“เรื่องมันเป็นอย่างนี้ กระต่ายน้อยค่อยๆฟังลุงเล่าไปก่อน” ลุงแมวน้ำพูด “ในปี 2532 กำหนดให้มีการทำอีไอเอของโครงการเขื่อนแม่วงก์ หลังจากนั้นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็รับไปดำเนินการ กว่าจะทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) และแผนแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIMP) แล้วเสร็จก็ปาเข้าไปปี 2537 โน่น ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะว่าโครงการขนาดใหญ่แบบนี้ผลกระทบซับซ้อนมาก การศึกษาและประเมินผลกระทบต้องลงพื้นที่ ใช้เวลาในการเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ ประเมิน นานนับปีอยู่แล้ว เมื่อกรมชลประทานที่เป็นเจ้าของเรื่องได้รับรายงานมา ก็ส่งให้ คชก พิจารณา”
“โอ๊ย ตัวละครชักเยอะ” ยีราฟเริ่มบ่น ทำปากยู่ยี่ “จำยากจัง แล้ว คชก เป็นใครกันอีกละคะลุง”
“คชก ย่อมาจาก คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ” ลุงแมวน้ำตอบ
“เอ๊ะ อีไอเอ ต้องผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินี่ลุง แล้ว คชก นี่มาจากไหนกัน” ลิงจ๋อก็งงด้วย
“คือยังงี้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินี้เป็นคณะกรรมการระดับชาติ มีหน้าที่ในการพิจารณาอนุมัติอีไอเอจริงๆ แต่ว่าในเชิงโครงสร้างการทำงานแล้ว คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเปรียบเสมือนหัวหรือว่าศีรษะ มีหน้าที่คิดและตัดสินใจ แต่ว่าคนเรามีแต่หัวไม่ได้ ต้องมีมือไม้แขนขา ดังนั้นกฎหมายจึงกำหนดให้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานแขนขา ที่คอยชงเรื่อง กลั่นกรองเรื่อง ให้แก่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยที่ สผ นี้มีคณะกรรมการในสังกัดอยู่หลายคณะที่มีความชำนาญแตกต่างกันไปในแต่ละสาขา
“คชก หรือคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ก็เป็นคณะผู้ชำนาญในสังกัดของ สผ ที่คอยช่วยชงเรื่องในด้านโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ คณะกรรมการอื่นๆก็เอาไว้คอยชงเรื่องในด้านอื่นๆ เช่น คณะกรรมการผู้ชํานาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโรงไฟฟ้าพลังความร้อน คณะกรรมการผู้ชํานาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านเหมืองแร่ และอุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่ เป็นต้น” ลุงแมวน้ำตอบ
“โอ๊ย ฉันละมึน ตัวละครและชื่อย่อเยอะจัง จะจำไหวไหมเนี่ย ความจำไม่ค่อยดีอยู่ด้วย” ยีราฟบ่น
“ทีแม่ยีราฟดูซีรีสซ์เกาหลี ชื่อยากๆ ยาวๆ ยังจำได้ เห็นจ้องทีวีตาแป๋ว ไม่บ่นสักคำ” ลิงจ๋อเหน็บแนม
“วุ้ย ดันเห็นอีก” ยีราฟสาวหัวเราะกิ๊ก
“ก็นี่แหละ เรื่องราวมันยาวเป็นมหากาพย์ อีกทั้งมีรายละเอียดมาก ดังนั้นคนทั่วไปพอเริ่มติดตามข่าวหน่อยก็จะมึนแล้ว ก็เลยละความสนใจไปเลย แต่ที่จริงเรื่องนี้มีผลกระทบต่อพวกเราทุกคน ไม่ว่าเราจะอยู่ นครสวรรค์ กรุงเทพฯ สงขลา หรือจังหวัดอื่นๆก็ตาม ดังนั้นลุงจึงพยายามไปช้าๆ อธิบายง่ายๆ ไล่เรียงไปตามลำดับไงล่ะ” ลุงแมวน้ำพยายามวกเข้าเรื่อง
“เอ้า ต่อเลยลุง” ลิงจ๋อเร่ง “กรมชลประทานเสนอรายงานอีไอเอให้ คชก พิจารณา แล้วไงต่อ”
“กรมชลประทานเสนอรายงานอีไอเอให้ คชก พิจารณาในปี 2537 ในปีเดียวกันนั้นเอง คชก ก็พิจารณาและแจ้งต่อกรมชลประทานว่ารายงานผลกระทบนี้ยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ ให้ไปศึกษาเพิ่มเติมมาอีก โดยให้ศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบสิ่งแวดล้อมบริเวณเขาชนกันด้วยเนื่องจากในการศึกษาความเหมาะสมของโครงการพบว่าที่ตั้งโครงการบริเวณเขาชนกันจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าบริเวณเขาสบกก กรมชลประทานก็ไปว่าจ้างปริษัทเอกชนให้ทำการศึกษาเพิ่มเติม หลังจากนั้นก็ส่งเรื่องให้ คชก อีก
“ต่อมาในปี 2541 โครงการเขื่อนแม่วงก์ก็เข้าที่ประชุมของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก. วล.) โดยคณะกรรมการยังไม่เห็นชอบกับอีไอเอในตอนนั้น และมีมติให้ไปศึกษาเพิ่มเติมอีกในหลายประเด็น โดยเฉพาะปัจจัยที่มีผลกระทบต่อนิเวศวิทยา การประเมินต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม กับ... อันนี้นี่สำคัญมากนะ ฟังข้อความต่อไปนี้ให้ดี
“มติของ กก.วล. มีต่อไปอีกว่า ให้กรมชลประทานไปวิเคราะห์ต้นทุนโครงการเขื่อนแม่วงก์ ทั้งกรณีตั้งที่เขาสบกก และกรณีที่ตั้งที่เขาชนกัน เปรียบเทียบกับต้นทุนในการสร้างฝายและที่เก็บกักน้ำแบบอื่นๆ แทนการสร้างเขื่อน
“นอกจากนี้ กก. วล. ยังมีมติให้ทำประชาพิจารณ์โครงการเขื่อนแม่วงก์ด้วย แล้วนำมาเสนอ กก. วล. เพื่อพิจารณาอีก”
“ฟังแล้วจ้ะ แล้วยังไง” ยีราฟสงสัย
“จำเอาไว้ก่อน แล้วฟังลุงเล่าต่อ” ลองแมวน้ำพูด “ต่อมา ปี 2543 กรมชลประทานก็ไปทำประชาพิจารณ์มา การทำประชาพิจารณ์นั้นจัดที่กรุงเทพฯที่เอง มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วม 8100 คน แต่ว่ามาร่วมประชาพิจารณ์จริงเพียง 564 คน ไหงน้อยยังงี้ก็ไม่รู้ เมื่อทำประชาพิจารณ์แล้วเสร็จ ก็รวบรวมผล ส่งให้ สผ เพื่อเอาเข้าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมต่อไป
“ต่อมา ปี 2545 ผลการศึกษาเพิ่มเติมก็ถูกนำเข้าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ กก. วล. ก็ยังไม่เห็นชอบกับอีไอเออยู่ดี เพราะว่ากรมชลประทานวิเคราะห์เปรียบเทียบเฉพาะกรณีที่ตั้งเขื่อนที่เขาสบกก กับที่เขาชนกัน เพียงสองแห่งเท่านั้น
“กก. วล. ให้กรมชลประทานหาทางเลือกของที่ตั้งโครงการ และศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องการบริหารการจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบในลักษณะบูรณาการ ก็ให้การบ้านแก่กรมชลประทานไปทำมาอีก
“ในปี 2547 ก็มีการส่งอีไอเอให้ สผ เพื่อยื่นเข้า กก. วล. อีก ในครั้งนี้ สผ ซึ่งเป็นผู้ชงเรื่องเข้าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ทวงติงกรมชลประทานไปว่า ข้อมูลที่นำเสนอมาเป็นข้อมูลเดิมๆ การบ้านที่ว่าให้ศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องการบริหารการจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบในลักษณะบูรณาการ ก็ยังไม่ได้ตอบมา มีแค่การเปรียบเทียบการสร้างเขื่อนที่เขาสบกกกับที่เขาชนกันเท่านั้น
“ต่อมา ในปีเดียวกันนั้นเอง เรื่องก็เข้า กก.วล. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็ยังไม่ให้ความเห็นชอบอีไอเอของเขื่อนแม่วงก์อีก โดยครั้งนี้ กก. วล. ก็ย้ำการบ้านไปอีกสองข้อ คือ ข้อแรก ให้กรมชลประทานประสานการดำเนินการวางแผนบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำแม่วงก์ ให้สอดคล้องกับแผนการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำสะแกกรังของคณะอนุกรรมการลุ่มน้ำสะแกกรัง เพื่อหาข้อยุติในการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบในลักษณะบูรณาการ โดยพิจารณาให้มีผลกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ตลอดจนความขัดแย้งกับราษฎรน้อยที่สุด
“การบ้านข้อสองก็คือ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำวิธีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงกลยุทธ์ (SEA: Strategic Environmental Assessment) มาใช้ในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย
“นี่คือการบ้านในปี 2547 ต่อมา ปี 2550 กรมชลประทานก็ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้ทำการศึกษา SEA”
“โห มหากาพย์จริงๆ ลากยาวมานับสิบปีเลย” ยีราฟสาวให้ความเห็นพร้อมกับทำน้ำลายหยดแหมะลงบนหัวกระต่ายน้อย ลุงแมวน้ำกับลิงจ๋อรีบถอยห่างจากยีราฟเพื่อตั้งหลัก
“ยัง ยังไม่จบเท่านี้” ลุงแมวน้ำพูด “จะเห็นว่าโครงการนี้ลากยาวจริงๆ ที่เมื่อกี้ลุงบอกว่าให้ฟังห้ดี ก็คือลุงอยากให้สังเกตว่า ความล่าช้าในการพิจารณาอีไอเอส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าทางต้นเรื่อง คือกรมชลประทานทำการศึกษาผลกระทบมาไม่เรียบร้อย และเมื่อให้ทำการบ้านเพิ่มเติมไปก็ยังทำไม่เรียบร้อยอีก ดังนั้นเมื่อเข้า กก. วล. คณะกรรมการจึงยังไม่ให้ความเห็นชอบ
การที่ผลการศึกษาหรือว่าอีไอเอถูกตีกลับตั้งหลายรอบ ทั้งที่ คชก ทักท้วงในชั้นต้น และที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติทักท้วง สะท้อนว่าโครงการนี้ต้องมีปัญหาอะไรสักอย่างแน่ แต่กรมชลประทานก็พยายามอย่างยิ่งที่จะเข็นเรื่องนี้ให้ผ่านให้ได้
“ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 เกิดมหาอุทกภัยในที่ราบภาคกลาง สร้างความเสียหายครอบคลุมพื้นที่ 39 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพฯด้วย ความเสียหายเกิดขึ้นทั้งพื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่เกษตร และพื้นที่อยู่อาศัย ลุงแมวน้ำยังต้องแบกกระสอบทรายจนปวดพุงปวดหลัง หลังจากน้ำลด ในปี 2555 รัฐบาลก็ทำโครงการเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท หรือว่าสามแสนห้าหมื่นล้านบาท เพื่อบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ 39 จังหวัด โดยกรรมวิธีการสร้างโครงการนั้นไม่ได้ทำมาจากแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ แต่ว่าเป็นการรวมเอาโครงการเขื่อนและโครงการบริหารจัดการน้ำต่างๆที่มีโครงการอยู่แล้ว มามัดรวมกันเป็นฟ่อน รวม 9 ฟ่อนหรือว่า 9 โมดูล แต่ละฟ่อนนั้นก็ประกอบด้วยโครงการย่อยหลายโครงการ
“ส่วนโครงการเขื่อนแม่วงก์นั้นถูกมัดรวมอยู่ในฟ่อนที่เรียกว่าโมดูล A1 และเขื่อนแม่วงก์เป็นโครงการรุ่นแรกของของโครงการเงินกู้เพื่อบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านนั่นเอง”