Tuesday, February 24, 2015

หุ้นสองกลุ่มสองมุม อุ่นใจหรือฟื้นไข้



ดัชนีตลาดหุ้นไทยยังไม่ไปไหน ป้วนเปี้ยนอยู่แถว 1600 จุด เริ่มเสียวๆกันแล้วใช่ไหมว่าจะอาจจะไปต่อไม่ไหว ^_^

ใจเย็นๆนะคร้าบ วันหน้าต้องดีกว่าวันนี้ แต่แน่นอน หุ้นคงไม่ได้ขึ้นทุกวัน มีขึ้นมีลงสลับกันไป ลุงแมวน้ำก็ยังเผื่อใจไว้ว่าอาจต้องปรับตัวลงก่อนสักรอบหนึ่งก่อนที่จะฝ่าด่าน 1600 จุดไปได้

ลุงแมวน้ำกำลังเขียนบทความชุดใหม่อยู่ แต่ช่วงหลังนี้บทความแต่ละตอนลุงแมวน้ำใช้ข้อมูลค่อนข้างมาก ดังนั้นการเขียนจึงไปได้ช้าๆ ตามประสาแมวน้ำอุ้ยอ้าย ก่อนที่จะมีบทความตอนใหม่ในชุด "ทะยานสู่พรมแดนใหม่" เรามาดูหุ้นสองกลุ่มสองสไตล์เป็นการสลับฉากกันก่อน

ชอบอุ่นใจ ดูพวกสาธารณูปโภค กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน


สำหรับผู้ที่มีนิสัยรักความปลอดภัย พูดง่ายๆคือไม่ชอบเสี่ยง ชอบอะไรที่ความเสี่ยงต่ำ แต่อยากสร้างผลตอบแทนให้ดีกว่าเงินฝาก หลายๆคนอาจชอบผ่อนทาวน์เฮาส์หรือคอนโดแล้วปล่อยเช่า เอาค่าเช่าที่ได้มาผ่อนธนาคาร ค่าเช่าที่ได้อาจเท่าค่าผ่อนหรือมีกำไรจากค่าเช่าหักค่าผ่อนแล้วนิดๆหน่อยๆ แต่วัตถุประสงค์หลักมักเป็นว่าได้อสังหาริมทรัพย์นั้นมาเป็นสมบัติ นั่นคือเป้าหมายระยะยาว

ก็น่าแปลกที่ผู้ที่ซื้อคอนโดปล่อยเช่าซึ่งหวังเป้าหมายระยะยาวเหล่านี้ พอมาลงทุนในตลาดหุ้นเท่านั้นแหละ สามวันหุ้นไม่ขยับก็บ่นแล้ว ตลาดหุ้นนี่ทำให้คนใจร้อนขึ้นได้เหมือนกันนะเนี่ย ^_^

สำหรับผู้ที่รักความเสี่ยงต่ำๆ ก็เน้นที่หุ้นที่สร้างรายได้สม่ำเสมอเอาไว้ดีกว่า หุ้นในกลุ่มนี้ก็มักเป็นหุ้นในกลุ่มสาธารณูปโภค พวกขายไฟฟ้า ขายน้ำประปา กับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือที่เรียกว่ารีทส์ (REITs) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

พวกหุ้นสาธารณูปโภคมีรายได้จากการขายสาธารณูปโภคซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นรายได้จึงค่อนข้างแน่นอน พวกรีทส์นี้มักมีรายได้จากการเก็บค่าเช่า เช่น รีทส์ที่ลงทุนในศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน เป็นต้น ราคาของกองรีทส์มักไม่ค่อยหวือหวา แต่ละปีก็จ่ายเงินปันผลในราว 7% (โดยประมาณ) พวกกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานก็ให้ผลตอบแทนประมาณ 7-8% เช่นกัน ลองมองพวกนี้ไว้ก็ไม่เลว พวกนี้เป็นหุ้นมั่นคง ไม่หวือหวา ผลตอบแทนก็เรื่อยๆมาเรียงๆ ไม่หวือหวาเช่นกัน จะหวัง สามเด้ง ห้าเด้ง คงยากมาก การเลือกต้องพิจารณาเป็นรายตัวนะคร้าบ ไม่ใช่หุ้นไหนหรือว่ากองทุนรวมไหนก็ได้





ตัวอย่างของหุ้นแนวนี้ก็เช่น SPCG เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หรือโรงไฟฟ้าโซลาร์นั่นเอง ปัจจุบันมี P/E 15.2 เท่า ราคานี้ซื้อปัจจุบัน ไม่ได้ซื้ออนาคตไปล่วงหน้านานๆ ธรรมาภิบาลก็ใช้ได้ ลุงแมวน้ำอยากให้มองและเลือกหุ้นแนวพลังงานทดแทนเป็นหุ้นมั่นคงปลอดภัยมากกว่าหุ้นเก็งกำไร เพราะตัวกิจการเองโดยธรรมชาติมักมีรายได้สม่ำเสมอ คล้ายกับการเก็บค่าเช่าหอพักทำนองนั้น ไม่ควรไปไล่ล่าราคาจนพีอีเป็นหลายสิบเท่าหรือร้อยกว่าเท่า


หุ้นสายการเดินเรือฟื้นไข้ ได้ปัจจัยราคาน้ำมันถูกเสริม


สำหรับผู้ที่รักผลตอบแทนที่สูงขึ้นละรับความเสี่ยงได้มากขึ้น นอกจากหุ้นในธีมชุมชนเมืองเติบใหญ่แล้ว ยังมีหุ้นอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าจะจัดเป็นหุ้นฟื้นไข้ น่าสนใจอยู่เหมือนกัน ลุงขอยกตัวอย่างกรณีศึกษาสักหนึ่งราย นั่นคือ หุ้นสายการเดินเรือคอนเทนเนอร์ หรือสายเรือตู้ 







จำได้ไหมที่ลุงแมวน้ำเคยคุยเรื่องเรือเทกอง เรือเทกอง (เรือที่ขนส่งวัตถุดิบ เช่น แร่ สินค้าเกษตร ฯลฯ) มีดัชนีค่าระวางเรือคือ BDI ส่วนเรือคอนเทนเนอร์หรือเรือตู้นี้ เป็นเรือขนส่งสินค้าสำเร็จรูปหรือสินค้าที่ผลิตแล้ว ค่าระวางเรือคอนเทนเนอร์ดูได้จาก ดัชนีโฮว์รอบินสัน (Howe Robinson Container Index, HRCI) 

จากกราฟ HRCI จะเห็นว่าค่าระวางเรือตู้ค่อยๆดีขึ้นมาหลายปีแล้ว แม้จะค่อยๆขยับขึ้นช้าๆ แต่ก็ดูมั่นคงดี สะท้อนภาพของเศรษฐกิจโลกที่ค่อยๆฟื้นตัวอย่างช้าๆ แม้ช้าแต่ก็ฟื้นตัวได้ละน่า

ปัจจัยที่น่าสนใจของเรือตู้นี้ก็คือ ราคาน้ำมันที่ร่วงแรง แต่ราคาค่าระวางเรือไม่ลด นั่นคือราคาขายเพิ่มขึ้นและต้นทุนลดลง ยังงี้กำไรก็มากขึ้นสิ ก็คาดการณ์กันว่าหุ้นเรือตู้น่าจะมีผลประกอบการที่น่าประทับใจในปี 2015 นี้




หุุ้นเรือตู้ที่อยู่ในตลาดหุ้นไทยมีเพียงหุ้นเดียว คือ RCL ดังกราฟที่ลุงแมวน้ำนำมาให้ดู หุ้นนี้เป็นหุ้นเก่าแก่ ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก สามารถเอาตัวรอดมาได้จนทุกวันนี้ บ่งบอกถึงฝีมือการทำงานที่ไม่ธรรมดา อีกทั้งธรรมาภิบาลก็ใช้ได้ ราคาตอนนี้ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีเสียอีก ค่าพีอียังไม่มีเนื่องจากขาดทุนอยู่ แต่ต้องดูงบ 2014 ทั้งปี (ยังไม่ออก) อาจพลิกเป็นมีกำไรนิดหน่อยจากไตรมาสสุดท้าย หุ้นนี้ก็เป็นแนวฟุ้นฟื้นไข้ที่น่าสนใจคร้าบ

Thursday, February 19, 2015

อสังหาริมทรัพย์ไทยใกล้ฟองสบู่แตกหรือยัง (4)

“Toward a New Frontier” Series บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่”






ล้นตลาดเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้แปลว่าเกิดฟองสบู่


“ลุงแมวน้ำนี่โลกสวยเสมอเลยนะ” ลิงจ๋อพูด

“ขอบคุณที่ชมคร้าบ” ลุงแมวน้ำปลื้มใจ

“โห น้าจ๋อประชดแล้วยังลุงไม่รู้ตัวอีก” กระต่ายน้อยหัวเราะขำ

“อ้าว ประชดหรอกเหรอ นึกว่ากำลังชม” ลุงแมวน้ำหัวเราะไปด้วย “ที่จริงโลกนี้มีเรื่องเศร้าหมองมากมาย คิดแต่เรื่องเศร้าๆจิตใจก็หดหู่ การคิดบวกเอาไว้บ้างถือว่าเป็นเครื่องป้องกันสุขภาพจิตของเรา”

ลิงค้นกองกระดาษที่ลุงแมวน้ำหยิบออกมาแสดง พร้อมกับหยิบรูปใบหนึ่งออกมาชูไว้ และพูดว่า



ผลสำรวจตลาดอาคารชุดในประเทศไทย ปี 2557


“ที่ลุงแมวน้ำบอกว่ากรุงเทพฯยังเติบโตได้อีกมาก และยังบอกว่าผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ทำอภิมหาโครงการนั้นโครงการนี้ แล้วตารางแผ่นนี้ลุงจะอธิบายยังไง” จำนวนคอนโดมิเนียมทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดเหลือบานเบอะ ยังงี้ลุงยังว่าไม่เกิดฟองสบู่อีกหรือครับ”

ภาพที่ลิงจ๋อค้นมาจากกองกระดาษของลุงแมวน้ำนั้นเป็นกราฟิกแสดงจำนวนคอนโดมิเนียมที่ล้นตลาดทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ที่เป็นข่าวในหนังสือพิมพ์เมื่อปลายปี พ.ศ. 2557 หรือปีที่แล้วนี่เอง

“นั่นสิจ๊ะลุง คอนโดเหลือมากมายก่ายกอง ฉันก็ว่าฟองสบู่จะแตกแล้วมั้ง” ยีราฟพูดด้วยน้ำเสียงวิตกจริต สุดท้ายก็กรีดร้อง “กรี๊ดดดดดดด หุ้นของฉันต้องร่วงแน่ๆ ขาดทุนยับอีกแล้ว”

ลุงแมวน้ำรีบเอาปลายครีบอุดหู

“แม่ยีราฟระวังกรมควบคุมมลพิษมาจับตัวไปนะ” ลุงแมวน้ำเตือน

“กรมควบคุมมลพิษจะมาจับฉันไปทำไมเหรอ ฉันไม่ได้ทำอะไรผิดนี่” ยีราฟงง

“ก็แม่ยีราฟสร้างมลพิษทางเสียงอยู่นี่ไง เกิน 120 เดซิเบลแล้วมั้ง” ลุงแมวน้ำถอนหายใจด้วยความอิดหนาระอาใจ

“เชอะ ให้มาจับลุงแมวน้ำไปก็แล้วกัน” ยีราฟค้อน “ว่าแต่ลุงจะอธิบายภาพนี้ยังไง”

ล้นตลาดก็ล้นตลาดสิ ภาวะล้นตลาดกับภาวะฟองสบู่ไม่เหมือนกัน แม่ยีราฟต้องแยกแยะประเด็นนี้ให้ออกก่อน” ลุงแมวน้ำพูด “ภาวะอสังหาริมทรัพย์ล้นตลาดหรือที่เรียกว่าโอเวอร์ซับพลาย (over supply) นั้นเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้เสมอๆ จะเรียกว่าเป็นภาวะปกติก็ได้

“อ้าว ไม่เหมือนกันหรอกเหรอครับ แถมยังเป็นเรื่องปกติเสียอีก มันยังไงกัน” ลิงก็สงสัย

“ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจธรรมชาติของการลงทุนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์กันเสียก่อน” ลุงแมวน้ำอธิบาย “โดยปกติแล้วเมื่อมีทำเลเกิดใหม่ที่เหมาะที่จะพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ทำเลนั้นๆก็จะมีผู้ประกอบการแห่กันไปทำโครงการ เรียกว่าแข่งกันไปชิงก้อนเค้ก จากนั้นโครงการต่างๆในย่านนั้นก็จะเกิดขึ้นมากมาย จากนั้นกำลังซื้อจะค่อยๆเกิดขึ้นและดูดซับอุปทาน (supply) ไป ดังนั้นในช่วงที่ผู้ประกอบการแห่กันไปยึดหัวหาดในทำเลใหม่ ตอนนั้นแหละที่ทำเลนั้นเกิดภาวะอุปทานล้นตลาด แต่ว่าหลังจากนั้นก็จะมีกำลังซื้อมาดูดซับไปจนเข้าสู่ภาวะสมดุล ดังนั้นลุงจึงบอกว่าภาวะล้นตลาดนั้นเกิดขึ้นได้เสมอและอาจถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติ แตกต่างจากภาวะฟองสบู่”

“ยังไม่ค่อยเข้าใจเลยจ้ะลุง” ยีราฟพูด “ลุงอธิบายอีกทีได้ไหม”


กรณีศึกษา การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตามแนวรถไฟฟ้าสีม่วง ล้นตลาดแต่ไม่ใช่ฟองสบู่


“ยังงั้นลุงยกตัวอย่างกรณีศึกษาให้ดูกันดีกว่า จะได้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ดูจากของจริงกันเลย นั่นคือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วง เตาปูน-บางใหญ่ โครงการนี้อยู่ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างกรุงเทพฯกับนนทบุรี แม้ว่าจะเป็นโครงการในกรุงเทพฯ แต่หากเข้าใจเราก็สามารถอธิบายภาพภาวะอสังหาริมทรัพย์ล้นตลาดในต่างจังหวัดได้ด้วยเช่นกัน” ลุงแมวน้ำพูด

ลุงแมวน้ำล้วงครีบเข้าไปในหูกระต่าย ควานหาอะไรในหูกระต่ายชั่วครู่ จากนั้นก็ดึงกระดาษออกมาอีกปึกหนึ่ง และพูดว่า


เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน บางใหญ่


“เราค่อยๆมาดูกันทีละภาพ” ลุงแมวน้ำพูดพลางแสดงภาพแรกให้บรรดาสมาชิกคณะละครสัตว์ขาหุ้นได้ดูกัน “รถไฟฟ้าสายสีม่วงนี่แบ่งออกเป็นสองช่วง เราจะคุยกันเฉพาะช่วงเตาปูนไปบางใหญ่ เส้นทางจากเตาปูนไปบางใหญ่ก็ไปทางถนนติวานนท์ แยกแคราย จากนั้นตามแนวถนนรัตนาธิเบศร์ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานพระนั่งเกล้า และไปผ่านอำเภอบางใหญ่ จุดสุดทางหรือสถานีสุดท้ายคือคลองบางไผ่ อยู่ในอำเภอบางบัวทอง จากสถานีสุดท้ายเลยไปอีกหน่อยก็เป็นตลาดบางบัวทอง และเข้าสู่จังหวัดสุพรรณบุรีได้


ถนนรัตนาธิเบศร์ใน พ.ศ. 2528 สภาพยังเป็นชนบทอยู่


“เรามาดูภาพเก่ากันหน่อย ดูขำๆ สมัยก่อนเมื่อปี พ.ศ. 2528 ถนนรัตนาธิเบศร์เป็นดังในภาพที่เห็น สองข้างทางมีแต่ต้นไม้ สภาพเป็นท้องที่ชนบท



กราฟเปรียบเทียบราคาที่ดินถนนรัตนาธิเบศร์ในช่วงปี พ.ศ. 2537 ถึง 2547


“ทีนี้เรามาดูราคาที่ดินย่านถนนรัตนาธิเบศร์กันเล่นๆ ลุงมีข้อมูลช่วงปี 2537 ถึงปี 2547 ในเชิงเปรียบเทียบอยู่ ปรากฏราคาที่ดินในปี พ.ศ. 2537 คิดให้เป็น 100%  หรือเปรียบเป็นราคาตารางวาละ 100 บาท พอมาถึงปี พ.ศ. 2547 ราคาที่ดินขยับขึ้นมาเป็น 113% หรือตารางวาละ 113 บาทนั่นเอง ในรอบสิบปีราคาขยับขึ้นนิดเดียว

“ส่วนหนึ่งเป็นเพราะช่วงนั้นเราผ่านวิกฤตต้มยำกุ้งด้วย ซึ่งประเด็นนั้นเราไม่ไปลงรายละเอียด แต่หลังจากมีโครงการรถไฟฟ้าผ่านย่านนี้ โดยเริ่มต้นโครงการในปี 2548 พอรู้แนวรถไฟฟ้าและแนวเวนคืนแล้ว ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างก็แห่กันไปลงโครงการตามแนวรถไฟฟ้าเส้นนี้ ใครไปก่อนหรือที่เรียกว่า first mover ก็ได้เปรียบ เพราะว่าเลือกทำเลที่ดินสวยๆได้ก่อนและขึ้นโครงการได้ก่อน ซึ่งก็คือการไปยึดหัวหาดเอาไว้นั่นเอง

“โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆนี้ใครเข้าก่อนก็ได้ก่อน และเป็นเรื่องสำคัญด้วย เนื่องจากผู้ที่เข้าไปยึดหัวหาดทำโครงการตั้งแต่ในปีแรกหรือปีที่สองนั้นได้ทำเลดีกว่าและดูดกำลังซื้อในพื้นที่ไปมากแล้ว ผู้ประกอบการที่ตามเข้าไปในปีที่สามและปีที่สี่ช่วงนั้นจะเกิดภาวะโอเวอร์ซับพลายหรือว่าอุปทานล้นตลาดสำหรับในย่านนั้นแล้ว หากเป็นทำเลดีจริงๆก็ยังขายได้ แต่หากเป็นทำเลชั้นรองก็ต้องรออีกนานหลายปีกว่ากำลังซื้อ (อุปสงค์) จะค่อยๆดูดซับอุปทานรุ่นหลังไปได้หมด 

“ท้ายที่สุดอุปสงค์และอุปทานจะเข้าสู่ดุลยภาพ โดยหากผู้ประกอบการที่มาทีหลังไม่ประเมินสถานการณ์ให้ดีแล้ว ผู้มาทีหลังอาจเจ็บตัวได้ เพราะเป็นช่วงอุปทานล้นตลาด แต่หากรู้จักประมาณตน หากเห็นว่าไม่น่าเสี่ยงก็ไปดูทำเลที่อื่นๆแทน ผู้ประกอบการรายนั้นก็รอดตัวไป ดังนั้นที่ว่าโครงการเจ๊งหรือขายไม่ออก หรือว่าล้นตลาด มักเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการที่มาทีหลังและไม่ศึกษาตลาดให้ดีพอ เช่น ทำเลไม่ดีก็ยังพยายามขึ้นโครงการ ฯลฯ ส่วนผู้ที่เป็นรุ่นแรกๆนั้นสบายขายหมดไปนานแล้ว วัฏจักรของอสังหาริมทรัพย์ในเฉพาะพื้นที่ก็เป็นแบบนี้แหละ



สภาพของถนนรัตนาธิเบศร์ พ.ศ. 2528 กับในปัจจุบัน


“ที่ดินย่านถนนรัตนาธิเบศร์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ราคาในปี 2557 เทียบเท่ากับ 700% ของเมื่อปี 2537 ทีเดียว โดยในปี 2548 อันเป็นปีที่เริ่มต้นโครงการรถไฟฟ้า ราคาที่ดินแถวนั้นที่ตารางวาละ 20,000 บาท พอมาในปี 2557 กลับกลายเป็นตารางวาละ 140,000 บาท คิดดูก็แล้วกันว่าโครงการรถไฟฟ้าทำให้ราคาทีดินและอสังหาริมทรัพย์ในย่านนั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นมากเพียงใด แม้จนบัดนี้ โครงการอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมก็ยังผุดตามแนวรถไฟฟ้าสีม่วงนี้ โดยใครที่มีทำเลดีจริงๆก็ยังขายได้อยู่


ภาพแสดงโครงการบ้านจัดสรรและอาคารชุดตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน บางใหญ่ ตั้งแต่ก่อนปี 2557 และโครงการที่เปิดขายในปี 2557 (คลิกที่ตัวภาพเพื่อดูขนาดขยาย)


“เราลองมาดูภาพนี้กัน ภาพนี้ผังเป็นโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง เราดูกันแต่เฉพาะคอนโดมิเนียมก็แล้วกัน จะได้ไม่งง

“จุดสีชมพูอ่อนๆคือโครงการคอนโดมิเนียมที่ขายก่อนปี 2557 จะเห็นว่าคอนโดมิเนียมจะเกาะตามแนวรถไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด พูดง่ายๆคืออยู่ไกลจากแนวรถไฟฟ้าไม่ได้ ไม่เช่นนั้นขายได้ยาก

“ส่วนจุดสีแดงคือโครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดขายในปี 2557 จะเห็นว่าในปี 2557 ก็ยังมีโครงการเปิดตัวมากมายทีเดียว ซึ่งจุดสีแดงเหล่านี้แหละ วัฏจักรการขายก็เป็นเช่นที่ลุงแมวน้ำเล่ามา คือโครงการเดิมๆที่ยังขายไม่ออกก็ยังมีอยู่  ดังนั้นโครงการใหม่ที่เกิดขึ้นหากทำเลดีจริงก็ขายได้ หากทำเลไม่ดีก็ขายไม่ออก กลายเป็นอุปทานล้นตลาดสมทบกับของที่ขายไม่ออกเดิม

“ดังนั้น ที่ลุงอยากจะบอกก็คือ ภาวะล้นตลาดนั้นเกิดขึ้นเสมอในแต่ละพื้นที่ เพราะเป็นธรรมชาติการแข่งขันของผู้ประกอบการ แต่เมื่อล้นตลาดไม่มาก กำลังซื้อจะค่อยๆดูดซับอุปทานจนหมดไป ซึ่งกว่าจะดูดไปหมดจะใช้เวลานานเพียงใดยากบอกได้ ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆด้วย ก็อาจต้องอาศัยเวลานานหน่อย”

“อือม์ พอเข้าใจแล้วครับลุง ถ้ายังงั้น ภาวะฟองสบู่ในความหมายของลุงคืออะไรละครับ ถ้าล้นตลาดกับฟองสบู่ไม่เหมือนกัน” ลิงยังสงสัยไม่หาย

“ภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ก็น่าจะทำนองเหตุการณ์ในปี 2537-2539 คือภาวะเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศ ช่วงนั้นใครๆก็สามารถกระโดดเข้ามาเป็นผู้ประกอบการได้ โครงการต่างๆขึ้นเอาๆโดยไม่มีการพิจารณาอย่างรัดกุม  สินเชื่อไม่มีขาดมือ เดินเข้าธนาคารก็ต้องได้สินเชื่อกลับมาทำโครงการ ไม่ธนาคารแห่งใดก็แห่งหนึ่งต้องปล่อยให้ ในแง่ลูกค้า ใครๆก็สามารถเอาใบจองคอนโดมิเนียมหรือบ้านจัดสรรมาเก็งกำไรได้อย่างสบายๆ การขอสินเชื่อก็ทำได้ง่ายๆ สภาพตอนนั้นเป็นแบบนั้น

“แต่ว่าสภาพตอนนี้แตกต่างกัน ธนาคารระมัดระวังเรื่องสินเชื่อมากทั้งการปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการและสินเชื่อรายย่อย  ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เองก็ระมัดระวังตัว อีกทั้งประชาชนผู้ซื้อหรือผู้เก็งกำไรที่จะขอสินเชื่อก็ยังมีระบบเครดิตบูโรอีก ดังนั้นภาวะการเก็งกำไรอย่างสุดเหวี่ยงจึงไม่เกิดขึ้นในขณะนี้ เพราะระบบต่างๆเข้มงวดกว่าเดิมมาก

“แต่ภาวะล้นตลาดน่ะมีอยู่จริง ก็ดังที่นายจ๋อเอาข่าวมาให้ดูนั่นแหละ ว่าโครงการคอนโดมิเนียมในต่างจังหวัดหยุดขายกลางคัน คืนเงินผู้ซื้อ ที่เป็นเช่นนั้นน่ะเป็นเรื่องดี ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เพราะว่าเปรียบได้กับการยั้งมาที่ริมหน้าผาทัน ไม่ทันจะหล่นลงหน้าผา อุปทานก็จะได้ไม่ล้นตลาดมากเกินไปยังไงล่ะ นี่คือการระวังตัวของผู้ประกอบการ สภาพเศรษฐกิจในต่างจังหวัดตอนนี้กำลังซื้อหดหายไปจริงเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง

“สำหรับตลาดในต่างจังหวัดตอนนี้ลุงก็ยังมองว่าเป็นภาวะล้นตลาด ยังไม่ใช่ฟองสบู่ และแน่นอน ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ผู้ประกอบการบางรายอาจเจ็บตัวได้ เพราะประชาชนขาดกำลังซื้อ แต่ก็เป็นภาวะชั่วคราว หากมองยาวหน่อยก็ยังไปต่อได้ ส่วนในกรุงเทพฯนั้น ตอนนี้ที่เป็นอภิมหาโครงการยังขายได้สบายๆ ยิ่งหรูยิ่งขายได้”

“ถ้ายังงั้นลุงแมวน้ำคิดว่าตอนนี้ลงทุนในหุ้นอสังหาริมทรัพย์ได้ไหมครับ” ลิงถาม

“ดังที่ลุงเคยบอกไว้ ว่านับจากนี้ไปคือยุคทองของอสังหาริมทรัพย์ เพียงแต่ว่าเราต้องรู้จักเลือกลงทุน ไม่ใช่อะไรก็ได้” ลุงแมวน้ำตอบ

“ถ้าอย่างนั้นลุงก็บอกผมหน่อยสิ ตัวไหนดี” ลิงถามอีก

“ถามยังกับจะซื้อเลขท้ายสองตัว” ลุงแมวน้ำหัวเราะ “ที่นายจ๋อถามว่าตอนนี้อสังหาริมทรัพย์เกิดฟองสบู่ไหม ลุงก็ตอบให้แล้ว ส่วนที่ว่าจะเลือกลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อย่างไรนั้นลุงขอเก็บเอาไว้คุยในวันหลังก็แล้วกัน”

Monday, February 16, 2015

สัญญาณไม่ค่อยดี ควรระวังอั่งเปา





ตลาดพันธบัตรมีแรงขาย


วันนี้ลุงแมวน้ำยังไม่คุยเรื่องฟองสบู่และการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว เนื่องจากมีเรื่องที่เร่งด่วนกว่าจะมาเตือนพวกเรา

เท้าความนิดนึง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตลาดหุ้นอเมริกาอยู่ในปลายสามเหลี่ยมชายธง ลุงแมวน้ำก็เขียนบทความว่าสงสัยจะไปต่อไม่ไหว แต่จากนั้นเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมานี่เอง ตลาดหุ้นอเมริกาก็ทะลุปลายชายธงขึ้นด้านบน และทำจุดสูงสุดใหม่อีกแล้ว นั่นคือ ดัชนี S&P 500 ทะยานสู่ 1096 จุดซึ่งเป็นจุดสูงสุดใหม่นับตั้งแต่ตั้งตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกามา พร้อมกันนั้นตลาดหุ้นเอเชียอีกหลายตลาดก็ทำจุดสูงสุดใหม่ เช่น เยอรมนี อินโดนีเซีย อินเดีย ฯลฯ แม้แต่ตลาดหุ้นไทยก็ดูเหมือนจะฝ่าด่าน 1600 จุดไปได้แล้ว ตลาดหุ้นในภาพรวมดูเหมือนจะสดใสและน่าจะไปต่อได้

แต่ช้าก่อน อย่าเพิ่งย่ามใจ ลุงแมวน้ำสังเกตพบสัญญาณที่ไม่ค่อยดีบางอย่างในตลาดพันธบัตร ซึ่งพวกเราควรระวังเอาไว้ เราลองมาดูกันทีละภาพ ภาพมาก่อน คำบรรยายตามหลัง


อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน อายุ 10 ปี ขยับขึ้นอย่างรวดเร็ว

ภาพนี้เป็น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน อายุ 10 ปี (10 year US government treasury yield) จะเห็นว่าตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอเมริกาพุ่งอย่างรวดเร็ว ในสองสัปดาห์นี้อัตราผลตอบแทนพุ่งขึ้นมา 50 ปิ๊ป หรือ 50 จุดเบสิส (basis point) หรือ +21% แล้ว อัตราผลตอบแทนที่สูงอย่างรวดเร็วนี้แปลว่ามีแรงขายพันธบัตรอเมริกา


อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

ทีนี้มาดู อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น อายุ 10 ปี บ้าง ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม หรือเมื่อ 3 สัปดาห์ที่แล้ว อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นก็พุ่งขึ้น 21 จุดเบสิสหรือ +102% ทีเดียว แปลว่ามีแรงขายพันธบัตรญี่ปุ่นเช่นกัน


อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษ อายุ 10 ปี ก็เช่นกัน ในสองสัปดาห์อัตราผลตอบแทนพุ่งขึ้น 35 จุดเบสิสหรือ +26% แปลว่ามีแรงขายพันธบัตรอังกฤษ


อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนี ปรับตัวขึ้น

พันธบัตรเยอรมนี ก็มีแรงขาย แต่ไม่แรงนัก ในสองสัปดาห์อัตราผลตอบแทนขยับขึ้น 4.5 จุดเบสิส หรือ +15%


อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย

พันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมาก็มีแรงขายมาตลอด หนึ่งเดือนอัตราผลตอบแทนขยับขึ้นมา 21 จุดเบสิสหรือ +8%

จะเห็นว่าแนวโน้มตลาดพันธบัตรมีแรงขายออกมา ที่เห็นแรงขายชัดคือตลาดสำคัญอเมริกา ญี่ปุ่น และอังกฤษ


ตลาดหุ้นสำคัญติดแนวต้านใหญ่


ทีนี้ลองมาดูที่ตลาดหุ้นกันบ้าง ดูตลาดหุ้นอเมริกากันก่อน


ตลาดหุ้นอเมริกากำลังไปทดสอบแนวต้านสำคัญที่ 2140 จุดของดัชนี S&P 500

ตลาดหุ้นอเมริกา โดยพิจารณาจากดัชนี S&P 500 แม้จะตัดทะลุปลายชายธงขึ้นไปด้านบนได้ อันหมายถึงสัญญาณตลาดขาขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีแนวต้านฟิโบนาชชี 161.8% ที่ระดับดัชนี 2140 จุดอยู่ ซึ่งแนวต้านนี้เป็นแนวต้านสำคัญเนื่องจากเป็นแนวต้านในระดับคลื่นใหญ่ ซึ่งปกติแนวต้านสำคัญเช่นนี้ดัชนีไม่สามารถผ่านได้ในทันที มักชนแล้วถอยลงมาก่อน สำหรับปี 2015 นี้ตลาดหุ้นอเมริกาหากอารมณ์ตลาดแจ่มใสอาจไปได้ถึง 2450 จุด หากอยู่ในภาวะไม่แจ่มใส กังวล ตลาดก็คงไปได้แค่ 2140 จุด ภาวะอารมณ์ตลาดจะเป็นแบบใดต้องตามดูกันต่อไป


ตลาดหุ้นเยอมนีกำลังทดสอบแนวต้านสำคัญ

ตลาดหุ้นเยอรมนี พิจารณาจากดัชนีแดกซ์ (DAX) มีแนวต้านฟิโบนาชชี 161.8% อันเป็นแนวต้านในระดับคลื่นใหญ่ทีสำคัญอยู่สองกรอบ คือ หากวัดคลื่นแบบสีน้ำเงิน แนวต้านใหญ่จะอยู่ตรงนี้เลย คือ ที่ดัชนี 10960 จุด หากวัดแบบสีดำแนวต้านสำคัญจะอยู่ที่ 11800 จุด ซึ่งลุงแมวน้ำถือว่าไม่ว่าจะวัดแบบใด (สีน้ำเงินหรือสีดำก็ตาม) แนวต้านก็อยู่ในโซนเดียวกัน คือ แถวๆนี้นั่นเอง


ตลาดหุ้นไทยแม้ฝ่าด่าน 1600 จุดมาได้ แต่ยังไม่ไปไหน ยังวนเวียนอยู่แถวนี้ หากตลาดหุ้นเกิดอาการตกใจก็อาจไหลลงได้

พิจารณาตลาดหุ้นไทยดูบ้าง ดัชนีผ่าน 1600 จุดมาได้หลังจากที่ติดที่ด่าน 1600 จุดนี้มานานหลายเดือน แต่แม้ว่าผ่านได้ลุงแมวน้ำก็ยังเห็นว่าไม่เด็ดขาด เพราะยังป้วนเปี้ยนอยู่แถวๆนี้ อีกทั้งดูแท่งเทียนแท่งล่าสุดในกราฟรายสัปดาห์ จะเห็นว่าเป็นรูปดาวโดจิ โดจิแปลความว่าลังเล


ระวัง bond shock


ประมวลสถานการณ์ทั้งหมด ลุงแมวน้ำมีความเห็นว่าเกิดแรงขายผิดปกติในตลาดพันธบัตร ประเด็นที่ต้องระวังคือตลาดพันธบัตรมีขนาดใหญ่กว่าตลาดหุ้นหลายเท่า หากมีแรงขายแบบตกใจ (bond shock) อาการช็อกจะลามไปยังตลาดหุ้น รวมทั้งราคาทองคำ น้ำมันดิบ และค่าเงินด้วย โดยหุ้นกับสินค้าโภคภัณฑ์จะร่วงเพราะนักลงทุนขาดทุนจากตลาดพันธบัตร ค่าเงินดอลลาร์ สรอ น่าจะแข็งแบบพรวดพราด และเงินสกุลเอเชียจะอ่อนค่าลง ยกเว้นเงินเยนกับฟรังก์สวิสที่ลุงไม่แน่ใจนักว่าจะอ่อนหรือไม่ สองสกุลนี้มองไม่ออก

ประกอบกับตลาดหุ้นสำคัญ อเมริกา เยอรมนี ติดแนวต้านใหญ่ทั้งสองตลาดด้วย มีอะไรมากระทบหน่อยก็คงมีแรงขายออกมา และลามไปยังตลาดอื่นด้วย

อะไรที่จะทำให้ตลาดพันธบัตรเกิดแรงขายแบบตกใจขึ้นมา อันที่จริงสถานการณ์นี้คาดหมายได้อยู่แล้วว่าเมื่อใกล้เวลาที่ป้าเจนจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟด ตลาดจะเกิดการช็อกชั่วระยะเวลาหนึ่ง ทั้งในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น เพียงแต่ว่าเมื่อไรเท่านั้นเอง จังหวะเวลาเป็นเรื่องที่เราไม่รู้ แต่อาการเท่าที่เห็นอยู่ในปัจจุบันก็ส่อเค้าว่าอาการตลาดพันธบัตรไหลอาจกำลังเกิดขึ้น

หากเกิดขึ้นจริง ตลาดพันธบัตร ตลาดหุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ จะปรับตัวลงหมด โดยเฉพาะตลาดหุ้นอาจปรับตัวลงได้ถึงระดับ -10% ก็น่าตกใจอยู่เหมือนกัน แต่ก็ตกใจโดยไม่มีอัตรายอะไร เดี๋ยวก็ผ่านไป หลังจากที่เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้วทุกอย่างก็ไปต่อได้

วางกลยุทธ์รับมือกันให้ดีนะคร้าบ เรื่องตลาดตกใจนี่สักวันก็ต้องเกิด เราจะรับมืออย่างไรดี ต้องไปวางกลยุทธ์กัน ในวิกฤตย่อมมีโอกาส ผู้ที่เตรียมเข้าลงทุนในหุ้นหรือพันธบัตร ควรรอดูไปก่อน ใครที่เตรียมเข้าลงทุนในทองคำและน้ำมันก็ควรรอดูเช่นกัน

อัตราแลกเปลี่ยนคงผันผวนหนัก แต่เก็งกำไรยากมาก ตลาดเงินตรายุคคิวอีท่วมโลกคาดการณ์อะไรได้ยาก

เดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนแห่งความรัก กุหลาบก็สีแดง อีกทั้งยังมีเทศกาลตรุษจีน อั่งเปาก็สีแดง อะไรๆก็แดงไปหมด ระวังว่าตลาดจะได้รับแจกอั่งเปาสีแดงๆด้วยคร้าบ ตัวบ่งชี้คืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรอเมริกา ให้ตามดูไปเรื่อยๆ

Friday, February 13, 2015

อสังหาริมทรัพย์ไทยใกล้ฟองสบู่แตกหรือยัง (3)

“Toward a New Frontier” Series บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่”



ตึกซูเปอร์ทาวเวอร์ ย่านพระราเก้า-รัชดาภิเษก จะขึ้นตำแหน่งสูงที่สุดในเอเชียเมื่อสร้างเสร็จ สูง 125 ชั้น มูลค่าโครงการทั้งบริเวณประมาณ 1.2 แสนล้านบาท


จับตาดีลใหญ่ค่ายอสังหาริมทรัพย์ แฝงนัยบอกทิศทางอสังหาฯ


“ในปี 2556 จนถึงต้นปี 2558 นี้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในวงการอสังหาริมทรัพย์ เพราะเกิดดีลหรือว่าข้อตกลงทางธุรกิจในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ขึ้นมากมาย และเป็นมูลค่ามหาศาล หรือหากจะพูดให้เจาะจงอีกหน่อยก็คือเกิดการร่วมทุนและการเทกโอเวอร์กันเป็นมูลค่ามหาศาลทั้งในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์” ลุงแมวน้ำพูด

“มียังงั้นด้วยเหรอลุง ลุงลองยกตัวอย่างหน่อยสิครับ” ลิงถาม

“ลุงจะยกตัวอย่างผู้ประกอบการรายใหญ่นอกตลาดหลักทรัพย์เข้ามาเทกโอเวอร์กิจการใจตลาดเพื่อเข้าตลาดทางอ้อม (back door listing) ก็ได้แก่


รวมดีลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ในปี 2014 มูลค่าของดีลรวมกันนับแสนล้านบาท


“กลุ่มบริษัท สิงห์ พร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด ของตระกูลภิรมย์ภักดี ค่ายน้ำดื่มสิงห์ เทกโอเวอร์บริษัท รสา พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ จากนั้นหุ้น RASA ก็เปลี่ยนชื่อเป็น S มูลค่ากิจการก็ระดับ 7-8 พันล้านบาท นี่คือการที่ค่ายสิงห์เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ทางอ้อม และนอกจากนี้ยังมีข่าวจะเทกโอเวอร์กิจการอสังหาเพิ่มเติมอีกด้วย

“กลุ่มสิริวัฒนภักดีเทกโอเวอร์หุ้น UV และใช้ UV เทคโอเวอร์หุ้น GOLD จากนั้นใช้ GOLD เทกโอเวอร์ KLand ดีลชุดนี้ค่อนข้างซับซ้อน แต่สรุปก็เป็นการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มสิริวัฒนภักดี

“ให้สังเกตว่าสองดีลนี้เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่นอกตลาด มีที่ดินในมือค่อนข้างมากและต้องการนำมาพัฒนาให้เกิดมูลค่าทางธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม KPN ของตระกูลณรงค์เดชที่เตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

“ทีนี้เรามาดูกลุ่มผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์และทำดีลเทกโอเวอร์บ้าง ลองดูตัวอย่างกัน

“พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน)(PF) เปิดเผยว่า การเข้าซื้อกิจการบริษัท ไทยพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (TPROP) ดีลนี้หลักพันล้านบาท

“NPARK เทกโอเวอร์บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในเครือ BTS โดยการแลกหุ้น ดีลนี้หลักหมื่นล้านบาท

“WHA เทกโอเวอร์ HEMRAJ ดีลนี้ก็ระดับหลายหมื่นล้านบาท เป็นการควบรวมกิจการในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม คลังสินค้า ซึ่งเป็นธุรกิจในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เช่นกัน

“BMCL ควบรวม BECL คือรถไฟฟ้าใต้ดินควบรวมกับทางด่วนนั่นเอง นี่ก็มองว่าเป็นดีลทางอสังหาริมทรัพย์ได้เพราะโครงการขนส่งมวลชนมีเรื่องการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ควบคู่ไปด้วย

“นอกจากนี้มาดูดีลธุรกิจที่เป็นการร่วมทุนบ้าง มีทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ ลองดูตัวอย่าง

“กลุ่ม BTS ร่วมทุนกับ SIRI จะเห็นว่ากลุ่ม BTS ต้องการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ใกล้เคียงระบบราง โดยอสังหาฯเพื่อขายจะร่วมทุนกับแสนสิริ ส่วนอสังหาเพื่อการให้เช่าจะไปทำกับ NPARK ดูมีการแบ่งบทบาทกันค่อนข้างชัด

“กลุ่ม ซี.พี.จับมือสยามพิวรรธน์ (เครือเดอะมอลล์) สัดส่วนลงทุน 50:50 ลงทุนอภิมหาโครงการ ไอคอนสยาม บนเนื้อที่ 50 ไร่ ถ.เจริญนคร มูลค่าลงทุนกว่า 5 หมื่นล้าน

“นี่ยังไม่หมดนะ ลุงแค่ยกตัวอย่างรายใหญ่ๆเท่านั้น รวมมูลค่าของดีลธุรกิจใหญ่ๆเท่าที่ลุงเล่ามานี่ก็เป็นแสนล้านบาทแล้ว นอกจากนี้ยังมีของศุภาลัย ธนาสิริ เอพี และยังมีดีลของรายขนาดกลางอีกด้วย ซึ่งรวมแล้วก็เยอะมาก จำไม่หมดเลยทีเดียว”

“แล้วที่ลุงเล่ามาทั้งหมดนี่จะบอกอะไรฮะ” กระต่ายน้อยกะพริบตากลมโตถามบ้าง “ผมยังไม่เข้าใจเลย”

“ลุงกำลังเล่าเพื่อให้เกิดคำถามว่าทำไมผู้ประกอบการรายใหญ่ ทุนมหาศาล จึงกระโดดเข้ามาในวงการอสังหาริมทรัพย์กันมากมายในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน พวกนี้ไม่ได้สุ่มสี่สุ่มห้าเข้ามาทำโครงการหรอก ผู้ประกอบการรายใหญ่ทุนหนาเหล่านี้ต่างก็มองออกว่าต่อไปธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะเติบโตได้อีกมากมาย จึงได้วางแผนเข้ามาทำโครงการน่ะสิ”


อภิมหาโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์


“เมื่อครู่นี้ลุงแมวน้ำคุยในแง่ของดีลธุรกิจขนาดใหญ่ให้ฟัง สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่เสริมความมั่นคงแข็งแกร่งให้แก่กลุ่มของตนเองด้วยดีลทางธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการควบรวม ร่วมทุน ทีนี้หากเราจะมองถึงตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นโครงการใหญ่ๆก็มีที่น่าสนใจหลายโครงการ แต่ละโครงการเป็นหลักหมื่นล้านบาทถึงแสนล้านบาททั้งสิ้น เราลองมาดูกัน

“โครงการซูเปอร์ทาวเวอร์ (Super Tower) ย่านพระรามเก้าตัดกับรัชดาภิเษก ย่านนี้เป็นเขตธุรกิจใหม่ ราคาแพงระยับ อาคารซูเปอร์ทาวเวอร์นี้พัฒนาโดยกลุ่ม GLand สูง 125 ชั้น สูงที่สุดในเอเชียเลยทีเดียว หากรวมโครงการที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน ศูนย์ประชุม อื่นๆเข้าไปด้วยก็มีมูลค่าโครงการราวหนึ่งแสนสองหมื่นล้านบาท


โครงการไอคอนสยาม โครงการหรูริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งเจริญนคร ธนบุรี มูลค่าราว 5 หมื่นล้านบาท

“โครงการไอคอนสยาม อยู่ในย่านเจริญนคร ฝั่งธนบุรี เป็นการร่วมทุนของกลุ่มซีพีกับกลุ่มเดอะมอลล์ มูลค่าโครงการราวห้าหมื่นล้านบาท เป็นอาณาจักรหรูอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในย่านฝั่งธนบุรี ซึ่งเดิมเป็นย่านเติบโตช้ากว่าฝั่งพระนครมาก ทั้งๆที่เป็นกรุงเทพฯด้วยกัน แต่ต่อไปธนบุรีจะเจริญอย่างรวดเร็ว

“นอกจากโครงการไอคอนสยามแล้ว ยังมีโครงการหรูริมแม่น้ำเจ้าพระยาในย่านนี้อีกหลายโครงการทีเดียว ทั้งริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี

“โครงการมิกซ์ยูส (Mixed Use) โครงการหลายหมื่นล้านบาท เป็นอภิมหาโครงการอีกแห่งหนึ่ง อยู่ตรงสวนลุมไนท์บาซาร์เดิมนั่นเอง ข้างๆสวนลุมพินี กลุ่ม UV ของค่ายสิริวัฒนภักดีประมูลได้ไปทำโครงการ


โครงการเซ็นทรัลเวสต์เกต ย่านบางใหญ่ เป็นช้อปปิงมอลล์ใหญ่ระดับภูมิภาค มูลค่า 15,000 ล้านบาท

“เซนทรัลเวสต์เกต (Central WestGate) เป็นอภิมหาโครงการช้อปปิงมอลล์ทางฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ นั่นคือย่านบางใหญ่ มูลค่าหนึ่งหมื่นห้าพันล้านบาท



โครงการบางกอกมอลล์ และโครงการอื่นๆ ย่านบางนา

“บางกอกมอลล์ (The Bangkok Mall) โครงการหรูย่านกรุงเทพฯฝั่งตะวันออก คือย่านบางนา เป็นโครงการของกลุ่มเดอะมอลล์ มูลค่าราวสองหมื่นล้านบาท แถวนั้นยังมีโครงการอื่นที่ช่วยเสริมสร้างความเจริญในพื้นที่อีกด้วย เช่น เมกาบางนา ศูนย์ประชุมไบเทค ฯลฯ

โครการยักษ์เหล่านี้ทยอยดำเนินการไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆอีกที่ลุงไม่ได้กล่าวถึง ดังนั้นหากจะมองจากตัวโครงการขนาดใหญ่ต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล


“นอกจากนี้ หากเรามาพิจารณาถึงโครงการรถไฟฟ้ามาหานะเธอ ปัจจุบันกรุงเทพฯมีโครงการรถไฟฟ้า 10 สาย 10 สี เปิดดำเนินการไปแล้วหลายเส้นทาง ปัจจุบันมีสถานีรถไฟฟ้าประมาณ 60 สถานี มีจุดตัด 3 จุดตัด ต่อไปเมื่อเปิดเต็มโครงการจะมีสถานีกว่า 200 สถานี และมีจุดตัดราว 24 จุด ทิศทางการเติบโตของโครงการอสังหาฯจะเกิดตามแนวรถไฟฟ้าและจุดตัดรถไฟฟ้า หากพิจารณาจากโครงการรถไฟฟ้า 10 สีก็จะเห็นถึงศักยภาพในการเติบโตของกรุงเทพฯว่ายังเติบโตไปได้อีกมาก และนั่นแปลว่าทิศทางของอสังหาฯในกรุงเทพฯยังโตไปได้อีกมากด้วยเช่นกัน

Wednesday, February 4, 2015

อสังหาริมทรัพย์ไทยใกล้ฟองสบู่แตกหรือยัง (2)

“Toward a New Frontier” Series บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่”


กรุงเทพฯอดีตและปัจจุบัน ราวปี 2513 กับ 255x เป็นภาพถนนพระรามสี่ มองจากแยกศาลาแดงไปทางหัวลำโพง



หลังจากที่ลุงแมวน้ำดูดน้ำปั่นเรียบร้อยก็คุยต่อ

“ที่เมื่อกี้ลุงคุยค้างไว้ ลุงจะบอกว่า ตลาดบ้านและคอนโดมิเนียมของไทยยังดูดี แต่ว่าภาวะอุปทานบ้านและคอนโดมิเนียมล้นตลาดในยุคปัจจุบันจะเกิดขึ้นเสมอเป็นระยะ บางทีดูไปก็ชวนให้คิดว่าเป็นฟองสบู่นั่นแหละ ดังนั้นการลงทุนก็จะต้องมีความรู้ความเข้าใจอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อคอนโดมิเนียมเพื่อการลงทุนหรือเพื่อเก็งกำไรในตลาดอสังหาฯจริง หรือการลงทุนในหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และรับเหมาก่อสร้างในตลาดหุ้นก็ตาม”

“เอ๊ะ ยังไงกันจ๊ะลุง พูดให้เข้าใจง่ายๆหน่อยสิ เดี๋ยวก็บอกว่าดูดี เดี๋ยวก็บอกว่าล้นตลาด แล้วยังบอกว่าชวนให้คิดว่าเป็นฟองสบู่เสียอีก ลุงจะเอายังไงกันแน่” ยีราฟพูดด้วยน้ำเสียงกังวล


ชุมชนเมืองเติบใหญ่


“แม่ยีราฟยังไม่ต้องงุนงงไป เรื่องนี้เรายังต้องคุยกันอีกยาว เราจะค่อยๆมาดูกัน แล้วแม่ยีราฟจะหายงง” ลุงแมวน้ำพูด “ก่อนอื่นลุงขอเท้าความก่อนว่าแนวคิดในการลงทุนในยุคต่อไปนั้น ลุงแมวน้ำใช้ธีมในการลงทุนหรือว่าคาถาสำคัญอยู่ 2 ประโยค นั่นคือ ชุมชนเมืองเติบใหญ่ ประชากรสูงวัย เราจะมาดูเรื่องชุมชนเมืองเติบใหญ่ก่อนว่ามีธีมการลงทุนนี้ศักยภาพมากน้อยเพียงใด ลุงมีภาพที่น่าสนใจในอดีตและปัจจุบันมาให้ดูกันหลายภาพ”

ลุงแมวน้ำหยิบภาพปึกหนึ่งจากในหูกระต่าย จากนั้นยกขึ้นชูให้บรรดาสมาชิกได้ชมพร้อมๆกันทีละภาพ เมื่อสมาชิกเห็นภาพแรกต่างก็ร้องอู้ฮู


“ลองดูภาพนี้สิ นี่คือภาพถ่ายกรุงเทพฯในยุค 251x กับ 255x คือระยะเวลาต่างกันประมาณ 40 ปี สองภาพนี้เป็นสถานที่เดียวกัน นั่นคือ ถนนพระรามสี่ จากแยกศาลาแดงมองไปทางหัวลำโพง” ลุงแมวน้ำพูด

“เวลาห่างกัน 40 ปีอาคารสูงผุดขึ้นมามากมาย” ลิงจ๋ออุทาน

“ย้อนไปในยุค 20 ปีที่แล้วและก่อนหน้านั้น คิดง่ายๆก็คือ พ.ศ. 2540 และก่อนหน้านั้น กรุงเทพฯคือประเทศไทย ประเทศไทยคือกรุงเทพฯ หมายความว่าความเจริญต่างๆล้วนแต่กระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ ในต่างจังหวัดนั้นมีบริษัทห้างร้านขนาดใหญ่น้อยมาก ดังนั้นผู้ที่เรียนจบและต้องการหางานดีๆทำก็ต้องมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพฯ เรียกได้ว่าถนนทุกสายมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพฯ

“แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสภาพการณ์เปลี่ยนไป เราลองมาดูภาพอื่นๆกันต่อ”

ลุงแมวน้ำพูดพลางชูภาพให้ชมกันอีกทีละภาพ


จังหวัดนครราชสีมาหรือโคราช อดีตและปัจจุบัน เปรียบเทียบในปี พ.ศ. 2512 กับ 2556

“ปัจจุบันจังหวัดหัวเมืองหลายจังหวัดมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ภาพนี้คือภาพถ่ายทางอากาศของโคราชหรือจังหวัดนครราชสีมาในปี พ.ศ. 2512 กับ 2556 ลองเปรียบเทียบดูสภาพบ้านเมืองและตึกสูงดูสิ ในปัจจุบันโคราชมีคอนโดมิเนียมและอาคารสูงมากมายทีเดียว


จังหวัดเชียงใหม่ อดีตและปัจจุบัน เปรียบเทียบถนนห้วยแก้วย่านโรงแรมเชียงใหม่ฮลล์ในปี 2510, 2530 และ 2557

“ภาพนี้เป็นภาพถนนห้วยแก้ว ย่านโรงเรียมเชียงใหม่ฮิลล์ ลองสังเกตภาพในช่วงปี 2510 กับ 2530 สิ ในช่วงยี่สิบปปีนั้นถนนห้วยแก้วเปลี่ยนไปไม่มาก ส่วนใหญ่ยังเป็นต้นไม้อยู่ แต่เมื่อดูภาพถ่ายในปี 2557 จะเห็นว่ามีอาคารสูงเกิดขึ้นมากมาย นั่นคือความเจริญของเชียงใหม่ก็มาเร่งตัวในช่วงหลังนี่เอง


จังหวัดขอนแก่น อดีตและปัจจุบัน เปรียบเทียบระหว่างปี พ.ศ. 2535 กับ 2557

“ภาพนี้ก็เป็นจังหวัดขอนแก่นเปรียบเทียบกันระหว่างปี พ.ศ. 2535 กับ 2557 สองภาพนี้ไม่ใช่พิกัดสถานที่เดียวกัน แต่ลุงนำมาเทียบกันเพื่อให้เห็นบรรยากาศของบ้านเมืองและอาคารสูงในขอนแก่น เพื่อให้เรานึกภาพความเปลี่ยนแปลงออก


จังหวัดอุดรธานี อดีตและปัจจุบัน เปรียบเทียบย่านวงเวียนหลวงประจักษ์ระหว่างปี พ.ศ. 2510 กับ 2557

“ภาพนี้ก็เป็นภาพในจังหวัดอุดรธานี ตรงวงเวียนกรมหลวงประจักษ์ เปรียบเทียบกันในระยะเวลาห่างกัน 40 ปี คือ พ.ศ. 2510 กับ 2557



จังหวัดชลบุรี อดีตและปัจจุบัน ย่านแยกเฉลิมไทยระหว่างปี พ.ศ. 2490 กับ 255x

“ภาพนี้เป็นภาพถ่ายทางอากาศตรงแยกเฉลิมไทย จังหวัดชลบุรี ภาพเก่ากับภาพใหม่อายุต่างกันมากหน่อย คือ ห่างกันราว 60 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2490 กับ 255x เมื่อก่อนเป็นทุ่งนาอย่างในภาพนั่นแหละ ปัจจุบันเรือกสวนไร่นาหมดไปกลายเป็นตึก อสังหาฯในย่านเมืองใหม่ ชลบุรี เป็นทำเลที่สร้างรายได้ มีนักลงทุนไปซื้อคอนโดและให้ชาวญี่ปุ่นเช่า ผลตอบแทนไม่เลวทีเดียว



ตลาดโรงเกลือ จังหวัดสระแก้ว ย่านนี้คึกคักจากการค้าชายแดน จังหวัดสระแก้วกำลังจะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

“ภาพนี้เป็นภาพตลาดโรงเกลือ ชายแดนจังหวัดสระแก้วติดกับกัมพูชา เมื่อก่อนเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดอรัญประเทศแต่ต่อมาแยกเป็นจังหวัดใหม่คือจังหวัดสระแก้ว ภาพนี้ลุงไม่มีภาพในอดีต แต่ว่าพื้นที่แถวๆตลาดโรงเกลือนี้เมื่อก่อนก็ไม่มีอะไร เป็นเมืองชายแดนเล็กๆ ต่อมาการค้าชายแดนคึกคัก เมืองเล็กๆก็กลายเป็นเมืองที่เจริญเติบโต ดูโครงสร้างในปัจจุบันสิ มีอาคารอาณิชย์และคลังสินค้ามากมาย และกำลังจะมีคอนโดมิเนียมด้วย

“จากภาพเหล่านี้คงพอทำให้เราเห็นแล้วว่าปัจจุบันกรุงเทพฯไม่ใช่ประเทศไทยอีกต่อไปแล้ว ความเจริญเติบโตได้แผ่ขยายออกไปสู่ต่างจังหวัด เรามีหัวเมืองหลักและหัวเมืองรองหลายจังหวัดทีเดียว บางจังหวัดมีอัตราการเติบโตสูงกว่ากรุงเทพฯเสียอีก”

“อือม์ ชุมชนเมืองเติบใหญ่ เป็นยังงี้เอง” ลิงพึมพำกับตนเอง จากนั้นถามลุงแมวน้ำว่า “แล้วจังหวัดอะไรบ้างที่อัตราการเติบโตสูงกว่ากรุงเทพฯครับลุง”


อัตราการเติบโตของหัวเมือง



ลุงแมวน้ำหยิบกระดาษออกมาอีกปึกหนึ่งจากในหูกระต่ายและคลี่ออกมา




“เรามาดูภาพนี้กัน” ลุงแมวน้ำพูด “ก่อนอื่น ดูที่แผนที่ประเทศไทยก่อน แผนที่นี้มีการระบายสีที่อ่อนแก่แตกต่างกัน จังหวัดที่สีเข้มคือจังหวัดที่มีระดับจีดีพีรายจังหวัดสูง สียิ่งเข้มแปลว่าระดับจีดีพียิ่งสูง

“จากแผนที่จีดีพีนี้แสดงให้เห็นว่าจังหวัดที่มีจีดีพีสูงมากคือกรุงเทพฯและปริมณฑล และจังหวัดในภาคตะวันออก ส่วนจังหวัดที่มีจีดีพีสูงในลำดับรองลงมาก็กระจายอยู่ในภาคเหนือ กลาง อีสาน และใต้ ซึ่งก็คือหัวเมืองใหญ่ตามภาคต่างๆนั่นเอง”

“แล้วกราฟซ้ายมือในภาพล่ะลุง หมายความว่ายังไง” ลิงถาม

“สำหรับกราฟนั้นแสดงอัตราการเติบโตของบางจังหวัด เปรียบเทียบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึง 2555 รวม 8 ปี

“ดูเส้นสีฟ้า นั่นคือการเติบโตของจีดีพีในกรุงเทพฯ กรุงเทพฯมีจีดีพีสูงเป็นลำดับ 1 ของประเทศ ปี พ.ศ. 2555 มีจีดีพี 3.8 ล้านล้านบาท แต่เมื่อดูกราฟการเติบโต จะพบว่าในรอบ 8 ปี เติบโตขึ้นเป็น 158% และที่น่าสังเกตก็คือในกราฟนั้นลุงแมวน้ำยกการเติบโตมาให้ดูกัน 7 จังหวัด กรุงเทพฯมีอัตราโตน้อยที่สุด อีก 6 จังหวัดที่เหลืออัตราโตดีกว่าทั้งนั้น ได้แก่

“จังหวัดระยอง (เส้นกราฟสีน้ำตาล) มีจีดีพีสูงเป็นอันดับสองของประเทศ คือ 8 แสนล้านบาท ในรอบแปดปีมีอัตราโตเป็น 222%

“จังหวัดขอนแก่น (เส้นกราฟสีเขียว) มีจีดีพีสูงเป็นอันดับสิบสี่ของประเทศ คือ 1 แสนเก้าหมื่นล้านบาท ในรอบแปดปีมีอัตราโตเป็น 218%

“จังหวัดอุดรธานี (เส้นกราฟสีน้ำเงินเข้ม) มีจีดีพีสูงเป็นอันดับยี่สิบห้าของประเทศ คือ เก้าหมื่นห้าพันล้านบาท ในรอบแปดปีมีอัตราโตเป็น 209%

“จังหวัดนครราชสีมา (เส้นกราฟสีน้ำเงินอ่อน) มีจีดีพีสูงเป็นอันดับเก้าของประเทศ คือ 2 แสนสี่หมื่นล้านบาท ในรอบแปดปีมีอัตราโตเป็น 194%

“เห็นไหมว่าจังหวัดหัวเมืองต่างๆแม้ว่าระดับจีดีพีจะน้อยกว่ากรุงเทพฯ แต่อัตราโตกลับสูงกว่า นั่นคือความเจริญแผ่ขยายไปตามหัวเมืองนั่นเอง นี่แหละคือชุมชนเมืองเติบใหญ่

“ถ้าอย่างนั้นลุงหมายความว่าอสังหาริมทรัพย์ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะตามหัวเมืองใหญ่ที่ว่ามา น่าลงทุนมากกว่าในกรุงเทพฯใช่ไหมจ๊ะ เพราะการเติบโตดีกว่าในกรุงเทพฯ แล้วมีหุ้นอะไรที่ทำอสังหาฯในจังหวัดต่างๆเหล่านี้บ้างล่ะ ฉันจะได้ไปซื้อไว้บ้าง” ยีราฟถาม

“จะบอกว่าอสังหาริมทรัพย์ต่างจังหวัดเติบโตดีกว่าในกรุงเทพฯ ทำให้น่าลงทุนมากกว่า ลุงว่าก็ไม่เชิงเป็นแบบนั้น และอีกอย่างคือหุ้นอสังหาฯไม่ได้แบ่งแยกชัดเจนหรอกว่าหุ้นไหนทำอสังหาฯในกรุงเทพฯ หุ้นไหนทำอสังหาฯในต่างจังหวัด ลุงว่าต้องเข้าใจในธุรกิจ เข้าใจวัฏจักรอสังหาฯเสียก่อน และกำหนดเป็นกลยุทธ์การลงทุนมากกว่า

“เดี๋ยวก่อนนะครับลุง ขอขัดคอหน่อยเถอะ” ลิงจ๋อพูด “แล้วเรื่องอุปทานล้นตลาด และฟองสบู่อสังหาฯล่ะครับ ลุงยังไม่ได้อธิบายเลย นี่จะวางกลยุทธ์การขึ้นดอย เอ๊ย การลงทุนแล้วหรือ”

“ข่าวที่นายจ๋อเอามาให้ดู พวกเราก็ได้อ่านกันแล้ว แต่ลุงแมวน้ำก็ยังมองว่าต่อจากนี้ไปเป็นยุคทองของอสังหาริมทรัพย์ไทยและเป็นยุคทองของกลุ่มรับเหมาก่อสร้างด้วย แต่ต้องลงทุนอย่างมีกลยุทธ์ เหตุผลส่วนหนึ่งลุงก็ได้แสดงให้ดูไปแล้ว แต่ลุงยังมีเหตุผลอื่นๆอีก เรื่องอุปทานล้นตลาดและเรื่องฟองสบู่ลุงยังไม่ลืม แต่ว่าเรายังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องคุยกัน นายจ๋ออย่าเพิ่งใจร้อน ค่อยๆฟังไปก่อน”

Monday, February 2, 2015

สงครามเงินตรา




<<< สงครามเงินตรา >>>

ตลาดเงินและตลาดทุนของโลกในช่วงที่ผ่านมาเกิดความผันผวน เกิดเรื่องราวมากมาย ไล่เรียงมาตั้งแต่อเมริกาลดและเลิก QE และญี่ปุ่นใช้ QE กระตุ้้ันเศรษฐกิจ สองกรณีนี้ก็นานแล้ว ลุงแมวน้ำทบทวนให้ฟังเท่านั้น ทางด้านจีนก็อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเป็นระยะ พร้อมมาตรการด้านการเงินอื่นๆ

ล่าสุดนี้ทางยูโรโซน คือกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโร ก็ประกาศใช้ QE เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจบ้าง ทีนี้เงินดอลลาร์ สรอ กับเงินเยนก็ท่วมโลกอยู่แล้ว ต่อไปจะมีเงินยูโรออกมาท่วมโลกอีก

ทีนี้ค่าเงินก็ปั่นป่วน เยนอ่อน ยูโรอ่อน ดอลลาร์อเมริกาแข็ง มิหนำซ้ำยังมีกรณีค่าเงินและเศรษฐกิจรัสเซียที่กำลังปั่นป่วน สงครามราคาน้ำมันอีก เหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงและอัตราแลกเปลี่ยน ปัจจัยต่างๆมากมายไปหมดจนวิเคราะห์ไม่ถูกว่าใครได้ ใครเสีย ใครได้เท่าไร ใครเสียเท่าไร แต่ที่นักเศรษฐศาสตร์ประเมินในภาพใหญ่ก็คาดว่าเงินยูโรและเยนที่ออกมาท่วมตลาดเงินนี้น่าจะทำให้เงินดอลลาร์ สรอ และเงินตราในสกุลตลาดเกิดใหม่ต่างๆแข็งค่าขึ้นเนื่องจากมีกระแสเงินสองสกุลนี้ซึ่งเป็นเงินที่ต้นทุนถูกไหลเข้าไปหากำไรในตลาดต่างๆนั่นเอง รวมทั้งตลาดหุ้นเกิดใหม่ในหลายๆประเทศก็น่าจะเป็นขาขึ้นเนื่องจากเงินที่ไหลเข้านั้นเข้าไปเก็งกำไรในตลาดหุ้นด้วย

เอาละ ในทางทฤษฎีก็น่าจะเป็นตามนั้น แต่มาดูในความเป็นจริงแล้วประเทศต่างๆไม่ได้นั่งรอให้เงินไหลเข้ามาเฉยๆ เพราะเงินร้อนไหลเข้ามาก็เป็นดาบสองคม มีทั้งประโยชน์และโทษ มาแล้วเก็งกำไรแบบมาเร็วกลับเร็ว โดยไม่ได้ลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริง ก็จะเป็นโทษเสียมากกว่า เพราะอาจทำให้เกิดฟองสบู่ตลาดหุ้น ฟองสบู่พันธบัตร และเงินแข็งค่ามากเกินไปจนเป็นผลเสียต่อการส่งออก โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในแถบเอเชียต่างก็กำหนดมาตรการต่างๆเพื่อรับมือกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและเงินร้อนไหลเข้า เช่น เกาหลีใต้ลดอัตราดอกเบี้ย จีนก็ลดอัตราดอกเบี้ย (อีกนัยหนึ่งก็เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย) ล่าสุดนี้เวียดนามและสิงคโปร์ก็ประกาศลดค่าเงินของตนลง

ทีนี้เราลองมาดูกันว่าอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลเอเชียในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อไม่นานมานี้ลุงแมวน้ำเคยเอากราฟอัตราแลกเปลี่ยนมาให้ดูครั้งหนึ่งแล้ว แต่เป็นรอบ 1 เดือน คราวนี้ดูกันอีกทีให้ยาวขึ้นอีกหน่อย

จากกราฟข้างบนนี้ แสดงอัตราแลกเปลี่ยนเงินเอเชีย 8 สกุล เทียบกับดอลลาร์ สรอ มองแว่บแรกก็เห็นแล้วว่าในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา ค่าเงินทั้ง 8 สกุลแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม นั่นคือ

กลุ่มแรก อ่อนค่าเว่อ นั่นคือเงินริงกิตและเงินเยน อ่อนค่าในระดับ -13% ถึง -14% เงินเยนอ่อนค่าเพราะคิวอี นั่นพอเข้าใจได้ แต่เงินมาเลเซียจึงอ่อนค่ามากทั้งที่ไม่ได้ทำคิวอี แม้ว่ามาเลเซียส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมซึ่งราคาตกต่ำลง แต่ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาตลาดหุ้นมาเลเซียยังขึ้นแรง หุ้นพลังงานเริ่มฟื้นตัว ก็น่าคิดว่าเงินริงกิตอ่อนค่ามากเกินไปหรือไม่?

กลุ่มสอง อ่อนค่า กลุ่มนี้อ่อนค่าในระดับ -6% ถึง -7% ได้เแก่เงินรูเปียะ เงินวอน และเงินสิงคโปร์ดอลลาร์

กลุ่มสาม อ่อนค่าเล็กน้อย กลุ่มนี้ค่าเงินค่อนข้างเสถียร คืออ่อนเพียง -1% ถึง -2% เท่านั้น  มีบาท เปโซ และรูปี

จะเห็นว่าเอเชียด้วยกัน ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนที่เศรษฐกิจเข้มแข็ง เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ ยังมีค่าเงินที่อ่อนกว่าเงินบาท เงินอินโดนีเซียก็อ่อนค่ากว่าไทย ตลาดหุ้นก็ขึ้น หากมองกราฟนี้แล้วก็คงอดคิดไม่ได้ว่าประเทศเหล่านี้คงมีการบริหารจัดการค่าเงินเพื่อรับมือกับเงินต้นทุนถูกที่จะไหลเข้ามา พูดง่ายๆคือแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนไปพอควรทีเดียว

ขณะเดียวกัน หากเงินสกุลเพื่อนบ้านอ่อนกว่าไทยในลักษณะนี้ ส่งออกไทยค่อนข้างเสียเปรียบทีเดียว เงินบาทเสถียรเป็นผลดีต่อการส่งออกก็จริง แต่หากเสถียรแล้วแข็งกว่าเพื่อนบ้านมากไปหน่อยก็เสียเปรียบอยู่ดี หากเป็นเช่นนี้การส่งออกของไทยที่แย่อยู่แล้วจะยิ่งฟื้นตัวได้ยาก เราหลีกเลี่ยงสงครามเงินตราไม่ได้อยู่แล้ว อย่างไรก็ต้องเข้าร่วมวงด้วย ดังนั้นต้องตั้งหลักและวางกลยุทธ์ให้ดี

นี่คือโลกยุคใหม่ และนี่คือพรมแดนใหม่ที่เรากำลังเดินทาง เรื่องเหล่านี้ไม่เคยเกิดมาในอดีต พรมแดนใหม่มีทั้งโอกาสและความเสี่ยง ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป กฎของการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติมีอยู่ว่าสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวได้และมีวิวัฒนาการจึงจะอยู่รอดได้ 

ประเทศไทยก็เช่นกัน ทั้งภาครัฐ นักธุรกิจ และนักลงทุนไทย ต้องตระหนักถึงการปรับตัวและมีวิวัฒนาการ เพื่อความอยู่รอด

สำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้น หากเป็นหุ้นที่เกี่ยวกับสินค้าเกษตร ธุรกิจการเกษตร ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ พวกการส่งออกต่างๆควรพิจารณาให้ดี การลงทุนในหุ้นที่แพงแล้ว คือพีอีสูงๆ ก็ควรพิจารณาอย่างระมัดระวังด้วย

เรื่องที่น่าคิดอีกประการก็คือ สหรัฐอเมริกาจะปล่อยให้ค่าเงินดอลลาร์ของตนเองแข็งค่าไปเรื่อยๆโดยไม่ทำอะไรเลยหรือ ในยุคของน้าบารักนี้รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะเพิ่มการส่งออกของอเมริกา ที่ผ่านมายอดการส่งออกของอเมริกาก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น หากเงินดอลลาร์แข็งค่าก็กระทบกับภาคการส่งออกของตนเช่นกัน และหากอเมริกาบริหารจัดการค่าเงินดอลลาร์บ้าง อะไรจะเกิดขึ้น ผลกระทบจะเป็นอย่างไร ดังนั้นจะเห็นว่าสงครามค่าเงินในยุคนี้ไม่ง่ายเลย

วันนี้ลุงแมวน้ำพูดในภาพรวมก่อน แล้วค่อยลงรายละเอียดอีกทีคร้าบ