณ 120 ล้านบาท วันนี้ขายเป็นวันแรกหลังจากที่ซื้อต่อเนื่องมาหลายวัน
ตลาดหุ้นฝั่งยุโรปปิดเขียว เปิดแรงแต่ปิดอ่อนลง ส่วนใหญ่ปิดบวกกันไม่เกิน 1% ยกเว้นดัชนีตลาดหุ้นกรีซที่บวกแรง +4.7% เนื่องจากสภาของกรีซผ่านกฎหมายรัดเข็มขัดตามใจเจ้าหนี้ได้ทันการณ์ ดัชนี DAX ของเยอรมนี +0.7% ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ DJI ของสหรัฐอเมริกา +0.6%
วันที่ 13 เงินดอลลาร์ สรอ อ่อนค่าในตอนกลางวันและแข็งค่าในตอนกลางคืน (เวลาบ้านเรา) กรอบราคา usd index อยู่ที่ 78.6 จุดถึง 79.0 จุด เงินสกุลยุโรปมีทั้งแข็งค่าและอ่อนค่า เงินยูโรอ่อนค่าเล็กน้อย -0.06% ฟรังก์สวิสทรงตัว เงินโครนแข็งค่า +0.5% โครนาอ่อนค่า -0.04%
ทางด้านเงินสกุลเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้น ดอลลาร์ออสเตรเลีย +0.6% เงินดอลลาร์สิงคโปร์ +0.5% และบาทแข็งค่า +0.5% เงินเยนทรงตัว
เช้านี้ (14/02/2012) ดัชนีดอลลาร์ สรอ (USD index) อยู่ที่ 79.1 จุด ยูโร 1.316 ดอลลาร์ สรอ/ยูโร เงินบาท 30.87 บาท/ดอลลาร์ สรอ
น้ำมันดิบ wti เช้านี้อยู่ที่ 100.6 ดอลลาร์ สรอ/บาเรล (+1.9%) น้ำมันดิบเบรนต์ 117.8 ดอลลาร์ สรอ/บาเรล (+0.1%) ราคาทองคำ 1720 ดอลลาร์ สรอ/ทรอยออนซ์ (ทรงตัว) ส่วนดัชนีสินค้าเกษตร 78.04 จุด (+1.0%)
การทำอาร์บิทราจ (Arbitrage)
วันก่อนที่ลุงแมวน้ำคุยเรื่องกองทุนทองคำ ที่สถาบันศศินทร์เตือนว่าให้เลี่ยงการลงทุนในกองทุนทองคำที่ไปลงทุนในอีทีเอฟทองคำของสิงคโปร์เนื่องจากราคาอีทีเอฟทองคำในสิงคโปร์มีความเคลื่อนไหวผิดปกติ มีศัพท์อยู่คำหนึ่งที่พูดถึงในข่าวคือคำว่าอาร์บิทราจ (arbitrage) ศัพท์บัญญัติอย่างเป็นทางการในภาษาไทยยังไม่มี ดังนั้นลุงแมวน้ำจึงขอเรียกทับศัพท์ว่าอาร์บิทราจ
คำว่าอาร์บิทราจหมายถึงการทำกำไรจากส่วนต่างของราคาสินค้าเดียวกันที่มีราคาแตกต่างกันในสองตลาด การทำอาร์บิทราจนี้ต้องทำกับการซื้อขายประเภทฟิวเจอร์สเพราะต้องใช้เทคนิคการเปิดสัญญาซื้อ (open long position) กับเปิดสัญญาขาย (open short position) ไปพร้อมๆกัน
หากยังงงก็ไม่เป็นไร เราค่อยๆมาดูกันเป็นขั้นๆ สมมติสินค้าอะไรดีล่ะ เอายางพาราก็แล้วกัน
ยางพาราหรือว่ายางแผ่นรมควันชั้นที่ 3 นั้นมีเทรดกันในตลาดหลายประเทศ เช่น ในตลาด afet ของไทย ตลาด tocom ของญี่ปุน ตลาด sicom ของจีน เป็นต้น แต่ละตลาดก็มีนักลงทุนเทรดกันตามอัธยาศัย ดังนั้นราคายางพาราที่ขึ้นลงไปมาของแต่ละตลาดก็เกิดจากแรงซื้อแรงขายของนักลงทุนในตลาดนั้นๆนั่นเอง
ทีนี้เราลองมาดูกรณีของยางพาราตลาด afet (RSS3) กับยางพาราตลาดญี่ปุ่น (ขอเรียกว่ายางโตคอม) กันบ้าง ลองดูภาพต่อไปนี้
ที่เห็นในภาพ เส้นสีน้ำเงินเป็นราคา RSS3 (ราคาเป็นเงินบาท) กับเส้นสีแดงคือราคายางโตคอมที่แปลงเป็นเงินบาทแล้วตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันนั้น จะเห็นว่าราคา RSS3 กับยางโตคอมไม่ได้เท่ากันเสมอ บางวัน RSS3 ก็แพงกว่ายางโตคอม บางวันยางโตคอมก็แพงกว่า RSS3 นี่แหละคือจุดที่เราสามารถทำกำไรระหว่างความแตกต่างของราคาในสองตลาดหรือที่เรียกว่า arbitrage
วิธีการทำอาร์บิทราจก็คือ สมมติว่าลุงแมวน้ำเก็บสถิติเอาไว้ ทำให้ทราบดีว่าราคา RSS3 มักจะแพงกว่ายางโตคอมไม่เกิน 3 บาท นี่คือการสมมติ ไม่ใช่สถิติจริง
ทีนี้มาดูภาพต่อไปนี้กัน
สมมติอีกว่ามีอยู่วันหนึ่ง ราคา RSS3 แพงกว่ายางโตคอมถึง 5.7 บาท (ดูหมายเลข 1) ลุงแมวน้ำเห็นว่าราคาแตกต่างกันมากผิดปกติ หากไม่ใช่ราคา RSS3 แพงเวอร์ก็เป็นราคายางโตคอมถูกเวอร์ ลุงแมวน้ำก็ลงมือทำอาร์บิทราจเลย โดยเปิดสัญญาขายหรือเปิดชอร์ตยาง RSS3 และเปิดสัญญาซื้อหรือเปิดลองยางโตคอม ความคิดของลุงแมวน้ำในตอนนั้นก็คือเมื่อราคาระหว่างสองตลาดแตกต่างกันมาก อีกไม่นานก็ต้องกลับเข้ามาสู่สภาพปกติ คือช่องระหว่างราคาสองตลาดจะต้องแคบลง
ลุงแมวน้ำก็ถือสัญญาเอาไว้สักพัก ต่อมาราคาระหว่างสองตลาดก็แคบลงมาจริงๆ ดูหมายเลขสอง วันนั้นราคาระหว่างสองตลาดแตกต่างกันเพียง 1.4 บาทลุงแมวน้ำปิดสัญญาทั้งด้านลองและด้านชอร์ต ได้กำไรจากการทำอาร์บิทราจคือ 5.7-1.4 = 4.3 บาทต่อหนึ่งสัญญา
แล้วทำไมถึงได้กำไร หลักคิดก็ง่ายๆ นั่นคือ วันก่อนช่องราคาแตกต่างกัน 5.7 บาท วันนี้เหลือแตกต่างกัน 1.4 บาท ให้คิดเสมือนว่าเสมือนว่าราคายางโตคอมคงที่ แล้วราคา RSS3 ร่วงลงมาลงมา สัญญา RSS3 ที่ชอร์ตเอาไว้ทำให้ลุงแมวน้ำได้กำไร 4.3 บาทนั่นเอง
หรือหากคิดเสมือนว่าราคา RSS3 คงที่ แล้วราคายางโตคอมขยับขึ้นมา จึงทำให้ช่องราคาแคบลง นั่นคือลุงแมวน้ำได้กำไรจากสัญญาลองของยางโตคอม 5.7-1.4 = 4.3 บาทต่อหนึ่งสัญญาเช่นกัน
ดังนั้นจึงสรุปว่าเมื่อช่องราคาแคบลง ลุงแมวน้ำก็จะได้กำไร ลุงแมวน้ำก็จัดการปิดสัญญาทั้งซื้อและขาย กลายเป็นไม่มีสถานะคงค้าง ได้กำไรสบายพุงไป
ทีนี้เอาใหม่ หากสมมติว่าลุงแมวน้ำไม่ขายตรงหมายเลขสอง ถือสัญญาไปจนถึงหมายเลขสาม วันหมายเลขสามนั้น RSS3 ต่ำกว่ายางโตคอมอีก ช่องว่างราคาแคบลงถึงขนาดติดลบคือ -11.3 บาท หากลุงแมวน้ำปิดสัญญาที่หมายเลขสามนี้ลุงแมวน้ำก็จะได้กำไรมากยิ่งขึ้นกว่าหมายเลขสองเสียอีก นั่นคือ หากลุงแมวน้ำปิดสัญญาที่หมายเลขสาม ลุงแมวน้ำจะได้กำไรจากการทำอาร์บิทราจ 5.7+11.3=17.0 บาท
ถ้างงก็ให้คิดเสมือนว่าราคายางโตคอมคงที่ ขั้นแรกราคา RSS3 ร่วงมาจนเท่ากับราคายางโตคอม ขั้นนี้ได้กำไรไป 5.7 บาท ขั้นต่อมาขั้นที่สองยางโตคอมคงที่ ยาง RSS3 ร่วงต่ออีก ราคา RSS3 ต่ำกว่ายางโตคอม 11.3 บาท ขั้นที่สองนี้ได้กำไรไปอีก 11.3 บาท รวมกำไรสองขั้นเป็นกำไรจากการทำอาร์บิทราจทั้งสิ้น 5.7+11.3=17.0 บาท หากงงกับการคำนวณลองดูภาพที่แสดงด้วยเส้นจำนวนอาจเข้าใจง่ายขึ้นว่ากำไรนั้นได้อย่างไร เส้นที่มีหัวลูกศรคือเส้นจำนวนแสดงผลกำไรที่ได้ในกรณีปิดสัญญาตามหมายเลขสอง (เส้นสีแดง) กับการปิดสัญญาตามหมายเลขสาม (เส้นสีเขียว)
นี่คือหลักการในการทำไรจากราคาที่แตกต่างกันระหว่างสองตลาดหรือที่เรียกว่าอาร์บิทราจ ซึ่งปกตินักลงทุนหรือกองทุนใหญ่ๆที่ลงทุนข้ามชาติมักทำกัน ส่วนใหญ่ได้กำไรจากช่องราคาที่แตกต่างกันนิดหน่อยแต่เน้นที่ใช้ปริมาณสัญญาจำนวนมาก หมายถึงว่าหนึ่งสัญญากำไรนิดเดียวถือสัญญาเพียงระยะสั้น ไม่ถือนาน แต่ใช้ซื้อขายสัญญาจำนวนมากจึงทำให้ได้กำไรมาก แต่นักลงทุนรายย่อยมักทำไม่ได้เพราะส่วนใหญ่เล่นตลาดเดียว อีกประการหนึ่งก็คือไม่ได้มีทุนมากจนสามารถซื้อขายสัญญาจำนวนมากได้
การทำอาร์บิทราจในสมัยนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนักลงทุนหรือกองทุนต่างก็จ้องหาตลาดและโอกาสที่จะทำอาร์บิทราจอยู่ ดังนั้นพอราคาเริ่มมีช่องนักลงทุนก็จะแห่กันเข้ามาทำอาร์บิทราจจนช่องราคาถูกปิดไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นผู้ที่ทำอาร์บิทราจจึงไม่มีใครถือสัญญานานๆ เพราะช่องจะแคบลงและปิดไปอย่างรวดเร็ว ได้นิดหน่อยก็รีบออกกันแล้ว
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลสำคัญ เมื่อ 13/02/2012
ดัชนีตลาดหุ้นสำคัญในโลก เมื่อ 14/02/2012