Monday, May 16, 2011

13/05/2011 - 17/05/2011 * การลงทุนในหุ้น อนุพันธ์ หรือกองทุนที่มีราคาผันผวน (1)

ตลาดหุ้น ตลาด AFET และ TFEX ของไทยทำการจนถึงวันที่ 13 จากนั้นเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ดังนั้นข้อมูลในวันที่ 16-17 จึงมีเพียงข้อมูลของตลาดต่างประเทศ

13/05/2011

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 1,084.96 จุด ลดลง 1.31 จุด

หุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย ขณะนี้โปรแกรมถือหุ้นอยู่รวมทั้งสิ้น 30 ตัว

กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้ฟิวเจอร์สของดัชนีนิกเกอิ (NK) เกิดสัญญาณขาย ดัชนีดอลลาร์ สรอ (US dollar index) ก็เกิดสัญญาณขาย

สำหรับตลาดหุ้นญี่ปุ่นนั้นลุงแมวน้ำยังมองเช่นเดิมว่าในระดับคลื่นใหญ่เป็นขาขึ้นอยู่ ดังนั้นจึงเทรดด้านซื้อ (ด้าน long position) เพียงด้านเดียว จึงเพียงปิดสัญญาซื้อไป

ส่วนดัชนีดอลลาร์ สรอ นั้น หลังจากที่หลุดแนวรับใหญ่ไปแล้วลุงแมวน้ำมีความเห็นว่าน่าจะลงได้อีกยาว แต่ในทางการนับคลื่นยังถือว่าไม่ชัดเจนนัก ต้องถือข้อบ่งชี้ที่เป็นรูปธรรมเป็นหลักเนื่องจากความคิดอาจแฝงอคติได้ ดังนั้นยังคงใช้กลยุทธ์เดิมไปก่อนคือกลยุทธ์ขาขึ้น เทรดด้านซื้อเพียงขาเดียว เมื่อสัญญาณซื้อมาจึงเปิดสัญญาซื้อไป

ด้านตลาดต่างประเทศ วันนี้ตลาดหุ้นแถบอเมริกาปิดแดงเป็นส่วนใหญ่ ด้านยุโรปปิดเขียวและแดงคละกัน และเอเชียปิดค่อนไปทางเขียว

ดัชนีในระดับภูมิภาควันนี้มีสัญญาณขาย ได้แก่ ดัชนี Dow Jone's Global Index (W1DOW) ดัชนียุโรปไม่รวมอังกฤษ (E2DOW) ก็เกิดสัญญาณขาย



การลงทุนในหุ้น อนุพันธ์ หรือกองทุนที่มีราคาผันผวน (1)

เมื่อสองสามเดือนก่อน ลุงแมวน้ำมีโอกาสเล็ดรอดเข้าไปฟังการสัมมนาเกี่ยวกับกองทุนรวมของ บลจ แห่งหนึ่ง ที่บอกว่าเล็ดรอดเพราะว่าปกติเขาไม่ให้แมวน้ำเข้าฟัง ลุงแมวน้ำก็ได้แต่แอบๆ ทำตัวเล็กๆ ซ่อนอยู่หลังผ้าม่านเพราะความอยากฟังเพื่อหาความรู้

หลังเลิกงาน ผู้เข้าฟังหลายท่านก็กรูกันเข้ามาซักถามผู้จัดการกองทุนเป็นการส่วนตัว ส่วนใหญ่เป็นเรื่องกองทุนน้ำมัน ช่วงนั้นกองทุนน้ำมันกำลังฮิตติดลม (ที่จริงช่วงนี้ก็ยังฮิตอยู่) คงยังจำกันได้ถึงช่วงที่ราคาน้่ำมันดิบ WTI แกว่งอยู่ในกรอบ 70-90 ดอลลาร์/บาเรล ช่วงนั้นแกว่งขึ้นแกว่งลงอยู่แถวนี้พักใหญ่ ใครเข้าที่ราคาสูงเมื่อถึงเวลาราคาน้ำมันลงก็ตกใจเพราะค่า NAV ของกองทุนหดหายไปพอสมควร

"คุณจ๊ะ" หญิงมีอายุคนหนึ่งพูดกับผู้จัดการกองทุน "ถือกองทุนน้ำมันมาหลายเดือนแล้ว ยังขาดทุนอยู่เลย แล้วอย่างนี้จะมีโอกาสได้กำไรไหม"

"คือ อ้า" ผู้จัดการกองทุนคิดอยู่นานก่อนตอบ "ที่จริงกองทุนน้ำมันนี่ต้องเล่นรอบครับ เทรดดิงน่ะครับ ขึ้นก็ขาย ลงก็ซื้อ"

"อ้าว แล้วทำไมตอนซื้อไม่เห็นมีใครบอก" หญิงสูงอายุพูดอีก "แล้วที่ว่าขึ้นขายลงซื้อน่ะ ตอนลงให้ซื้อที่ราคาเท่าไร ตอนขึ้นให้ขายที่ราคาเท่าไร ใครจะบอกฉันล่ะ ฉันจะได้ทำได้ถูก"

"เรื่องแบบนี้ต้องตัดสินใจเอาเองครับ ราคาน้ำมันผันผวน คงบอกล่วงหน้าไม่ได้ว่าต้องซื้อเมื่อไรต้องขายเมื่อไร" ผู้จัดการตอบ

"อ้าว บลา บลา บลา..."

สุดท้ายหญิงสูงอายุและกลุ่มที่ติดกองทุนน้ำมันอยู่ก็กลับไปทั้งๆที่ยังไม่หายข้องใจว่าเมื่อไรตนจะมีกำไร

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ลุงแมวน้ำยกเรื่องนี้ขึ้นมานอกจากเพื่อเป็นการเกริ่นถึงเรื่องการลงทุนในตลาดผันผวนแล้ว อีกส่วนหนึ่งก็อยากสะท้อนให้เห็นภาพการลงทุนของนักลงทุนไทยด้วยว่าทางฝ่ายผู้ลงทุนเองบางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอ กับทางฝ่ายที่จัดการลงทุนหรือสนับสนุนการลงทุนบางส่วนก็ยังทำหน้าที่ให้ความรู้แก่ผู้ลงทุนได้ไม่เพียงพอเช่นกัน คงต้องช่วยๆกันพัฒนาต่อไปอีก การลงทุนของนักลงทุนรายย่อยจึงจะเป็นการลงทุนเพื่อความมั่นคงในชีวิตที่แท้จริง ไม่ใช่การวัดดวงหรือการพนัน


เมื่อวันก่อน ในบทความ 2 เรื่องก่อนหน้านี้ เราได้คุยกันไปถึงเรื่องที่ว่า ตลาดหุ้นในปัจจุบันผันผวนกว่าเมื่อก่อนหรือไม่ กับอีกเรื่องหนึ่งก็คือราคาสินค้าโภคภัณฑ์ผันผวนกว่าราคาหุ้นจริงหรือไม่ ก็คงได้คำตอบกันไปแล้วว่าตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันไม่ได้ผันผวนกว่าในอดีต แต่ว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ผันผวนกว่าตลาดหุ้นไทยจริง ที่เน้นว่าตลาดหุ้นไทยก็เพราะว่าลุงแมวน้ำแสดงข้อมูลเปรียบเทียบราคาสินค้าโภคภัณฑ์กับดัชนีเซ็ต ก็คงสรุปได้แค่นั้น จะไปตีความในเชิงกว้างว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ผันผวนกว่าตลาดหุ้นทั้งโลกไม่ได้เพราะว่าตลาดหุ้นแต่ละประเทศก็มีความผันผวนต่างกัน

ไม่ว่าสินค้าโภคภัณฑ์ หุ้น หรือกองทุนก็ตาม หากราคา (หรือ NAV ในกรณีกองทุน) ผันผวนมาก การกะเก็งจังหวะซื้อขายทำได้ยาก ยิ่งผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมส่วนหนึ่งเป็นพวกที่หลีกเลี่ยงความผันผวนจากตลาดหุ้น คิดว่ากองทุนรวมไม่ค่อยหวือหวา น่าอุ่นใจกว่า พอมาเจอราคาน้ำมันดิบและค่า NAV ของกองทุนน้ำมันก็ทำใจได้ยาก หากจะให้ทำแบบเทรดดิงโดยกะเก็งจังหวะซื้อๆขายๆคงทำได้ยากเพราะไม่มีความชำนาญ ประกอบกับยิ่งเป็นลักษณะกองทุนรวมที่ค่า NAV รายงานค่อนข้างล่าช้า กว่าจะรู้ค่า NAV ก็อีกหลายวันให้หลัง การคิดหรือตัดสินใจอะไรโดยดูจาก NAV ย่อมไม่ทันการ


การเทรดในตลาดที่ราคาผันผวนแม้จะมีระบบช่วยก็ยังถือว่ายาก การเทรดด้วยระบบตามแนวโน้ม (trend following system) จะให้ผลไม่ค่อยดีนักเนื่องจากระบบสัญญาณติดตามความผันผวนค่อยทัน ผลก็คือเกิดสัญญาณซื้อขายที่เป็นสัญญาณหลอกหรือ false signal ยิ่งเกิดสัญญาณหลอกบ่อยเพียงใด ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่พอร์ตลงทุนก็ยิ่งมากเท่านั้น อีกประการก็คือ การแกว่งตัวแรงของราคาทำให้เราต้องขายหรือปิดสัญญาในราคาที่ลึก ลองคิดดูว่าหากราคาหุ้นร่วงมาตลอดทั้งวัน เรารอไปขายหรือปิดสัญญาที่สิ้นวันตามระบบ ราคาที่ขายได้ในตอนท้ายตลาดอาจทำให้ขาดทุนได้ลึกมาก

ลองมาดูภาพนี้กัน



ภาพนี้เป็นราคาฟิวเจอร์สน้ำมันดิบ (CL) พร้อมกับรายงานพอร์ตลงทุนของลุงแมวน้ำ ลงทุนด้วยระบบสัญญาณลุงแมวน้ำ (ไม่ใช่ PNT 1.10 เนื่องจากลุงแมวน้ำไม่ได้ทำข้อมูล PNT 1.10 เอาไว้ แต่ก็น่าจะขาดทุนพอๆกัน จึงนำเอามาให้ดูแทน) พอร์ตลงทุนน้ำมันดิบนี้เทียบกันระหว่างสองกลยุทธ์ สีเหลืองคือเทรดด้านลอง (lomg position) เท่านั้น ไม่เทรดด้านชอร์ต ซึ่งคล้ายกับการซื้อขายหุ้น กับอีกช่องหนึ่งคือสีเนื้อ เป็นการเทรดทั้งด้านลองและด้านชอร์ต

จะเห็นว่ากลยุทธ์ที่เทรดด้านลองด้านเดียวนั้นขาดทุนไป 7,660 ดอลลาร์ ส่วนด้านที่ใช้กลยุทธ์เทรดทั้งด้านลองและด้านชอร์ตนั้นยิ่งขาดทุนหนัก คือ 51,050 ดอลลาร์ (ประมาณ 1,500,000 บาท) ยิ่งเทรดก็ยิ่งขาดทุนหนัก

นี่ก็คือปัญหาของการเทรดตามระบบสัญญาณในตลาดที่มีความผันผวนสูง

แนวทางการแก้ระบบสัญญาณให้ไวขึ้นเพื่อเทรดในตลาดผันผวนนั้น อย่างเช่น จากระบบ PnT 1.10 ที่ใช้เส้นซิกแซก 1% (1% zigzag) ก็ลดลงมา อาจเหลือเพียงใช้ 0.5% zigzag สัญญาณซื้อขายจะได้เกิดไวขึ้น แนวคิดนี้ในความเห็นของลุงแมวน้ำคิดว่าไม่ช่วยแก้ปัญหา มีแต่จะขาดทุนหนักยิ่งขึ้นเนื่องจากระบบที่ไวขึ้นการเกิดสัญญาณหลอกก็จะถี่ยิ่งขึ้น ยิ่งสัญญาณหลอกมากเพียงใดก็ยิ่งขาดทุนมาก ลุงแมวน้ำจึงมองว่าการใช้ระบบสัญญาณให้ไวขึ้นคงแก้ปัญหาไม่ได้

เหตุผลอีกประการก็คือ ระบบการเทรดแบบตามแนวโน้มนี้หากใช้ราคาปิดของแต่ละวันเป็นข้อมูล หรือที่เรียกว่าใช้ข้อมูล end of day นั้นโดยธรรมชาติของระบบเองต้องการเวลาช่วงหนึ่งในการติดตามแนวโน้ม หากเปรียบระบบตามแนวโน้มด้วยข้อมูลราคาปิดของแต่ละวันเป็นเหมือนการขับรถเก๋งในถนน หากการจราจรไปช้าๆ (เปรียบได้กับตลาดที่ผันผวนน้อย) เมื่อเราขับรถเราก็ทิ้งช่วงห่างจากคันหน้าพอสมควร

แต่หากไปขับในทางหลวงระหว่างจังหวัดที่รถใช้ความเร็วสูง (เปรียบเหมือนตลาดที่ผันผวนสูง) การขับรถตามคันหน้าต้องเผื่อระยะให้มากยิ่งขึ้นไปอีก หากขับจ่อจี้ไปติดๆเมื่อรถคันหน้าเลี้ยงหรือเบรกเราจะหยุดไม่ทัน โอกาสชนท้ายมีสูงมาก

ฉันใดก็ฉันนั้น ระบบตามแนวโน้มด้วยข้อมูลราคาปิดรายวันนั้นต้องการระยะห่างพอสมควร หรือก็คือตัวระบบเองต้องมีความไวของสัญญาณอยู่ที่ระดับหนึ่ง จะไปเร่งรัดให้ไวยิ่งกว่านั้นอีกก็เป็นการฝืนธรรมชาติของระบบและอาจยิ่งก่อความเสียหาย

เทคนิคในการเทรดในตลาดที่ผันผวนสูงเป็นอย่างไร โปรดติดตามในวันถัดไป








16/05/2011


กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้ฟิวเจอร์สของดัชนี S&P 500 เกิดสัญญาณขาย

ตลาดต่างประเทศส่วนใหญ่ปิดแดง ดัชนี S&P 500 (เป็นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาตัวหนึ่งที่คำนวณจากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ 500) และแนสแดก (Nasdaq) ของสหรัฐอเมริกาก็เกิดสัญญาณขาย (แต่ดัชนีดาวโจนส์ยังเป็นสัญญาณซื้ออยู่) กรีซยังร่วงแรงเนื่องจากเรื่องปัญหาของประเทศ

ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงมาหลายวัน ทำให้ดัชนีในระดับประเทศและในระดับภูมิภาคทยอยกันเกิดสัญญาณขาย สำหรับวันนี้ยังมีดัชนีของตลาดหุ้นนิกเกอิ (Nikkei) ของประเทศญี่ปุ่น และดัชนีคอสปี (Kospi) ของเกาหลีใต้ที่เกิดสัญญาณขาย

ในระดับภูมิภาค ดัชนีเอเชียใต้ (P3DOW) และดัชนีกลุ่มตะวันออกกลางกลุ่มจีซีซี (DJGCC50D) ก็เกิดสัญญาณขาย






17/05/2011


กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้ฟิวเจอร์สของดัชนีดาวโจนส์ (DJ) และฟิวเจอร์สทองคำ (GC) เกิดสัญญาณขาย ทั้งตลาดหุนและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวกันถ้วนหน้าในระยะนี้ แต่ลุงแมวน้ำนับคลื่นของตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาแล้วคิดว่าน่าจะยังไม่จบคลื่นใหญ่ ดังนั้นจึงปิดสัญญาซื้อไปเท่านั้น ไม่ได้เปิดสัญญาขาย

ส่วนทองคำนั้นเดิมทีลุงแมวน้ำคิดว่าจบคลื่นไปแล้ว แต่ในที่สุดความจริงก็ออกมาว่ายังไม่จบ ขณะนี้ดูยากแล้วว่าทองคำ GC จบคลื่นใหญ่ไปแล้วที่ราคา 1,557 ดอลลาร์/ทรอยออนซ์ที่ผ่านมานี้หรือเปล่า ประเด็นนี้อาจต้องไปพิจารณาค่าเงินดอลลาร์ สรอ ประกอบด้วย หากเงินดอลลาร์กลับทิศเป็นขาขึ้น ทองคำอาจจบคลื่นได้ แต่หากเงินดอลลาร์ยังไม่ได้กลับทิศ คือยังเป็นแนวโน้มขาลงอยู่ เพียงแต่มีเด้งขึ้นมาบ้างเท่านั้น หากเป็นกรณีหลังทองคำก็ยังไม่น่าจบคลื่นใหญ่ ลุงแมวน้ำให้น้ำหนักไปทางอย่างหลังมากกว่า ดังนั้นจึงปรับมุมมองเกี่ยวกับทองคำเป็นว่ายังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นอยู่ ดังนั้นขณะนี้จึงยังไม่เปิดสัญญาขายทองคำ

ตลาดต่างประเทศส่วนใหญ่ปิดแดง ดัชนีดาวโจนส์ (Dow Jone's Industrial Index, DJI) ของสหรัฐอเมริกา ดัชนีแดกซ์ (DAX) ของเยอรมนี และดัชนีฟุตซี 100 (FTSE 100) ของอังกฤษเกิดสัญญาณขาย

ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงมาหลายวัน ทำให้ดัชนีในระดับประเทศและในระดับภูมิภาคทยอยกันเกิดสัญญาณขาย สำหรับวันนี้ยังมีดัชนีของตลาดหุ้นนิกเกอิ (Nikkei) ของประเทศญี่ปุ่น และดัชนีคอสปี (Kospi) ของเกาหลีใต้ที่เกิดสัญญาณขาย

ในระดับภูมิภาค ดัชนีเอเชียใต้ (P3DOW) และดัชนีกลุ่มตะวันออกกลางกลุ่มจีซีซี (DJGCC50D) ก็เกิดสัญญาณขาย



12/05/2011

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 1,086.27 จุด ลดลง 14.21 จุด

หุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้มีสัญญาณขาย DCC ขณะนี้โปรแกรมถือหุ้นอยู่รวมทั้งสิ้น 30 ตัว

กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย

ด้านตลาดต่างประเทศ วันนี้ตลาดหุ้นแถบอเมริกาปิดเขียวเป็นส่วนใหญ่ ด้านยุโรปและเอเชียปิดแดงเป็นส่วนใหญ่ ตลาดหุ้นกรีซกกับรัสเซียลงแรงกว่าเพื่อน ส่วนตลาดเปรูขึ้นแรง

ช่วงนี้ตลาดฝั่งยุโรปมีข่าวเกี่ยวกับเรื่องปัญหาหนี้ของประเทศในกลุ่ม PIIGS อันหมายถึงโปรตุเกส อิตาลี ไอร์แลนด์ กรีซ และสเปน ค่าเงินยูโรและตลาดหุ้นฝั่งยุโรปจึงดูอึมครึม และส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์ด้วย

ดัชนีในระดับภูมิภาคมีหลายตัวที่เกิดสัญญาณขาย ได้แก่ กลุ่มยุโรปเหนือ (E3DOW) กลุ่มเอเชียและแปซิฟิก (P1DOW) และดัชนีกลุ่มตลาดพัฒนาแล้ว (W3DOW)