โครงการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ บำนาญสร้างเองของลุงแมวน้ำ
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ประเทศก็เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า aging society แล้ว
คำว่าสังคมผู้สูงอายุนี้หมายถึงสังคมใดที่มีประชากรเกินอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินร้อยละ 10 ยกตัวอย่างเช่นหมู่บ้านหนึ่งมีประชากรในหมู่บ้านรวมทั้งสิ้น 100 คน ในหมู่บ้านนี้มีคนชราที่อายุเกิน 60 ปีอยู่ 11 คน เราเรียกหมู่บ้านนี้ว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุได้
และยิ่งไปกว่านั้น หากสังคมใดมีคนชราร้อยละ 20 ขึ้นไปเราจะเรียกสังคมนั้นว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์หรือว่า aged society ยกตัวอย่างจากหมู่บ้านเดิมที่มีประชากรอยู่ 100 คน เมื่อใดที่หมู่บ้านนั้นมีคนชรา (อายุเกิน 60 ปี) ตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป หมู่บ้านนั้นก็จะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์
ดังที่ลุงแมวน้ำกล่าวมาแล้วว่าปัจจุบันประเทศไทยถือว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว และในปัจจุบัน (พ.ศ. 2553) ประเทศไทยมีผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 11.9 จากการคาดหมายทางประชากรศาสตร์ คาดว่าประเทศไทยน่าจะเข้าสู่ผู้สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2567 หรือในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้เอง
อย่างไรก็ดี การคาดการณ์นี้เป็นการมองในภาพรวมระดับประเทศ แต่หากมองในภาพของสังคมที่ย่อยลงมาอีก เช่น ในระดับจังหวัด ขณะนี้มีบางจังหวัดที่ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ไปเรียบร้อยแล้ว ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดสิงห์บุรีที่ปัจจุบันมีผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 24 ของประชากรในจังหวัด
การเป็นสังคมผู้สูงอายุเกิดจากอัตราการเกิดของประชากรต่ำเป็นเวลานานๆ สาเหตุของอัตราการเกิดต่ำนั้นก็มาจากหลายอย่าง เช่น ผลจากการรณรงค์คุมกำเนิด ผลจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป คนแต่งงานช้าลง คนอยู่เป็นโสดมากขึ้น ฯลฯ
ผลของการเป็นสังคมผู้สูงอายุหรือว่าสังคม ผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์นั้นที่เห็นได้ชัดก็คือผู้สูงอายุจะหวังพึ่งลูกหลานได้ยาก ลองคิดดูง่ายๆ สมมติว่าในสังคมหนึ่งที่นิยมการมีลูกเพียงคนเดียว หากมีลูกคนเดียวไป 3 ชั่วคน คนรุ่นที่สามต่อไปจะต้องรับภาระดูแลพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ทั้งหมด 6 คน แล้วจะเอาแรงที่ไหนไปดูแลไหว นี่ยังไม่นับกรณีผู้ที่อยู่เป็นโสด
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ดังนั้นลุงแมวน้ำขอสรุปโดยรวบรัดว่าผู้ที่อยู่ในวัยทำงานในขณะนี้ต่อไปเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณแล้วมีแนวโน้มที่จะต้องพึ่งตนเองมากขึ้น การหวังพึ่งลูกหลานหรือว่าพึ่งคนอื่นคงเป็นไปได้ยาก
การพึ่งตนเองได้ ต้องทำอย่างไรบ้างก็ควรมีสุขภาพที่ดี มีการประกันสุขภาพ จะได้ลดการพึ่งพาผู้อื่นลงได้ นอกจากนี้ยังต้องมีรายได้ไว้เลี้ยงตนเองในยามเกษียณอายุไปแล้ว จะได้ไม่เป็นภาระด้านการเงินแก่ผู้อื่น หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือต้องมีเงินเก็บเอาไว้ใช้ในยามที่เกษียณไปแล้วหรือที่เรียกว่ามีบำนาญนั่นเอง
หลายคนเป็นลูกจ้าง หลายคนประกอบอาชีพอิสระ แล้วเราจะมีเงินเก็บเพื่อเอาไว้เป็นบำนาญชีวิตได้อย่างไรในเมื่อเราไม่ได้เป็นข้าราชการหรือไม่ได้เป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพใดๆ ครั้นจะพึ่งพากองทุนการออมแห่งชาติที่กำลังจัดตั้งขึ้นมาเพื่อการออมของ ประชาชนทั่วไปก็ให้บำนาญเต็มที่เพียง 1,710 บาทต่อเดือน รวมกับเบี้ยยังชีพคนชราอีก 500 บาท รวมแล้วก็ได้บำนาญเดือนละสองพันกว่าบาท คงไม่น่าจะพึ่งพาเป็นรายได้หลักหลังเกษียณได้ น่าจะเป็นได้แค่รายได้เสริมเท่านั้น
บางคนอาจคิดว่าชีวิตหลังเกษียณไปแล้วก็ยังมีแรง มีกำลังสมอง ยังสามารถหารายได้ได้อยู่ หรือไม่ก็คิดว่าตนเองออมไม่ไหวเพราะภาระค่าใช้จ่ายมาก ดังนั้นจึงไม่ได้วางแผนการออมเพื่อการเกษียณเอาไว้ แต่ลุงแมวน้ำอยากบอกว่าชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน อะไรที่ทำได้ในตอนนี้ก็ควรทำเสีย ยกตัวอย่างลุงแมวน้ำเอง ลุงแมวน้ำหาเลี้ยงชีวิตด้วยการแสดงละครสัตว์ อีกหน่อยพอแก่มากกว่านี้ก็คงแสดงไม่ไหว หรือถึงแสดงไหวก็อาจไม่มีใครจ้าง ดังนั้นชีวิตหลังเกษียณคงไม่มีรายได้อะไร จะหวังพึ่งลูกหลานก็ยากดังที่ว่า
ถ้าเป็นในสังคมเกษตร เกษตรกรที่รู้จักวางแผนจะเตรียมแหล่งรายได้หลังเกษียณของตนด้วยการปลูกไม้ยืนต้นตั้งแต่ยังอยู่ในวัยแรงงาน เช่น ปลูกยางนา ประดู่ ฯลฯ ไร่หนึ่งปลูกได้ประมาณ 200 ต้น ไม้ยืนต้นเหล่านี้เมื่อมีอายุ 20 ปีขึ้นไปสามารถขายได้ถึงต้นละประมาณ 20,000 บาท ปลุกตอนหนุ่มสาว เมื่อถึงวัยชราก็ทยอยตัดขาย ปลูกไร่หนึ่งก็มีเงินหลังเกษียณได้แล้ว 4 ล้านบาท
แต่ถ้าอยู่ในสังคมเมืองอย่างลุงแมวน้ำ เป็นลูกจ้างคณะละครสัตว์ ไม่ได้ทำการเกษตร ไมได้รับราชการ และไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วจะมีบำนาญชีวิตได้อย่างไร นี่คือปัญหาแบบคนเมืองโดยทั่วไป คำตอบก็คือต้องสร้างเอาเอง
ปกติผู้ที่มีรายได้เกินพอจากการยังชีพหรือพูดง่ายๆว่าเหลือกินเหลือใช้นั้นการออมไม่ใช่เรื่องยาก แต่สำหรับผู้ที่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ หรือผู้ที่รายได้ไม่พอแก่การยังชีพนั้นเมื่อพูดถึงการออมดูจะเป็นเรื่องยาก หรือสำหรับบางคนอาจบอกว่าเป็นไปไม่ได้เอาเลยทีเดียว เหตุผลของการไม่ออมก็คือออมไม่ไหว แต่ละเดือนจะใช้จ่ายยังไม่พอถึงสิ้นเดือนเลย แล้วจะออมได้อย่างไร
ดังนั้นหากจะจำเป็นต้องออมแล้วพฤติกรรมของคนไทยมักออมเพื่อเหตุเจ็บป่วยหรือฉุกเฉินเป็นลำดับแรก ส่วนการออมเพื่อการเกษียณอายุนั้นเป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญในลำดับรองลงมา ทั้งนี้ อาจจะเนื่องจากเห็นว่ายังมีเวลาอีกมากก็เป็นได้
อย่างไรก็ดี ในผู้ที่พอจะออมไหวก็ยังมีปัญหาเกิดขึ้นอีกว่าผู้ออมมีกำลังในการออมไม่มาก แต่ละเดือนมีเงินเก็บไม่มาก ปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น
- เงินที่ออมได้ไม่รู้ว่าจะจัดสรรปันส่วนอย่างไรจึงจะเหมาะสม
- จะออมเพื่อการเจ็บป่วย ฉุกเฉิน ต้องเท่าไรจึงจะพอ
- หากออมเพื่อการเจ็บป่วย ฉุกเฉินยังมีเงินออมไม่มาก แล้วจะออมเพื่อเกษียณอายุได้อย่างไร ถึงจะออมจนแก่ก็ได้เพียงแค่เรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉินเท่านั้น คงไม่มีทางสร้างบำนาญหลังเกษียณได้
เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว โครงการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุหรือบำนาญสร้างเองของลุงแมวน้ำนั้น ลุงแมวคิดขึ้นมาเอง ใช้เงินออมทั้งสิ้นประมาณ 192,000 บาท โดยใช้เงินออมเริ่มแรกเพื่อการลงทุน 120,000 บาท หลังจากนั้นออมอีกเดือนละ 2,000 บาทเป็นเวลา 3 ปี เมื่อออมครบจำนวนแล้วก็ปล่อยให้เงินต้นนี้ทำงานต่อไป ต่อไปเมื่อเรามีเงินออมอีกเราก็สามารถทำโครงการออมเพื่อการอื่นได้อีก เช่น การออมเพื่อเหตุเจ็บป่วย ฉุกเฉิน การออมเพื่อแต่งงาน การออมเพื่อการศึกษาบุตร ฯลฯ
หลักการของลุงแมวน้ำก็คือทำการออมเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นโครงการการลงทุน ใช้เงินต้นก้อนหนึ่ง จากนั้นปล่อยให้เงินทำงานต่อไป เราไม่ต้องเติมเงินลงไปในกองทุนนั้นอีกแล้ว และเงินออมก้อนต่อๆไปที่ออมได้ก็สามารถนำมาทำเป็นทุนในโครงการอื่นๆได้อีก
สำหรับโครงการลงทุนนี้ผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์หรือว่าต่อยอดเอาเองได้ ยกตัวอย่างเช่น ลุงแมวน้ำยกโครงการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุมาเป็นตัวแบบ แต่ผู้อ่านสามารถนำไปดัดแปลงเป็นโครงการลงทุนเพื่อเหตุเจ็บป่วย ฉุกเฉินก็ได้ เป็นต้น
เมื่ออ่านถึงตอนนี้แล้ว หากยังงงๆ ลองติดตามอ่านต่อไปในวันถัดไป จะได้รู้รายละเอียดว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ลุงแมวน้ำจะเกษียณอายุอย่างสบายๆ ได้ด้วยเงินเพียงเกือบสองแสนบาท เรามาลองทำโครงการจริงด้วยกันและติดตามผลการลงทุนด้วยกันไปเลย
รูปแบบการออม
ในเมื่อเราต้องการออมเพื่อสร้างบำนาญของเราเองขึ้นมา ก่อนอื่นเราคงต้องมาดูกันก่อนว่ารูปแบบการออมนั้นมีอะไรให้เลือกได้บ้าง ลุงแมวน้ำลองยกมาดูพร้อมกับข้อด้อยของแต่ละวิธีการออมในแบบคร่าวๆ
- ใส่ตุ่มฝังดิน อาจโดนขุดหรือปลวกกินได้ ไม่มีดอกเบี้ย
- ฝากธนาคาร อัตราดอกเบี้ยต่ำ ยิ่งฝากเงินยิ่งหดเพราะว่าแพ้เงินเฟ้อ
- ลงทุนในตราสารการเงินต่างๆ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ ดอกเบี้ยดีกว่าฝากธนาคาร แต่อาจไม่ชนะเงินเฟ้อ รวมทั้งมีความเสี่ยง
- ลงทุนในตราสารการเงินในกลุ่มหุ้นสามัญ ฟิวเจอร์ส ออปชัน เป็นเหมือนการลงทุนทำธุรกิจ มีความเสี่ยงสูง ราคาหุ้นเป็นวัฏจักร มีขึ้นมีลง
- ซื้ออสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง มีสภาพคล่องต่ำ เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีอาจต้องเก็บนานมาก
- ซื้อสังหาริมทรัพย์ เช่น ทองคำ เพชร ราคามีวัฏจักร มีขึ้นมีลง
- ซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ อัตราดอกเบี้ยต่ำ
ราคา ทองคำมีขึ้นก็มีลง ไม่ได้มีแต่ขึ้นอย่างเดียว ใครที่ซื้อทองคำในปี 1979 ต้องเก็บทองเอาไว้นานเกือบ 30 ปีราคาจึงจะกลับมาอยู่ที่เดิม
หุ้น ก็มีขึ้นและมีลง อย่าคิดว่าเก็บเอาไว้สักสิบปีถึงอย่างไรก็กำไรแน่ๆ จากกราฟข้างบน หากซื้อหุ้นเมื่อปี 1980 แล้วขายในปี 1990 ก็มีกำไร แต่หากซื้อในปี 1990 แล้วขายในปี 2000 ก็ยังขาดทุน แม้จะเป็นหุ้นที่มีเงินปันผลก็ยังไม่แน่ว่ามีกำไร
รูปแบบการออมคงต้องเลือกให้เหมาะกับสภาพของบุคคล ผู้ที่มีรายได้เกินพอ เงินเก็บมากมาย ก็อาจเลือกวิธีการออมที่ไม่เน้นให้มีดอกผลงอกเงยก็ได้เพราะว่ามีเยอะอยู่ แล้ว การออมที่ดอกผลต่ำความเสี่ยงก็มักจะต่ำด้วย เงินต้นก็ปลอดภัยดี แต่สำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่มากนัก มีกำลังการออมที่จำกัด อาจเลือกวิธีการออมที่เน้นให้ดอกผลสูงเพราะต้องการให้เงินช่วยทำงานด้วย มิฉะนั้นจะออมไม่ถึงเป้า
ต้องออมเท่าไร ขึ้นกับว่าเกษียณแล้วต้องการรายได้เท่าไร และจะอยู่ไปอีกกี่ปี
การที่จะตอบคำถามว่าต้องออมเท่าไรและเลือกวิธีการออมอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับว่า ผู้ออมต้องการสร้างบำนาญหลังเกษียณเท่าไร ดังนั้นคำตอบจึงแทบจะเป็นเรื่องครอบจักรวาลเพราะว่าต่างคนก็ต่างความคิด ต่างความต้องการ ยากที่จะเหมือนกัน ดังนั้นจึงยากที่จะมีสูตรสำเร็จสำหรับใช้กับทุกๆคนได้ แต่ละคนจึงต้องนำแนวทางที่มีอยู่แล้วไปปรับเพื่อให้เข้ากับตนเอง
แต่เพื่อให้มองเห็นภาพบ้าง หนังสือหลายๆเล่มมีสูตรสำหรับรายได้หลังเกษียณว่าควรจะประมาณ 70% ของรายได้เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ แต่ก็มองเห็นภาพได้ยากเพราะว่าแต่ละคนรายได้ไม่เท่ากัน 70% ของบางคนอาจมากมาย และของบางคนอาจมีไม่มากนักก็ได้ อีกประการ สูตรนี้มักใช้กับผู้ที่มีเงินเดือนประจำ แต่สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระหรือรายได้ไม่แน่นอนก็ยากจะใช้ได้
ลุงแมวน้ำขอตอบคำถามข้อนี้โดยอิงจากภาระค่าใช้จ่ายน่าจะดีกว่า โดยเราลองมาประเมินกันคร่าวๆว่าผู้สูงอายุควรมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
- ค่าเช่าบ้าน ไม่น่าจะมี ถึงวัยนี้ควรมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองแล้ว มิฉะนั้นคงไม่สามารถออมเงินเพื่อสร้างบำนาญได้
- ค่าอาหาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ค่าเดินทาง พอๆกับก่อนเกษียณ อาจน้อยกว่าก็ได้ เพราะว่าเมื่อเกษียณแล้วอาจไม่ต้องแต่งตัวมากนัก
- ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ จำเป็นต้องมี ผู้สูงอายุควรมีประกันสุขภาพเอาไว้ แม้จะมีประกันสังคมอยู่แล้วก็ตาม
- ค่ายา ค่าแพทย์ ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพ ผู้สูงอายุมักมีปัญหาสุขภาพ บางส่วนอาจต้องออกเองเนื่องจากเบิกประกันไม่ได้
- ค่าใช้จ่ายสันทนาการ พักผ่อนหย่อนใจ ทำบุญ ฯลฯ อันเป็นการบำรุงรักษาสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ
- ค่า คนดูแล ค่าอุปกรณ์และวัสดุจำเป็นบางอย่าง กรณีที่ผู้สูงอายุสุขภาพไม่ดีจริงๆอาจต้องจ้างคนดูแลและอาจมีค่าใช้จ่ายสิ้น เปลืองเพิ่มเติมอื่นๆ
ลุงแมวน้ำคะเนเอาว่าภายในสิบปี ข้างหน้าค่าครองชีพในเมืองคงสูงกว่านี้มาก ดังนั้นผู้สูงอายุที่อยู่ในสังคมเมืองหากจะมีชีวิตตามสมควรก็น่าจะมีรายได้ เดือนละ 25,000 บาท โดยส่วนที่คาดการณ์ได้ยากคือค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพนั่นเอง
คำถามต่อมาก็คือ แล้วชีวิตหลังเกษียณจะอยู่ไปได้อีกสักกี่ปี จะได้คำนวณการออมถูก คำตอบก็คือไม่ทราบ เพราะว่าอายุขัยของแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่จากข้อมูลทางสถิติพบว่าอายุขัยเฉลี่ยของชายไทยอยู่ที่ 68 ปี และของหญิงไทยอยู่ที่ 75 ปี การออมก็ต้องเผื่อเอาไว้บ้าง เผื่อว่าผู้ออมจะมีอายุขัยเกินค่าเฉลี่ย เงินออมจะได้ไม่หมดเสียก่อน ดังนั้นลุงแมวน้ำคิดเอาง่ายๆว่าต้องเตรียมบำนาญเผื่อเอาไว้จนถึงอายุ 85 หรือเตรียมเอาไว้นาน 25 ปีหลังเกษียณก็แล้วกัน
สรุปว่าหากต้องการมี รายได้หลังเกษียณเดือนละ 25,000 บาท และอยู่ไปได้จนถึงอายุ 85 ปี จะต้องเตรียมเงินบำนาญเอาไว้ถึง 25,000 x (25 x 12) = 7,500,000 บาท (คิดแบบง่ายๆ ไม่คิดอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อใดๆ)
เจ็ดล้านห้าแสนบาท!
เนื่องจากลุงแมวน้ำต้องการมีเงินก้อน 7,500,000 บาท เพื่อสร้างบำนาญหลังการเกษียณอายุขึ้นมาเอง นอกจากนี้ลุงแมวน้ำยังมีความจำเป็นต้องเก็บออมเพื่อการอื่นอีก ดังนั้นลุงแมวน้ำจึงมีความคิดที่จะทำเป็นโครงการลงทุนเพื่อจัดทำกองทุนบำนาญ ของลุงแมวน้ำเอง ใช้เงินต้นจากการออมจำนวนหนึ่ง โดยให้กองทุนนี้สามารถเกิดดอกผลงอกงามต่อไปได้จนครบตามเป้า
ข้อกำหนดเบื้องต้น
เมื่อลุงแมวน้ำจะทำโครงการลงทุน คงต้องมีข้อกำหนดเบื้องต้นกันก่อน ข้อกำหนดเบื้องต้นของลุงแมวน้ำเป็นดังนี้
- ใช้ เงินออมในการตั้งโครงการลงทุน 192,000 บาท โดยเริ่มลงทุนเมื่อได้เงินครบ 120,000 บาท ที่เหลือทยอยออมเดือนละ 2,000 บาทอีกเป็นเวลา 3 ปี จนครบ 192,000 บาทในที่สุด
- ลงทุนในฟิวเจอร์สเป็นหลัก ใช้การเทรดตามแนวโน้มตลาดและเทรดอย่างเป็นระบบตามสัญญาณซื้อขายเมื่อสิ้นวัน (คือ eod trade ไม่ใช้ intraday trade)
- ในแต่ละปี เมื่อมีกำไรให้นำเงินกำไรมาลงทุนต่อ
- เป้าหมายของโครงการนี้คือกองทุนบำนาญขนาด 7,500,000 บาท
- ระยะเวลาของโครงการ 10-15 ปี
- อย่าหวังรวย อย่าหวังรวยจากโครงการลงทุนนี้ ขอให้มีทัศนคติในการทำโครงการเพียงเพื่อการยังชีพตามสมควรเท่านั้น
- เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการลงทุน การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ต้องตระหนักอยู่เสมอว่าเงิน 192,000 บาทนี้อาจขาดทุนและสูญเงินต้นไปจนหมดได้ ดังนั้นหากยังทำใจไม่ได้กับการสูญเงินจำนวนนี้ก็ยังไม่ควรเริ่มต้นโครงการ
นอกจากนี้ เพื่อลดความซับซ้อนและทำให้เข้าใจง่ายที่สุด ลุงแมวน้ำจึงทำโครงการบำนาญสำหรับตัวลุงแมวน้ำเองเท่านั้น ไม่ได้รวมบำนาญของป้าแมวน้ำเข้ามาด้วย แต่หากเข้าใจหลักการก็สามารถนำไปต่อยอดได้
การลงทุนและผลงานการลงทุน
เพื่อความสะดวกรวดเร็วและเพื่อไม่ให้ต้องคอยนาน ลุงแมวน้ำจะขอสมมติว่าเริ่มการลงทุนตั้งแต่ปี 2009 และมีการเตรียมการมาตั้งแต่ปี 2008 ดังนี้
ปี 2008 (พ.ศ. 2551)
เตรียมการลงทุนโดยจัดเตรียมเงินออม ศึกษาการเทรดนามแนวโน้มอย่างเป็นระบบ เปิดพอร์ตการลงทุนกับโบรกเกอร์ทั้งโบรกเกอร์หลักทรัพย์ (หุ้นและ Tfex) และโบรกเกอร์สินค้าเกษตร
การลงทุนในปีที่ 1 (ปี 2009 พ.ศ. 2552)
ปีนี้เป็นปีแรกของการลงทุน ลุงแมวน้ำใช้เงินในการลงทุนขั้นต้น 120,000 บาท ส่วนที่เหลือออมรายเดือน เดือนละ 2,000 บาท
เงิน 120,000 บาทจะนำมาใช้ลงทุนอย่างไร คำตอบก็คือเงินจำนวนนี้คือเงินจำนวนน้อยที่สุดที่จะเทรดฟิวเจอร์สได้นั่นเอง โดยในการเทรดฟิวเจอร์สนั้น ปี 2009 มีสินค้าอะไรให้เทรดได้บ้าง
- S50 ตลาด Tfex ใช้ IM (initial margin หรือมาร์จินตั้งต้น) 50,000 บาท
- RSS ยางพาราตลาด Afet ใช้ IM 20,000 บาท
- WBR ข้าวขาว กับ TC มันสำปะหลัง ตลาด Afet ปริมาณการซื้อขายแทบไม่มี จึงไม่นำมาพิจารณา
อาศัยสูตรการเตรียมเงินสำหรับเทรดฟิวเจอร์ส นั่นคือ 3.5 เท่าของ IM+MM หรือเขียนเป็นสมการได้ว่า
เงินที่ต้องเตรียม = 3.5 x (IM + MM)
ดังนั้นหากต้องการเทรด RSS ต้องเตรียมเงินไว้ = 3.5 x (20000+15000) = 122,500 บาท
และหากต้องการเทรด S50 ต้องเตรียมเงินไว้ = 3.5 x (50000 +35000) = 297,500 บาท
ลุงแมวน้ำจึงเลือกที่จะเทรดฟิวเจอร์สของยางพาราเนื่องจากเป็นฟิวเจอร์สที่ใช้เงินน้อยกว่า S50
ลุงแมวน้ำเข้าเทรดเมื่อเกิดสัญญาณซื้อครั้งแรกของยางพาราเมื่อวันที่ 13/03/2009 ที่ราคา 51 บาท ภาวการณ์ในขณะนั้นลุงแมวน้ำประเมินว่าอาจจะจบคลื่น A หรือไม่ก็คลื่น C ไปแล้ว หากจบคลื่น A เราก็กำลังอยู่ในคลื่น B และหากจบ C เราก็กำลังอยู่ในคลื่น 1 ซึ่งคลื่นขาขึ้นทั้งคู่อีกทั้งเป็นช่วงต้นลูกคลื่นเสียด้วย ดังกราฟต่อไปนี้
และเมื่อสิ้นปี ลุงแมวน้ำได้กำไรจากยางพารา 1 สัญญานั้นเป็นเงิน 156,435 บาท ดังรายงานสรุปเมื่อสิ้นปี 2009 ดังนี้
เท่ากับว่าขณะนี้กองทุนบำนาญสามารถทำรายได้เลี้ยงลุงแมวน้ำหลังเกษียณได้เดือนละ 1,001 บาทจนถึงอายุ 85 ปี
การลงทุนในปีที่ 2 (ปี 2010 พ.ศ. 2553)
เมี่อต้นปีที่สอง ลุงแมวน้ำมีทุนอยู่ในโครงการทั้งสิ้นเป็นเงิน 300,435 บาท โดยรวมจากเงินลงทุนต้นปี เงินกำไร และเงินออมที่เก็บในระหว่างปีนำมาสมทบ
ในปีที่สองนี้ลุงแมวน้ำจะลงทุนอย่างไรดี
เงินสามแสนบาทหากต้องการเทรด S50 ก็จะเทรดได้หนึ่งสัญญา โดยต้องเลิกเทรด RSS ไปเนื่องจากหากเทรดทั้ง S50 และ RSS เงินสำรองที่ต้องกันเอาไว้จะไม่พอ ดังนั้นลุงแมวน้ำจึงตัดสินใจเลือกเทรด RSS เพิ่มอีกหนึ่งสัญญาแทน โดยในปีนี้เท่ากับว่าลุงแมวน้ำเทรดยางพารา 2 สัญญา โดยยางพาราสัญญาที่สองนั้นเข้าเทรดเมื่อเปิดสัญญาณซื้อในวันที่ 5/02/2010 ที่ราคา 99 บาท
เทรดยางพารา 2 สัญญาต้องเตรียมเงินลงทุนประมาณ 240,000 บาท ดังนั้นลุงแมวน้ำจึงยังเหลือเงินทุนอยู่ 60,000 บาท จึงนำไปซื้อกองทุนน้ำมัน K-OIL เอาไว้ ดังที่เคยวิเคราะห์เอาไว้แล้วว่าในปีนี้น้ำมันน่าสนใจกว่าทองคำเพราะว่า น้ำมันยังอยู่ในคลื่น 3 ขณะที่ทองคำใกล้จบคลื่น 5 แล้ว
ผลการลงทุนในรอบปีที่สอง คำนวณ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ปรากฏผลกำไรขาดทุนเป็นดังนี้
ผลการลงทุนในรอบปีที่สอง คำนวณ ณ สิ้นเดือนมีนาคม ปรากฏผลกำไรขาดทุนเป็นดังนี้
ผลการลงทุนในรอบปีที่สอง คำนวณ ณ สิ้นเดือนเมษายน ปรากฏผลกำไรขาดทุนเป็นดังนี้
ผลการลงทุนในรอบปีที่สอง คำนวณ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม ทั้งยางและน้ำมันดิบราคาตก กองทุนน้ำมันเกิดสัญญาณขายซึ่งลุงแมวน้ำประเมินทิศทางของน้ำมันดิบแล้วจึงตัดสินใจขายไปเมื่อ 6 พ.ค. ปรากฏผลกำไรขาดทุนเป็นดังนี้
ผลการลงทุนในรอบปีที่สอง คำนวณ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน ยางพาราเกิดสัญญาณหลอกจึงทำให้ขาดทุนเพิ่ม และเดือนนี้ไม่ได้ถือกองทุนน้ำมันแล้ว ปรากฏผลกำไรขาดทุนเป็นดังนี้
ผลการลงทุนในรอบปีที่สอง คำนวณ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม ยางพาราเกิดสัญญาณหลอกถึง 2 ครั้งติดกัน รวมทั้งตกรถไปครั้งหนึ่ง ทำให้คืนกำไรไปโข ยอดขาดทุนสุทธิมากขึ้นกว่าเดือนที่แล้ว แต่ขณะนี้น่าจะตามแนวโน้มมาได้ถูกทางแล้ว และกองทุนสินค้าเกษตรเริ่มเห็นกำไรแล้ว ต่อไปผลขาดทุนสุทธิน่าจะเริ่มลดลงและทำกำไรได้ในที่สุด ปรากฏผลกำไรขาดทุน ณ สิ้นเดือนกรกฎาคมเป็นดังนี้
ผลการลงทุนในรอบปีที่สอง คำนวณ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม ยางพาราอยู่ในสภาพแนวโน้มขาขึ้นแล้ว ดังนั้นเมื่อมีแนวโน้ม การเทรดตามแนวโน้มจึงเริ่มให้ผลกำไรไปลดการขาดทุนสะสมลง และกองทุนสินค้าเกษตรเริ่มเห็นกำไรมากขึ้นแล้ว ปรากฏผลกำไรขาดทุน ณ สิ้นเดือนสิงหาคมเป็นดังนี้
ผลการลงทุนในรอบปีที่สอง คำนวณ ณ สิ้นเดือนกันยายน ยางพาราอยู่ในสภาพแนวโน้มขาขึ้นแล้วทำให้ตัดขาดทุนจากสัญญาณหลอกที่ผ่านมาได้จนหมดและเริ่มมีกำไรแล้ว กองทุนสินค้าเกษตรก็อยู่ในทิศทางขาขึ้น พอร์ตการลงทุนดูดีขึ้นกว่าเดือนที่แล้ว
ผลการลงทุนในรอบปีที่สอง คำนวณ ณ สิ้นเดือนตุลาคม พอร์ตการลงทุนได้กำไรจากยางพารามากขึ้น กองทุนสินค้าเกษตรก็อยู่ในทิศทางขาขึ้น พอร์ตการลงทุนตอนนี้สามารถสร้างบำนาญหลังเกษียณ 25 ปีได้ถึงเดือนละ 1,496 บาทแล้ว
ผลการลงทุนในรอบปีที่สอง คำนวณ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน เดือนนี้เป็นเดือนที่ลุงแมวน้ำจัดการอะไรต่ออะไรไปหลายอย่างเกี่ยวกับพอร์ตการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุนี้ ซึ่งลุงแมวน้ำจะขอแจกแจงดังนี้
- ราคายางปรับตัวสูงขึ้น สินค้าเกษตรในตลาดโลกก็มีราคาสูงขึ้น ทำให้พอร์ตการลงทุนมีกำไรเพิ่มมากขึ้น กำไรจากการเทรดฟิวเจอร์สยางพารากับกำไรจากกองทุน K-Agri รวมแล้วประมาณ 245,000 บาท
- เนื่องจากลุงแมวน้ำติดตามฟิวเจอร์ของ SET50 (SET50 furutres, S50) มาโดยตลอด เห็นว่าเกิดสัญญาณซื้อมาเป็นเวลานานหลายเดือนแล้ว จากการสังเกตคาดว่าอีกไม่นานอาจเกิดสัญญาณขาย รวมทั้งอาจกลับทิศแนวโน้มก็ได้ ประกอบกับกองทุนรวม K-Agri เกิดสัญญาณขายเมื่อวันที่ 16 พ.ย. ดังนั้นลุงแมวน้ำจึงขายกองทุน K-Agri ไปเมื่อวันที่ 17 พ.ย.
- กำไรจากยางพารา กำไรจาก K-Agri รวมทั้งเงินต้นที่ลงทุนใน K-Agri กับเงินออมรายเดือน ทั้ง 4 รายการนี้เป็นเงินรวมกันประมาณ 300,000 บาท เท่ากับว่าลุงแมวน้ำมีเงินพอที่จะเทรด S50 ได้แล้ว (การเทรด S50 ต้องเตรียมเงินเพื่อการเทรดเอาไว้เป็นจำนวน 3.5 เท่าของ IM+MM ซึ่งเป็นเงินประมาณ 300,000) บาท
- เมื่อวันที่ 26 พ.ย. S50 เกิดสัญญาณขาย ลุงแมวน้ำจึงเริ่มการลงทุนใน S50 ด้วยการเปิดสัญญาขาย S50 เอาไว้ที่ 685.80 จุด
- ขณะนี้ลุงแมวน้ำเทรดฟิวเจอร์สอยู่ 3 สัญญา คือยางพารา RSS3 2 สัญญา และ S50 1 สัญญา นั่นหมายความว่าลุงแมวน้ำต้องเตรียมเงินลงทุนเอาไว้ตามสูตร 3.5 เท่าของ IM+MM คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 542,500 บาท โดยเงินจำนวนนี้เป็นเงินที่สำรองเอาไว้เผื่อการขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นได้
- สืบเนื่องจากข้อ 5 แต่ในการเทรดจริงๆนั้นไม่ต้องนำเงินไปวางกับโบรกเกอร์หมดทั้งจำนวนนี้ เราสามารถวางเพียงส่วนหนึ่ง แล้วส่วนหนึ่งเราเก็บเอาไว้เอง หากขาดทุนมากจนเงินที่วางเอาไว้กับโบรกเกอร์ไม่เพียงพอจึงค่อยๆทยอยนำเงินทุนสำรองนี้เติมลงไป เงินส่วนหนึ่งที่เราเก็บเอาไว้เองนี้ปกติลุงแมวน้ำฝากเอาไว้ในบัญชีออมทรัพย์ แต่เนื่องจากบัญชีออมทรัพย์ได้ผลตอบแทนต่ำมาก หากพักเงินเอาไว้ในบัญชีออมทรัพย์แทบไม่ได้ผลตอบแทนอะไร ลุงแมวน้ำจึงจัดการเสียใหม่ โดยแบ่งเงินทุนสำรองในการเทรดฟิวเจอร์ส ออกมาครึ่งหนึ่ง แล้วนำมาพักไว้ในกองทุนรวมตราสารหนี้ซึ่งให้ดอกผลดีกว่าอัตราดอกเบี้ยบัญชีออมทรัพย์ การนำเงินสำรองในการเทรดไปพักไว้ในกองทุนรวมตราสารหนี้นั้นถือเป็นการพักเงิน ไม่ได้ถือเป็นการลงทุนเนื่องจากกองทุนตราสารหนี้มีความเสี่ยงต่ำกว่าหุ้นและฟิวเจอร์ส ลุงแมวน้ำเลือกพักเงินไว้ที่กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนเปิดกรุงศรีโทเทิลรีเทิร์นบอนด์ (Krungsri Total Return Bond Fund, KF-TRB) อันเป็นกองทุนรวมประเภทลงทุนในต่างประเทศ (FIF) เป็นจำนวนเงิน 275,000 บาท
- ลุงแมวน้ำแบ่งเงินกำไรส่วนหนึ่ง จำนวน 10,000 บาทไปซื้อ ปฏิทินสงเคราะห์สัตว์ - โครงการเพื่อนข้างถนน เพื่อเอาไว้แจกเด็กๆที่มาชมการแสดงของลุงแมวน้ำถือเป็นของขวัญปีใหม่ รวมทั้งได้ช่วยเหลือสุนัขและแมวจรจัดด้วยอันเป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขและแบ่งปันเพื่อช่วยเหลือชีวิตอื่นๆ ดังที่ลุงแมวน้ำเคยบอกเอาไว้ว่าเงินกำไรที่ได้มาจากการลงทุนในตลาดหุ้นหรือตลาดฟิวเจอร์สนั้นส่วนหนึ่งมาจากหยาดเหงื่อและน้ำตาของผู้อื่น ดังนั้นควรเทรดด้วยความเมตตา ควรรู้จักพอประมาณ รวมทั้งเมื่อได้มาแล้วควรมีการแบ่งปันด้วยจึงจะถือได้ว่าเป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกัน
ผลการลงทุนในเดือนธันวาคมนี้อันเป็นการสรุปการลงทุนสิ้นปี 2553 พอร์ตลงทุนของลุงแมวน้ำมีทรัพย์สิน 682,031 บาท โดยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอีก 381,596 บาท เมื่อเทียบกับตอนสิ้นปี 2552
ทรัพย์สินของกองทุนในขณะนี้สามารถใช้เป็นบำนาญหลังเกษียณได้เดือนละ 2,273 บาทเป็นเวลา 25 ปี เทียบกับเมื่อตอนเริ่มต้นโครงการเมื่อต้นปี 2009 ด้วยเงินลงทุน 120,000 บาท ซึ่งเท่ากับรายได้หลังเกษียณเดือนละ 400 บาทตลอด 25 ปี
การลงทุนในปีที่ 3 (ปี 2011 พ.ศ. 2554)
หลังจากการลงทุนผ่านไป 2 ปี พอร์ตลงทุนเพื่อการเกษียณอายุของลุงแมวน้ำก็เติบโตขึ้น มียอดยกมาจากปีที่แล้ว (ปี 2010, 2553) 682,031 บาท ลองมาติดตามการลงทุนในปีที่ 3 กันต่อไป
ในเดือนแรกของปีที่ 3 หรือว่าในเดือนที่ 25 ของการลงทุนนี้ พอร์ตการลงทุนได้กำไรจากราคายางพาราที่ทะยานขึ้นมาอีกประมาณสองแสนกว่าบาทบาท ส่วน S50 นั้นลุงแมวน้ำได้กำไรจากตลาดขาลง ทำให้การขาดทุนสะสมลดลง กองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนเอาไว้ก็กลับมามีกำไร
ลุงแมวน้ำแบ่งเงินส่วนหนึ่ง จำนวน 20,000 บาทมาใช้ในการทำหมันหมาจรจัดและแมวจรจัด ทำได้ประมาณ 20 กว่าตัว แม้ว่าการทำหมันหมาจรจัดและแมวจรจัดจะเป็นการแก้ปัญหาสัตว์จรจัดแบบกลางเหตุ (ต้นเหตุคือคนทิ้งสัตว์ และสัตว์จรจัดสืบพันธุ์โดยไร้การควบคุม ผลก็คือสัตว์จรจัดเพิ่มปริมาณมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาสัตว์จรจัดล้นเมือง โรคปัญหาพิษสุนัขบ้า และปัญหาสัตว์ทำร้ายคน รวมทั้งปัญหาอื่นๆตามมา) แต่ก็ยังพอช่วยได้บ้าง ส่วนใหญ่เป็นสุนัขจรจัดและแมวจรจัดตามสถานที่ก่อสร้าง
อาจมีบางคนตั้งข้อสงสัยว่า หากพอร์ตลงทุนมีค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการลงทุนจะไม่ทำให้ผลตอบแทนของกองทุนลดน้อยลงไปหรือ คำตอบก็คือลดลงไปบ้างจริง แต่ความคิดของลุงแมวน้ำก็คือเรื่องการแบ่งปันไม่จำเป็นต้องรอ ไม่ต้องรอให้รวยหรือไม่ต้องรอให้ได้กำไรมากๆเสียก่อนจึงค่อยแบ่งบันเนื่องจากความเดือดร้อนและความทุกข์นั้นไม่รอเวลา ความช่วยเหลือเพื่อแบ่งเบาความทุกข์ก็ไม่ควรรีรอเช่นกัน การให้เเป็นเหตุให้เกิดความสุขมากยิ่งกว่าการรับ ลุงแมวน้ำสร้างพอร์ตการลงทุนขึ้นมาเพื่อสะสมเงินเอาไว้เพื่อให้สบายกายในยามชรา แต่ถ้าพอร์ตการลงทุนนี้สามารถสร้างความสุขใจได้ในเวลาปัจจุบัน ก็ยิ่งน่าจะเป็นเรื่องดีขึ้นไปอีก ได้ทั้งสบายใจ ได้ทั้งสบายกาย ดังนั้นลุงแมวน้ำจึงมีความตั้งใจเอาไว้ว่าพอร์ตการลงทุนนี้จะมีค่าใช้จ่ายเพื่อการแบ่งปันบรรเทาทุกข์ได้ตามสมควร
สรุปแล้ว ณ สิ้นเดือน มกราคม 2553 ลุงแมวน้ำสามารถสร้างบำนาญเลี้ยงตูเองในยามชราได้แล้วเดือนละ 2,973 บาท
พอร์ตการลงทุนของโครงการนี้จะปรับปรุงยอดทุกสิ้นเดือนและนำมาโพสต์ในต้นเดือนถัดไป สามารถคลิกดูได้ที่เมนูด้านขวาใต้สารบัญ ดังภาพข้างล่างนี้