Tuesday, September 21, 2010

20/09/2010

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 923.06 จุด ลดลง 0.51 จุด

สำหรับหุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้มีสัญญาณซื้อ THAI และมีสัญญาณขาย SCCC ขณะนี้ถือหุ้นอยู่รวมทั้งหมด 33 ตัว

กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย

ด้านดัชนีตลาดต่างประเทศ วันนี้ไม่มีสัญญาซื้อขาย ตลาดญี่ปุ่นหยุดทำการ ตลาดส่วนใหญ่ปิดบวกยกเว้นจีนและออสเตรเลียที่ปิดลบนิดหน่อย

Monday, September 20, 2010

17/09/2010 * Currencies, เทรดตามระบบแล้วได้กำไรแน่ๆหรือไม่ (8)

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 923.57 จุด ลดลง 1.24 จุด

สำหรับหุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้มีสัญญาณซื้อ PS และมีสัญญาณขาย ADVANC, PTTEP, TRUE ขณะนี้ถือหุ้นอยู่รวมทั้งหมด 33 ตัว

กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย

ด้านดัชนีตลาดต่างประเทศ วันนี้ไม่มีสัญญาซื้อขาย

ในระยะนี้ตลาดส่วนใหญ่กลายเป็นไม่มีทิศทาง ดังนั้นจึงยังดูอะไรไม่ชัด ที่ทำได้คือรอดูไปก่อน

ทางด้านอัตราแลกเผลี่ยนเงินตรานั้น ช่วงที่ผ่านมาเงินเยนของญี่ปุ่นแข็งค่าค่อนข้ารวดเร็วและต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ธนาคารชาติของญี่ปุ่นของเข้าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน ผลทำให้ค่าเงินเยนอ่อนตัวลงมาบ้าง เงินบาทของไทยก็เช่นกัน แต่ยังไม่รู้ว่าผลในระยะยาวจะเป็นอย่างไร ที่จริงแล้วยังมีเงินอีกสกุลหนึ่งซึ่งแข็งค่าค่อนข้างเร็ว นั่นก็คือเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย ดูจากกราฟเปรียบเทียบก็จะเห็นว่าเส้นกราๆของเงินดอลลาร์ออสเตรเลียดำดิ่งลงไปเรื่อยๆ เส้นยิ่งลงต่ำแปลว่าค่าเงินยิ่งแข็ง



เทรดตามระบบอย่างไรให้ได้กำไร

ข้อ 6 เตรียมเงินลงทุนให้เพียงพอ (ต่อ)

เมื่อวันก่อนลุงแมวน้ำคุยค้างเอาไว้ถึงข้อ 6 นั่นคือเรื่องของการเตรียมเงินลงทุนซึ่งจำเป็นต้องเตรียมให้เพียงพอ รวมทั้งต้องใช้วิธีการเทรดแบบเงินต้นสม่ำเสมอ คือเงินลงทุนต้องเท่ากันทุกครั้ง หากปล่อยให้เงินลงทุนหดลงไปเมื่อเทรดไปนานๆอาจขาดทุนจนเงินหมดได้ ดังเหตุผลที่ได้คุยกันไปแล้ว

สำหรับการเตรียมเงินลงทุนเท่าไรจึงจะเพียงพอนั้นก็แล้วแต่ว่าจะใช้หลักเกณฑ์อะไร ดังนั้นเรื่องเตรียมเงินลงทุนเท่าไรนั้นจึงไม่มีคำตอบที่ตายตัว แต่ละคนก็มีหลักเกณฑ์ต่างๆกันไป สำหรับกลุ่มที่เทรดด้วยระบบ peak and trough นั้นหากเป็นกรณีเทรดฟิวเจอร์สมักใช้หลักเกณฑ์เป็นจำนวนเท่าของ IM+MM เช่น เตรียมเงินเป็น 4 เท่าของ IM+MM เป็นต้น โดย IM นั้นคือ initial margin ส่วน MM นั้นคือ maintenance margin

ในวันนี้ลุงแมวน้ำจะขอเสนอสูตรการคำนวณเงินลงทุนโดยอิงจากหลักสถิติ ลองมาดูกัน


ตารางข้างบนนี้เป็นการคำนวณการเตรียมเงินลงทุนในหุ้นหรือกองทุนโดยขึ้นกับระดับความเสี่ยง (หรืออีกนัยหนึ่งระดับความปลอดภัย) ตามสถิติที่ผ่านมา กล่าวคือ ถ้าให้มีระดับความปลอดภัย 70% ต้องเตรียมเงินเผื่อเอาไว้ 5% ของเงินที่คิดจะลงทุนในการเทรด และหากต้องการให้มีระดับความปลอดภัย 80% ก็ต้องเตรียมเงินเผื่อเอาไว้ 6% และหากต้องการให้ปลอดภัยถึงระดับ 96% ก็ต้องเตรียมเงินเผื่อเอาไว้ 10%

ความหมายของย่อหน้าข้างบนก็คือ จากสถิติของการเทรดแล้วขาดทุนนั้น พบว่าใน 100 ครั้งที่เทรดแล้วขาดทุน จะมีอยู่ 70 ครั้งที่ขาดทุนไม่เกิน 5% ของเงินลงทุน ส่วนอีก 30 ครั้งจะขาดทุนเกินกว่า 5% และนั่นแปลว่าหากเราเตรียมเงินเผื่อเอาไว้ 5% โอกาสที่เงินจำนวนนี้จะไม่เพียงพอเพราะว่าเกิดการขาดทุนมากกว่าเงินที่เตรียมเอาไว้ยังมีอยู่ถึงร้อยละ 30

แต่หากเราเผื่อเงินเอาไว้ 6% ของเงินลงทุน ความปลอดภัยของเราจะมี 80% หมายความว่าในการเกิดสัญญาณหลอก 100 ครั้ง จะมีโอกาสขาดทุนมากกว่าเงินที่เตรียมเอาไว้ (คือ 6%) อยู่ 20 ครั้ง

แต่หากเราเผื่อเงินเอาไว้ 10% ในการขาดทุน 100 ครั้งโอกาสที่จะขาดทุนหนักจนเงินไม่พอจ่ายมีอยู่เพียง 4 ครั้งเท่านั้น

นั่นคือความหมายในเชิงสถิติ และเป็นที่มาของระดับความปลอดภัยหรือระดับความเสี่ยงของการเทรดแต่ละครั้งที่ลุงแมวน้ำพูดถึง นอกจากนี้แล้วเรายังต้องไม่ลืมว่าโอกาสเกิดสัญญาณหลอกและขาดทุนติดกันมากกว่าหนึ่งครั้งก็เป็นไปได้ จากสถิติอีกเช่นกัน เราพบว่าดัชนี SET นั้นในอดีตเคยเกิดสัญญาณหลอกได้ถึง 5 ครั้งติดกัน ดังนั้นในการเตรียมเงินเผื่อเราต้องเผื่อสำหรับการขาดทุนติดกันถึง 5 ครั้ง ไม่ใช่เพียงครั้งเดียว

ดังนั้น จากตารางข้างบน หากเราต้องการเทรดด้วยเงินลงุทน 100,000 บาท เราก็เลือกดูระดับความปลอดภัยว่าต้องการความปลอดภัยสูงเพียงใด แล้วเตรียมเงินเอาไว้ตามนั้น ซึ่งระดับความปลอดภัยที่ลุงแมวน้ำแนะนำก็คือที่ระดับ 96% หรือว่าต้องเตรียมเงินสำรองเอาไว้ในระดับ 10% ของเงินลงทุน ถ้าต่ำกว่านี้ลุงแมวน้ำไม่แนะนำอย่างยิ่ง

ที่ระดับความปลอดภัย 96% หากต้องการลงทุน 100,000 บาท ต้องเตรียมเงินเอาไว้ 150,000 บาท 100,000 บาทเอาไว้เทรด ส่วนเงินอีก 50,000 บาทสำรองเอาไว้สำหรับการขาดทุน เนื่องจากเราต้องรักษาเงินลงทุนในการเทรดให้คงที่เสมอ จะปล่อยให้ลดต่ำลงไม่ได้ หากต้องการเทรดในระดับ 500,000 บาทก็ต้องเตรียมเงินเอาไว้ 750,000 บาท

ส่วนการเทรดฟิวเจอร์สนั้น เราใช้หลักการเดียวกัน ลุงแมวน้ำคำนวณออกมาได้เป็นตารางดังนี้

การคำนวณสำหรับฟิวเจอร์สจะแตกต่างกันอยู่บ้าง เนื่องจากการคิดในระบบเปอร์เซ็นต์นั้นที่ระดับราคาหรือดัชนีต่างๆกันจะมีค่าไม่เท่ากัน สมมติเช่น การขาดทุน 10% ที่ระดับ 500 จุดก็เท่ากับขาดทุน 50 จุด แต่หากขาดทุน 10% ที่ระดับ 800 จุดจะเท่ากับ 80 จุด ดั้งนั้นการเตรียมเงินสำหรับเทรดฟิวเจอร์สต้องเปลี่ยนแปลงไปตามระดับราคาหรือดัชนีที่เปลี่ยนไปด้วย ซึ่งลุงแมวน้ำคำนวณมาให้เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับแสดงการเตรียมเงินแบบจำนวนเท่าของ IM+MM เปรียบเทียบให้ดูด้วย

ลองมาดูตัวอย่างการอ่านตารางกัน สมมติว่าต้องการเทรดยางพารา 1 สัญญา ตอนนี้ราคา RSS3 อยู่แถวๆ 100-110 บาท ดังนั้นระดับราคาเราใช้ค่า 110 คือเอาค่ามากมาใช้ และที่ระดับความปลอดภัย 96% เราต้องเตรียมเิงินเพื่อการเทรดฟิวเจอร์ยางพารา 380,000 บาท

หรือหากจะเทรด S50 ซึ่งตอนนี้ดัชนีอยู่ที่ 600 กว่าๆ เราก็ใช้ระดับราคา 700 ดูที่ระดับความปลอดภัย 96% จะได้ว่าต้องเตรียมเงิน 525,600 บาท สำหรับการเทรด S50 1 สัญญา

จะเห็นว่าการเตรียมเงินโดยวิธีการนี้ต้องเผื่อเงินเอาไว้สูงมาก สูงกว่า 6 เท่าของ IM+MM เสียอีก ซึ่งเมื่อพิารณาดูให้ดีแล้วจำนวนเงินที่ต้องเตรียมจะเสมือนกับว่าทำให้เราไม่ได้เปรียบจากอัตราทดเลย หากเทรด S50 แล้วต้องเตรียมเงินเผื่อเอาไว้ถึงขนาดนี้ก็เท่ากับการเทรด TDEX นั่นเอง หลายคนคงสงสัยว่าถ้าเช่นนั้นจะเทรดฟิวเจอร์สไปเพื่ออะไรถ้าไม่ได้รับประโยชน์จากอัตราทด (leverage)

ประเด็นนี้เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่งสำหรับการเทรดของมือใหม่ นั่นคือ การเตรียมเงินของระบบนี้จะมีความปลอดภัยสูง ทำให้โอกาสลงทุนเกินตัวมีน้อย และโอกาสขาดทุนจนหายนะก็มีต่ำ รวมทั้งเป็นการฝึกใจให้ควบคุมความโลภ ไม่หวังประโยชน์จนเกินควรจนลืมรักษาความปลอดภัยของตนเองเอาไว้ ซึ่งการฝึกใจให้ควบคุมความโลภได้นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเมื่อไรที่นักลงทุนติดนิสัยโลดโผนและชอบเสี่ยงเมื่อไรมันก็ไม่ต่างจากการพนัน โอกาสพังมีสูง การแก้ไขนิสัยเหล่านั้นให้หมดไปจากใจเพื่อให้กลับมาเทรดแล้วมีกำไรจะเป็นไปได้ยากมาก

อีกประการก็คือนักลงทุนมือใหม่ที่สนใจจะลงทุนเทรดอย่างเป็นระบบนั้นควรต้องฝึกฝนความรู้ด้านเทคนิคด้วยและสะสมประสบการณ์ความชำนาญในการเทรดด้วย จึงจะหลบเลี่ยงสัญญาณหลอกได้บ้าง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ใช้เวลานานหลายปีทีเดียว ดังนั้นในปีแรกๆมักขาดทุนจากสัญญาณหลอก เรื่องกำไรอย่าเพิ่งไปหวัง การเผื่อเงินไว้มากพอจะทำให้นักลงทุนอยู่รอดไปจนถึงปีหลังๆได้ เปรียบเหมือนกับต้นอ่อนของพืชที่มีอาหารสะสมอยู่ในใบเลี้ยงมากย่อมมีโอกาสอยู่รอดในธรรมชาติได้มากกว่าต้นอ่อนของพืชที่มีอาหารสะสมอยู่ในใบเลี้ยงน้อยนั่นเอง