Wednesday, April 15, 2015

ธุรกิจเพื่อสังคม กองทุนสงเคราะห์ของลุงแมวน้ำ







บทความในวันนี้เขียนต่อจากเมื่อวาน ที่จริงน่าจะนับเป็นตอนที่ 3 แต่เนื่องจากอาจจะทำให้บทความดูยาวไป ไม่น่าอ่าน จึงขอตัดตอน เปลี่ยนหัวเรื่องเอาดื้อๆเลย แต่ที่จริงเนื้อหาก็ต่อเนื่องกันนั่นแหละ คือการอัปเดตผลงานในรอบปีที่ผ่านมาของลุงแมวน้ำ ^_^


การลงทุนในตลาดฮ่องกงของลุงแมวน้ำ


มาคุยกันเรื่องการลงทุนในตลาดฮ่องกงกันต่อ

ลุงแมวน้ำคิดว่าตลาดหุ้นฮ่องกงมีข้อดีหลายอย่าง อัตราแลกเปลี่ยนก็นิ่ง ตลาดหุ้นมีพีอีต่ำ หุ้นถูกๆยังมีอยู่มาก เพราะนักลงทุนจำนวนไม่น้อยที่กลัวว่าเศรษฐกิจจีนจะเกิดวิกฤตอันเนื่องจากจีนเร่งเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจต่อเนื่องกันมานานนับสิบปี ก็เกรงกันว่าเครื่องยนต์จะพัง ฟองสบู่ของภาคการเงินและตลาดอสังหาริมทรัพย์จะแตก ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงจึงร่วงติดต่อกันมาหลายปีแล้ว

แต่สำหรับประเด็นนี้ลุงไม่ค่อยกลัว เพราะเท่าที่ลุงติดตามเศรษฐกิจจีนมาหลายปี ลุงเห็นว่าฟื้นตัวได้และตลาดหุ้นจีนก็ส่งสัญญาณฟื้นตัวแล้ว ลุงจึงเข้าไปลงทุนในราวไตรมาสสามของปี 2014 ซึ่งตอนนั้นตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ในแผ่นดินใหญ่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว แต่ในขณะเดียวกันฮ่องกงเกิดความไม่สงบทางการเมือง กลุ่มคนหนุ่มสาวเรียกร้องสิทธิทางการเมือง ที่เรียกว่าเหตุการณ์ Occupy Central นั่นเอง ตอนนั้นตลาดหุ้นฮ่องกงได้รับผลกระทบไปไม่น้อย ดังนั้นไม่ได้ฟื้นตัวตามตลาดเซี่ยงไฮ้ แต่ก็ถือเป็นโอกาสดีสำหรับการลงทุนของลุง


เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง Occupy Central ในฮ่องกงเมื่อปี 2014

ตลาดหุ้นฮ่องกงยังมีข้อดีอีกหลายอย่าง เช่น ไม่เสียภาษีกำไรจากการขายหุ้น (capital gain tax) รวมทั้งเงินปันผลจากหุ้นที่ได้รับก็ไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายอีกด้วย ภาษีเหล่านี้เป็นต้นทุนของนักลงทุนทั้งสิ้น นอกจากนี้ข้อมูลราคาหุ้น งบการเงิน อัตราส่วนทางการเงิน รายละเอียดต่างๆสามารถหาดูได้ง่ายและเป็นภาษาอังกฤษด้วย (ในบางประเทศข้อมูลส่วนใหญ่เป็นภาษาท้องถิ่น)

ลุงแมวน้ำก็เข้าไปลงทุนในหุ้นกลุ่มบริษัทยาและไบโอเทค เนื่องจากจีนมีการปฏิรูประบบสาธารณสุข อีกทั้งชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หุ้นบริษัทยาของจีนเติบโตดี มีหุ้นถูกให้เลือกมากพอควร ก็เลือกซื้อไปหลายบริษัท ตอนที่สถานการณ์ทางการเมืองดุเดือด หุ้นฮ่องกงของลุงหล่นไป -20% แต่ลุงก็เฉยๆ ตอนนี้กลับมาทำกำไรแล้ว ได้ผลตอบแทนประมาณ 40%-50% ยังไม่ได้ขายเพราะคิดว่ายังไปต่อได้อีก แต่ถ้าขึ้นเยอะๆลุงก็ขายนะ เปลี่ยนไปตัวอื่นแทน ^_^

หุ้นกลุ่มยาและไบโอเทคของลุงหากเทียบกับหุ้นยอดนิยมอย่างเช่น CITIC Bank ลุงได้ผลตอบแทนดีกว่านิดหน่อย แต่หากไปเทียบกับ TENCENT ก็ยังสู้ tencent ไม่ได้ แต่ไม่เป็นไร ได้แค่ไหนก็แค่นั้นแหละ

นี่ก็คือการลงทุนในต่างแดนของลุงแมวน้ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตทั้งหมด การลงทุนหลักของลุงยังอยู่ในเมืองไทยเนื่องจากลุงเห็นว่ายังมีหุ้นไทยที่ดีราคาถูก มีโอกาสเติบโต ยังมีให้เลือกอยู่พอควร


กองทุนสงเคราะห์ของลุงแมวน้ำ


ทีนี้ก็มาถึงเรื่องสุดท้ายที่ลุงอยากจะเล่า ซึ่งเรื่องนี้มีความหมายกับลุงมากกว่าตัวเลขกำไรสวยๆจากตลาดหุ้นเสียอีก

เท้าความไปถึงเมื่อก่อน ลุงมีความฝันอยากทำธุรกิจเพื่อสังคมมานานแล้ว อยากทำธุรกิจที่มีส่วนช่วยพัฒนาสังคม และนำผลกำไรมาทำกองทุนเพื่อสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาส และก็มีโอกาสได้ทำธุรกิจเมื่อหลายปีมาแล้ว โดยทำควบคู่ไปกับงานหลักคือการแสดงละครสัตว์ แต่ก็เป็นงานเหนื่อยมาก การทำกิจการนั้นต้องทำงานกันเป็นทีม ก็ต้องมีพนักงาน แต่ปัจจุบันพนักงานหายากเหลือเกิน เมื่อเฟืองไม่ครบ เครื่องยนต์ก็เดินสะดุด กิจการงานก็ไม่ราบรื่น การตลาดก็สะดุด ผลตอบแทนก็ไม่ดี เมื่อผลตอบแทนไม่ค่อยดีก็ยิ่งไม่มีใครอยากทำงานด้วย ก็เป็นวงจรเช่นนี้ไปเรื่อย ผลก็คือทำแล้วก็เหนื่อยมาก เงินก็ไม่ค่อยได้ พอเหนื่อยก็ยิ่งคิดอะไรไม่ออก >.<

เมื่อกิจการไม่ค่อยดี เรื่องกองทุนสงเคราะห์ก็ขยายได้ยาก เรื่องกองทุนนั้นที่จริงลุงก็ทำมาเรื่อยๆตั้งแต่สมัยยังหนุ่มๆ แต่ว่าวงเงินของกองทุนมีจำกัด ลุงคิดว่าเมื่อทำธุรกิจเพื่อสังคมน่าจะได้มีส่วนช่วยขยายเงินกองทุนได้ แต่ก็ไม่เป็นดังที่คิด

ชีวิตก็ต้องดิ้นรนกันไป ไม่ได้ทางหนึ่งก็ต้องไปหาทางอื่น ในช่วงหลังกิจการเพื่อสังคมของลุงแมวน้ำจึงลดรูปลงมา ไม่ได้ทำธุรกิจอะไรเอง แต่กลายเป็นโฮลดิงคอมพานี (holding company) ที่มีลุงแมวน้ำเป็นเจ้าของแทน นี่พูดแบบฟังหรูๆ พูดง่ายๆก็คือแทนที่ลุงจะทำธุรกิจจริงๆซึ่งต้องการทีมงานจำนวนมาก ลุงก็เลิก และหันมาขยายการลงทุนตลาดหุ้นแทน ไม่มีทีมงานอะไร ลุงก็ทำของลุงไปเรื่อย เหนื่อยก็พัก ไม่ต้องทำบัญชี กำไรจากการขายหุ้นไม่ต้องเสียภาษี อีกทั้งยังไปเอาเครดิตภาษีมาอีก ชีวิตก็เหนื่อยน้อยลงนิดหน่อย แค่น้อยลงนิดหน่อยนะ ไม่ได้มาก เพราะต้องบริหารกองทุนสงเคราะห์

ที่จริงการทำงานเป็นทีมเป็นเรื่องที่ดีและควรฝึกกันไว้ให้ทำให้ได้ เพราะโลกในปัจจุบันเราจะทำอะไรแบบหัวเดียวกระเทียมลีบจะโตไม่ได้ แต่ลุงพบข้อจำกัดหาทีมงานได้ยากก็จนใจ นี่เป็นการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดเฉพาะตัวของลุง แต่ก็ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง

ลุงเล่าเท้าความเรื่องเก่าๆไปไกลหน่อยเพื่อปูพื้น เกรงว่าจะงงกัน สรุปว่าในปี 2014 ลุงแมวน้ำสร้างผลตอบแทนในตลาดหุ้นไทยได้ดีกว่าความคาดหมาย ในวิกฤตก็มีโอกาส ตอนนี้กองทุนสงเคราะห์ของลุงขยายตัวเป็นระดับเลขเจ็ดหลักต่อปี ลุงสงเคราะห์ผู้พิการ ให้ทุนการศึกษาเยาวชน ช่วยเหลือสัตว์จรจัด ทำหมันสัตว์จรจัดเพื่อตัดวงจรการขยายพันธุ์ ก็ทำเท่าที่มีแรงทำไหว แต่ดูเหมือนว่าชีวิตที่รอความช่วยเหลือมีมากเหลือเกิน ก็อยากทำให้ได้ดีกว่านี้อีกสักหน่อย


ทั้งหมดนี้ก็เป็นการอัปเดตในรอบปีที่ผ่านมา เขียนโน่นเขียนนี่ คุยกันวันหยุด เมื่อตลาดเปิดแล้ว เราก็มาคุยเรื่องการลงทุนกันต่อคร้าบ

Tuesday, April 14, 2015

สุขสันต์วันสงกรานต์ เข้าสู่ปีที่ 7 การลงทุนของลุงแมวน้ำ (2)



ลุงแมวน้ำโกอินเตอร์ ลงทุนในต่างประเทศ


ลุงแมวน้ำออกไปลงทุนในต่างประเทศตั้งแต่ปี 2013 เรียกได้ว่าเป็นรุ่นแรกๆที่ออกไปตามลงทุนตามระบบ ต้องขอขยายความเรื่องนี้สักหน่อยเมื่อก่อนหน้านี้การลงทุนในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือฟิวเจอร์สค่อนข้างยุ่งยาก คือเราต้องไปเปิดพอร์ต (เปิดบัญชีซื้อขาย) กับโบรกเกอร์ในต่างประเทศเอง และต้องโอนเงินในการเทรดตามกฎกติกาของโบรกเกอร์นั้น ซึ่งโบรกเกอร์ในต่างประเทศนั้นมีมากมาย ด้านความน่าเชื่อถือของโบรกเกอร์เป็นเรื่องที่ผู้ลงทุนต้องรับความเสี่ยงเอาเอง

ต่อมาเมื่อ ธปท ผ่อนคลายกฎเรื่องการนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้ง กลต ได้อนุญาตให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนในต่างประเทศได้โดยผ่านโบรกเกอร์ไทย ทำให้นักลงทุนรายย่อยสามารถลงทุนซื้อหุ้นหรือฟิวเจอร์สได้โดยผ่านทางโบกรกเกอร์ไทย ทำให้การลงทุนสะดวกและอุ่นใจขึ้นมาก เพราะโบรกเกอร์ไทยนั้น กลต ควบคุมอยู่ ไม่ต้องกลัวโดนโกง เมื่อระบบต่างๆพร้อม ลุงแมวน้ำจึงออกไปลงทุนบ้าง


ไปตลาดอเมริกาเพื่อโยงไปสู่การลงทุนตลาดชายขอบ (Frontier Market)


ตลาดหุ้นต่างประเทศแห่งแรกที่ลุงออกไปลงทุนก็คือตลาดหุ้นอเมริกา เหตุที่ไปตลาดอเมริกาเพราะที่นั่นมีอีทีเอฟ (อีทีเอฟคือกองทุนรวมที่ซื้อขายได้บนกระดานหุ้นเสมือนหุ้นตัวหนึ่ง) ธีมต่างๆให้เลือกมากมายกว่าหนึ่งพันอีทีเอฟทีเดียว ลุงสนใจลงทุนในประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ (emerging market) กับตลาดชายขอบ (frontier market) ซึ่่งอีทีเอฟในตลาดหุ้นอเมริกานี้น่าจะสามารถตอบโจทย์การลงทุนของลุงได้

ขออธิบายเกี่ยวกับตลาดเกิดใหม่และตลาดชายขอบสักหน่อย ตลาดเกิดใหม่ก็คือตลาดหุ้นในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น จีน อินเดีย ไทย เกาหลีใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฯลฯ ส่วนตลาดชายขอบนั้นเป็นตลาดที่เกิดมาหลังจากตลาดเกิดใหม่เสียอีก ดังนั้นจึงมีระดับขั้นของการพัฒนาน้อยกว่าตลาดเกิดใหม่ แต่ก็มีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก มีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าตลาดเกิดใหม่ ตัวอย่างของตลาดชายขอบ เช่น เวียดนาม กัมพูชา เมียนมาร์ บังคลาเทศ ปากีสถาน อาร์เจนตินา ไนจีเรีย เคนยา มอรอกโค ฯลฯ

ลุงก็ไปลงทุนในตลาดหุ้นอเมริกาโดยซื้ออีทีเอฟเวียดนาม (VNM) อินโดนีเซีย (EIDO) และตลาดชายขอบ (FM) เริ่มลงทุนประมาณปลายปี 2013 หรือต้นปี 2014 ประมาณนี้แหละ อีทีเอฟเหล่านี้ซื้อขายเป็นเงินดอลลาร์ สรอ แต่ตัวกองทุนอีทีเอฟเองไปลงทุนประเทศใดก็ใช้เงินสกุลท้องถิ่นนั้นแล้วรับรู้ผลกำไรขาดทุนโดยแปลงเป็นสกุลดอลลาร์ สรอ อีกที

ผลการลงทุนเป็นไงน่ะหรือ ลุงจะเล่าให้ฟัง


ดัชนีตลาดหุ้นเวียดนาม (VNINDEX สีส้ม) เทียบกับอีทีเอฟ VNM (สีเขียว) ช่วงที่ลุงแมวน้ำลงทุนนั้นตลาดไร้ทิศทาง รออยู่นานก็ไม่ไปไหน อีกทั้งยังขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน

ดูที่ตลาดหุ้นเวียดนามก่อน ตอนที่ลุงลงทุนใน VNM นั้นดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 400 กว่า ถึง 500 กว่าจุด วนเวียนอยู่แถวนั้น และหลังจากนั้นก็ยังวนเวียนอยู่แถวนั้นไม่ไปไหน อีกทั้งเงินด่องของเวียดนามอ่อนค่า ดังนั้นแม้ดัชนีจะขึ้นแต่หากคำนวณผลจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วยแล้วก็ไม่คุ้ม ลุงแมวน้ำลงทุนอยู่ประมาณ 3 ไตรมาสก็เห็นว่าสู้กับปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนไม่ไหว จึงขายอีทีเอฟ VNM ออกไป โดยขาดทุนนิดหน่อย



ดัชนีตลาดหุ้นอินโดนีเซีย (Jakarta composite index สีส้ม) และอีทีเอฟ EIDO (สีเขียว) ช่วงที่ลุงแมวน้ำลงทุนตลาดเป็นขาขึ้นแต่ได้ผลตอบแทนน้อยเนื่องจากผลของอัตราแลกเปลี่ยน

มาดูตลาดหุ้นอินโดนีเซียกัน ตอนที่ลุงเข้าลงทุนใน EIDO นั้นตลาดหุ้นอินโดนีเซียเป็นขาขึ้นตลอด ถือว่าเป็นจังหวะที่ดี แต่ก็อีกนั่นแหละ เสียเปรียบเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนไปพอควร เนื่องจากเงินรูเปียะค่อนข้างผันผวน ถืออยู่ราวสามไตรมาส สุดท้ายก็คิดว่าขายดีกว่า ได้กำไรมาพอควร ดูเหมือนจะเกือบ 10% ดัชนีขึ้นเยอะแต่ผลตอบแทนไม่เป็นไปตามดัชนีเพราะอัตราแลกเปลี่ยน


อีทีเอฟ FM ตัวโปรดของลุงแมวน้ำ เริ่มแรกก็สร้างผลตอบแทนที่ดี แต่สุดท้ายลืมดูไพักหนึ่ง เจอสงครามราคาน้ำมันดิบและอีโบลาระบาด หนีแทบไม่ทัน >.<

ตัวสุดท้าย อีทีเอฟตลาดเกิดใหม่ FM ตัวนี้เป็นตัวที่ลุงชอบมาก ไตรมาสเดียวก็ขึ้นไปราวๆ 20% แล้ว ตัวนี้ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเพราะลงทุนในหลายประเทศและหลายสกุลเงิน ในทางทฤษฎีถือว่าเป็น natural hedged คือความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนหักล้างกันเองจนเกือบหมด

ความผิดพลาดประการสำคัญของการลงทุนในต่างประเทศของลุงไม่ใช่เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เพราะเรื่องนั้นรู้อยู่แล้วว่าต้องเจอ แต่เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยดูแล คือลุงอัปเดตราคาไม่ค่อยบ่อยนัก บางทียุ่งๆก็เว้นไม่ได้ดูไปหลายสัปดาห์

ในราวกลางปี 2014 ประมาณช่วงเดือนกันยายน ตุลาคม แถวนั้นแหละ ที่ราคาน้ำมันดิบเริ่มดิ่งอย่างรวดเร็วเพราะโอเปกเริ่มสงครามตัดราคาน้ำมันดิบ และนอกจากนี้ ทางแอฟริกาหลายประเทศก็มีเชื้ออีโบลาระบาดเสียด้วย ทีนี้ FM ของลุงนี่มีทั้งคูเวต แอฟริกา อะไรต่ออะไรเต็มไปหมด ได้รับผลกระทบไปเยอะทีเดียว เพียงสองเดือน ราคา FM ก็ดิ่งอย่างรวดเร็ว ลุงเปิดจอมาดูอีกทีกำไรหายไปหมด เห็นท่าไม่ดีก็รีบขายออกไป

สรุปรวมงานนี้ได้แค่เท่าทุน กำไรนิดเดียวถือว่าเท่าทุนก็แล้วกัน นี่ยังไม่รวมผลจากเงินบาทอ่อนค่าในช่วงนั้น เพราะการรับรู้กำไรของลุงต้องแปลงดอลลาร์ สรอ เป็นบาทอีกทอดหนึ่ง ซึ่งลุงก็ป้องกันความเสี่ยงเอาไว้ด้วยการซื้อดอลลาร์ฟิวเจอร์ส นี่ว่ากันตามทฤษฎีเลย ซึ่งเท่าที่เล่ามานี้จะเห็นว่าเวลาทำงานจริงๆก็เรื่องเยอะหลายขั้นตอนอยู่ ทำเอาลุงมึนเหมือนกัน >.<

การลงทุนในต่างแดนของลุงก็ได้ผจญภัยหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนี่เป็นเรื่องสำคัญมาก

หลังจากอีทีเอฟชุดนี้แล้ว ลุงก็ยังให้ความสนใจในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ตลาดชายขอบ รวมทั้งตลาดฟื้นไข้อันได้แก่ญี่ปุ่นกับยุโรปอีกด้วย เพราะตลาดเหล่านี้เป็นโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่งดงาม แต่การลงทุนในตลาดเหล่านี้ล้วนแต่ต้องระมัดระวังอัตราแลกเปลี่ยนทั้งสิ้น

ตลาดยุโรปลงทุนเป็นเงินยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนตัวมาก หากจะลงทุนต้องป้องกันความเสี่ยงเงินยูโร

ตลาดญี่ปุ่นลงทุนเป็นเงินเยน  ค่าเงินเยนอ่อนตัวมากเช่นกัน หากจะลงทุนต้องป้องกันความเสี่ยงเงินเยน

ดังนั้นจะเห็นว่าหากเป็นนักลงทุนส่วนบุคคล เราคงลงทุนหลายตลาดหลายสกุลเงินไม่ไหวหรอก ลุงก็คิดว่าตนเองดูแลไม่ไหว ดังนั้นต้องเลือกการลงทุนเพียงสกุลเงินเดียวจะสะดวกในการดูแลมากกว่า

ถ้าเช่นนั้นจะลงทุนในตลาดไหนดีละที่สร้างผลตอบแทนได้ดี อีกทั้งปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนน้อย???


มุ่งสู่ตลาดฮ่องกง


พิจารณาดูแล้วตลาดหุ้นฮ่องกงนี่แหละตอบโจทย์ที่สุด ลุงคิดว่าดีกว่าตลาดอเมริกาเสียอีก เพราะในช่วงปีที่แล้วตลาดหุ้นจีนฟื้นตัวแล้ว ส่วนตลาดฮ่องกงยังไร้ทิศทางอยู่ คือโมเมนตัมมาทางตลาดหุ้นจีนกันหมด ไม่ค่อยมีใครสนใจตลาดหุ้นฮ่องกง ทั้งๆที่ตลาดหุ้นฮ่องกงนั้นถูกแสนถูก อีกทั้งหุ้นที่เป็นดูอัลลิสต์ (dual list คือหุ้นที่จดทะเบียนทั้งในตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นฮ่องกง) พวกหุ้นที่จดทะเบียนสองตลาดนี้ หุ้นที่เทรดในตลาดหุ้นจีน (ที่เรียกว่า A-share) มีราคาแพงกว่าหุ้นเดียวกันที่จดในตลาดฮ่องกง (ที่เรียกว่า H-share) พูดง่ายๆคือหุ้น H-share ถูกกว่า A-share ทั้งๆที่เป็นหุ้นเดียวกัน H-share บางตัวถูกกว่า A-share ถึง 30% หรือ 40% ก็มี ในทางทฤษฎี ในที่สุดราคาของสองตลาดนี้จะลู่เข้าหากัน แปลว่าสักวันหนึ่งราคาหุ้น H-share จะวิ่งขึ้นไปหาราคาหุ้น A-share


ปี 2014 ตลาดหุ้นจีน (สีส้ม) เป็นขาขึ้น ส่วนตลาดหุ้นฮ่องกง (เส้นสีเขียว) ไม่ไปไหน ในทางทฤษฎี สักวันตลาดฮ่องกงจะต้องขึ้นตามตลาดหุ้นจีน

และนอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฮ่องตรึงกับเงินดอลลาร์ สรอ อัตราแลกเปลี่ยนนิ่งมาก หมดกังวลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนได้เลย ดูแลแค่ด้าน บาท-ดอลลาร์ สรอ เพียงขาเดียวเท่านั้น

ลุงก็จัดแจงแปลงเงินดอลลาร์ สรอ เป็นดอลลาร์ ฮ่องกงแล้วเข้าลงทุนในตลาดหุ้นฮ่องกงโดยไม่รอช้า ^_^


Monday, April 13, 2015

สุขสันต์วันสงกรานต์ เข้าสู่ปีที่ 7 การลงทุนของลุงแมวน้ำ (1)




เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก พริบตาเดียวก็ผ่านไป 6 ปี  ลุงแมวน้ำเริ่มทำเว็บบล็อกนี้มาตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ของปี 2009 มาจนถึงวันนี้ สงกรานต์ 2015 เวลาได้เวียนมาบรรจบครบ 6 ปีแล้ว นับว่าเป็นเวลาที่นานพอดูทีเดียว... นานจนลุงแมวน้ำเองก็นึกไม่ถึงว่าจะทำเว็บบล็อกด้านการลงทุนได้นานขนาดนี้ ^_^

เดิมทีลุงแมวน้ำคิดจะทำเล่นๆ ทำเพราะอยากทำ อยากบอกอยากเล่าเรื่องการลงทุนในมุมมองของลุงแมวน้ำ ทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น เหนื่อยก็จะเลิก แต่ตลอดเวลา 6 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าบางช่วงจะเหนื่อย จะล้า คิดเลิกทำอยู่หลายครั้งเหมือนกัน แต่ในที่สุดก็ไม่ได้เลิกทำ จึงได้ทำมาจนมาถึงทุกวันนี้

พูดเรื่องแฟนคลับของลุงแมวน้ำกันสักนิด แฟนคลับตามสถิติของเฟซบุ๊ก ณ ตอนนี้มีอยู่ 3,145 คน ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศไทย ผู้อ่านที่ติดตามอ่านจากต่างประเทศก็มีบ้างจากหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อังกฤษ แคนาดา สวีเดน เยอรมนี เม็กซิโก บราซิล ตุรกี บางประเทศลุงก็นึกไม่ถึงเหมือนกันว่ามาอ่านได้ยังไงเนี่ย ส่วนแฟนคลับที่อยู่ในย่านนี้ก็มี สปป ลาว สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น กัมพูชา เมียนมาร์ ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ฯลฯ

ผู้อ่านที่ติดตามอ่านบทความของลุงนั้นเป็นชายราว 60% และเป็นหญิง 40% โดยมีกลุ่มอายุกระจายกันไป เรียกว่าแฟนคลับของลุงแมวน้ำมีทุกเพศทุกวัย ก็แน่ละ ขวัญใจมหาชนก็ต้องแบบนี้ ^_^

แต่ที่น่าสังเกตคือกลุ่มอายุ 45 ปีขึ้นไปนั้นมีราว 15%-20% ของแฟนคลับทั้งหมดทีเดียว รุ่นบูมเมอร์กับเจนเอ็กซ์มีพอสมควร และที่น่าสังเกตอีกเรื่องก็คือ นี่ขนาดลุงชอบเล่าเรื่องเก่าๆแก่ๆก็ยังมีแฟนคลับหนุ่มสาวอ่านอยู่ไม่น้อย แสดงว่าหนุ่มๆสาวๆก็ยังไม่เบื่อลุงกัน (มั้ง) นี่แหละที่เป็นกำลังใจให้ลุงเขียนอะไรต่ออะไรออกมาเรื่อยๆ

แนวทางการเขียนของลุงแมวน้ำนั้นเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ธีมการเขียนขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าในแต่ละปีมีเรื่องใดที่น่าสนใจ ปรับปรุงรูปโฉมเว็บบล็อกมาก็หลายครั้งเพื่อไม่ให้จำเจ การตกแต่งบ้าน (เว็บบล็อก) ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ก็เพิ่งทำไปเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้คงยังใช้เช่นนี้อยู่เพราะดูไปแล้วก็ยังดีอยู่

ส่วนธีมการลงทุนที่ลุงยึดเมื่อปีที่แล้วเป็นแนวทางการลงทุนแบบองค์รวม คือชีวิตกับการลงทุนเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่ได้มีแต่เพียงเรื่องราวเกี่ยวกับการลงทุนเท่านั้น แต่ลุงแมวน้ำยังเขียนเรื่องราวอื่นๆที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิต การมองชีวิต ในทัศนะของลุงแมวน้ำให้อ่านกันด้วย

ด้านการลงทุนนั้นลุงแมวน้ำจับประเด็นที่หุ้น กองทุนรวม กับอีทีเอฟ โดยเน้นที่หุ้นมากหน่อย รวมทั้งยังใช้ธีมโกอินเตอร์ คือพาพวกเราออกไปดูลงทุนในต่างประเทศด้วย แต่ก็ยังเขียนเรื่องการลงทุนต่างประเทศไม่มากนัก

นั่นก็เป็นเรื่องราวที่ผ่านมาและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

สำหรับก้าวต่อไปในปีที่ 7 นี้ถือเป็นการพลิกโฉมของบล็อกลุงแมวน้ำอีกครั้งหนึ่ง เพราะแนวโน้มการลงทุนในโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและรวดเร็ว... การเปลี่ยนแปลงนั้นมากมายและรวดเร็วจนลุงแมวน้ำเองก็นึกไม่ถึง จะมีอะไรใหม่ๆมาให้อ่านและลงทุนกันบ้าง เรามาดูกัน


ธีมปีที่ 7 ทะยานสู่พรมแดนใหม่


ธีมการลงทุนในปีที่ 7 นี้ลุงแมวน้ำใช้หัวข้อว่า "ทะยานสู่พรมแดนใหม่" หรือ Toward a New Frontier ซึ่งที่จริงลุงแมวน้ำก็เริ่มเขียนมาบ้างแล้ว โดยเริ่มเขียนบทความในชุดนี้ตั้งแต่เมื่อต้นปี 2015 เนื่องจากวิถีชีวิตในยุคเทคโนโลยีก้าวกระโดดนี้เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก รวมทั้งสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากเช่นเดียวกัน ประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ มีการแก้ปัญหาแบบนอกตำราเศรษฐศาสตร์ด้วยนำเงินในอนาคตมาใช้ในปัจจุบันอย่างมากมายในรูปแบบที่เราเรียกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน

เดิมทีมีชาติที่ทำคิวอีเป็นล่ำเป็นสันอยู่ชาติเดียวคือสหรัฐอเมริกา แต่ต่อมาญี่ปุ่นและเขตเศรษฐกิจยูโรโซนก็ทำบ้าง ทำให้เงินตราที่ล้นโลกอยู่แล้วล้นมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดโอกาสและความเสี่ยงในรูปแบบใหม่ที่ในอดีตไม่เคยเผชิญมาก่อน ดังนั้นอนาคตนับจากนี้จึงยากคาดเดา เปรียบเสมือนกับว่าเราก้าวเข้าสู่พรมแดนใหม่ สู่ขอบเขตที่เราไม่เคยไปถึงมาก่อน มันอาจเป็นน่านน้ำอันอุดมสมบูรณ์ แต่ก็อาจแฝงภยันตรายที่เราไม่เคยเผชิญมาก่อน... ดังนั้น ลุงแมวน้ำจึงนำธีมนี้มานำเสนอ พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันในปีที่ 7 นี้

และปีนี้ลุงจะคุยเรื่องการลงทุนในต่างประเทศให้มากขึ้น เนื่องจากโลกในยุคปัจจุบันเชื่อมโยงถึงกันใกล้ชิดเข้าไปทุกที เราคงไม่สามารถปิดตัวเองอยู่แต่การลงทุนในท้องถิ่นได้ รวมทั้งในภาคเศรษฐกิจจริงก็เช่นเดียวกัน โลกทุกวันนี้แทบจะไร้พรมแดนอยู่แล้ว สินค้า เงินทุน แรงงาน เคลื่อนย้ายไปได้โดยสะดวก การแข่งขันในรูปแบบใหม่ๆเกิดขึ้น ด้วยกฎกติกาของโลกยุคใหม่ทำให้ธุรกิจท้องถิ่นต้องแข่งขันกับธุรกิจข้ามชาติด้วย ไม่ว่าเราจะอยากแข่งหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าเราจะพร้อมแข่งหรือไม่ก็ตาม นี่เป็นเรื่องที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้

ลุงแมวน้ำได้นำเสนอบทความในชุด ทะยานสู่พรมแดนใหม่ ไปบ้างแล้ว หลายคนอาจสังเกตพบว่าบทความชุดนี้พลิกโฉมไปจากเดิมมาก ทั้งแนวคิดและวิธีการ มีการนำแนวคิดทางด้านการวิเคราะห์ทางเทคนิคมาผสมกับปัจจัยพื้นฐาน (เช่นในเรื่องหุ้นพีอีสูง หุ้นพีอีต่ำ) มีการเชื่อมโยงแนวคิดจากกฎธรรมชาติมาสู่แนวคิดในการลงทุน (เช่น เรื่องวัฏจักรชีวิตและวัฏจักรเศรษฐกิจ หมู่เกาะกาลาปาโกสกับทฤษฎีวิวัฒนาการ) เพราะโลกในยุคใหม่ไม่เหมือนเดิม ดังนั้นเราอาจใช้วิธีคิดแบบเดิมไม่ได้แล้ว จำเป็นต้องมีมุมมองใหม่ๆบ้าง

ในวันถัดไป เรามาคุยกันต่อ ลุงแมวน้ำจะอัปเดตการลงทุนของลุงแมวน้ำในรอบปีที่ผ่านมาให้ฟัง ทั้งการลงทุนในไทยและการลงทุนในต่างประเทศ ลุงตระเวนลงทุนในหลายประเทศแต่ยังไม่เคยเล่า กับโครงการทำธุรกิจเพื่อสังคม กองทุนสงเคราะห์ชีวิตที่ด้อยโอกาสของลุงแมวน้ำคร้าบ


Sunday, April 12, 2015

ตลาดกระทิงกำลังมา (2)


ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ (ทองคำ น้ำมันดิบ สินค้าเกษตร) ฟื้นตัว


วันนี้ลุงแมวน้ำเกี่ยวกับสัญญาณบางประการในกคลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ มีภาพมาฝากหลายภาพเช่นเคย เรามาดูกันทีละภาพ



ภาพแรก กราฟอีทีเอฟน้ำมัน (กราฟ DBO) กราฟนี้เป็นตัวแทนราคาน้ำมันดิบ ปกติลุงมักแสดงราคาน้ำมันดิบด้วยกราฟฟิวเจอร์สน้ำมันไนเม็กซ์ตลาดนิวยอร์ก  แต่วันนี้นำกราฟ DBO อันเป็นอีทีเอฟมาให้ดูแทนเนื่องจากต้องการให้สังเกตปริมาณซื้อขาย ดูกราฟนี้จะเห็นได้ชัดดี

จากกราฟ DBO เราจะเห็นว่าเมื่อน้ำมันดิบ WTI ร่วงมาอยู่ที่ 44 ดอล ในวันที่ 18 มีนาคม 2115 ราคาอีทีเอฟร่วงลงมาและเกิดแรงรับซื้อในปริมาณมาก ดูแท่งปริมาณซื้อขายจะเห้นว่าแรงซื้อโดดเด่น (volume spike) ขึ้นมา และหลังจากนั้นราคาก็ไม่ลงต่อ ทำให้เกิดเป็นรูปแบบท้องคลื่นคู่ (bouble bottom) สองกรณีนี้ประกอบกันบ่งชี้ว่าแนวรับทางจิตวิทยาที่ระดับนี้แข็งแรงมาก หากไม่มีเหตุการณ์พิเศษอื่นๆ ก็คาดว่าตรงนี้อาจเป็นจุดกลับแนวโน้มขาขึ้น

หากราคาน้ำมันดิบกลับเป็นขาขึ้นจริง WTI อาจไปได้ถึง 60-70 ดอลลาร์จากโมเมนตัมของแรงเก็งกำไร น่าจะทำให้ช่วงครึ่งหลังของปีมีอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี จะเป็นกลุ่มที่ดันดัชนี และแน่นอน ป้าเจนคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดกลางปีนี้หรือปลายปี แต่ลุงคิดว่าขึ้นก็ดี ไม่ขึ้นก็ได้ ไม่ค่อยมีผลอะไรแล้ว



ต่อมาดูที่กราฟ DBA อันเป็นอีทีเอฟสินค้าเกษตร จะเห็นว่าในวันที่ 18 มีนาคม วันเดียวกับที่น้ำมันดิบเด้ง ราคาอีทีเอฟสินค้าเกษตรก็เด้ง และมีปริมาณซื้อขายพุ่งพรวด (volume spike) ทำนองเดียวกับน้ำมันดิบ แสดงว่าระดับราคาแถวนี้เป็นแนวรับทางจิตวิทยาที่สำคัญมาก และเป็นไปได้ว่าราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกจะฟื้นตัวขึ้นและกลับเป็นแนวโน้มขาขึ้นแล้ว

หากสินค้าเกษตรในตลาดโลกขึ้น (ส่วนใหญ่เป็นพวกถั่วเหลือง ข้าวโพด ข้าวสาลี โกโก้ กาแฟ น้ำตาล ฝ้าย ฯลฯ) โมเมนตัมนี้มาจากราคาน้ำมันดิบ ก็จะช่วยให้ราคาพืชผลเกษตรโดยรวมดีขึ้น ราคายางพารา น้ำมันปาล์ม น่าจะดีขึ้น จะดีมากหรือน้อยก็ตาม แต่น่าจะทำให้เกษตรกรไทยหายใจได้คล่องขึ้น ยกเว้นข้าว ลุงไม่ค่อยแน่ใจนัก เพราะแข่งขันราคากันหนัก >.<



ทีนี้ก็มาดูราคาทองคำ ดูกราฟ GC ผลจากดอลลาร์ สรอ อ่อนค่าทำให้ราคาทองคำขึ้น แต่เท่าที่ลุงสังเกต ราคาทองคำปรับตัวแรงกว่าการอ่อนค่าของดอลลาร์ แปลว่ามีแรงเก็งกำไรเข้ามาในทองคำค่อนข้างเยอะ

ประกอบกับตอนนี้เงินคิวอีล้นโลก เงินดอลลาร์ สรอ ที่ทำคิวอียังไม่ได้เก็บกลับ ยังหมุนเวียนอยู่ในตลาด เงินคิวอีญี่ปุ่นกับยูโรไหลเพิ่มเข้ามาในตลาด แต่ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น เก็งกำไรได้จำกัดแล้ว ดังนั้น แรงเก็งกำไรส่วนหนึ่งจึงย้ายมาในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์เพราะตกต่ำมาหลายปีแล้ว อาจเป็นการเก็งกำไรในช่วงเพียงไม่กี่เดือน แต่การขึ้นก็มีกรอบการขึ้นที่จำกัด เช่น น้ำมันดิบคงไม่เกิน 70 ดอล ทองคำคงไม่เกิน 1340 ดอล แต่เงินไม่มีที่ไปน่ะ ดังนั้นตลาดไหนพอมีช่องทางให้เก็งกำไรได้เงินก็จะไหลไป

ดังนั้นลุงแมวน้ำมองว่าตลาดกระทิงน่าจะมาแล้ว เร็วกว่าที่คิดสองสามเดือน กระจายไปทั้งตลาดหุ้นในตลาดเกิดใหม่เอเชียกับสินค้าโภคภัณฑ์ ตลาดหุ้นไทยและเศรษฐกิจไทยจะได้อานิสงส์ไปด้วย ส่วนตลาดหุ้นอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น คงขึ้นได้นิดหน่อย ไม่แรงเท่าเอเชีย ติดแนวต้านบ้างอะไรบ้างก็ย่อตัวลงไปแล้วขึ้นต่อ


ดัชนีเซ็ต SET Index อาจเห็น 1700 จุดในปี 2015



สำหรับตลาดหุ้นไทย ดูกราฟ SET หากเป็นไปตามสมมติฐานข้างบนนี้ ดัชนีคงไปที่ 1700 จุดได้ในปีนี้ แต่ลุงแมวน้ำไม่ได้มองแค่นั้น ลุงแมวน้ำตีตั๋วนั่งรถไฟสาย 2000 อยู่ ยังไม่เปลี่ยน ภายในสองสามปีคงเห็น ^_^

ลองติดตามดูกันนะคร้าบ อีกไม่นานสภาพความจริงจะยืนยัน

ตลาดกระทิงกำลังมา (1)


เมื่อวานวันจันทร์ 6 เมษายน เป็นวันที่ตลาดหุ้นทั่วโลกอลเวงอีกวันหนึ่ง

เรื่องก็คือเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเป็นวันศุกร์ประเสริฐ Good Friday ของทางคริสต์ศาสนา อันเป็นวันที่พระเยซูถูกตรึงกางเขน และหลังจากนั้นในวันที่สามคือวันอาทิตย์ก็เป็นวันฟื้นคืนพระชนม์ ซึ่งก็คือวันอีสเตอร์ที่มีไข่หลากสีสดสวยนั่นเอง

วันศุกร์ประเสริฐเป็นวันหยุด ตลาดทำการนิดเดียวและปิดก่อนเวลาปกติ แต่ที่สำคัญก็คือมีการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของอเมริกาด้วย ซึ่งตัวเลขที่ออกมานั้นไม่ค่อยดีนัก คือการจ้างงานใหม่ลดลง แต่ตลาดตอบสนองไม่ทันเนื่องจากวันศกร์ปิดเร็ว ก็มาป่วนเอาในวันจันทร์ ค่าเงินดอลลาร์ สรอ ดิ่งแรง เพราะนักลงทุนเก็งกันว่าเฟดคงยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย ขณะเดียวกันตลาดหุ้นอเมริกาก็ดิ่งด้วย นี่ก็แปลก เนื่องจากปกติหากเงินดอลลาร์อ่อน ตลาดหุ้นอเมริกาจะขึ้น

จากนั้นตลาดหุ้นอเมริกาคงตั้งหลักได้แล้ว ว่าเงินดอลลาร์่อ่อนตลาดควรขึ้น ตลาดหุ้นจึงกลับมาเขียวขจี ^_^

เท่านั้นไม่พอ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก ก็ให้สัมภาษณ์ว่า ตัวเลขการจ้างงานที่ดูไม่ค่อยดีนั้นต้องไปดูในรายละเอียดก่อนว่าตัวเลขนั้นที่มาเป็นอย่างไร อาจไม่มีนัยสำคัญก็ได้ คือเป็นภาวการณ์ชั่วคราว ไม่ได้หมายความว่าตลาดแรงงานอ่อนแอ (แปลว่าเรื่องกำหนดการขึ้นดอกเบี้ยเฟดอาจไม่เปลี่ยนก็ได้) เท่านั้นเองเงินดอลลาร์ก็แข็งค่าทันใด

นี่เล่าให้ฟังสนุกๆ ว่าตลาดหุ้นกับตลาดเงินตรา รวมทั้งทองคำ อลเวงเพียงใด หากติดตามตลาดระยะสั้นเวียนหัวแย่ จับทางไม่ถูก ดังนั้นเราต้องจับหลักให้มั่น มองด้วยสายตาที่ยาวไกลออกไป


สัญญาณที่ขัดแย้ง หากเงินกำลังไหลกลับสหรัฐอเมริกา ทำไมตลาดหุ้นอเมริกาจึงยังไม่ขึ้น




เรามาดูภาพนี้กัน GSPC ภาพนี้เป็นดัชนี S&P 500 ของตลาดหุ้นอเมริกา ลุงแมวน้ำอยากให้สังเกตว่าตั้งแต่ต้นปี 2015 ตลาดอเมริกาเป็นตลาดไร้ทิศทาง เกิดกรอบสามเหลี่ยมชายธง 2 ครั้ง และตอนนี้ก็กำลังเดินอยู่ในปลายสามเหลี่ยมชายธง ตั้งแต่ต้นปีจนถึงตอนนี้ ตลาดหุ้นอเมริกาเปลี่ยนแปลงไปเพียง +0.39%

คำถามของลุงแมวน้ำก็คือ ก็ในเมื่อเฟดกำลังจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็เขาว่ากันว่าเงินทั่วโลกจะไหลกลับอเมริกา ถ้าเงินไหลกลับก็ต้องไปเข้าตลาดหุ้นบ้าง แต่ทำไมตลาดไม่ขึ้น




เอาละ มาดูภาพต่อมากัน ภาพ DX อันเป็นภาพค่าเงินดอลลาร์ สรอ จะเห็นว่าในช่วงเดือนมีนาคม ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวเป็นแนวโน้มขาลง คำถามก็คือ ยิ่งใกล้เวลาที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย เงินไหลกลับเข้าประเทศ แต่ทำไมค่าเงินกลับอ่อนตัวลง



ทีนี้มาดูภาพต่อมาอีกภาพหนึ่ง กราฟ TNX ภาพนี้เป็นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน อายุ 10 ปี US 10 year government bond yield เดือนมีนาคมบอนด์ยีลด์เป็นขาลง แปลว่ามีแรงซื้อเข้ามาในตลาดพันธบัตร (ตลาดพันธบัตรเป็นตลาดกระทิงนั่นเอง) คำถามก็คือ เมื่อเฟดใกล้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ตลาดพันธบัตรควรเกิดแรงขาย และบอนด์ยีลด์ควรปรับตัวสูงขึ้น แต่ทำไมตลาดมีแรงซื้อ

ทั้งตลาดหุ้น ค่าเงิน และตลาดพันธบัตรอเมริกา นี่คือสัญญาณจากตลาดที่แย้งกับการขึ้นดอกเบี้ยของป้าเจน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ???


เมื่อเงินไหลออกจากเอเชีย ทำไมตลาดหุ้นเกิดใหม่ของเอเชียจึงขึ้น


เอาละ ทีนี้มาดูภาพใหญ่ภาพนี้กัน




ภาพนี้เปรียบเทียบตลาดหุ้นหลายตลาด โดยเทียบตั้งแต่ปีใหม่มาจนปัจจุบัน จะเห็นว่าตลาดอเมริกาทรงตัว แทบไม่ไปไหน +0.39% ส่วนไทย อินโด อินเดีย เกาะกลุ่มกัน บวกไปราวๆ 3% ถึง 6% ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เกาะกลุ่มกัน บวกไปราว 11% ถึง 12%
ส่วนจีนกับเยอรมนีบวกไปราว 20%

แต่ลองสังเกตดูดีๆจะเห็นว่าตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมเป็นต้นมา ตลาดหุ้นญี่ปุ่นกับเยอรมนีชะงักไปเลย ขณะเดียวกันตลาดหุ้นฝั่งเอเชียเริ่มก่อแนวโน้มขาขึ้น (ยกเว้นจีนที่ขึ้นโลดมาเป็นเดือนแล้ว)

อธิบายได้ว่าค่าเงินดอลลาร์ สรอ เป็นเหตุ เดิมทีค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า ทำให้เงินยูโรกับเยนอ่อนลง (หรือจะพูดว่ายูโรกับญี่ปุ่นปั๊มเงินคิวอีออกมาทำให้เงินยูโรกับเยนอ่อน และดอลลาร์แข็ง จะพูดยังงั้นก็ได้) เศรษฐกิจญี่ปุ่นกับยุโรปดีขึ้นเพราะส่งออกได้ดี ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เยอรมนี จึงขึ้น

แต่เมื่อดอลลาร์แข็งค่าเกินไป กลับเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจอเมริกา ตลาดหุ้นเซเนื่องจากเงินแข็งทำให้แนวโน้มผลประกอบการลดลง เมื่อตลาดหุ้นไม่ไป เงินก็ไม่รู้จะไปไหน ก็ออกจากอเมริกาไปหาผลตอบแทนที่อื่น ทำให้เงินดอลอ่อนตัวลงบ้าง เมื่อเงินดอลอ่อนตัวลง เงินเยน ยูโรก็แข็งค่าขึ้น เป็นผลเสียต่อตลาดหุ้นทั้งสอง ตลาดหุ้นญี่ปุ่นกับยุโรปจึงไปต่อได้ยาก ตรงนี้แหละที่ตลาดใหญ่ต่างๆกำลังหาจุดสมดุลอยู่ ซึ่งเราคุยกันไปแล้วในเรื่อง dynamic equilibrium หรือดุลยภาพแบบพลวัตร

สรุปว่าเงินดอล ยูโร เยน และตลาดหุ้นทั้งสามกำลังหาดุลยภาพอยู่ ถามว่าถ้าอย่างนั้นเงินจะไปไหนดี เรามาดูภาพนี้กัน


ตลาดกระทิงกำลังเยือนเอเชีย




ภาพแผนที่โลกนี้เป็นคาดการณ์ของไอเอมเอฟเมื่อมกราคม 2015 คาดการณ์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ จะเห็นว่าตลาดเกิดใหม่เอเชียโดดเด่นที่สุด เงินไม่มาแถวนี้แล้วจะไปที่ไหน อีกทั้งย่านนี้ค่อนข้างร่มเย็นด้วย ไม่ค่อยมีไฟสงครามหรือการก่อการร้าย

และนี่เองที่ในช่วงเดือนมีนาคมนี้ตลาดหุ้นแถวๆนี้ค่อยๆก่อแนวโน้มขาขึ้น ตอนนี้ลุงว่าต้องมองเลยเหตุการณ์เฟดขึ้นดอกเบี้ยไปดีกว่า ขึ้นก็ดี ไม่ขึ้นก็ได้ ยังไงเงินก็ต้องมาแถวนี้เนื่องจากเศรษฐกิจโดดเด่นกว่า

ลุงแมวน้ำคาดว่าจากนี้ไป ตลาดหุ้นแถวบ้านเราจะเป็นแนวโน้มขาขึ้น มาเร็วกว่าที่คิด เดิมว่าจะมาไตรมาสสาม ลุงขอแจงเป็นข้อดังนี้

1. ตลาดหุ้นกับอเมริกาคงแกว่งในกรอบ เป็นไหนไม่ได้มาก เงินนอกเข้าไปแสวงหากำไรจากอเมริกายากแล้วเนื่องจากเหตุผลข้างต้น

2. เงินคิวอียูโรน่าจะเกิดจุดต่ำสุดไปแล้ว ต่อไปจะแกว่งในกรอบ เงินยูโรเข้าตลาดหุ้นเยอรมนีบางส่วน เข้าอเมริกาซื้อพันธบัตรบางส่วน เข้าเอเชียบางส่วน ซื้อทั้งหุ้นและพันธบัตร กระจายกันไป

3. เงินเยนคิวอีญี่ปุ่น น่าจะเกิดจุดต่ำสุดไปแล้ว ต่อไปจะแกว่งในกรอบ เงินเยนเข้าตลาดหุ้นญี่ปุ่นบางส่วน เข้าอเมริกาซื้อพันธบัตรบางส่วน เข้าเอเชียบางส่วน ซื้อทั้งหุ้นและพันธบัตร กระจายกันไป

4. ตลาดหุ้นในย่านนี้ไปต่อได้ รวมทั้งไทย เงินบาทน่าจะแข็งค่าได้อีกหน่อย

5. ที่สำคัญ เงินต้นทุนต่ำทั้งดอล ยูโร เยน น่าจะไหลเข้าไปเก็งกำไรในตลาดโภคภัณฑ์ สังเกตจากรูปแบบกราฟของทองคำและน้ำมันดิบที่เคลื่อนไหวค่อนข้างแรง

6. เงินดอลลาร์จะอ่อนตัวลงได้อีกนิดหน่อย แต่คงไม่หลุด 90 จุด (USD index น่าจะอยู่ในกรอบ 90-104 จุด) ทองคำคงไปต่อได้แต่ไม่น่าเกิน 1340 ดอล

7. น้ำมันดิบน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว หุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรจะเป็นกลุ่มดันดัชนีในตอนต้นของตลาดขาขึ้น