สำหรับหุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย ขณะนี้ถือหุ้นอยู่รวมทั้งหมด 46 ตัว
กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย
ด้านดัชนีตลาดต่างประเทศ วันนี้ตลาดขึ้นเกือบทั่วโลก ทั้งเซีย ยุโรป และอเมริกา บวกันเกินกว่า 1% ยกเว้นจีนที่ปิดแดง ดัชนีออลออร์ดิแนรีส์ (AORD) ของออสเตรเลียเกิดสัญญาณซื้อ กองทุนอีทีเอฟ EEM ซึ่งเราใช้ดูแทนดัชนี MSCI Emerging Markets Index เกิดสัญญาณซื้อ
ในที่สุดดัชนี SET ก็สามารถผ่านยอดคลื่น 5 (สีน้ำเงิน) เดิมที่ 615.03 จุดมาได้ แสดงว่าที่ลุงแมวน้ำมองว่าที่ผ่านมาเป็นคลื่น B (สีน้ำเงิน) คงนับผิด น่าจะต้องไปนับคลื่นใหม่ ปัญหาที่น่าคิดต่อมาก็คือ ในเมื่อดัชนี SET นับผิด แล้วดัชนีดาวโจนส์ (DJI) ที่ลุงแมวน้ำมองว่าเป็นคลื่น B (สีน้ำเงิน) ด้วย จะนับผิดด้วยหรือไม่ ปัญหานี้คงต้องขอเวลาติดตามไปอีกสักระยะหนึ่งก่อน
วันนี้เรามาดูเรื่องการเทรดตามระบบและระบบ PnT 1.1 กันต่อ
ระดับกำไร/ขาดทุนเมื่อเทรดด้วยระบบ Peak and Trough 1.10 (PnT 1.10)
จากที่วันก่อนลุงแมวน้ำนำเอาสถิติมาวิเคราะห์และพบว่าการเทรดด้วยระบบ PnT 1.1 นั้นถ้าเป็นด้านลอง ในการลอง 100 ครั้ง (ซื้อแล้วขาย หรือเปิดสัญญาซื้อแล้วปิด ถือเป็น 1 ครั้ง) โดยเฉลี่ยแล้วจะได้กำไร 40 ครั้งและขาดทุน 60 ครั้ง ถ้าเป็นด้านชอร์ต ในการชอร์ต 100 ครั้งโดยเฉลี่ยแล้วจะได้กำไร 35 ครั้งและขาดทุน 65 ครั้ง
เมื่อพิจารณาจากตัวเลขแล้วจะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นด้านชอร์ตหรือด้านลอง ล้วนแต่มีโอกาสขาดทุนมากกว่ากำไร หลายคนคงเกิดคำถามขึ้นว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วการเทรดตามระบบก็น่าจะพาให้ขาดทุนมากกว่าที่จะทำให้กำไรน่ะสิ
ก่อนจะตอบปัญหานี้ลุงแมวน้ำอยากให้พิจารณาคำถามอีกสัก 2 ข้อ นั่นคือ
- หากเทรดด้วยระบบอื่น ไม่ว่าระบบตามใจฉันหรือระบบอะไรก็ตาม ในการเทรด 100 ครั้งสามารถทำกำไรได้กี่ครั้งและขาดทุนกี่ครั้ง จะได้ลองนำสถิติมาเปรียบเทียบกันดู
- ระดับของผลกำไรหรือผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในการเทรดด้วยระบบ PnT 1.1 เป็นอย่างไรบ้าง เพราะแม้ว่าจำนวนครั้งที่กำไรน้อยกว่าจำนวนครั้งที่ขาดทุน แต่ถ้ากำไรแต่ละครั้งได้มาพอสมควร และขาดทุนทีละครั้งไม่มากนัก โดยรวมแล้วก็ยังสามารถมีกำไรได้อยู่
สำหรับคำถามข้อ 1 ลุงแมวน้ำคงไม่มีคำตอบ ส่วนคำถามข้อที่ 2 นั้นจะขอนำสถิติที่คำนวณได้มาให้พิจารณากันดังนี้
ตารางที่เห็นข้างบนนี้เป็นตารางการแจกแจงผลกำไร/ขาดทุน ตามระบบ PnT 1.1 ที่ลุงแมวน้ำทดสอบมา ลองมาดูวิธีการอ่านผลและตีความกัน
ลองดูตัวอย่างกันที่ลอลัมน์ที่ 2 (distribution of probability of profitable long trades หรือเรียกสั้นๆว่า p_pl)บรรทัดแรกเป็นผลกำไร/ขาดทุนที่ระดับ 1% มีค่าเป็น 0.1329 หมายความว่า ในการเทรดด้านลองที่เทรดแล้วกำไร (เทรดด้านลองแล้วขาดทุนไม่นับ) 100 ครั้ง ใน 100 ครั้งนั้นจะได้กำไรในระดับต่างๆกัน แต่พวกที่ได้กำไร 0.01%-1% จะมีอยู่ 13.29 ครั้ง
ลองดูอีกสักตัวอย่างหนึ่ง ดูคอลัมน์ที่ 4 (p_ul) แถวที่ 3 (ระดับ 3%) มีค่าเท่ากับ 0.2036 หมายความว่าในการเทรดด้านลองแล้วขาดทุน (นับเฉพาะที่ลองแล้วขาดทุน ส่วนลองแล้วมีกำไรไม่นำมาคิด) 100 ครั้ง มีอยู่ 20.36 ครั้งที่ลองแล้วขาดทุนอยู่ในระดับ 2.01%-3%
หากดูแล้วงงก็ไม่ต้องไปสนใจมาก มาดูสรุปกันก็ได้
- ในการเทรดด้านลองแล้วมีกำไร ใน 100 ครั้งที่ลองแล้วกำไรจะมีอยู่ 70 ครั้งที่ได้กำไรอยู่ในช่วง 0-10% (ความชุกของกำไรจะอยู่ที่ระดับกำไร 0.01%-2%) ส่วนอีก 30 ครั้งที่เหลือนั้นเป็นพวกที่ได้กำไรมากกว่า 10% (ได้กำไรเกินกว่า 30% ก็ยังมี)
- ในการเทรดด้านชอร์ตแล้วมีกำไร ใน 100 ครั้งที่ชอร์ตแล้วกำไรจะมีอยู่ 77 ครั้งที่ได้กำไรอยู่ในช่วง 0-10% (ความชุกของกำไรจะอยู่ที่ระดับกำไร 0.01%-2%) ส่วนอีก 23 ครั้งที่เหลือนั้นเป็นพวกที่ได้กำไรมากกว่า 10% (ได้กำไรเกินกว่า 30% ก็ยังมี)
- ในการเทรดด้านลองแล้วขาดทุน ใน 100 ครั้งที่ลองแล้วขาดทุนจะมีอยู่ 70 ครั้งที่ขาดทุนอยู่ในช่วง 0-5% (ความชุกของการขาดทุนจะอยู่ที่ระดับขาดทุน 2.01%-4%) ส่วนอีก 30 ครั้งที่เหลือนั้นเป็นพวกที่ได้ขาดทุนมากกว่า 5% (ขาดทุนสูงสุดคือ 26%)
- ในการเทรดด้านชอร์ตแล้วขาดทุน ใน 100 ครั้งที่ชอร์ตแล้วขาดทุนจะมีอยู่ 72 ครั้งที่ขาดทุนอยู่ในช่วง 0-5% (ความชุกของการขาดทุนจะอยู่ที่ระดับขาดทุน 2.01%-4%) ส่วนอีก 28 ครั้งที่เหลือนั้นเป็นพวกที่ขาดทุนมากกว่า 5% (ขาดทุนเกินกว่า 30% ก็ยังมี)
และข้อสังเกตของลุงแมวน้ำอีกประการหนึ่งก็คือ ระดับกำไร/ขาดทุนนี้คิดเป็นร้อยละ หากเทรดหุ้นก็ไม่เท่าไร แต่หากเทรดฟิวเจอร์ซึ่งมีอัตราทด (leverage) ก็จะแตกต่างกัน สมมติเช่น หุ้น A ราคา 600 บาท ขาดทุน 5% คือขาดทุนไป 30 บาทต่อหุ้น แต่หากไปเทรด S50 ที่ 600 จุด ขาดการทุน 5% ก็คือขาดทุน 30 จุด คิดเป็นขาดทุน 30,000 บาทต่อสัญญา