Monday, September 21, 2015

จีนบนเส้นทางการปฏิรูปเศรษฐกิจ ติดหล่มหรือตั้งหลัก (4)



โจวหย่งคัง หนึ่งในคณะกรรมการประจำกรมการเมืองหรือโปลิตบูโรซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้นำทรงอำนาจสูงสุดของจีน ถูกศาลตัดสินจำคตลอดชีวิตในคดีทุจริต ถือเป็นการกวาดล้างการทุจริตในผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

การปฏิรูปเศรษฐกิจและการปราบปรามคอร์รัปชัน


หลังจากที่สีจิ้นผิงก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสูงสุด โดยดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ในปลายปี 2012 (2555) และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี พร้อมกับตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการทหารส่วนกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในตอนต้นปี 2013 (2556) เท่ากับกุมอำนาจด้านการปกครอง การทหาร และการเมือง เป็นการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง โดยผู้นำมีอำนาจสิทธิ์ขาดมาก สามารถควบคุม ลิดรอน สิทธิเสรีภาพ ของประชาชน ถือเป็นโมเดลการปกครองที่สวนกระแสโลกประชาธิปไตยแบบทุนนิยมการตลาดนำในปัจจุบัน

ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงก็ดำเนินการปฏิรูปประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม พร้อมกับการปราปรามการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างจริงจัง

สำหรับการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจนั้นเครอบคลุมแทบจะทุกด้าน เป็นการปรับปรุงและแก้ไขโครงสร้างทางเศรษฐกิจเดิมที่เน้นการลงทุนและการส่งออกอย่างมากจนทำให้เศรษฐกิจขาดเสถียรภาพ มาเป็นเศรษฐกิจที่ลดความร้อนแรงลงแต่ทำให้สามารถเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคงในระยะยาว

ทางด้านการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันนั้น มีการกวาดล้างผู้ทุจริตระดับหัวขบวนอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่ง เกษียณอายุไปแล้ว หรือแม้แต่เกษียณและไปอยู่ต่างประเทศแล้ว ก็ยังตามไปเช็คบิล เฉพาะในปี 2014 มีการดำเนินคดีไปแล้วหลายหมื่นคดี และเป็นรายใหญ่ระดับกรมหรือระดับมณฑลหลายสิบราย กรณีที่โด่งดังมากคือกรณีโจวหย่งคัง ซึ่งเป็นอดีตกรรมการประจำกรมการเมืองและเลขาธิการสำนักการเมืองและกฎหมายกลาง ซึ่งมีอิทธิพลมากระดับใหญ่คับพรรคคอมมิวนิสต์และและมีอิทธิพลคับประเทศเลยทีเดียว แต่สีจิ้นผิงก็สั่งให้ดำเนินคดีพร้อมญาติและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเฉียบขาด นอกจากนี้ก็ยังมีคดีดังระดับผู้นำอีกหลายคดี



หลิวฮั่น เศรษฐีเหมือนแร่ ถูกตั้งข้อกล่าวหาถึง 15 ข้อ ทั้งฆาตกรรม อาชญากรรมทางการเงิน การเปิดบ่อนการพนัน การค้าอาวุธปืนผิดกฎหมาย เป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับโจวหย่งคัง สะท้อนถึงความตั้งใจในการกวาดล้างคอร์รัปชันอย่างถอนรากถอนโคนของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง


ผลจากการปรามปราบคอร์รัปชันทำให้มีกฎเหล็กออกมาบังคับใช้กับเจ้าหน้าที่รัฐ นายทหาร และบริษัทเอกชน มากมาย เช่น การห้ามจัดการต้อนรับ ห้ามปูพรมแดงต้อนรับเจ้าหน้าที่รัฐและนายทหารระดับสูง ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐใช้จ่ายเงินหลวงอย่างฟุ่มเฟือย เช่น ห้ามพักในโรงแรมระดับหรู ห้ามจัดเลี้ยงเจ้าหน้าที่รัฐด้วยอาหารราคาแพงและห้ามเลี้ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐรับสินบน รวมทั้งคนในครอบครัวก็ห้ามรับสินบนด้วย ห้ามเดินทางไปต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต บัญชีเงินฝากในต่างประเทศให้ย้ายกลับมาฝากในประเทศ รวมทั้งบุตรหลานที่เรียนอยู่ในต่างประเทศก็ให้ย้ายกลับมาเรียนในประเทศ นอกจากนี้ ยังครอบคลุมไปถึงขนาดว่ารถหรู นาฬิกาแพงๆ ข้าวของเครื่องใช้ราคาแพงต่างๆให้พิสูจน์มาว่าเอาเงินจากที่ไหนมาซื้อ เข้มงวดกันขนาดนั้นเลย

ผลจากกฎเหล็กต่างๆทำให้เศรษฐกิจซบเซาลง ธุรกิจสินค้าหรู ธุรกิจห้องอาหาร โรงแรม การจัดเลี้ยง ของฝาก เหล้าราคาแพง ฯลฯ ซบเซาลงอย่างมาก นอกจากนี้ ผลกระทบสำคัญที่ยังไม่มีใครประเมินมูลค่าได้ถูกแต่คาดว่าเป็นมูลค่ามหาศาล นั่นก็คือ ธุรกิจสีเทาต่างๆที่เชื่อมโยงกับการกินสินบาทคาดสินบน หายวับไป ประกอบกับการปฏิรูปเศรษฐกิจที่เน้นการเติบโตอย่างมั่นคงโดยไม่ร้อนแรง หลายๆเรื่องรวมกันทำให้เศรษฐกิจจีนซบเซาลงไปมาก

แต่อย่างไรก็ตาม การปราบปรามคอร์รัปชันอย่างเด็ดขาดและจริงจังนี้ได้ใจประชาชนส่วนใหญ่ ดังนั้นคะแนนนิยมของลุงสีจิ้นผิงจึงยังดีอยู่ ท่ามกลางคลื่นลมทางการเมืองและเศรษฐกิจที่รุนแรง และแม้ว่าจะมีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ตาม


ซินฉางไท่ – ปกติในเวอร์ชันใหม่


เรื่องคอร์รัปชันกับเรื่องเศรษฐกิจเป็นสองเรื่องที่เกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก เนื่องจากการทุจริตคิดมิชอบส่วนใหญ่ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ลำพังการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจจีนก็ทำให้เศรษฐกิจจำเป็นต้องชะลอตัวลงอยู่แล้ว ยิ่งธุรกิจสีเทาหายไปด้วยก็ยิ่งกระทบต่อเศรษฐกิจหนักขึ้น ดังนั้น ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้เศรษฐกิจจีนยังต้องขลุกขลักไปอีกหลายปี และที่แน่นอนก็คือเศรษฐกิจจีนจำเป็นต้องลดความร้อนแรงลง จากเดิมที่เศรษฐกิจจีนเติบโตปีละประมาณ 10% อยู่เสมอ จนประชาชนจีนส่วนใหญ่ชินกับตัวเลขนี้และคิดว่าอัตราการเติบโตปีละ 10% เป็นเรื่องปกติ แต่ลุงสีจิ้นผิงบอกว่าต่อไปนี้เราต้องนิยามคำว่าปกติกันใหม่แล้ว ปกติในเวอร์ชันใหม่ (ที่ภาษาจีนเรียกว่า ซินฉางไท่ หรือ the new normal) จะพยายามให้จีดีพีเติบโตอยู่ในระดับ 7% ต่อปี

เราลองมาดูภาพต่อไปนี้กัน จะช่วยให้เราเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น


ภาพฉายของขนาดเศรษฐกิจจีนในปี 2020 บนสมมติฐานของการเติบโตที่แตกต่างกัน



ในภาพนี้ เราจะเห็นว่าจีดีพีจีนในปี 2014 มีมูลค่า 10.4 ล้านล้าน ดอลลาร์ สรอ (10.4 trillion USD) จากนั้นเราก็ฉายภาพไปในปี 2020 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า

สมมติว่าจีนเติบโตที่ปีละ 10% ในปี 2020 จีนจะต้องทำจีดีพีให้ได้ถึง 18.4 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ ต่อปี

หากว่าจีนเติบโตปีละ 7% ในปี 2020 จีนจะต้องทำจีดีพีให้ได้ถึง 15.5 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ ต่อปี

และหากเติบโตปีละ 6% ในปี 2020 จีนจะต้องทำจีดีพีให้ได้ถึง 14.7 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ ต่อปี

ลองคิดดูว่าหากจะให้เติบโตปีละ 10% แค่อีก 5 ปีจีนคงเหนื่อยจนขาดใจเนื่องจากยิ่งนานฐานของมูลค่าเศรษฐกิจก็ยิ่งมีขนาดใหญ่ เช่นเดิมมีเงิน 10 บาท ร้อยละ 10 คือ 1 บาท ปีนี้หาได้ 10 บาท ปีหน้าต้องหาให้ได้ 11 บาท แต่หากโตไปเรื่อยๆจนฐานกลายเป็น 20 บาท ปีนี้หาได้ 20 บาท ปีหน้าโตร้อยละ 10 แปลว่าต้องหาให้ได้ 22 บาท   คงต้องหาเงินกันเหนื่อยจนขาดใจเป็นแน่ ดังนั้นการรักษาการเติบโตให้เท่าเดิมไปนานๆจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และนี่เองคือความจำเป็นของการลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจลงเพราะเกินวิสัยที่จะทำได้ ปัจจุบันลุงสีจิ้นผิงให้คำมั่นว่าจะรักษาอัตราการเติบโตปีละ 7% แต่เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้ว อัตรา 7% ต่อปีนี้ต่อไปก็รักษาไว้ไม่ได้ ต้องลดระดับลงมาอีก เนื่องจากฐานของเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ขึ้นทุกปี แต่หากลดระดับลงมากเกินไป อัตราการว่างานก็จะสูง ปัญหาความไม่สงบในสังคมก็จะตามมา ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ที่ยากมากของผู้นำจีน


ดับร้อนแรงที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์





จีนปฏิรูปเศรษฐกิจในแทบจะทุกส่วน แต่ลุงแมวน้ำคงลงในรายละเอียดไม่ได้ทั้งหมด ก็จะขอเล่าเฉพาะบางประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเท่านั้น

ความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนส่วนหนึ่ง จะเรียกว่าส่วนใหญ่ก็ได้ อยู่ที่การลงทุนของภาครัฐ ซึ่งส่วนใหญ่รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นเน้นไปที่การก่อสร้าง ได้แก่ สร้างโครงสร้างพื้นฐานคือระบบขนส่ง กับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ งานเหล่านี้ก่อให้เกิดจีดีพีมากมาย

มาดูกันที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานกันก่อน ปกติแล้วการลงทุนด้านนี้จะกิดผลทางเศรษฐกิจเยอะมากหากเป็นการแก้ปัญหาคอขวด ยกตัวอย่างเช่น เมืองสองเมืองกั้นด้วยแม่น้ำกว้างสายหนึ่ง สองเมืองนี้ไม่มีสะพานเชื่อมเลย การเดินทาง การค้าขาย ระหว่างสองเมืองนี้ทำได้ด้วยการนั่งเรือแจวข้ามฝั่งไปเท่านั้น แบบนี้ละก็ลำบาก ยามหน้าน้ำ กระแสน้ำเชี่ยวก็ข้ามไม่ได้ เศรษฐกิจการค้าการไปมาหาสู่ระหว่างสองเมืองลำบากมาก ปัญหาคอขวดคือแม่น้ำสายใหญ่ที่ขวางอยู่

ทีนี้สมมติว่ารัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน คือสร้างสะพานเชื่อมให้ คราวนี้ปัญหาคอขวดหมดไป การเดินทางถึงกันทำได้สะดวก รถก็ข้ามไปมาได้ แบบนี้เศรษฐกิจก็พัฒนา การลงทุนสร้างสะพานนี้ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมากมาย

ทีนี้สมมติใหม่ สมมติว่ารัฐบาลอยากเร่งตัวเลขจีดีพี ไม่รู้จะทำอะไรดี ก็เอาเงินมาลงทุนสร้างสะพานอีกหนึ่งสะพานห่างจากสะพานเดิม 200 เมตร จีดีพีก็โตขึ้นหรอกเพราะสะพานที่สองนี้ต้องใช้เงินสั่งวัสดุ ต้องจ้างงาน พวกนี้ก่อจีดีพีทั้งนั้น แต่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่มีแล้วเพราะสะพานแห่งที่สองอาจไม่มีใครใช้เนื่องจากเกินความจำเป็น

ที่ผ่านมาจีดีพีของจีนก็โตมาแบบนี้ คืออัดการลงทุนเข้าไปมากๆ แต่เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแค่ไหนก็ตอบได้ยาก แต่โครงการเมืองผีต่างๆก็เป็นหลักฐานหนึ่งที่ฟ้องถึงความไร้ประสิทธิภาพในการลงทุน พร้อมกับสร้างปัญหาฟองสบู่ตามมา

เมื่อรัฐบาลกลางดำเนินการลดความร้อนแรงของเครื่องยนต์เศรษฐกิจจีน เรื่องสำคัญก็คือการชะลอเครื่องยนต์ก่อสร้างพื้นฐานและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แม้จะลดจีดีพีได้แต่ผลกระทบก็ตามมามากมาย เนื่องจากการลงทุนด้านนี้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตจำนวนมาก ในยุคที่การลงทุนด้านนี้ร้อนแรง รัฐก็สนับสนุนให้ลงทุนในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง เช่น โรงเหล็ก โรงปูน โรงแก้ว ฯลฯ เมื่อการก่อสร้างชะลอตัว อุตสาหกรรมเหล่านี้ก็ต้องชะลอตาม ทำไปทำมาอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างก็จะเจ๊งเอา จึงต้องผลิตและเอาไปทุ่มตลาดขายนอกประเทศในราคาถูกๆเพื่อให้พอมีรายได้บ้าง และนี่เองคือสาเหตุที่สินค้าเหล็กของจีนที่ผลิตมาด้วยคุณภาพต่ำและถูกนำมาทุ่มตลาดในประเทศไทยและอีกหลายประเทศ จนเป็นปัญหากับธุรกิจวัสดุก่อสร้างของประเทศอื่นๆ

และนอกจากนี้ การชะลอตัวของภาคก่อสร้างของจีนยังส่งผลต่อการนำเข้าวัตถุดิบ คือจีนนำเข้าสินแร่ เชื้อเพลิง และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆที่เกี่ยวข้องลดลง ส่งผลต่อประเทศที่เป็นซัพพลายเออร์สินค้าเหล่านี้ให้แก่จีน เช่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย เป็นต้น แต่สำหรับไทยนั้นหากเป็นด้านยางพาราจะไปเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนมากกว่า

Tuesday, September 15, 2015

จีนบนเส้นทางการปฏิรูปเศรษฐกิจ ติดหล่มหรือตั้งหลัก (3)




การก่อสร้างสนามกีฬาแห่งชาติที่ปักกิ่ง โอลิมปิกที่ปักกิ่งส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในช่วงนั้นอย่างมาก


ผลจากการเร่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในยุคหลังปี 2000 ประกอบกับการลงทุนเพื่อเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่ปักกิ่งในปี 2008 ที่มีการเร่งก่อสร้างกันในช่วงปี 2005-2007 ทำให้เศรษฐกิจจีนในช่วงปี 2005-2007 เติบโตอย่างร้อนแรง มีการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆเป็นนำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นพวกสินแร่ (เหล็ก ทองแดง ฯลฯ) เชื้อเพลิง (ถ่านหิน น้ำมันดิบ ฯลฯ) สินค้าเกษตร ผลจากการบริโภคอย่างมหาศาลของจีนในช่วงนั้นทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะราคาพลังงาน ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเช่นการขนส่งก็ได้รับอานิสงส์ ค่าระวางเรือเทกองปรับตัวเพิ่มอย่างรวดเร็ว ดัชนีค่าระวางเรือเทกอง (BDI) ปรับตัวจาก 2,000 จุดในตอนต้นปี 2005 ไปถึง 11,000 จุดในตอนกลางปี 2007 ทำให้เกิดการเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์และหุ้นในกลุ่มขนส่งทางเรือ


ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกช่วงปี 2005-2007 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างร้อนแรงของจีนในช่วงเตรียมการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกที่ปักกิ่ง

ราคาน้ำมันดิบก็ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงก่อนโอลิมปิกของจีน

อัตราค่าระวางเรือเทกองที่ใช้ขนส่งวัตถุดิบ สินค้าโภคภัณฑ์ ปรับตัวเพิ่มอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2005-2007 ขึ้นไป 5-6 เท่าในเวลาสองปี ทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ในธุรกิจขนส่งเรือเทกองด้วย


เมื่อจีนฝ่าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ - สู้วิกฤตด้วยสูตรเดิม


หลังจากที่เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของจีนถูกเร่งเครื่องจนถึงจุดสูงจุดในปี 2007 เมื่อการก่อสร้างที่เกี่ยวกับปักกิ่งโอลิมปิกเสร็จสิ้นลง เศรษฐกิจจีนก็แผ่วลงในทันที ประกอบกับปลายปี 2007 นั้นเอง สหรัฐอเมริกาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่เรารู้จักกันในชื่อวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ (subprime mortgage crisis) หรือที่คนไทยเรียกกันเล่นว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ วิกฤติครั้งนั้นส่งผลไปทั่วโลกรวมทั้งลามมาสู่ย่านเอเชียรวมทั้งจีนด้วย ทำให้อัตราการเติบโตของจีนในช่วงปี 2007-2008 ลดลงอย่างฮวบฮาบ

ในตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นสหรัฐอเมริกาเสียหายขนาดไหนเพราะหนี้เสียของสินเชื่อซับไพรม์มีความซับซ้อนมาก เมื่อไม่รู้ว่าเสียหายเท่าใดก็ไม่มีใครรู้ว่าสหรัฐอเมริกาต้องใช้เวลาเยียวยาเศรษฐกิจเนิ่นนานเพียงใด จีนเองก็เกรงปัญหาเศรษฐกิจลุกลามบานปลาย จึงตัดไฟแต่ต้นลมด้วยการอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจีนอีก

จีนอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจเพื่อฝ่าวิกฤตซับไพรม์ถึง 4 ล้านล้านหยวน (ค่าเงินในขณะนั้นราวๆ 7 แสนล้านดอลลาร์ สรอ) และแน่นอน สูตรแห่งความสำเร็จเดิมๆก็ไม่มีอะไรดีไปกว่ากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

จีนเร่งสร้างถนนหนทางและระบบขนส่งทางรางเป็นการใหญ่ ในปี 2011 จีนมีโครงข่ายระบบถนนหลัก (ไม่รวมถนนย่อย) ถึง 85,000 กิโลเมตร มีโครงข่ายขนส่งทางราง 93,000 กิโลเมตร (เป็นรถไฟฟ้าความเร็วสูงประมาณ 10,000 กิโลเมตร) โดยจีนมีหลักคิดว่าการคมนาคมที่ดีจะนำพาความเจริญไปสู่ทุกส่วนของจีนอย่างทั่วถึง


โครงข่ายถนนหลักของจีน ในปี 2011 จีนมีโครงข่ายถนนหลักยาวถึง 85,000 กิโลเมตร เฉพาะในปี 2011 ก็เร่งสร้างประมาณ 10,000 กิโลเมตร 

โครงข่ายขนส่งทางรางของจีน มีทั้งรถไฟความเร็วปกติและรถไฟความเร็วสูง ในปี 2011 จีนมีโครงข่ายขนส่งทางรางยาว 93,000 กิโลเมตร เป็นรถไฟความเร็วสูงประมาณ 10,000 กิโลเมตร


ขณะเดียวกัน รัฐบาลกลางปักกิ่งก็ให้แต่ละมณฑลเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลท้องถิ่นแต่ละแห่งทำก็คือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีการลงทุนสร้างเมืองใหม่ ศูนย์การค้าใหม่ อพาร์ตเมนต์ใหม่ มากมาย โดยรัฐบาลกลางเร่งรัดการเติบโตแต่ให้งบประมาณแก่รัฐบาลท้องถิ่นอย่างจำกัด ซ้ำยังห้ามรัฐบาลท้องถิ่นกู้เงินจากธนาคารเสียอีก จึงทำให้รัฐบาลท้องถิ่นต้องใช้วิธีซิกแซก โดยตั้งบริษัทนอมินีเพื่อกู้ยืมเงินจากธนาคารแทน ทำให้กลายเป็นปัญหาหนี้นอกระบบมาจนถึงปัจจุบัน (ปัจจุบันรัฐบาลท้องถิ่นสามารถออกตราสารหนี้ได้เองแล้ว) ส่วนที่เป็นการลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของเอกชนหากเป็นรายใหญ่ก็ขอสินเชื่อจากธนาคาร ส่วนรายเล็กที่ขอสินเชื่อไม่ได้หรือได้ไม่พอก็ไปกู้เงินจากบริษัทหลักทรัพย์เถื่อน (คือเป็นสถาบันการเงินเถื่อนหรือธนาคารเงานั่นเอง พวกนี้จัดเป็นสินเชื่อนอกระบบ)

ทางภาคประชาชน เมื่อเห็นว่าที่ผ่านมาการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ให้ผลตอบแทนดี ก็อยากได้บ้าง หันมาลงทุนซื้ออพาร์ตเมนต์เพื่อเก็งกำไร สินเชื่อก็ของ่าย คนจีนจึงเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์กันสนุก

และนี่เองคือผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลกลางในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และนี่เองคือสาเหตุที่ทำไมราคาอสังหาริมทรัพย์ในจีนปรับตัวขึ้นมาโดยตลอดแม้แต่ในช่วงวิกฤตซับไพรม์ ดูเผินๆก็เหมือนกับว่าจีนฝ่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์มาอย่างไม่ระคายผิว


ชุมทางเมืองผี



หนึ่งในเมืองร้างของจีนที่เรียกกันอย่างล้อเลียนว่า เมืองผี ที่สร้างทั้งเมืองแต่ไม่มีใครเข้าไปอยู่ ต้องปล่อยให้รกร้าง กลายเป็นสถานที่ถ่ายภาพแนวแปลกไป บางทีก็มีหนุ่มสาวไปถ่ายภาพเว็ดดิ้ง


แม้รัฐบาลจีนจะรับรู้ถึงภาวะฟองสบู่อสังหาที่ตั้งเค้ามานานแล้วในจีนแต่ก็ยังไม่ลงมือจัดการอะไรเนื่องจากในช่วงนั้นยังอยู่ในวิกฤตซับไพรม์ แต่ในที่สุด เมื่อจีนเห็นสัญญาณฟองสบู่ที่รุนแรงขึ้น เช่น อุปทานที่ล้นเกินทำให้โครงการขายไม่ออก ราคาบ้านแพงมากจนคนชั้นกลางทั่วไปซื้อไม่ไหว ผู้ที่ซื้อบ้านมาเก็งกำไรเริ่มปล่อยไม่ออก อัตราค่าเช่าที่เก็บได้ไม่เพียงพอต่อค่าผ่อน ฯลฯ

ปลายปี 2009 เป็นต้นมา ทางการจีนเริ่มใช้มาตรการเข้มงวดกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีมาตรการต่างๆตามมามากมาย ตั้งแต่การจำกัดการซื้อบ้านในเมืองใหญ่ การจำกัดการขอสินเชื่อ การเพิ่มวงเงินดาวน์ เพิ่มการกันสำรองของธนาคาร เพิ่มอัตราดอกเบี้ย การขออนุญาตทำโครงการอสังหาฯใหม่ๆทำได้ยากขึ้น ฯลฯ

ผลก็คือ อุปสงค์เทียมที่เกิดขึ้นอย่างมากมายในช่วงก่อนหน้าลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อภาวะการเก็งกำไรลดความร้อนแรง น้ำลดตอก็ผุด ในปี 2010 ราคาอสังหาริมทรัพย์เริ่มปรับตัวลดลง เมื่ออุปสงค์ลดลง ผู้ประกอบการก็จุก เพราะโครงการต่างๆขายไม่ออก ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่รัฐบาลท้องถิ่นเองก็จุกเนื่องจากลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัยพ์ไว้มากมาย และนี่เองคือที่มาของคำว่าว่าเมืองผี (ghost town) ของจีน คือลงทุนสร้างเมืองทั้งเมืองหรือลงทุนสร้างคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่แต่ขายไม่ออก ต้องปล่อยให้รกร้าง

ผลจากการที่รัฐบาลจีนเข้มงวดกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เปรียบเสมือนกับเจาะรูในลูกโป่งอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ลูกโป่งรั่ว บางคนก็บอกว่าลูกโป่งแตก ซึ่งแล้วแต่มุมมอง ทำให้มีผลตามมามากมาย เมืองผีโผล่ หนี้เสียตามมามากมาย ทั้งหนี้เสียของรัฐบาลท้องถิ่นเองกับหนี้เสียของผู้ประกอบการ รวมทั้งหนี้เสียของนักเก็งกำไรหรือนักลงทุนรายย่อย หนี้นี้มีทั้งหนี้ในระบบธนาคารและหนี้นอกระบบธนาคาร ทำให้วิกฤตหนี้ธนาคารเงาเกิดตามมาอีก







รวมภาพเมืองผีของจีน เหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมามากมาย ทั้งหนี้ในระบบ หนี้นอกระบบ หนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น และหนี้ของภาคเอกชน จนวุ่นวายยากแก่การสะสาง


และท้ายที่สุดจากผลกระทบที่เกิดจากการเจาะลูกโป่งอสังหาริมทรัพย์ของจีนก็คือจีดีพีที่ชะลอตัวลง พูดอีกนัยหนึ่งก็คือเศรษฐกิจจีนโดยรวมชะลอตัวลง พร้อมๆกับภาระหนี้ทั้งของภาครัฐและของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น

ผลจากมาตรการเข้มงวดด้านอสังหาริมทรัพย์ของทางการจีน ทำให้ลูกโป่งอสังหาจีนรั่ว ราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลดลง แค่ลดลงเพียงนิดหน่อยก็ส่งผลต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งปัญหาหนี้เสียแล้ว


นอกจากนี้แล้ว การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนทำให้ความต้องการใช้พลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ และวัสดุก่อสร้างต่างๆลดลง ยังส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกกับภาคการขนส่งอีกด้วย


ผลจากการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกด้วยส่วนหนึ่ง



การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนส่งผลต่อธุรกิจการขนส่งทางเรือเทกองด้วย และจนในปัจจุบันธุรกิจเรือเทกองรวมทั้งธุรกิจเรือคอนเคนเนอร์ก็ยังไม่ฟื้นตัว

Monday, September 7, 2015

จีนบนเส้นทางการปฏิรูปเศรษฐกิจ ติดหล่มหรือตั้งหลัก (2)




จีนเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องในระยะเวลานาน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีดีพีของจีนเติบโตอย่างร้อนแรงคือการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ ในภาพนี้จะเห็นว่าภายในระยะเวลาเพียง 20 ปี เซี่ยงไฮ้เปลี่ยนไปจนจำเค้าเดิมไม่ได้ บ้านเรือนแบบเก่าแทบไม่มีเหลือให้เห็นอีกแล้ว กลายเป็นตึกสูงแทน


จีน ดินแดนแห่งการเติบโตแบบก้าวกระโดด


ตั้งแต่ยุคเปิดประเทศจนเป็นต้นมา จีนเติบโตแบบก้าวกระโดด จีนเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติด้วยจุดขายคือแรงงานราคาถูก มีการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ทำการค้ากับประเทศต่างๆด้วยการผลิตและขายสินค้าที่ราคาถูกกว่าญี่ปุ่นและไต้หวัน

ปัจจัยที่สร้างความเจริญเติบโตได้ดีที่สุดก็คือการลงทุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน เพราะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นปัจจัยเหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์และอื่นๆตามมา โดยเฉพาะการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นตัวขับเคลื่อนจีดีพีที่สำคัญเพราะใช้ทรัพยากรอย่างมากและเชื่อมโยงกับธุรกิจอื่นๆมากมาย ตั้งแต่การรับเหมาก่อสร้าง การค้าวัสดุก่อสร้าง การขนส่ง การค้าสินค้าอุปโภคบริโภค ตลอดไปจนถึงทำให้เกิดการจ้างงานอย่างมากมาย

ผลจากนโยบายเปิดประเทศและการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ ทำให้จีนมีอัตราการเติบโตในระดับสูงมาตลอดระยะเวลาร่วม 30 ปี ยกตัวอย่างเช่น ปี 1984 โต 15.2% ส่วนปี 1992 และ 2007 สองปีนี้เติบโต 14.2% ต่อปี ส่วนปีอื่นๆมักเติบโตปีละ 10% ขึ้นไป

ประเทศจีนมีอัตราการเติบโตของจีดีพีที่น่าตื่นใจ เพราะแต่ละปีส่วนใหญ่เติบโตเกินกว่า 10% และคงความต่อเนื่องมาได้ยาวนานถึง 3 ทศวรรษ


เมื่อเศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป


ผลของเศรษฐกิจที่ร้อนแรงคืออัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูง อัตราเงินเฟ้อของจีนในช่วงต้นทศวรรษ 1990 รุนแรงมากตามจีดีพีที่ร้อนแรง จนอยู่ในระดับที่อาจทำให้เศรษฐกิจเสียหาย รวมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มที่มีฐานะยากจนอย่างมาก 

ในปี 1992 (2535) นั้นเศรษฐกิจจีนร้อนแรงมาก จีดีพี 14.2% ต่อปี ดูเผินๆเหมือนจะดี แต่ที่จริงกลับไม่ดี เพราะว่าต่อมาอัตราเงินเฟ้อของจีนพุ่งทะยานถึงปีละ 24% จีนจำเป็นต้องชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจลงเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อลง โดยการใช้นโยบายเศรษฐกิจที่เข้มงวด รักษาสเถียรภาพของค่าเงินหยวนไม่ให้อ่อนค่า ดังนั้นหลังจากช่วงนั้นมา การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนและอัตราเงินเฟ้อของจีนก็ค่อยลดลง ขณะเดียวกันก็ปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศให้ทันสมัยไปด้วย และนั่นคืออาการฟองสบู่แตกครั้งแรกของจีนหลังการเปิดประเทศเข้าสู่ยุคทุนนิยม


จากวิกฤติต้มยำกุ้งสู่ยุคทองของอสังหาริมทรัพย์จีน


เมืองฉงชิ่ง ตัวอย่างของการเติบโตอย่างร้อนแรงของจีน ฉงชิ่งเติบโตอย่างร้อนแรงไม่แพ้เซี่ยงไฮ้ หรืออาจจะร้อนแรงกว่าด้วยซ้ำไป 


ตั้งแต่ปี 1994 (พ.ศ. 2537) ที่ฟองสบู่ของเศรษฐกิจไทยเริ่มแตก จนมาสู่วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997 (พ.ศ. 2540) ประเทศในย่านอาเซียนล้วนแต่ได้รับพิษจากต้มยำกุ้งไปตามๆกัน ประเทศจีนหยิบยื่นความช่วยเหลือทางการเงินแก่หลายประเทศ รวมทั้งไทยด้วย รวมทั้งไม่ลดค่าเงินหยวนเพื่อแข่งขันการส่งออก อันถือว่าเป็นการช่วยประเทศเพื่อนบ้านอีกทางหนึ่ง เรื่องการไม่ลดค่าเงินหยวนนั้นมีส่วนช่วยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอาเซียนรวมทั้งไทย เนื่องจากสินค้าจากจีนนั้นแข่งได้ทุกตลาดอยู่แล้ว หากจีนลดค่าเงินด้วยสินค้าส่งออกของชาติอื่นก็เหนื่อยยิ่งขึ้น เรียกได้ว่าจีนแสดงน้ำใจโดยยอมเสียเปรียบในการแข่งขัน บางคนก็ว่าจีนได้สองเด้ง คือจีนตั้งใจรักษาเสถียรภาพของค่าเงินไม่ให้อ่อนค่าอยู่แล้วเนื่องจากต้องการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ การได้ใจเพื่อนบ้านคือผลพลอยได้ ก็คงแล้วแต่มุมมอง

ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งทำให้การเติบโตของจีนลดลง จากเดิมปีละกว่า 10% กลายเป็นต่ำกว่าปีละ 10% (ราว 8% ถึง 9%) โดยเฉพาะการส่งออกของจีนลดลง สำหรับจีนแล้วอัตราการเติบโตต่ำกว่า 10% ถือเป็นเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ เนื่องจากจีนเองมีบริบทของประเทศที่แตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ คือเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ การที่เศรษฐกิจขชองประเทศเติบโตดี ประชาชนมีรายได้ดี ถือเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน ประชาชนจีนจะได้สนใจกับการทำมารายได้ ไม่ต้องมาเรียกร้องทางการเมืองให้วุ่นวาย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าจีนมีปัญหากับเรื่องอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก มากไปก็ไม่ได้ น้อยไปก็ไม่ได้ หาจุดสมดุลได้ยาก

หลังจากยุคต้มยำกุ้ง จีนก็เร่งเครื่องทางเศรษฐกิจอีก ซึ่งหนทางในการเร่งเครื่องเศรษฐกิจก็คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ จีนลงทุนก่อสร้างเป็นการใหญ่ด้วยการขยายโครงข่ายการคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นระบบรถไฟธรรมดา รถไฟความเร็วสูง รวมทั้งระบบถนน


ผลจากการเร่งการเติบโตของจีนด้วยการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้จีนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีด้านรถไฟจนถึงขั้นสามารถสร้างรถไฟความเร็วสูง ว่ากันว่าจีนเคยสั่งซื้อรถไฟความเร็วสูงจากต่างประเทศเพียงครั้งเดียว คือจากเยอรมนี เมื่อนานมาแล้ว และหลังจากนั้นมาจีนก็ไม่ต้องสั่งซื้ออีกเลย ผลิตและใช้เองในประเทศ รวมทั้งยังส่งไปขายต่างประเทศอีกด้วย


ทางด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็ส่งเสริมการเติบโตของชุมชนเมือง ตามเมืองใหญ่มีการสร้างอพาร์ทเมนต์เต็มไปหมด ชุมชนบ้านเดี่ยวเก่าๆแบบดั้งเดิมก็ค่อยๆทยอยหายไปเพราะถูกรื้อและสร้างเป็นตึกสูงแทน

หลังยุคต้มยำกุ้ง หรือคิดคร่าวๆคือ ปี 2000 เป็นต้นมา เศรษฐกิจจีนก็เริ่มร้อนแรงขึ้นอีก อพาร์ทเมนต์ได้รับความนิยม ราคาจึงพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการหรือดีเวลอปเปอร์สามารถขอสินเชื่อได้อย่างง่ายๆและในอัตราต่ำ ทางภาคประชาชนเองก็มีเงินออมสูง ไม่รู้จะลงทุนอะไรดีก็มาลงทุนในอพาร์ตเมนต์ ตอนนั้นราคาราคาอพาร์ตเมนต์ขึ้นทุกวัน ประกอบกับพวกพนักงานบริษัทมีสวัสดิการโดยซื้ออพาร์ตเมนต์ได้โดยออกเงินเพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งเป็นสวัสดิการของบริษัทกับภาครัฐที่ช่วยกันสมทบให้ สินเชื่อบ้านหลังที่สอง สาม ฯลฯ ก็อนุมัติง่ายและดอกเบี้ยไม่สูง ในภาคประชาชนก็มีการเก็งกำไรอพาร์ตเมนต์กันเป็นการใหญ่เพราะได้กำไรงาม มีทั้งการซื้อขายเปลี่ยนมือหากำไรจากส่วนต่าง และการซื้ออพาร์ตเมนต์ไว้หลายๆห้องเพื่อปล่อยเช่าหวังกำไร


ราคาอสังหาริมทรัพย์ในจีนเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรง โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ในช่วงปี 2000 ถึง 2010 เพียงสิบปี ราคาอสังหาริมทรัพย์เฉลี่ยของจีนเพิ่มขึ้นราวเท่าตัว แต่หากดูเป็นรายเมือง เช่น ปักกิ่ง ช่วงสิบปีที่ว่านี้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในปักกิ่งพุ่งถึง 8-9 เท่าตัวทีเดียว ราคาดีแบบนี้แล้วใครจะไม่อยากเข้ามาเก็งกำไร

ประกอบกับจีนในยุคนั้นได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนที่ปักกิ่งในปี 2008 เฉพาะแค่การรองรับโอลิมปิกจีนก็มีการก่อสร้างต่างๆมากมาย ดังนั้น เมื่อรวมกันแล้ว ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 หรือปี 2000-2007 จึงถือเป็นยุคทองของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านอสังหาริมทรัพย์ของจีนอย่างแท้จริง เพราะทำให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องตามมามากมาย จีดีพีจีนกลับมาทะยานเกิน 10% ต่อปีอีก มีการนำเข้าพลังงาน วัสดุก่อสร้าง แร่ และสินค้าโภคภัณฑ์ อื่นๆเป็นจำนวนมากและฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์จีนก็เกิดในยุคนี้นั่นเอง


ราคาอพาร์ตเมนต์ระดับหรูในเซี่ยงไฮ้ ห้องนี้ประกาศขายตารางเมตรละ 83,000 หยวน (ราคาปัจจุบัน)


ราคาอพาร์ตเมนต์นอกเมืองคุนหมิงของจีน โซนนอกเมืองก็ประมาณ 9,000 หยวนต่อตารางเมตร (ราคาปัจจุบัน)



ตอนต่อไปเราจะมาคุยกันเรื่องยุควิกฤตแฮมเบอร์เกอร์และฟองสบู่อสังหาจีนแตกคร้าบ


Tuesday, August 25, 2015

จีนบนเส้นทางการปฏิรูปเศรษฐกิจ ติดหล่มหรือตั้งหลัก (1)




เซินเจิ้น เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของจีน


ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ จีนมีปรากฏการณ์ทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญเกิดขึ้นหลายอย่าง ตั้งแต่ยอดการผลิตสินค้าลดลงอย่างต่อเนื่อง การส่งออกและนำเข้าที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ตลาดหุ้นจีนพุ่งขึ้นไปถึง 150% ภายในครึ่งปี จากนั้นร่วงลงมา -40% ภายในช่วงเวลาเพียงสามสี่เดือน เหล่านี้ล้วนแต่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นของประเทศคู่ค้าทั้งสิ้น

และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อไม่กี่วันมานี้ทางการจีนประกาศลดค่าเงินหยวน 3 วันติดต่อกัน รวมแล้วเป็นการลดอัตราอ้างอิงเงินหยวนลงประมาณ 4.6% ดังที่ลุงแมวน้ำเล่าให้ฟังไปแล้ว (ดูบทความเรื่อง หยวนอ่อนถล่มตลาดโลก ประกอบ)

และล่าสุดที่เหมือนฟางเส้นสุดท้ายบนหลังอูฐ ดัชนีการผลิตหรือที่เรียกว่า Purchasing Managers' Index (PMI) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดของภาคการผลิต ดัชนีการผลิตของจีนเดือนสิงหาคมที่เพิ่งประกาศออกมาปรากฏว่าลดลงต่อเนื่องจนเหลือ 47.1% ซึ่งค่า PMI นี้หากต่ำกว่า 50 ถือว่าไม่ดี ยิ่งต่ำกว่า 50 และลดลงอย่างต่อเนื่องแสดงว่าภาคการผลิตของจีนหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง แปลว่าเศรษฐกิจจีนมีปัญหามากขึ้นและมากขึ้น


ดัชนีการผลิตที่รายงานล่าสุด ลดลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือ 47.1 เป็นเหตุให้ตลาดหุ้นร่วงระเนระนาดทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ตลาดหุ้นจีนเอง


เท่านั้นเอง ตลาดหุ้นจีนที่เพิ่งร่วงไปจากกรณีลดค่าเงินหยวน ก็ร่วงลงต่อ และยิ่งไปกว่านั้น จีนซึ่งถือเป็นนำเข้ารายใหญ่ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา นำเข้าทั้งพลังงาน วัตถุดิบ สินค้าโภคภัณฑ์ สินค้าสำเร็จรูป แทบทุกประเภท เมื่อจีนป่วย การนำเข้าก็ลดลง ทางคู่ค้าก็เกิดอาการวิตกกังวลเพราะเกรงว่ายอดขายของตนเองจะลดลง ส่งผลต่อเศรษฐกิจภายในประเทศของตน ความกังวลนี้สะท้อนออกมาที่ตลาดหุ้นของประเทศคู่ค้าต่างๆ ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ร่วงระนาว โดยเฉพาะเมื่อวาน (วันที่ 24 สิงหาคม 2015) ตลาดหุ้นทั่วโลกลงแรงราวกับอยู่ในยุควิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ แต่ละตลาดร่วงลงไปตั้งแต่ -3% ถึง -8% ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (DJI) ของสหรัฐอเมริการ่วงตอนเปิดตลาดเกินกว่า -1,000 จุด


ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงแรงมาก ภายในหนึ่งวันปรับตัวลง -3% ถึง -8%  

บทความนี้ลุงแมวน้ำจะเล่าถึงการปฏิรูปทางเศรษฐกิจของจีนและผลกระทบต่อตลาดคู่ค้า เพื่อให้เข้าใจที่มาที่ไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันมานี้ แต่การเล่าในครั้งนี้เป็นฉบับย่อ เศรษฐกิจของจีนครอบคลุมประชากรจีนราว 1300 ล้านคน และประเทศคู่ค้าอีกมากมาย ดังนั้นจึงมีเรื่องราวที่ซับซ้อน หลายมุมมอง หลายมิติ ซ้อนทับกันอยู่ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่วันนี้ลุงแมวน้ำจะเล่าในฉบับย่อเท่าที่เกี่ยวข้องการกับเศรษฐกิจและการลงทุนของพวกเราเท่านั้น


เมื่อจีนแรกเปิดประเทศ เน้นแรงงานราคาถูก


ก่อนอื่นก็เท้าความกันก่อน จีนเริ่มเปิดประเทศประมาณปี 1978 ตอนนั้นเติ้งเสี่ยวผิงเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาในปี 1980 หรือเมื่อ 35 ปีมาแล้วก็เริ่มมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจก็เป็นไปตามขั้นตอน คือ จากประเทศด้อยพัฒนา อาศัยแรงงานที่มีราคาถูก ก็เปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานอุตสาหกรรม พูดง่ายๆก็คือทำงานรับจ้างนั่นเอง


เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำรุ่นที่สอง นายกรัฐมนตรีจีนในยุคเปิดประเทศ

เซินเจิ้น เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของจีน

ปี 1980 จีนมีจีดีพีต่อหัวเพียง 193 ดอลลาร์ สรอ ต่อคน ต่อปี (ค่าเงินในยุคนั้น) คนที่มีหัวทางการค้าก็ทำการค้าไป คนที่ยังติดยึดกับการเป็นลูกจ้างก็เป็นลูกจ้างไป ลุงแมวน้ำจำได้ว่ายุคนั้นไกด์นำเที่ยวชาวจีนเคยเล่าให้ลุงฟังว่าได้เงินเดือนเดือนละ 200-300 หยวน ประมาณนี้แหละ ส่วนจีดีพีต่อหัวของไทยในยุค 1980 คือ 683 ดอลลาร์ สรอ ต่อคน ต่อปี

เศรษฐกิจจีนเติบโตเรื่องมา จากการขายแรงงานราคาถูกโดยเป็นลูกจ้างในโรงงานต่างชาติ ก็มาตั้งโรงงานผลิตของตนเองบ้าง มีทั้งที่เป็นโรงงานผลิตสินค้าแบบง่ายๆ เช่น ถ้วยถังกะละมังไห ไปจนถึงพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองผลิตสินค้าเทคโนโลยี

จวบจนปัจจุบัน ปี 2015 เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันจีนมีจีดีพีต่อหัว 7593 ดอลลาร์ สรอ ต่อคน ต่อปี (ค่าเงินปี 2014) ขณะที่ไทยมีจีดีพีต่อหัว 5560 ดอลลาร์ สรอ ต่อคน ต่อปี

เศรษฐกิจจีนในปัจจุบันมีความหลากหลายมาก เนื่องจากจีนมีประชากรเป็นจำนวนมาก มีบัณฑิตจบใหม่ปีละประมาณ 7 ล้านคน การมีงานมีรายได้เป็นเรื่องสำคัญของคนจีนเพราะจีนเป็นคนรักษาหน้าตาและคาดหวังความสำเร็จสูง หากไม่สามารถเป็นลูกจ้างบริษัทดีๆได้ (พูดง่ายๆคือหางานทำไม่ได้) ก็ไปเป็นเถ้าแก่เองเสียเลยแก้ตกงานได้เหมือนกัน จีนเองก็ต้องการเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็บอกว่าเอาเลย อยากเป็นเถ้าแก่ก็สนับสนุน

ดังนั้นจีนจึงมีโรงงานผลิตสินค้าต่างๆมากมาย พวกสินค้าง่ายๆมีเยอะมาก ผลิตกันจนอุปทานล้นตลาด เมื่อล้นตลาดในประเทศก็เอามาทุ่มขายราคาถูกนอกประเทศ กำไรน้อยไม่เป็นไรขอกระแสเงินสดพอเลี้ยงตัวไปก่อน และนี่เองจึงเป็นที่มาของแบตเตอรี่ (ถ่านไฟฉาย) ราคาถูกเหลือเชื่อที่ขายอยู่ในเมืองไทย (และก็เป็นปัญหาโลหะหนักปนเปื้อนในน้ำใต้ดินของเราจนทุกวันนี้) ที่ช็อตยุงอันละ 20 บาท (ทำได้ไงเนี่ย) ปากกาเคมีที่ใช้เน้นสีข้อความแท่งละ 5 บาท ของญี่ปุ่นขายตั้งหลายสิบบาท

ที่จริงพวกนี้ทำแล้วขาดทุน แต่ก็ทนทำไปเพราะต้องการสภาพคล่อง คล้ายๆชาวนาไทยนั่นเอง ปลูกข้าวขาดทุนแต่ก็ทนปลูกไปทุกปีเพราะไม่รู้จะทำยังไง อุตสาหกรรมเอสเอ็มอีจีนเหล่านี้นานไปก็มีปัญหาหนี้นอกระบบสะสมทบทวี


มุ่งหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง


ปัจจุบันจีนไม่เหมือนเมื่อก่อน ค่าแรงของจีนแพงแล้ว ดังนั้นโดยสภาพความเป็นจริงแล้วโรงงานที่ผลิตสินค้าขายราคาถูกอยู่ไม่ได้แล้ว ทางการจีนเองก็รู้ดี ประกอบกับจีนเองก็ต้องการหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางเป็นประเทศรายได้สูงเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ดังนั้นจะมามัวผลิตสินค้าขั้นพื้นฐานด้วยค่าแรงแพงอยู่ไม่ได้ จึงมีการปฏิรูปเศรษฐกิจขึ้น

แนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจของผู้นำในยุคหลัง โดยเฉพาะในยุคของประธานาธิบดี ลุงสีจิ้นผิง กับนายกลุงหลี่เค่อเฉียง ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันนี้ พูดแบบกำปั้นทุบดินก็คือใช้ทำเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มเยอะๆ พวกมูลค่าเพิ่มน้อยๆไม่เอาแล้ว ดังนี้

หนึ่ง มุ่งสู่เศรษฐกิจภาคบริการ เป็นที่รู้กันดีว่าเศรษฐกิจภาคบริการนั้นได้กำไรมากกว่าเศรษฐกิจด้านการผลิต โดยเฉพาะในภาคการเงินนั้นยิ่งเพิ่มมูลค่าได้มาก

สอง หากเป็นเศรษฐกิจด้านการผลิตก็ต้องเน้นการผลิตที่เพิ่มมูลค่า ได้แก่พวกสินค้าเทคโนโลยี สินค้าพื้นๆถ้วยถังกะละมังก็ไม่เอาแล้ว

สาม ไม่ยินดีรับการลงทุนจากชาวต่างชาติแล้ว หมายความว่าไม่ค่อยอยากรับทุนจากต่างชาติให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในจีน (FDI) แล้ว แต่ไม่ห้ามเพราะห้ามไม่ได้ จึงออกมาในรูปการเข้าไปลงทุนในจีนทำได้ยากขึ้น สร้างกฎระเบียบข้อกำหนดต่างๆ ให้เบื่อกันไปเอง ยกเว้นในอุตสาหกรรมที่จีนต้องการ ถ้าอย่างนั้นจะอำนวยความสะดวกดีมาก

สี่ ต้องการออกไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อแสวงหาผลตอบแทนกลับเข้ามาในประเทศ นี่คือนโยบาย going out หรือ走出去 ที่เราได้ยินกันนั่นเอง

ผลจากนโยบายข้อหนึ่งและข้อสอง ก็คือสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ นั่นคือ การส่งออกสินค้าของจีนจะค่อยๆลดลง รวมทั้งการนำเข้าวัตถุดิบจะค่อยลดลง เพราะจีนต้องการมุ่งไปสู่การผลิตสินค้าที่เพิ่มมูลค่าได้มากๆเท่านั้น การปรับลดจะดำเนินต่อไปจนเข้าสู่จุดสมดุล

ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ธุรกิจขนาดเล็กของจีนเองก็จะได้รับผลกระทบ พวกที่เลิกผลิตถ้วยถังกะละมังจะไปทำอะไรต่อไปนั่นก็เป็นปัญหาอีกเปลาะหนึ่งที่ต้องแก้ไข ดังนั้นการเลิกธุรกิจพวกนี้เลิกเร็วเกินไปผู้ประกอบการก็ปรับตัวไม่ได้ ก็ต้องค่อยๆลดและเลิกไป ดังนั้น ค่าเงินหยวนที่อ่อนตัวก็ยังจำเป็นอยู่เพื่อช่วยธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน

ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่มาสมทบก็คือ เศรษฐกิจโลกไม่ค่อยดีเหมือนเมื่อก่อน ดังนั้นความต้องการสินค้าที่ลดลงก็มีส่วนด้วย เมื่ออุปสงค์ลด อุุปทานก็ต้องปรับตัวลดลง

ปัญหาหนี้นอกระบบ ธนาคารเงา (shadow banking) ดังที่เล่ามาแล้วว่าธุรกิจจีนมีการใช้เงินกู้นอกระบบกันมาก หนี้เสียไม่มีปัญญาใช้คืนก็มาก เรื่องหนี้นอกระบบนั้นไม่แค่เรื่องการผลิต แม้แต่ในการบริหารงานของรัฐบาลท้องถิ่นก็ยังแอบไปก่อหนี้นอกระบบธนาคารเอาไว้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ทางการจีนปวดหัวมาก ปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบนี้เชื่อมโยงไปถึงสภาพคล่องของธุรกิจจีนด้วย จนถึงตอนนี้ก็ยังปวดหัวอยู่ เพราะจัดการได้ยาก

เอาละ วันนี้เล่าให้ฟังเท่านี้ก่อน คอยอ่านตอนต่อไปนะคร้าบ นี่เล่าแบบง่ายๆ แบบแมวน้ำๆ  ไม่ได้ลงรายละเอียดอะไร

กาารสาธิตจับโซ่เผาไฟร้อนๆเพื่อแสดงประสิทธิภาพของครีมบัวหิมะในการรักษาแผลไฟไหม้

บทความตอนนี้มีภาพประกอบไม่มาก ลุงแมวน้ำเอาภาพนี้มาให้ดูรำลึกถึงความหลัง นี่คือการขายครีมบัวหิมะ (เป่าฟู่หลิง) ที่เป็นครีมสารพัดประโยชน์ ทาแก้ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ผด ผื่น สิว ริดสีดวง ฯลฯ ในสมัยก่อนชูจุดขายคือรักษาบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ทัวร์ที่ไปเที่ยวประเทศจีน ไกด์จีนจะต้องพาไปร้านที่ขายครีมนี้ อย่างน้อย 1 ครั้ง และจะได้ดการสาธิตแบบตื่นตาตื่นใจ นั่นคือ การเอามือไปจับโซ่ที่เผาไฟจนร้อนแดง แสดงกันสดๆทุกรอบ ไม่ใช่สลิง ไม่ใช่ซีจี โซ่แดงจริง จับแล้วควันขึ้น กลิ่นเนื้อย่างลอยฉุย จากนั้นก็ทาครีม แล้วก็หายจริง >.<

ลุงเคยคุยกับคนที่สาธิต เขาบอกว่าผู้จัดการสั่งให้แสดงก็ต้องแสดง กลัวตกงานมากกว่ากลัวเจ็บ แต่ไม่ให้เมียรู้ วันที่จับโซ่มากสุดคือ 5 ครั้ง เพราะทัวร์ลงเยอะ ปวดมือมากแต่ก็ต้องทน ไม่รู้ว่าโม้หรือเปล่า

ปัจจุบันไม่มีการสาธิตแบบนี้ ลุงไม่เคยเห็นมาหลายปีแล้ว เข้าใจว่าคงห้ามสาธิตโหดแบบนี้กันแล้ว ภาพพวกนี้เป็นภาพเก่าหาดูได้ยากคร้าบ

Thursday, August 13, 2015

หยวนอ่อนถล่มตลาดโลก




ปกติแล้วค่าเงินหยวนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ ค่อนข้างนิ่ง เนื่องจากธนาคารกลางของจีนอิงค่าเงินหยวนกับค่าเงินดอลลาร์ สรอ แต่เมื่อสองวันที่ผ่านมา จีนปรับลดค่าเงินอ้างอิงลงไปถึง -3.5% ทำให้ตลาดหุ้น ตลาดเงิน ตลาดพันธบัตร และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกปั่นป่วน


ตลาดหุ้นสำคัญทั่วโลกแดงยกแผงเมื่อจีนลดค่าเงินหยวนเป็นวันที่สอง แม้แต่ตลาดหุ้นจีนเองก็ยังลง


โพสต์ที่แล้วลุงแมวน้ำบอกว่าความเสี่ยงอยู่ที่จีน ผ่านไปได้วันเดียวก็เป็นเรื่องเลย >.<

สองวันที่ผ่านมานี้ทางธนาคารกลางของจีนได้ลดค่าเงินหยวนติดต่อกันถึงสองวัน หลายคนอาจงงว่าลดแล้วทำไม ผลกระทบจะใหญ่โตเพียงใด ก็ในเมื่อเงินตราสกุลอื่นก็มีขึ้นมีลงอยู่แล้ว วันนี้เรามาคุยให้เข้าใจที่มาที่ไปกันแบบง่ายๆ แบบแมวน้ำๆ จะได้ไม่ตกใจจนเกินควร

ก่อนอื่นต้องเข้าใจกันก่อนว่าเงินหยวนของจีนนั้นไม่ได้ขึ้นลงตามกลไกตลาดในระบบทุนนิยมตลาดเสรี แต่ว่าเงินหยวนนั้นผูกกับเงินดอลลาร์ สรอ แม้ไม่ถึงกับตรึงกับเงินดอลลาร์ สรอ อย่างแนบแน่นแบบเอาเชือกมัดไว้ติดกัน แต่เป็นการตรึงกันแบบหลวมๆเหมือนเอาเชือกผูกโยงกันไว้ คือพอขยับแกว่งไปมาได้บ้าง

วิธีการกำหนดค่าเงินหยวน ในแต่ละวันก็คือ ตอน 9.15 น ตามเวลาท้องถิ่นจีน ธนาคารกลางจะประกาศอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงออกมาค่าหนึ่ง และภายในวันนั้นก็ให้ซื้อขายกันในกรอบขึ้นลงไม่เกิน 2% ของราคาอ้างอิง ราคาอ้างอิงนั้นมาจากไหน ธนาคารกลางของจีนอิงกับเงินดอลลาร์ สรอ นั่นเอง  วันถัดไปก็ประกาศราคาอ้างอิงใหม่ ทำเช่นนี้ไปทุกวัน โดยอัตราแลกเปลี่ยนหยวน-ดอลลาร์สรอ ช่วงหลังนี้อยู่ที่ประมาณ 6.1 หยวน/ดอลลาร์ สรอ ไม่หนีจากนี้ไปเท่าไรนัก

เอาละ พักเรื่องเงินหยวนไว้ก่อน เรามาดูเหตุการณ์ประกอบ 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้กัน

เหตุการณ์แรก คือการที่จีนพยายามขอเข้าไปมีบทบาท มีสิทธิ์มีเสียง ในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ให้มากขึ้น แต่ก็ถูกกันท่า จีนก็ไม่ยอมแพ้ พยายามผลักดันให้ไอเอ็มเอฟรับเงินหยวนเข้าไปอยู่ในตะกร้าเงินทุนสำรองของไอเอ็มเอฟ ที่เรียกว่า เอสดีอาร์ (SDR, Special Drawing Rights) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 4 สกุล คือ ดอลลาร์ สรอ ปอนด์ เยน ยูโร ซึ่งปกติไอเอ็มเอฟจะทบทวนตะกร้าสกุลเงินนี้ทุก 5 ปี ครั้งต่อไปคือปี 2016 คือในปีหน้า

การเข้าไปอยู่ในตะกร้าเงินของไอเอ็มเอฟนั้นดีอย่างไร ที่จริงตะกร้าเงินนี้ไม่ได้มีบทบาทในโลกการเงินนัก แต่ว่่านี่คือศักดิ์ศรีและการยอมรับในระดับนานาชาติ จีนใช้การเข้าเป็นสกุลในตะกร้าเงิน SDR เป็นย่างก้าวทางยุทธ์ศาสตร์เพื่อทำให้เงินหยวนเป็นเงินตราสกุลหลักของโลกต่อไป

ทีนี้ป้าคริสทีน ลาการ์ด แห่งไอเอ็มเอฟก็บอกว่าจีนยังไม่ได้ปล่อยเงินหยวนให้เคลื่อนไหวเสรีตามกลไกตลาด การตรึงเงินหยวนกับดอลลาร์ สรอ แบบนี้ยังโกอินเตอร์ไม่ได้หรอก คงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะมาอยู่ในตะกร้าเงินของไอเอ็มเอฟ

เหตุการณ์ที่สอง ก็คือยอดส่งออกของจีนหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ส่งออกของจีนเดือนกรกฎาคม 2015 เทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2014 ลดลง -8% ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าตกใจทีเดียว และมีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยที่ไม่เชื่อว่าจีดีพีของจีนตอนนี้เติบโต 7% ต่อปี แต่คาดว่าน่าจะต่ำกว่านั้นเพียงแต่จีนไม่ยอมบอกออกมา

ย้อนมาคุยเรื่องเงินหยวนต่อ เมื่อสองวันก่อน ธนาคารกลางของจีนก็ประกาศว่าการที่เงินหยวนผูกกับดอลลาร์ สรอ นั้น เมื่อดอลลาร์ สรอ แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้เงินหยวนพลอยแข็งค่าตามไปด้วยเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ คิดไปคิดมาแล้วเงินหยวนแข็งค่ามากกว่าความเป็นจริงไปโข ดังนั้นขอปรับลดราคากลางเป็นพิเศษสักครั้งเพื่อให้ค่าเงินหยวนใกล้เคียงความจริง และต่อจากนี้ไปราคาอ้างอิงของเงินหยวนจะอิงกับดอลลาร์ สรอ น้อยลง แต่จะขึ้นอยู่กับอุปสงค์อุปทานที่แท้จริงของเงินหยวนในแต่ละวันมาพิจารณาด้วย

ปรากฏว่าธนาคารกลางของจีนลดค่าเงินหยวนลงอย่างฮวบฮาบ 2 วันติดกัน วันจันทร์ที่ผ่านมา เงินหยวนอยู่ที่ 6.1162 หยวน/ดอลลาร์ มาวันพุธเป็น 6.3306 หยวน/ดอลลาร์ เท่ากับในสองวันนี้ (อังคาร พุธ) ราคาอ้างอิงเงินหยวนลดลง -3.5% ก็คือลดค่าเงินหยวนลง -3.5% นั่นเอง

ทีนี้ตลาดก็แตกตื่นละสิ เพราะไม่รู้ว่าวันนี้ (วันพฤหัส) จะเกิดอะไรขึ้น จีนละลดค่าเงินหยวนลงอีกก๊อกหนึ่งไหม จะลดอีกกี่วันจึงจะจบ


วิเคราะห์ 


การที่จีนลดค่าเงินหยวนในช่วงนี้ถือว่าเป็นการยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะเท่ากับจีนบอกไอเอ็มเอฟว่านี่ผ่อนคลายการคลื่อนไหวของเงินหยวนให้เสรีขึ้นแล้วนะ ดังนั้นอย่าลืมรับหยวนเข้าตะกร้าเงินด้วย จีนเร่งในเรื่องนี้เนื่องจากหากปี 2016 ยังเข้าไม่ได้ต้องรอไปอีก 5 ปี ไอเอ็มเอฟก็ชมเชย แต่ยังไม่รู้ว่าจะรับเข้าไหม

นอกจากนี้ เมื่อเงินหยวนอ่อนค่าก็ช่วยการส่งออกของจีนด้วย เพราะว่าตอนนี้ส่งออกกำลังย่ำแย่

ผลจากการลดค่าเงินหยวนทำให้ตลาดทั่วโลกแตกตื่น ต่างคนต่างก็คิดกันไปต่างๆนานา เช่น

อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ก็คิดว่าเงินหยวนอ่อน กำลังซื้อคงลดลง การนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์จากอินโดนีเซียกับออสเตรเลียคงลดลง ตลาดหุ้นอินโดก็ร่วง มาเลเซีย ไต้หวัน ที่ค่าขายกับจีนมาก ตลาดหุ้นมาเลเซีย ไต้หวันก็ร่วง

ญี่ปุ่นกับเกาหลีไต้ก็ตกใจเพราะเท่ากับว่าจีนเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน สินค้าส่งออกของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ คงเจอศึกหนัก ตลาดหุ้นสองตลาดนี้ก็ร่วง

เยอรมนี ฝรั่งเศส ขายรถยนต์ สินค้าหรู ให้จีนมากมาย เมื่อเงินหยวนอ่อน กำลังซื้อน่าจะลดลง ตลาดหุ้นเยอรมนี ฝรั่งเศส ก็ร่วง

สำหรับไทย ก็กังวลกันว่าจีนเป็นลูกค้ารายใหญ่ของไทย (ส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบ) ปีนี้การส่งออกไปจีนลดลงมาก หากเงินหยวนอ่อน กำลังซื้อย่อมลด จีนอาจหันไปนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นที่ถูกกว่า เช่น เวียดนาม การส่งออกของไทยที่แย่ลงอยู่อาจแย่หนักยิ่งขึ้น หุ้น AOT ก็ร่วงไปแล้วเพราะตกใจว่านักท่องเที่ยวจีนอาจลดลง


ตอนนี้ฝุ่นยังตลบอยู่ มองอะไรไม่ค่อยเห็น ลุงแมวน้ำว่าที่คิดกันตอนนี้ก็กังวลกันไปต่างๆนานา รอดูสถานการณ์กันสักพักก่อนดีกว่า อะไรๆอาจไม่เลวร้ายอย่างที่กังวลกัน แต่แน่นอน ต่อไปเงินหยวนจะผันผวนมากขึ้น รวมทั้งในระยะกลางหยวนยังมีโอกาสอ่อนค่าได้อีก






และ ข่าวดีนิดหน่อย เมื่อคืนตลาดหุ้นอเมริกาไหลลงลึก แต่มีแรงรับ เกิดเป็นรูปแบบแท่งเทียนที่เรียกว่าค้อน (hammer) เป็นสัญญาณกลับทิศเป็นขาขึ้นประการหนึ่ง แสดงว่าตลาดหุ้นอเมริกามีแรงซื้อ ไม่ยอมลง รูปแบบทางเทคนิคยังไม่เสียหาย ลุงยังมองเช่นเดิมว่าตลาดหุ้นอเมริกากำลังเดินหน้าทดสอบแนวต้านใหญ่และมีโอกาสผ่านสูง ซึ่งจะเกิดโมเมนตัมเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยด้วย และหากเป็นไปตามนี้ สถานการณ์ในระยะสั้นคงยังไม่เลวร้ายเพราะได้อานิสงส์จากตลาดหุ้นอเมริกามาช่วย

Friday, July 31, 2015

มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทย (4)

“Toward a New Frontier” Series บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่”







ในตอนนี้เราจะมาดูดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญด้านการใช้จ่ายกันต่อจากตอนที่แล้ว


ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน


ตอนที่แล้วเราได้ศึกษาเกี่ยวกับดัชนีราคาผู้บริโภคอันเป็นตัวชี้วัดด้านราคาสินค้าและบริการ ยังมีตัวชี้วัดด้านการจับจ่ายใช้สอยที่สำคัญอีกตัวชี้วัดหนึ่ง นั่นคือ ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (private consumption index) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดด้านกำลังการจับจ่ายใช้สอยของบุคคล เรามักใช้ดูประกอบกับดัชนีราคาผู้บริโภค สองดัชนีนี้ให้ภาพการบริโภคที่ไม่เหมือนกัน ดัชนีราคาผู้บริโภคบ่งบอกว่าราคาสินค้าถูกหรือแพง ส่วนดัชนีการอุปโภคบริโภคบอกว่าผู้บริโภคซื้อมากน้อยเท่าไร บางทีสินค้าราคาถูกแต่ผู้บริโภคก็ยังไม่จับจ่าย หรือสินค้าราคาแพงแต่ผู้บริโภคก็ยังจับจ่ายอย่างไม่ยั้ง เหล่านี้จะทำให้เกิดภาพเศรษฐกิจที่แตกต่างกันออกไป

ดัชนีราคาผู้บริโภคนั้นคำนวนจากการจับจ่ายใช้สอยทั้ง สินค้าสิ้นเปลือง (หรือเรียกว่าสินค้าไม่คงทน เช่น เชื้อเพลิง กระแสไฟฟ้า สินค้าปลีก ฯลฯ) สินค้ากึ่งคงทน (เช่น เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ) สินค้าคงทน (เช่น รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ฯลฯ) การใช้จ่ายภาคบริการ (เช่น การกินอาหารในห้องอาหารหรือภัตตาคาร ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ฯลฯ) และ การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็นำเอาข้อมูลการใช้จ่ายใน 5 หมวดเหล่านี้มาคำนวณเป็นดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน


ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนบ่งบอกภาพรวมของการจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชน ส่วนดัชนีการใช้จ่ายสินค้าคงทนเน้นที่การใช้จ่ายสินค้าที่อายุใช้งานยาวนานและราคาสูง


เรามาดูกราฟดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (เส้นสีฟ้า) กัน จากกราฟเส้นสีฟ้าจะเห็นว่าการอุปโภคบริโภคในปี 2556 นั้นปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว บ่งบอกถึงการจับจ่ายใช้สอยที่หดตัวลง จากนั้นก็ดีขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงต้นปี 2557 พอกลางปี 2557 เป็นต้นมาดัชนีก็รุดตัวเป็นแนวโน้มขาลงมาโดยตลอด มีเดือน พ.ค. 2558 นี่เองที่เด้งขึ้นมาแบบพรวดพราด

เส้นสีฟ้านี้เราอาจจะรู้สึกว่าดูแนวโน้มยาก นั่นเป็นเพราะเป็นดัชนีที่เฉลี่ยจากการอุปโภคบริโภคหลายสิ่งหลายอย่าง โดยเฉพาะพวกสินค้าไม่คงทนหรือของกินของใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวันนั้นบางทีอยากจะประหยัดก็ทำได้ยาก เหตุปัจจัยหลายอย่างผสมกันจนผันผวน ทำให้ดูแนวโน้มได้ยาก

ในการพิจารณาเศรษฐกิจนั้นโดยทั่วไป การดูที่การบริโภคสินค้าคงทนอาจเห็นภาพได้ชัดกว่า เนื่องจากหากเศรษฐกิจไม่ดี แม้ว่าผู้บริโภคจะยังซื้อของกินของใช้ทั่วไปแต่มักจะไปชะลอการซื้อของที่อายุใช้งานยาวนานและราคาสูง ซึ่งดัชนีสินค้าคงทนนั้นคำนวณจากการซื้อรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งก็คือของที่มีอายุการใช้งานยาวนานและราคาสูงนั่นเอง

ดังนั้น เมื่อดูเส้นสีเหลืองหรือดัชนีสินค้าคงทน จะเห็นว่าเป็นขาลงหรือหมายถึงเศรษฐกิจน่าจะไม่ค่อยดีมาตั้งแต่ปี 2556 แล้วเพราะการบริโภคสินค้าคงทนลดลงมาโดยตลอด แต่เราจะสรุปฟันธงเศรษฐกิจจากกราฟเดียวไม่ได้ เพราะผลจากโครงการรถคันแรกที่ดึงกำลังซื้อไปล่วงหน้าก็สะท้อนอยู่ในเส้นนี้ด้วย ดังนั้นจำต้องพิจารณาดัชนีอื่นๆประกอบด้วย


ดัชนีราคาอสังหาริมทรัพย์ ตัวชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญ


ดัชนีอีกชุดหนึ่งที่นิยมใช้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจ นั่นคือ ดัชนีราคาอสังหาริมทรัพย์ ลองดูกราฟต่อไปนี้


ดัชนีราคาอาคารชุดปรับตัวขึ้นได้เร็วและผันผวนสูงเนื่องจากคอนโดมิเนียมมีสภาพเก็งกำไรมากกว่าบ้านเดี่ยว


ดัชนีราคาอสังหาริมทรัพย์นั้นมีดัชนีย่อยหลายดัชนี แต่วันนี้ลุงแมวน้ำนำมาให้ดูกันเพียง 2 ดัชนี นั่นคือ ดัชนีราคาอาคารชุด กับ ดัชนีราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน โดยปกติแล้วหากเศรษฐกิจเติบโต ราคาอสังหาริมทรัพย์จะค่อยๆขยับตัวสูงขึ้น หากเศรษฐกิจโตดีราคาอสังหาก็ขึ้นเร็วหน่อย หากเศรษฐกิจฝืดเคืองราคาอสังหาก็ทรงตัว หรือหากแย่มากก็อาจหดตัวได้

เมื่อพิจารณาจากกราฟ จะเห็นว่าราคาอาคารชุด (ราคาคอนโดมิเนียม เส้นสีเหลือง) ราคาขยับขึ้นเร็วกว่าราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน (เส้นสีฟ้า) อีกทั้งเส้นสีเหลืองยังผันผวนกว่า นั่นเป็นเพราะธรรมชาติของคอนโดมิเนียมมีความเป็นสินค้าเก็งกำไรมากกว่า ราคาจึงขึ้นเร็วกว่าและแกว่งตัวมากกว่า (โดยทั่วไปรูปแบบกราฟราคาคอนโดมิเนียมของไทยนั้นจะมีรูปทรงคล้ายขั้นบันได คือขึ้นแล้วพัก พักแล้วขึ้นต่อ จากนั้นพักอีก เนื่องจากการเก็งกำไรสูงทำให้เกิดภาวะโอเวอร์ซัพพลายเป็นระยะๆ ซึ่งต้องอาศัยเวลาดูดซับ) การพิจารณาแนวโน้มเศรษฐกิจจากดัชนีราคาอาคารชุดจึงอาจตีความยากสักหน่อย

แต่หากลองดูเส้นสีฟ้า ดัชนีราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน ปกติบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดินไม่ใช่สินค้าเก็งกำไร ผู้ที่ซื้อมักต้องการอยู่อาศัยอย่างแท้จริง ดังนั้นราคาไม่แกว่งมาก ลุงแมวน้ำว่าการดูแนวโน้มเศรษฐกิจจากดัชนีราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดินจะทำให้เห็นภาพเศรษฐกิจได้ชัดเจนกว่า

จากกราฟ จะเห็นว่าทั้งดัชนีราคาคอนโดกับดัชนีราคาบ้านเดี่ยวตั้งแต่ต้นปี 2558 เป็นต้นมา บ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ ทั้งราคาคอนโดและบ้านเดี่ยวทรงตัว สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยสดใสนัก ดีที่ยังไม่ใช่แนวโน้มหดตัว แต่ก็ประมาทไม่ได้ ระยะต่อไปจะเป็นอย่างไรก็ยังไม่รู้ 


พิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจด้วยดัชนีผสม


จากดัชนีที่ลุงแมวน้ำคุยมาให้ฟังทั้ง 3 ตอน หากเราลองรวมดัชนีสำคัญมาพล็อตอยู่ในกราฟเดียวกัน เราจะได้ภาพสะท้อนเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ลองมาดูกราฟนี้กัน


ภาพของเศรษฐกิจไทยที่สะท้อนจากดัชนี 4 ดัชนีทั้งภาคธุรกิจการลงทุน และภาคการบริโภค


กราฟนี้เป็นการรวมเอาดัชนีด้านธุรกิจ การค้า การลงทุน มารวมกับดัชนีด้านการบริโภคที่สำคัญ ลุงแมวน้ำเลือกมา 4 ดัชนี คือ ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ ดัชนีค่าใช้จ่ายสินค้าคงทน และดัชนีราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน จะเห็นว่าทั้งสี่ดัชนีนี้ไม่ทรงก็ลง สะท้อนภาพเศรษฐกิจไทยที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะดัชนีสินค้าคงทนกับดัชนีบ้านเดี่ยวนั้นหากอยู่ในสภาวะทรงตัวหรือทรุดตัวแล้วการจะให้กลับเป็นขาขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานาน แปลความว่าเศรษฐกิจไทยยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีกนานพอควรทีเดียว 


หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ชี้ภาพเศรษฐกิจทางอ้อม


การพิจารณาภาพทางเศรษฐกิจนอกจากดูที่การลงทุนหรือการบริโภคแล้ว เรายังอาจดูจากภาคการเงินก็ได้ นั่นคือ ปริมาณหนี้เสีย บางทีก็ดูปริมาณเช็คเด้ง แล้วแต่สะดวก เนื่องจากหากเศรษฐกิจไม่ดีการชำระหนี้ย่อมฝืดเคืองไปด้วย ปริมาณการผิดนัดชำระหนี้ย่อมมากขึ้น

ปกติการจัดชั้นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้นั้น คือหนี้ที่ขาดชำระเกินกว่า 3 เดือน เราก็ดูเอาจากรายงานการจัดชั้นหนี้ หาก NPL เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องย่อมสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี ดังในภาพนี้


ปริมาณหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ควรพิจารณาหนี้ชั้น SML ประกอบด้วยเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น


ข้อมูล NPL ออกเป็นรายไตรมาส ก็ไม่ค่อยฉับไวต่อสถานการณ์เมื่อเปรียบเทียบกับตัวชี้วัดที่รายงานเป็นรายเดือน นอกจากนี้ การพิจารณายอด NPL นั้นที่จริงควรพิจารณาชั้นหนี้ขาดชำระ 1-3 เดือนด้วย (ที่เรียกว่าชั้น SML) ว่าหนี้ชั้น SML  มีมากเท่าไรด้วยเนื่องจากพวกนี้คือกลุ่มที่รอเป็น NPL หาก NPL ก็มาก และ SML ก็รออยู่มาก ยิ่งบ่งบอกภาพเศรษฐกิจที่น่าหนักใจ


เอาละคร้าบ เล่ามาครบหมดแล้ว ทีนี้พวกเราก็พอจะติดตามภาพเศรษฐกิจกันได้ด้วยตนเองแล้ว

Monday, July 27, 2015

มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทย (3)

“Toward a New Frontier” Series บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่”





ในบทความสองตอนก่อนเราได้คุยเกี่ยวกับมุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยโดยพิจารณาจากตัวชี้วัดด้านธุรกิจการค้า อุตสาหกรรม การลงทุน ซึ่งเป็นการมองเศรษฐกิจจากตัวชี้วัดด้านการสร้างรายได้ อันถือเป็นต้นน้ำของเศรษฐกิจ เพราะมีรายได้จึงจะมีการจับจ่ายใช้สอยเกิดขึ้นตามมา

สำหรับในตอนนี้เราจะมาพิจารณาเศรษฐกิจไทยจากตัวชี้วัดด้านการอุปโภคบริโภคหรือด้านการจับจ่ายใช้สอยกันบ้าง หลายคนอาจสงสัยว่าก็ในเมื่อมีรายได้จึงจะมีการจับจ่ายใช้สอย ดังนั้นพิจารณาเศรษฐกิจจากตัวชี้วัดด้านธุรกิจ การค้า การลงทุนก็น่าจะเพียงพอแล้ว พูดแบบนั้นก็ไม่เชิง เนื่องจากการจับจ่ายใช้สอยมีปัจจัยทางจิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้องสูง บางทีแม้มีรายได้ดีแต่อาจไม่อยากจับจ่ายก็เป็นได้เพราะเรามองแนวโน้มในอนาคตข้างหน้าไม่ค่อยดีนัก จึงอยากประหยัดเอาไว้ก่อน เป็นต้น ดังนั้นตัวชี้วัดด้านการอุปโภคบริโภคก็บ่งชี้อาการทางเศรษฐกิจได้ไวและด้วยมุมมองที่แตกต่างออกไป หากจะมองเศรษฐกิจให้เกิดภาพหรือมุมมองอย่างทั่วถึงก็ควรพิจารณาทั้งตัวชี้วัดต้นน้ำและปลายน้ำประกอบกัน

ตัวชี้วัดด้านการอุปโภคบริโภคมีมากมายหลายตัว เรามาดูกันเพียง 3-4 ตัวชี้วัดที่สำคัญก็พอ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และดัชนีอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งดัชนีเหล่านี้จะมีดัชนีย่อยอีก และมีของแถม คือ ตัวชี้วัดเศรษฐกิจด้านการธนาคาร นั่นคือ ปริมาณหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือยอดเอ็นพีแอล (NPL)


ดัชนีราคาผู้บริโภค บ่งบอกภาวะการครองชีพ เงินเฟ้อ เงินฝืด


ดัชนีราคาผู้บริโภค (consumer price index) คือตัวชี้วัดที่เรานำมาคำนวณอัตราเงินเฟ้อนั่นเอง อัตราเงินเฟ้อปีละเท่านั้นเท่านี้ก็ได้มาจากดัชนีนี้ และเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อเป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญตัวหนึ่ง ดังที่เราได้อ่านพบในข่าวอยู่เสมอ ดังนั้นวันนี้เราจะคุยเรื่องนี้กันเยอะสักหน่อย

ดัชนีราคาผู้บริโภคหรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายก็คือดัชนีราคาสินค้าและบริการนั่นเอง โดยดัชนีนี้บ่งบอกราคาสินค้าและบริการที่จำเป็นในการครองชีพโดยบอกเป็นภาพรวม

ดัชนีนี้คำนวณจากราคาอาหารและเครื่องดื่ม ราคาเครื่องนุ่งห่มรองเท้า ราคาเกี่ยวกับที่พักอาศัย (ค่าเช่า เครื่องตกแต่งบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าดูแลความสะอาด ฯลฯ) ค่ารักษาพยาบาล ค่าเบี้ยประกัน ค่าเดินทาง ค่าติดต่อสื่อสาร ค่าบันเทิงสันทนาการ ค่าการศึกษา เป็นต้น ก็เอาราคาพวกนี้มาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักกัน ได้เป็นดัชนีราคาผู้บริโภคเพื่อบ่งบอกภาวะค่าครองชีพโดยรวม

ทีนี้ก็ต้องทำความเข้าใจกันหน่อยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคที่เรามักนิยมอ้างอิงกันนั้น มี 2 ดัชนีย่อย คือ

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป คือค่าใช้จ่ายต่างๆในย่อหน้าที่แล้วเอามาคำนวณเป็นดัชนี ดัชนีนี้เอาไปคำนวณอัตราเงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้อที่ได้เรียกว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (headline inflation)

อีกดัชนีหนึ่งที่ควบคู่กันไป นั่นคือ ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ก็คำนวณจากราคาสินค้าและบริการต่างๆข้างบนเช่นกัน แต่หักค่าอาหารและเชื้อเพลิงออกไป (คือไม่รวมค่าอาหารและเชื้อเพลิงนั่นเอง)  ดัชนีนี้เอาไปคำนวณอัตราเงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้อที่ได้เรียกว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation)

เหตุที่ต้องมีดัชนีสองตัวนี้ใช้ควบคู่กันเนื่องจากราคาอาหารและเชื้อเพลิงนั้นราคาไม่คงที่ แกว่งตัวหวือหวา โดยอาจเป็นไปตามฤดูกาลหรือเป็นช่วงสั้นๆ (ยกตัวอย่างเช่นหน้าแล้งผักแพง มะนาวแพง แต่ก็เพียงไม่นาน เป็นต้น) บางทีการแกว่งตัวที่หวือหวาอาจบดบังสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริงไป เราจึงต้องมีดัชนีแบบที่ตัดสินค้าอาหารและเชื้อเพลิง ไว้พิจารณาควบคู่กัน หากงงก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวดูกราฟแล้วจะเข้าใจ

การใช้ข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคนั้นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าดัชนีนี้เกี่ยวกับการบริโภคของชนชั้นกลางและมีรายได้ประจำ เป็นตัวแทนกำลังการบริโภคส่วนใหญ่ของประเทศแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดของประเทศ หากต้องการพิจารณาการบริโภคของคนยากคนจน ก็มีดัชนีราคาผู้บริโภคของผู้มีรายได้น้อย หรือหากต้องการพิจารณาการบริโภคในชนบทห่างไกล ก็มีดัชนีราคาผู้บริโภคในชนบท ให้ใช้พิจารณาโดยเฉพาะ เป็นต้น หรือหากเราต้องการดูภาวะการครองชีพในแต่ละภูมิภาค เราก็มีดัชนีราคาผู้บริโภคของแต่ละภาคให้ใช้ เป็นต้น

ทีนี้เรามาดูกราฟดัชนีราคาผู้บริโภคและการประเมินอัตราเงินเฟ้อกัน ดูภาพต่อไปนี้


ดัชนีราคาผู้บริโภค (consumer price index) ทั้งชุดทั่วไปและชุดพื้นฐานทั่วประเทศ ปี 2556-2558 


ในภาพนี้ เส้นสีฟ้าคือดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เส้นสีส้มคือดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน จะเห็นว่าในช่วงปี 2557 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (สีฟ้า) แกว่งตัวหวือหวาคือดัชนีร่วงแรง เพราะรวมราคาพลังงานและอาหารเข้าไปด้วย และปัจจัยที่ทำให้แกว่งตัวมากคือราคาน้ำมันนั่นเองเนื่องจากในปี 2557 นั้นราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวลงแรง หากนำข้อมูลนี้ไปคำนวณเป็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปก็จะได้อัตราเงินเฟ้อที่แกว่งตัว เดี๋ยวอัตราเงินเฟ้อเป็นบวก เดี๋ยวอัตราเงินเฟ้อติดลบ ทำให้ประเมินภาพเศรษฐกิจยาก

หากจะพูดให้เข้าใจง่าย ดัชนีเงินเฟ้อทั่วไปเปรียบเหมือนดัชนีเซ็ตนั่นเอง ดัชนีเซ็ตถ่วงน้ำหนักด้วยหุ้นกลุ่มพลังงานค่อนข้างมาก พอราคาน้ำมันโลกร่วงแรง หุ้นพลังงานก็ร่วง ดัชนีเซ็ตก็ร่วง ภาพที่เห็นดูเหมือนตลาดหุ้นร่วงทั้งตลาด แต่ที่จริงราคาหุ้นบางกลุ่มก็ไม่ได้ร่วงตามไปด้วย เป็นต้น

และนั่นเองคือที่มาของเส้นสีส้ม ลองดูเส้นสีส้ม ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานที่หักค่าพลังงานและอาหารออกไปแล้ว จะเห็นว่าเส้นสีส้มค่อยๆขยับตัวขึ้น บ่งบอกสภาพค่าครองชีพที่ค่อยๆขยับตัวขึ้น ทำให้ใช้ตีความเป็นภาพเศรษฐกิจได้ดีกว่า

ทีนี้เรามาดูกันอีกภาพหนึ่ง ดังนี้


ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานยุคต้มยำกุ้ง 2540-2542 เทียบกับปัจจุบัน 2556-2558 ความชันของเส้นบ่งบอกระดับของเงินเฟ้อได้อย่างคร่าวๆ


ภาพนี้เราดูกันเฉพาะดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน เพราะแบบทั่วไปตีความยาก เป็นภาพเดิมแต่ลุงแมวน้ำเติมเส้นสีเทาลงไป เส้นสีเทานี้คือดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานในยุคต้มยำกุ้งปี 2540-2542

เรามาพิจารณาลีลาของเส้นกัน การดูความชันของเส้นทำให้เราประมาณอัตราเงินเฟ้อได้แบบคร่าวๆ ไม่ต้องไปคำนวณให้ปวดหัว

ดูที่เส้นสีเทา

ในปี 2540 เส้นสีเทามีความชันพอควร ลุงแมวน้ำเทียบให้เป็นอัตราเงินเฟ้อระดับ ++

ปี 2541 ช่วงต้นปีและกลางปี เส้นสีเทามีความชันลดลง ให้เป็นระดับ + แสดงว่าปี 2541 เมื่อเทียบกับปี 2540 เศรษฐกิจแย่ลงเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อลดลง

ปลายปี 2541 ต่อต้นปี 2542 ช่วงคร่อมปีนี้เส้นสีเทาไม่มีความชัน คือเป็นความชันระดับ 0 ตอนนี้ค่าครองชีพนิ่ง คงที่ สินค้าบริการไม่ขึ้นราคา อัตราเงินเฟ้อเป็น 0 อย่างนี้ไม่ดีแล้ว แปลว่าเศรษฐกิจแย่ลงกว่าปี 2541 เสียอีก

กลางปี 2542 เส้นสีเทาความชันเป็น – (เป็นลบ) คือราคาสินค้าบริการลดลง แปลว่าเศรษฐิจแย่ลงกว่าเดิมอีก สินค้าบริการยืนราคาเดิมไม่ไหวเพราะไม่มียอดขาย ต้องลดราคาลง นี่คืออัตราเงินเฟ้อติดลบ หากติดลบนานไปก็กลายเป็นเศรษฐกิจถดถอย

เส้นสีเทานั้นคืออดีต แต่เส้นสีส้มคือสถานการณ์ปัจจุบัน ลองดูว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา ความชันของเส้นสีส้มลดลงเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันความชันของเส้นสีส้มเป็นบวกเพียงเล็กน้อย (คือความชันน้อย) แปลความว่าอัตราเงินเฟ้อลดลง เศรษฐกิจแย่ลง หากไม่แก้ไขอะไรหรือแก้ไขแต่ไม่สำเร็จ โมเมนตัมของเศรษฐกิจในช่วงต่อไปน่าจะก้าวไปสู่ความชัน 0 และความชันติดลบในที่สุด

วันนี้คุยกันได้แค่ดัชนีราคาผ้บริโภค แต่ก็ได้ความรู้เอาไปติดตามข่าวต่างได้ ครั้งหน้าคุยกันเรื่องดัชนีที่เหลือคร้าบ

Wednesday, July 22, 2015

มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทย (2)

“Toward a New Frontier” Series บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่”





วันนี้เรามาคุยกันต่อ การวิเคราะห์แนวโน้มของเศรษฐกิจเราก็ต้องวิเคราะห์จากตัวชี้วัด (indicator) ต่างๆ ซึ่งก็คล้ายๆกับการวิเคราะห์ทางเทคนิคนั่นเองที่ประกอบด้วยเครื่องมือวิเคราะห์และตัวชี้วัดมากมายหลายอย่างให้เลือกใช้ ก็สุดแท้แต่มุมมองของนักลงทุนที่จะเลือกใช้ตัวชี้วัดอะไร และขึ้นอยู่กับการตีความผลของตัวชี้วัดด้วย เช่น บางคนใช้ MACD บางคนใช้ RSI-14 บางคนใช้ MA หรือบางคนก็ใช้หลายอย่างร่วมกัน เป็นต้น การใช้ก็ต้องมีวิธีการตีความด้วยจึงจะอ่านออกมาเป็นเรื่องราวได้

ฉันใดก็ฉันนั้น ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจก็มีมากมายหลายตัวชี้ การนำมาใช้ก็ขึ้นกับความรู้ความเข้าใจและความถนัดด้วย ในที่นี้เราจะมีดูตัวชี้วัดที่สำคัญกันหลายตัว เพื่อให้สะท้อนให้เห็นมุมทางเศรษฐกิจหลายๆมุม


ดูเศรษฐกิจ ให้ดูการค้าการลงทุน


กลุ่มแรกที่เราจะมาดูกันก็เป็นตัวชี้วัดที่เกี่ยวกับธุรกิจ การค้า การลงทุน เพราะกิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้ เมื่อมีรายได้หรือมีเงินเข้ากระเป๋าก็มีกำลังไปจับจ่ายใช้สอย หรือเรียกว่าเป็นกิจกรรมต้นน้ำทางเศรษฐกิจก็ได้

ตัวชี้วัดในกลุ่มธุรกิจ การค้า การลงทุน ที่ลุงแมวน้ำอยากนำมาคุย ได้แก่ สถิติการส่งออก อัตราการใช้กำลังการผลิต (capacity utilization rate) ดัชนีเศรษฐกิจ (economic index) ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (business sentiment index) ที่จริงเราก็ได้ดูกันไปบ้างแล้ว นั่นคือ สถิติการส่งออก และอัตราการใช้กำลังการผลิต วันนี้เราจะมาคุยเกี่ยวกับตัวชี้วัดอื่นกันต่อ

จากตอนที่แล้วเราจะเห็นว่าการส่งออกของเราหดตัวลงต่อเนื่อง 3 ปี รวมทั้งอัตราการใช้กำลังการผลิตก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นทิศทางที่สอดคล้องกัน


อัตราการใช้กำลังการผลิต


ทีนี้วิธีการตีความอย่างง่ายก็ใช้จินตนาการช่วยนิดหน่อย ลองดูอัตราการใช้กำลังการผลิต ปัจจุบันอยู่ที่ 56.6% แปลความง่ายๆว่ามีเครื่องจักร 100 เครื่องแต่ใช้งานเพียง 56.6 เครื่อง หรือใช้กำลังการผลิตประมาณครึ่งเดียวของที่มีอยู่ หากเป็นแบบนี้ สถานการณ์ที่เกิดกับพนักงานในโรงงานผลิตก็คือไม่มีค่าโอที รวมทั้งอาจมีการปรับลดพนักงานลงเพื่อให้เหมาะกับปริมาณงาน นอกจากนี้ยังอาจหมายถึงการปิดกิจการเพราะสู้ต้นทุนไม่ไหว ดังนั้นการใช้กำลังการผลิตที่ลดลงต่อเนื่องย่อมส่งผลถึงรายได้และการบริโภคของประชาชนในภาพรวมด้วย


ดัชนีเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดเศรษฐกิจภาพกว้างในระยะสั้น


ต่อไปเราจะไปดูตัวชี้วัดทางธุรกิจ การค้า การลงทุนกันอีกตัวชี้วัดหนึ่ง นั่นคือ ดัชนีเศรษฐกิจ (economic index) 

ที่จริงดัชนีเศรษฐกิจนี้ให้ภาพเศรษฐกิจในมุมกว้าง คือเป็นภาพในระดับที่ใหญ่กว่ามูลค่าการส่งออกหรืออัตราการใช้กำลังการผลิต ที่จริงควรจะคุยเรื่องนี้กันก่อน แต่ไหนๆก็ไหนๆ แล้วไปแล้ว >.<

ดัชนีเศรษฐกิจนี้แบ่งเป็น 2 ดัชนีย่อย นั่นคือ เป็นตัวชี้วัดความคาดหวังกับอนาคตข้างหน้าตัวหนึ่ง เรียกว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (leading economic index) กับ ตัวที่บ่งชี้สถานการณ์ปัจจุบันอีกตัวหนึ่ง เรียกว่าดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (coincident economic index) ใช้มองภาพเศรษฐกิจในระยะสั้นประมาณ 3 เดือน

ดัชนีพ้องเศรษฐกิจนั้นใช้ชี้วัดสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยคำนวณจากข้อมูลการนำเข้า ผลผลิตทางอุตสาหกรรม ภาษีมูลค่าเพิ่ม การซื้อรถยนต์ ฯลฯ ส่วนดัชนีชี้นำเศรษฐกิจคำนวณจากข้อมูลที่ยังไม่เกิดผลในปัจจุบันแต่จะเกิดผลในอนาคตอันสั้นข้างหน้า ยกตัวอย่างเช่น การคำนวณจากเงินทุนจดทะเบียนของบริษัทตั้งใหม่ พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง เป็นต้น บริษัทที่ตั้งใหม่หรือพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง ยังไม่เกิดผลทางเศรษฐกิจในวันนี้ แต่ก็ย่อมจะมีการลงทุนต่างๆตามมา

ทีนี้เรามาดูกราฟดัชนีเศรษฐกิจกัน ดังกราฟต่อไปนี้ เส้นสีส้มคือดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ ส่วนเส้นสีน้ำเงินคือดัชนีพ้องเศรษฐกิจ


ดัชนีเศรษฐกิจ บ่งชี้สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันไปพร้อมกับคาดการณ์ล่วงหน้าไปอีกสามเดือน


จะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2013 จนถึงต้นปี 2014 เส้นสีส้มหรือดัชนีชี้นำเศรษฐกิจทรงตัว หรือจะเรียกว่าไซด์เวย์ก็ได้ ยังจำได้ไหมว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีการชุมนุมประท้วงกันอย่างต่อเนื่อง ช่วงนั้นความคาดหวังทางเศรษฐกิจหากมองจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจก็ตีความได้ว่าช่วงนั้นยังไม่เห็นความหวังอะไร ก็อยู่แบบประคองตัวไปเรื่อยๆ แต่พอเดือนมิถุนายน 2014 กราฟสีส้มพุ่งทะยานต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี ตีความได้ว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2014 เกิดการรัฐประหาร ลุงตู่ยึดอำนาจการปกครอง ช่วงนั้นเศรษฐกิจดูมีความหวังมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่พอย่างเข้าปี 2015 เส้นสีส้มก็ทรงตัวเป็นไซด์เวย์ แปลว่าไม่ได้คาดหวังดีๆอีก แค่ประคองตัวไปเท่านั้น

ทีนี้มาดูเส้นสีฟ้า เส้นสีส้มคือความหวัง เส้นสีฟ้าคือความเป็นจริงของปัจจุบัน ปรากฏว่าดัชนีพ้องเศรษฐกิจเป็นทิศทางขาลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2013 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง แปลว่าความหวังไม่สัมฤทธิ์ผล ความจริงเป็นอีกแบบหนึ่ง นั่นคือ เศรษฐกิจแย่ลงเรื่อยๆ


ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ บอกขวัญและกำลังใจ


จากนั้นก็มาดูตัวชี้วัดกันอีกชุดหนึ่ง นั่นคือ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Business sentiment index) ดัชนีนี้แบ่งเป็นสองดัชนีย่อยเช่นกัน คือเป็นความเชื่อมั่นในปัจจุบัน กับความเชื่อมั่นกับสถานการณ์ในอีกสามเดือนข้างหน้า ตัวชี้วัดนี้ใช้บ่งชี้ภาพใหญ่ของธุรกิจ การค้า การลงทุน เช่นเดียวกับดัชนีเศรษฐกิจ แต่ว่าต่างกันตรงที่มา ดัชนีเศรษฐกิจนั้นคำนวณจากข้อมูล ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจนี้เป็นการไปสอบถามความคิดเห็นของผู้ประกอบการอันเป็นเรื่องของทัศนคติหรือความเชื่อมั่นล้วนๆ 

มาดูกราฟดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจกัน วิธีดูก็คล้ายๆกับดัชนีเศรษฐกิจแต่ดัชนีความเชื่อมั่นนี้จะสะท้อนถึงขวัญและกำลังใจของผู้ประกอบการมากกว่า ถ้าแนวโน้มขาขึ้นก็ดี ถ้าขาลงก็ไม่ดี ถ้าทรงตัวก็แปลว่ามึนๆไม่รู้จะไปทางไหน นอกจากนี้ ตัวเลข 50 ยังเป็นเกณฑ์สำคัญ เกิน 50 ถือว่าดี ต่ำกว่า 50 ถือว่าไม่ดี


ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) ประเมินจากทัศนคติของนักธุรกิจผู้ประกอบการ ประกอบด้วยความเชื่อมั่นในปัจจุบันกับความเชื่อมั่นในอีกสามเดือนข้างหน้า


จากกราฟ ดูเส้นสีส้ม ความเชื่อมั่นในสามเดือนข้างหน้า จะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2013 หรือ พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา เส้นกราฟเป็นแนวโน้มขาลงต่อเนื่อง ตีความว่าความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลงตลอด ขวัญและกำลังใจของผู้ประกอบการ นักธุรกิจ หดหายไปเรื่อยๆตลอดการชุมนุมประท้วง จนมาถึงเดือนมิถุนายน 2014 ความเชื่อมั่นก็พุ่งทะยานเพราะเกิดการรัฐประหาร

แต่ความเชื่อมั่นพุ่งทะยานได้เพียง 3-4 เดือน จากนั้นก็เริ่มมึนๆคิดอะไรไม่ออกอีก และจากปีใหม่ 2015 หรือ 2558 ปีนี้เป็นต้นมา ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจผู้ประกอบการดูเหมือนจะหดหายไป แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้แม้จะขึ้นบ้าง มึนบ้าง ลงบ้าง แต่ยังเกินกว่า 50 ก็ยังพอทน

ทีนี้มาดูเส้นสีน้ำเงิน ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในปัจจุบัน ลีลาก็คล้ายเส้นสีส้ม คือ ปี 2556 เป็นขาลงทั้งปี มาปี 2557 ค่อยๆดีขึ้นหลังรัฐประหาร แต่ในช่วงชุมนุมและหลังรัฐประหาร เส้นสีน้ำเงินต่ำกว่า 50 มาโดยตลอด แปลว่าแม้จะดีขึ้นแต่ยังจัดว่าลำบากอยู่ พอมาต้นปี 2558 ดัชนีความเชื่อมั่นผันผวนหนัก มีทั้งเกิน 50 และต่ำกว่า 50 แสดงว่าช่วงนี้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองผันผวนสูง กระทบความเชื่อมั่นมากทีเดียว แต่ถ้าพิจารณาเส้นสีส้มประกอบด้วยก็อาจตีความได้ว่าความเชื่อมั่นในปัจจุบันไม่ค่อยดี และยังมองว่ามีแนวโน้มที่สถานการณ์จะแย่ลงไปอีก

และยิ่งถ้าเราพิจารณาดัชนีเศรษฐกิจ (economic index ชุดนี้เป็นข้อมูล ไม่ใช่ทัศนคติ) ประกอบด้วย ก็น่าจะตีความว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในตอนนี้ไม่ค่อยดีและแนวโน้มในอนาคตคงแย่ลง นี่แหละที่น่าเป็นห่วงอยู่เหมือนกัน


ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม


และแถมท้ายด้วยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thailand industries sentiment index) ที่จริงเดิมทีลุงแมวน้ำไม่คิดจะนำมาคุย เพราะมีดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจดูก็น่าจะพอแล้ว ดูเยอะเดี๋ยวงง แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจนำมาเป็นของแถม เพราะว่าดัชนีชุดนี้ออกช้อมูลเดือนล่าสุดมิุนายนแล้ว ซึ่งข้อมูลทันสมัยอัปเดตดี จึงเอามาแถม


ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI)


ดัชนีนี้เป็นความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรม กราฟนี้มีข้อมูลถึงมิถุนายน 2558 ด้วย เพิ่งออกสดๆร้อนๆ ที่อยากให้ดูก็คือทิศทางความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรมของไทยลดลงโดยตลอดตั้งแต่ปลายปี 2557 ทั้งสองเส้นเลย เส้นความบอกทิศทางชัดเจนกว่าดัชนีเศรษฐกิจเสียอีก นั่นคือปัจจุบันก็มีทิศทางแย่ลง ความคาดหหวังก็มองแย่ลง ประเด็นนี้น่าเป็นห่วง

วันนี้คุยกันได้แค่ดัชนีในภาคธุรกิจ การค้า การลงทุน ยังไม่จบนะคร้าบ คราวหน้ามาดูตัวชี้วัดที่มองจากด้านการอุปโภคบริโภค หรือด้านการจับจ่ายใช้สอยนั่นเอง