Thursday, July 31, 2014

31/07/2014 วิเคราะห์ทางเทคนิครู้ข่าวได้ก่อน



ช่วงนี้ลุงแมวน้ำกำลังเขียนบทความเกี่ยวกับมุมมองเศรษฐกิจและการลงทุนอยู่ ดังที่ลุงแมวน้ำเคยเล่าให้ฟังมาแล้ว เดิมทีว่าจะโพสต์ได้ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็มีเรื่องนั้นเรื่องนี้เข้ามาแทรกอยู่ตลอด จึงยังไม่ได้โพสต์สักที

ลุงแมวน้ำมาคิดดูใหม่ เดิมทีว่าจะเขียนเป็นบทความค่อนข้างยาว เนื่องจากมุมมองเศรษฐกิจและการลงทุนแบบมหภาคนั้นครอบคลุมเศรษฐกิจของหลายกลุ่ม หลายประเทศ อาจจะมีสัก 10-20 ตอน แต่เมื่อมาทบทวนดูแล้วลุงเห็นว่าเขียนเป็นซีรีส์ยาวแบบนี้อาจจะดูน่าเบื่อไปหน่อย จึงมาเปลี่ยนความคิดใหม่ว่า เอาเรื่องราวที่คิดจะเล่าเป็นซีรีส์ยาวมาแบ่งซอยเป็นหัวข้อ แล้วแบ่งเขียนหัวข้อละสองสามตอนจบดีกว่า แต่ละเรื่องเกี่ยวของกัน แต่ว่าก็อ่านจบในตัวเองได้ แบบนี้น่าจะคล่องตัวกว่า ^_^

สำหรับวันนี้ เนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูกาลประกาศผลประกอบการไตรมาสสอง ทำให้นึกขึ้นได้ว่ามีเรื่องอยากเล่าอยู่เรื่องหนึ่ง แต่ก็ยังหาโอกาสเล่าไม่ได้สักที เล่าในช่วงประกาศผลประกอบการที่แหละ กำลังดีเลย

ลุงแมวน้ำคิดชื่อเรื่องในวันนี้ไว้หลายชื่อ เช่น "กับดักนักเทคนิค", "อย่ามั่นใจในเทคนิคมากจนเกินไป" ฯลฯ คิดเอาไว้หลายชื่อ แต่สุดท้ายก็เลือกเอาชื่อเรื่อง "วิเคราะห์ทางเทคนิครู้ข่าวได้ก่อน"

ประเด็นก็คือ นักลงทุนมักชอบติดตามข่าวสารเกี่ยวกับตัวหุ้นอยู่เสมอ และก็มักเก็งกำไรหุ้นจากข่าวต่างๆ บางคนก็ได้ข่าวประเภทอินไซด์ ซึ่งเป็นอินไซด์ที่รู้กันทั้งประเทศหรือปิดกันให้แซ่ดนั่นแหละ แล้วก็คิดว่าเรื่องนี้ยังไม่มีใครรู้ อินไซด์จริงๆว่างั้นเถอะ สุดท้ายก็พลาดเพราะรู้กันทั้งประเทศแล้วจะมีกำไรที่ไหนเหลือให้เราล่ะ >.<

แต่ในบางครั้ง การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่ผิดปกติ หากใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคก็อาจเตือนนักลงทุนได้ล่วงหน้าก่อนที่จะรู้ข่าวก็ได้ เราลองมาดูกัน ค่อยๆดูไปทีละภาพนะคร้าบ ภาพมาก่อน คำบรรยายตามหลัง อย่าแอบอ่านล่วงหน้า

สมมติว่าหุ้นนี้ชื่อ X ละกัน ไม่ต้องรู้ชื่อหุ้นนี้ดีกว่า เพราะจะทำให้ร้องอ๋อ





ตอนต้นปี 2012 หุ้น หุ้นนี้เริ่มมีรูปแบบทางเทคนิคที่น่าสนใจเพราะว่า อาจกำลังเข้าคลื่น 1 หรือเข้าคลื่น B ก็ได้ ยังไม่ชัดเจน

หากเข้าคลื่น B แปลว่าคลื่นที่ผ่านมาเป็น A ก็ยังไม่น่าสนใจนัก

แต่หากเข้าคลื่น 1 ก็จะน่าสนใจมาก เนื่องจากเป็นการเริ่มต้นขาขึ้นรอบใหม่ ซึ่งแปลว่ายังขึ้นได้อีกมาก

เรายังไม่รู้หรอก ต้องตามดูกันไปก่อน






เวลาผ่านไป รอดูไปเรื่อยๆจนปลายปี 2012  ภาพนี้แหละ เป็นรูปแบบที่นักเทคนิคค้นหากันว่าหุ้นตัวใดเกิดรูปแบบเช่นนี้บ้าง เพราะเป็นจังหวะที่น่าเข้าลงทุนมากที่สุด นั่นก็คือ หุ้นที่กำลังเข้าคลื่น 3 โอ พบแล้ว

จากภาพนี้ เราค่อยๆนับคลื่น ตามราคาไป จะเห็นว่าราคาแถวๆปลายปี 2011 น่าจะจบคลื่น C แล้ว และคลื่นทำคลื่น 1 แล้วตอนต้นปี 1012 ตรงที่เป็น 1 นั้นเดิมทีเราสงสัยว่าเป็น B หรือเป็น 1 แต่รูปแบบน่าจะเป็น 1 มากกว่า และปัจจุบันน่าจะอยู่ที่คลื่น 2 หรืออาจกำลังเข้าคลื่น 3 ก็ได้

แต่ช้าก่อน นักเทคนิคอย่าเพิ่งเข้าลงทุน ต้องรอให้ชัดก่อนว่าใช่คลื่น 3 หรือไม่






รอดูไปอีกหน่อย จนต้นปี  2013 ราคาผ่านยอดคลื่นเดิมไปได้ แสดงว่าตอนนี้น่าจะเข้าคลื่น 3 จริงๆแล้วล่ะ ถ้าอย่างนั้นลุยเลยยยยยยยย...






ต่อมา ราวกลางปี 2013 ราคาหุ้นเกิดร่วงลงมา และเกิดสัญญาณขาย นักเทคนิคผู้มั่นใจในรูปแบบทางเทคนิคย่อมคิดว่าเมื่อเป็นคลื่น 3 แล้วก็ต้องไปต่อแน่นอน นี่เป็นแค่คลื่นย่อยขาลงหรือการปรับฐาน (correction) เท่านั้น เย็นใจได้ คลื่น 3 ต้องแรงและได้กำไร !!!






ต่อมา ราคาหุ้นยังร่วงไม่หยุด ราคาไหลลงจนนับคลื่นไม่ถูก เพราะไม่เป็นไปตามตำราคลื่น 3 พอมีเด้งหน่อย ก็เกิดอาการดีใจเพราะคิดว่ายังเป็นคลื่น 3 น่าจะไปต่อเสียที

แต่ที่ไหนได้ พองบการเงินไตรมาส 2 ประกาศออกมา ผลประกอบการขาดทุนหนักแบบผิดคาด ราคายิ่งร่วงไหลลงมาไม่หยุด สุดท้าย ลงไปแถวๆ 15



กรณีศึกษานี้ลุงแมวน้ำอธิบายว่า นี่แหละ กรรม หรือว่าการกระทำ ก่อให้เกิดรูปแบบทางเทคนิค ราคาที่ไหลลงมาน่าจะเป็นเพราะว่ามีผู้ที่สามารถคาดการณ์ได้ว่าผลประกอบการณ์ของหุ้นนี้เป็นอย่างไร จึงทยอยขายออกมาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อราคาไหลลงต่อเนื่อง รูปแบบทางเทคนิคก็เสียหาย หากนักเทคนิคยึดมั่นกับคำว่าคลื่น 3 โดยไม่ยอมหนี สุดท้ายก็ขาดทุนอ่วม

ส่วนนักลงทุนที่ใช้รูปแบบทางเทคนิค และมีความยืดหยุ่น ก็มองว่ารูปแบบทางเทคนิคนั้นมักมีข้อยกเว้นเสมอ ในกรณีนี้ก็อธิบายได้ง่ายๆว่าคลื่น 3 ไม่สำเร็จ ก็เป็นคลื่นล้มเหลว (failed wave 3) นั่นเอง เมื่อรูปแบบทางเทคนิคเสียหายไป ก็ต้องมาไล่นับคลื่นกันใหม่

เมื่อผลประกอบการออกมา สายปัจจัยพื้นฐานก็ต้องตีความงบว่าขาดทุนหนักขนาดนี้แสดงว่าพื้นฐานธุรกิจอาจเปลี่ยนไปแล้ว และอาจต้องตัดสินใจขายขาดทุน

ลองคิดดูเล่นๆ หากเป็นนักเทคนิคที่ใช้ระบบสัญญาณซื้อขาย กลุ่มนี้คงหนีได้เร็วกว่าเพื่อน ขาดทุนน้อยที่สุด เนื่องจากสัญญาณซื้อขายเหมือนกับเซฟทีคัท คือช่วยชีวิตเอาไว้ได้

กลุ่มถัดมาน่าจะเป็นนักเทคนิคที่มั่นใจจนเกินควร กว่าจะได้คิดก็อาจขาดทุนหนัก

กลุ่มสุดท้าย น่าจะเป็นนักลงทุนที่ตัดสินใจลงทุนหรือไม่ลงทุนจากงบการเงิน หรือสายปัจจัยพื้นฐานนั่นเอง น่าจะขาดทุนมากที่สุด (ที่จริงพูดยาก สายพื้นฐานก็อาจขาดทุนน้อยที่สุดก็ได้ เพราะงบการเงินไตรมาสก่อนหน้าก็มีลางบอกเหตุออกมาบ้าง ขึ้นกับดุลพินิจของนักลงทุน หากเห็นลางบอกเหตุแล้วหนีก็อาจจะหนีได้เร็วกว่าเพื่อนก็ได้ แต่หากไม่หนี มาหนีเอาไตรมาสนี้ก็คงหนักกว่าเพื่อน)

ลุงแมวน้ำอยากฝากเตือนนักลงทุน ทั้งสายเทคนิคและปัจจัยพื้นฐานว่า รูปแบบราคาที่ผิดปกติ มักบ่งบอกถึงสัญญาณอะไรบางอย่าง ซึ่งสัญญาณนี้เร็วกว่าข่าวสารที่นักลงทุนรายย่อยอ่านตามหนังสือพิมพ์เสียอีก ดังนั้น หากราคาปิดปกติมากๆ ก็เท่ากับหุ้นส่งสัญญาณอันตรายออกมาก อย่าละเลยสัญญาณนี้ อย่าติดยึดกับรูปแบบหรือตำราจนเกินไป อะไรก็เกิดขึ้นได้ในตลาดหุ้น รวมทั้งอย่าหวังเงินปันผลจนขาดทุนหนักจากราคาหุ้น เพราะอาจไม่คุ้มกัน

Tuesday, July 29, 2014

29/07/2014 จีนมีเฮ อัปเดต BDI, สินค้าเกษตร ยางพารา BANPU, ADVANC, DTAC, TRUE, THCOM


ดัชนี CSI 300 ของตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้นมา 8.4% ในเวลา 2 สัปดาห์
รูปแบบทางเทคนิคกลับตัวเป็นขาขึ้น เป็นไปได้ที่ตลาดหุ้นจีนจะจบคลื่น C ไปแล้ว
และกำลังเข้าสู่คลื่นเศรษฐกิจขาขึ้นรอบใหม่


วันนี้ลุงแมวน้ำมีเรื่องอัปเดตเยอะทีเดียว แบ่งเป็นสองเรื่องใหญ่ นั่นคือ เศรษฐกิจของจีนที่เกี่ยวข้องกับหุ้นไทย และหุ้นในกลุ่มโทรคมนาคม เรามาดูเรื่องตลาดหุ้นจีนกันก่อน

ดูกราฟในภาพบนสุดของบทความ กราฟนั้นเป็นดัชนี CSI 300 ของตลาดหุ้นจีน หลายปีที่ผ่านมา จีนประสบปัญหาทางเศรษฐกิจหลายด้านทีเดียว ทั้งด้านฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ปัญหาธนาคารเงาและหนี้เน่าในภาคการเงินซึ่งส่งผลกระทบอย่างแรงต่อภาคการเงินและเศรษฐกิจของจีน จนถึงวันนี้ ปัญหาธนาคารเงาและหนี้เน่าดูเหมือนจะค่อยๆคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่มีใครไว้วางใจเนื่องจากไม่รู้ว่าภาคธนาคารจีนซุกขยะอะไรเอาไว้ใต้พรมบ้าง ส่วนทางด้านราคาบ้านนั้นไหลลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัว ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลจีนที่ต้องการชะลอการเจริญเติบโตของจีนให้อยู่ในระดับประมาณปีละ 7.5% จากที่เมื่อก่อนหน้านี้จีนเร่งการเจริญเติบโตในระดับปีละกว่า 10%

สถานการณ์ต่างๆเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ตลาดหุ้นจีนเป็นขาลง และเนื่องจากจีนเป็นประเทศผู้บริโภคขนาดใหญ่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจย่อมหมายถึงการบริโภคที่ชะลอตัวลง ดังนั้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆจึงชะลอตัว การขนส่งโดยเฉพาะการเดินเรือขนส่งวัตถุดิบก็ชะลอตัวลงไปด้วย

แต่ว่าตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนดูเหมือนจะเริ่มตั้งหลักได้แล้ว ดัชนี PMI อันเป็นดัชนีภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ค่า GDP เริ่มนิ่งแถวๆระดับ 7.5% ต่อปี ปัญหาเรื่องหุ้นกู้ของภาคเอกชนที่อาจมีปัญหาต้องดีฟอลต์ คือต้องชักดาบ ก็ไม่เกิด ภาครัฐสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

ในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้นแรง ประมาณ 8.4% ถือว่าเป็นตัวบ่งชี้สำคัญที่แสดงว่าตลาดหุ้นจีนรวมทั้งเศรษฐกิจจีนน่าจะกำลังกลับทิศเป็นขาขึ้นแล้ว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็ถือว่ามีเฮ เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนมีส่วนช่วยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างมาก

เรามาดูกันว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนนั้นใครจะได้อานิสงส์กันบ้าง ดูกันเลยคร้าบ ภาพมาก่อน คำบรรยายตามหลัง


ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม
สอดคล้องกับการดีดตัวของตลาดหุ้นจีน

สินค้าเกษตร จีนเป็นผู้บริโภคสินค้าเกษตรรายใหญ่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนทำให้เกิดแรงเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งสินค้าเกษตร



ราคายางพาราตลาด AFET เริ่มตั้งหลักได้ อีกไม่นานน่าจะค่อยๆปรับตัวขึ้น

จีนและอินเดียเป็นผู้บริโภคยางพารารายใหญ่ แม้ว่าในปีนี้จะมีปริมาณยางพาราเข้ามาในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น เนื่องมาจากจีน เวียดนาม พม่า ไทย เพิ่มพื้นที่ปลูกยางพาราในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ในทางเทคนิคราคายางน่าจะกลับมาเป็นขาขึ้นได้



ราคา BANPU สังเกตว่าสอดคล้องไปกับทิศทางตลาดหุ้นจีน
น่าจะมีเฮด้วยเช่นเดียวกับดัชนีจีน

ราคาถ่านหิน โดยเฉพาะ BANPU สัมพันธ์กับเศรษฐกิจจีน สังเกตว่าราคาหุ้นปรับตัวขึ้นในจังหวะเดียวกับที่ตลาดหุ้นจีนเด้งในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา



ดัชนีค่าระวางเรือเทกอง ไหลลงมาตลอดตั้งแต่ต้นปี 2014
สาเหตุหนึ่งมาจากปริมาณการบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง และอีกสาเหตุหนึ่งคือฤดูฝน
แต่ตอนนี้เริ่มนิ่งแล้ว คาดว่าน่าจะกลับทิศเป็นขาขึ้นได้

ดัชนีค่าระวางเรือเทกอง ไหลลงมาตั้งแต่ต้นปี ตอนนี้เริ่มนิ่งแล้ว คาดว่าดัชนีค่าระวางเรือน่าจะปรับตัวขึ้นได้จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ประกอบกับช่วงปลายฤดูฝนดัชนีจะค่อยๆดีขึ้นอยู่แล้วอันเป็นปัจจัยตามฤดูกาล หุ้นที่ได้อานิสงส์จากดัชนีค่าระวางเรือก็คือหุ้นสายการเดินเรือเทกองนั่นเอง

นอกจากนี้ ขณะนี้ดัชนีค่าระวางเรือตู้ (เรือคอนเทนเนอร์) ก็ค่อยๆดีขึ้น สะท้อนภาพการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน ดังนั้นหุ้นเรือคอนเทนเนอร์ก็ได้รับอานิสงส์ด้วย ตอนนี้ปรับตัวขึ้นมาบ้างแล้ว (ไม่ได้นำภาพมาแสดงให้ดู)


ทีนี้ก็มาถึงกลุ่มกลุ่มสื่อสารโทรคมนาคมกันบ้าง หมู่นี้แมวน้ำอัปเดตหุ้นในกลุ่มนี้มาเป็นระยะ เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่นิ่ง มีการชะลอประมูลคลื่นรอบใหม่ไปอีก 1 ปี ทีนี้ก็อลเวงกันพอสมควร เรื่องจากสัมปทานคลื่นที่แต่ละค่ายถืออยู่หมดอายุไม่พร้อมกัน ทำให้ต้องมาประเมินกันว่าใครได้เปรียบ ใครเสียเปรียบ และมากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นเรื่องที่ประเมินได้ค่อนข้างยาก

เรามาอัปเดตหุ้นแต่ละตัวกันเลย


ราคาหุ้น ADVANC

ADVANC ราคาไหลลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีสัมปทานคลื่นสองช่วงคลื่นที่กำลังจะหมดลง ตอนนี้ยังประเมินกันไม่ถูกว่าจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์เป็นมูลค่าเท่าใด ทางกองทุนเทมาเสกของสิงคโปร์ที่ถือหุ้นอยู่เป็นจำนวนมากก็ประกาศลดการลงทุนในหุ้นนี้ลง ฝุ่นก็ยิ่งตลบเข้าไปใหญ่ ราคาจึงไหลลงอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับรูปแบบทางเทคนิคที่เกิดแกปใหญ่แล้วปิดไม่ได้ ซึ่งอาจเป็นแกปที่แสดงถึงขาลงยาว หรือคลื่น C นั่นเอง

ราคาแถวๆ 200-205 บาทเป็นแนวรับใหญ่ชั้นหนึ่ง แถวๆนี้ค่า P/E ratio กับอัตราเงินปันผลก็สวยงามไม่น้อยเลยทีเดียว หลายคนเริ่มอยากเก็บแถวๆราคานี้ ถือไว้สัก 10 ปี กินปันผลสบายใจ ราคาชะลอตัวอยู่แถวแนวรับใหญ่ก็เพราะนักลงทุนเริ่มสนใจเงินปันผลกับค่า P/E ที่จูงใจนั่นเอง



ราคาหุ้น DTAC

ส่วนราคาหุ้น DTAC สภาพการณ์ต่างออกไป เมื่อวานยังเกิด big black candle คือราคายังไหลลงไม่หยุด


ราคาหุ้น THCOM

ราคาหุ้นดาวเทียมไทยคม หุ้นนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวหลังจากที่ขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปี คือน่าจะเป็นหุ้นเทิร์นอะราวด์ได้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงระบบทีวีเป็นดิจิทัล ทำให้รายได้ของ THCOM เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีโครงการส่งดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นไปอันจะทำให้รายได้มากขึ้น แต่ตอนนี้รูปแบบราคาไหลลงอย่างรวดเร็วจนหลุดแนวของช่อง SEC (standard error channel) สถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ เพราะไม่รู้ว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้น ราคาที่ไหลลงนี้ไม่ใช่ไม่มีเหตุผล แต่อาจเป็นเหตุผลที่นักลงทุนรายย่อยยังไม่รู้ก็ได้



ราคาหุ้น TRUE

ราคาหุ้น TRUE ในทางเทคนิคเป็นขาขึ้นแล้ว ช่วงนี้ราคาคงยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น จนกว่าการเพิ่มทุนในปลายเดือนสิงหาคมจะแล้วเสร็จ หลังจากนั้นคงต้องมาดูกันอีกที

สำหรับหุ้นสื่อสารโทรคมมานาคมนั้น ตอนนี้สถานการณ์เรียกได้ว่าฝุ่นตลบ ภาครัฐอาจกำลังเปลี่ยนกฎกติกา ยังไม่มีใครรู้ว่าผู้ให้บริการทั้งสามค่ายคิดอ่านอย่างไร วางกลยุทธ์อย่างไร จะลงทุนเพิ่มอย่างไร ขณะเดียวกันน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นทั้งของ TRUE และ เครือ INTUCH, ADVANC, THCOM ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป 

ทั้งเครือ ADVANC, DTAC, TRUE กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง ธุรกิจนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว การลงทุนเพิ่มเป็นเรื่องที่จำเป็น เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้นประเด็นสำคัญของธุรกิจนี้ก็คือการลงทุนและความสามารถในการแข่งขัน อย่ามองแต่เฉพาะเพียงเงินปันผลหรือค่าพีอีที่ดึงดูดใจ เพราะแม้ปีนี้เงินปันผลจะงาม แต่ค่ายใดหากชะลอการลงทุน หรือต้องการปล่อยมือจากธุรกิจในประเทศไทย ก็อาจทำให้เสียความสามารถในการแข่งขันได้ ธุรกิจจะเปลี่ยนไปทันที และปีต่อไปก็อาจไม่ได้เห็นผลกำไรหรือเงินปันผลอีก ดังนั้น ลุงแมวน้ำคิดว่าตอนนี้ฝุ่นตลบ รอดูก่อนดีกว่า ให้สถานการณ์ชัดเจน ให้รู้แผนการของแต่ละค่ายก่อนว่าจะเอาอย่างไร จะลงทุนต่ออย่างไร จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันอย่างไร เมื่อเห็นชัดแล้วจึงค่อยตัดสินใจเข้าลงทุนดีกว่าคร้าบ

Sunday, July 27, 2014

27/07/2014 เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ บางกะเจ้า อนุรักษ์ พัฒนา เหลื่อมล้ำ และขัดแย้ง (4)



เมื่อกฎหมายผังเมืองสมุทรปราการ พ.ศ. 2556 ประกาศใช้ บางกะเจ้าก็กลายเป็นข่าวใหญ่



ในตอนที่แล้วลุงแมวน้ำพาขี่จักรยานชมเรือกสวนและตลาดน้ำในบางกะเจ้ากันไปแล้ว ในตอนนี้ลุงแมวน้ำจะพาไปชมสวนศรีนครเขื่อนขันธ์อันเป็นสวนสาธารณะที่สงบ ร่มรื่น อีกทั้งยังเป็นแหล่งดูนกและผีเสื้ออีกด้วย


ชมสวนศรีนครเขื่อนขันธ์


สวนศรีนครเขื่อนขันธ์หรือเรียกสั้นๆว่าสวนศรีฯนี้เป็นสวนสาธารณะที่มีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ โดยชื่อสวนศรีนครเขื่อนขันธ์นี้มีที่มาจาก นครเขื่อนขันธ์ อันเป็นชื่อโบราณของพระประแดงนั่นเอง

เมืองนครเขื่อนขันธ์นี้เป็นเมืองที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 โดยเป็นเมืองหน้าด่านปากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อป้องกันการรุกรานทางทะเลของข้าศึก ชนพื้นเมืองเดิมของนครเขื่อนขันธ์เป็นชาวรามัญหรือมอญที่โยกย้ายมาจากปทุมธานี ต่อมาจึงกลายมาเป็นอำเภอพระประแดงในปัจจุบัน

สวนศรีฯนี้ได้มาจากการซื้อพื้นที่สวนผลไม้เก่ามาพัฒนา ในการพัฒนาเพื่อปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะก็ยังคงอนุรักษ์รูปแบบของร่องสวนเดิมเอาไว้ด้วย ดังนั้นสวนศรีฯนี้จึงมีลักษณะเด่นคือยังมีเค้าของเรือกสวนอยู่

นอกจากนี้ แถบนี้ยังมีนกและผีเสื้อหลายชนิด ดังนั้นสวนสาธารณะแห่งนี้จึงเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติใกล้กรุงเทพฯอีกด้วย

เรามาชมภายในสวนศรีฯกัน ภาพมาก่อน คำบรรยายตามหลังนะคร้าบ




ทางเข้าสวนศรีนครเขื่อนขันธ์





แผนที่ภายในสวนสาธารณะ





สวนศรีฯนี้บรรยากาศดีมาก ท้องฟ้าสดใส อากาศสดชื่น ลมพัดเย็นสบาย อากาศที่นี่สดชื่นกว่าอากาศที่สวนลุมอย่างรู้สึกได้







เนื่องจากสวนสาธารณะนี้พัฒนามาจากสวนผลไม้เก่า ดังนั้นจึงยังคงมีเค้าของเรือกสวนอยู่ อย่างเช่นร่องสวนเดิม นับเป็นสวนสาธารณะที่มีภูมิทัศน์แปลกตาทีเดียว





บึงน้ำใหญ่กลางสวนศรีฯ เชื่อมต่อกับแนวร่องสวนเดิม และมีถนนกับสะพานเชื่อมโดยรอบ น่าขี่จักรยานมาก





ศาลาพักผ่อน บรรยากาศดีมาก วิวสวย ลมพัดเย็นสบาย นั่งแล้วอยากหลับสักงีบ ไม่อยากเดินต่อเลย >.<






หอชมวิว สูง 7 เมตร ใช้ชมวิวโดยรอบ รวมทั้งใช้เป็นจุดชมนก แถวนี้มีนกและผีเสื้อเยอะทีเดียว


สวนศรีนครเขื่อนขันธ์นี้เป็นจุดสุดท้ายสำหรับการท่องเที่ยวในวันหยุดของเรา หลังจากที่ลุงขี่จักรยานชมสวนเสร็จแล้วลุงก็นำจักรยานไปคืน และกลับไปที่ท่าเรือเพื่อข้ามฝั่งไปยังคลองเตย

แต่ยังก่อน เรื่องราวของบางกะเจ้ายังไม่ได้หมดลงแต่เพียงเท่านี้ กฎหมายผังเมืองสมุทรปราการฉบับใหม่ ปี 2556 ที่ประกาศใช้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา ทำให้บางกะเจ้ากลายเป็นประเด็นร้อนของคนในพื้นที่และนักอนุรักษ์ขึ้นมาทันที และถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจของความขัดแย้งบนเส้นทางการอนุรักษ์และพัฒนา เรามาดูรายละเอียดกัน



ผังเมืองสมุทรปราการ 2556 ทำบางกะเจ้าร้อน


ผังเมืองสมุทรปราการ แสดงในส่วนพื้นที่กระเพาะหมูบางกะเจ้า 6 ตำบล ซึ่งกำหนดประเภทการใช้สอยไว้เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (ก.1 สีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว) และประเภทชนบทและเกษตรกรรม (ก.3 สีเขียว) และ



ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าในผังเมืองจังหวัดสมุทรปราการฉบับก่อนๆ คือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537, 2544 ก็ได้กำหนดให้พื้นที่ 6 ตำบลในอำเภอพระประแดงในส่วนกระเพาะหมู ที่เรียกรวมๆกันว่าเป็นพื้นที่บางกะเจ้านั้นเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เพราะโดยเจตนาแต่ดั้งเดิมนั้นพื้นที่บางกะเจ้าถูกวางบทบาทและหน้าที่่ให้เป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อเป็นปอดของกรุงเทพฯและพื้นที่ใกล้เคียง แต่ในเชิงกฎหมายหรือในเชิงวิชาการ พื้นที่่ในบางกะเจ้านั้นแบ่งย่อยเป็น 2 โซน คือ

ที่ดินประเภท ก.1 ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม สัญลักษณ์ในแผนที่ผังเมืองจะเป็นสีขาวมีเส้นทแยงสีเขียว หรือที่เรียกสั้นๆว่าพื้นที่ขาวทแยงเขียว

ที่ดินประเภท ก.3 ที่ดินชนบทและเกษตรกรรม สัญลักษณ์ในแผนที่ผังเมืองจะเป็นพื้นที่สีเขียว

ลุงแมวน้ำจะไม่ลงรายละเอียดให้ลึกนัก เอาแต่เพียงคร่าวๆว่าสองโซนนี้มีการควบคุมการใช้สอยที่ดินใกล้เคียงกัน เพียงแต่ว่าโซน ก.1 จะมีการควบคุมที่เข้มงวดกว่า มีข้อห้ามมากกว่าบ้าง ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ ดังนั้นจึงเข้มงวดกว่า ก.3 บ้าง


ผังเมืองของบางกะเจ้า ปี 2556 ความแตกต่างอยู่ที่พื้นที่ ก.3 การใช้ประโยชน์ในกิจกรรมรอง จาก 5% เป็น 15%


ทีนี้ในกฎหมายผังเมืองนั้นกำหนดการใช้ที่ดินเอาไว้เป็นหลายประเภท ซึ่งแสดงด้วยสีต่างๆในแผนที่ผังเมือง ยกตัวอย่างเช่น ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัย (สีเหลือง ส้ม และน้ำตาล) ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม (สีแดง) ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม (สีม่วง) ที่ดินอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (สีขาวทแยงเขียว) กับที่ดินเชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) เป็นต้น

เมื่อมองในภาพกว้างก็จะเห็นว่าบางกะเจ้านั้นถูกกำหนดให้เป็นโซนเกษตรกรรม พื้นที่ส่วนใหญ่ต้องใช้ทำการเกษตร และส่วนน้อยเอาไว้ปลูกสร้างบ้านเรือน โดยไม่สามารถทำหมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม หรือโรงงานอุตสาหกรรมได้

ทีนี้ประเด็นก็อยู่ตรงที่ผังเมืองสมุทรปราการใหม่ ฉบับปี 2556 ที่ประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 นั้นมีการผ่อนคลายข้อกำหนดการใช้พื้นที่สีเขียว ก.3 ซึ่งจากเดิมอนุญาตให้ใช้พื้นที่ทำกิจกรรมรอง (กิจกรรมหลักคือการเกษตร ส่วนกิจกรรมรองคือการใช้สอยอื่นๆ เช่น ปลูกสร้างบ้านเรือน ฯลฯ) ได้ 5% ของพื้นที่สีเขียวทั้งหมด ก็ได้ผ่อนคลายขยายมาเป็นใช้ทำกิจกรรมรองได้ 15% ของพื้นที่สีเขียวทั้งหมด

จากคำชี้แจงของกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ชี้แจงว่าการผ่อนคลายข้อกำหนดนี้ก็เพื่อให้คนในพื้นที่มีพื้นที่ใช้สอยปลูกบ้านพักอาศัยได้มากขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากชุมชนบางกะเจ้ามีการเติบโตขึ้น เด็กๆเมื่อหลายปีก่อน ปัจจุบันเติบโตเป็นหนุ่มสาวและมีครอบครัว คนรุ่นใหม่เหล่านี้ต้องการพื้นที่เพื่อสร้างบ้านเรือนเพิ่มขึ้น

ปัญหาอยู่ที่ว่าผังเมืองใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้นี้คนในชุมชนไม่รู้เรื่อง ไม่ได้ผ่านการประชาพิจารณ์จากคนในชุมชน ทางภาครัฐก็บอกว่าจัดไปแล้วแต่ไม่มีชาวบ้านมาร่วมประชาพิจารณ์ ทางฝ่ายชาวบ้านก็บอกว่าจัดเมื่อไร ไม่รู้เรื่องมาก่อนเลย แอบจัดหรือเปล่า ฯลฯ

นี่เองที่ทำให้เกิดเป็นประเด็นร้อน นักอนุรักษ์ก็เริ่มออกมาช่วย สื่อมวลชนก็เริ่มให้ความสนใจและเสนอเป็นข่าวในทำนองว่าชาวบางกะเจ้ากังวลว่าผังเมืองใหม่จะซ่อนเงื่อนงำเพื่อเอื้อประโยชน์นายทุน เนื่องจากกฎหมายไม่อนุญาตให้ทำหมู่บ้านจัดสรร ก็ทำโครงการละ 9 แปลงก็ได้ รวมทั้งการทำโรงแรมขนาดเล็กก็น่าจะทำได้ด้วย รวมทั้งพื้นที่กิจกรรมรองส่วนทีเพิ่มมานั้น ใครจะเป็นผู้ได้รับการจัดสรรให้ใช้ประโยชน์ เพราะหากใครได้ส่วนนี้เท่ากับได้ลาภก้อนใหญ่


ที่ดินว่างเปล่าในบางกะเจ้าเริ่มมีการปรับปรุงสภาพที่ดิน


ประกอบกับมีบริษัทอสังหาฯรายใหญ่ให้ข่าวว่ามีที่ดินที่บางกะเจ้าหลายร้อยไร่ พร้อมทำโครงการบ้านหรูระดับไฮเอนด์ นอกจากนี้ ที่ดินว่าเปล่าขนาดใหญ่ในบางกะเจ้าเริ่มมีการปรับพื้นที่เพื่อเตรียมการก่อสร้าง เหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณที่ทำให้ชาวบางกะเจ้ากังวล รวมทั้งนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งคนกรุงเทพฯที่หวงแหนปอดสีเขียว ต่างก็เริ่มกังวลด้วยเช่นกัน ว่าในที่สุดปอดของกรุงเทพฯจะค่อยๆถูกกลืนกินไปหรือว่ากลายเป็นมะเร็งไปเสียเนื่องจากถูกพัฒนา



ความหลื่อมล้ำและขัดแย้งบนเส้นทางการพัฒนา



ปัญหาการรุกรานจากความเจริญที่เกิดขึ้นในพื้นที่บางกะเจ้านั้นไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นปัญหาคลาสสิกที่เกิดขึ้นมาในทุกพื้นที่และทุกยุคสมัย ที่ใดที่ความเจริญไปถึง กระบวนการชุมชนเมือง (urbanization) ย่อมต้องดำเนินไป และความขัดแย้งระหว่างการอนุรักษ์กับการพัฒนาย่อมตามมา

หากพวกเราอ่านจากข่าว จะพบว่าผู้ที่ห่วงว่าพื้นที่สีเขียวของบางกะเจ้านี้จะถูกทำลายไปหรือพูดง่ายๆว่ากลุ่มที่มีความคิดในเชิงอนุรักษ์บางกะเจ้ามีอยู่สองกลุ่มหลัก คือ กลุ่มคนนอกพื้นที่ กับกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ที่เป็นรุ่นบุกเบิก สองกลุ่มนี้อยากให้บางกะเจ้ารักษาวิถีแบบดั้งเดิมเอาไว้ ไม่ต้องการให้เปลี่ยนแปลง


เสียงของผู้ที่ต้องการอนุรักษ์บางกะเจ้าเอาไว้เป็นปอดสีเขียวของกรุงเทพฯ


ปัญหาหรือว่าข้อขัดแย้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ลุงแมวน้ำเห็นมาตลอดชีวิต และในทุกภูมิภาค ยกตัวอย่างเช่นทางภาคเหนือซึ่งมีชาวเขาอยู่หลายเผ่า อาศัยอยู่ตามดอยต่างๆ วิถีชีวิตของชาวเขาเมื่อสักสามสิบปีก่อน ก็เป็นไปแบบบ้านบนดอย บ่มีแสงสี บ่มีทีวี บ่มีน้ำประปา บ่มีเป๊ปซี่โคล่า เหมือนในเพลงบ้านบนดอยนั่นแหละ พอคนเมืองหรือว่าคนพื้นราบขึ้นไปเห็นก็ร้องว้าว เพราะว่าชอบใจกับวิถีชีวิตที่สงบ สมถะ และร่มเย็น แตกต่างจากชีวิตอันเร่งรีบของพวกตนอย่างมาก

หลายปีผ่านไป เมืองข้างล่างเติบโต นักท่องเที่ยวที่ขึ้นมาเที่ยวบนดอยก็เริ่มบ่นว่าบนดอยนี้เปลี่ยนไป ทำไมมีเสาอากาศก้างปลา จานรับสัญญาณดาวเทียม รกรุงรังไปหมด ทำไมมีรถกระบะ มอเตอร์ไซค์บนดอยเยอะแยะ ทำไมไม่อนุรักษ์เอาไว้นะ ทำไมไปหลงไหลแสงสีเสียได้  น่าเสียดายจัง

พ่อเฒ่าแม่แก่บนดอยก็บ่นเช่นกันว่าลูกหลานไม่เอาอย่างวิถีชีวิตของตน

แต่หากไปถามเด็กๆชาวเขา เด็กเหล่านี้มีความฝันอยากไปเรียนในเมือง อยากใส่กางเกงยีนส์ อยากมีรถเครื่อง (มอเตอร์ไซค์) อยากมีโทรศัพท์มือถือ อยากมีห้องนอนสวยๆ มีเครื่องเสียงดีๆ ไม่มีใครอยากนั่งทอผ้า ปักสะดึง อยู่หน้ากระต๊อบไม้อย่างในอดีตแล้ว

เช่นเดียวกันกับที่บางกะเจ้า หากเข้าไปสังเกตการณ์ให้ละเอียด คนใชุมชนที่ต้องการวิถีอนุรักษ์นั้นส่วนใหญ่เป็นคนบางกะเจ้าในยุคบุกเบิก คือพวกในวัยเจนเอ็กซ์หรือก่อนหน้านั้น ส่วนพวกเจนวายหรือเจนมี คือเป็นคนรุ่นลูกหลาน มีความคิดแตกต่างออกไป ในขณะที่คนนอกพื้นที่ต้องการให้บางกะเจ้าเป็นปอด แต่คนหนุ่มสาวในพื้นที่อยากมีรถเก๋ง อยากมีคอนโดในเมือง อยากทำงานในเมือง อยากเดินสยามสแควร์ซื้อของสวยๆงามๆ ฯลฯ แต่การกำหนดให้บางกะเจ้าซึ่งอยู่ติด กทม เป็นพื้นที่ ก.1 กับ ก.3 ทำให้ราคาที่ดินถูกกดเอาไว้ การใช้ประโยชน์จากที่ดินหรือหาประโยชน์จากที่ดินแตกต่างจากที่ดินในกรุงเทพฯมาก การอนุรักษ์พื้นที่ปอดเอาไว้โดยที่คนกรุงเทพฯไม่ได้ตอบแทนหรือชดเชยอะไรแก่คนเหล่านี้เลย นี่เป็นความเหลื่อมล้ำประการหนึ่ง


เสียงบางส่วนที่ต้องการการพัฒนา


อีกประการ คนในพื้นที่ที่เป็นรุ่นลูกหลาน ส่วนใหญ่พอเติบโตก็แยกบ้านไปมีครอบครัว พื้นที่สวนใหญ่ของพ่อแม่ก็ต้องถูกแบ่งให้แก่ลูกหลานหลายคน กลายเป็นพื้นที่ที่เล็กลง นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ก็ไม่เอาอาชีพทำสวนแล้ว ได้สวนมาก็อยากขายหรือทำประโยชน์อย่างอื่นจากที่ดินมากกว่า

เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน โครงการสวนกลางมหานครอนุรักษ์บางกะเจ้าไว้เป็นพื้นที่สีเขียวดำเนินการทั้งอนุรักษ์และพัฒนาท้องถิ่นควบคู่กันไป ถือได้ว่าเป็นส่วนผสมระหว่างการอนุรักษ์และพัฒนาที่ค่อนข้างสมดุล แต่มาในยุคปัจจุบัน เมื่อโลกเปลี่ยนไป ความเจริญของเมืองรอบข้างเปลี่ยนแปลงไป ดุลยภาพที่มีอยู่แต่เดิมก็เริ่มเสียไป ซึ่งไม่ใช่ความผิดของใคร เราจำเป็นต้องหาดุลยภาพใหม่ที่เป็นส่วนผสมของการอนุรักษ์และการพัฒนาที่เหมาะสมกับสภาพในปัจจุบัน

ปัญหาทำนองนี้เกิดขึ้นมาตลอดนั่นแหละ บนเส้นทางของกระบวนการเติบโตของชุมชนเมือง ในต่างประเทศ การอนุรักษ์พื้นที่ใดมักต้องให้ผลประโยชน์ชดเชย รวมทั้งต้องมีการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์นั้น ยกตัวอย่างเช่น หากการอนุรักษ์ชุมชนแบบดั้งเดิม ก็ต้องกำหนดพื้นที่เอาไว้ไม่มากเกินไปนัก และให้คนในพื้นที่ได้ผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ ซึ่งส่วนใหญ่พื้นที่อนุรักษ์ทำนองนี้มักเป็นการอนุรักษ์แบบการจัดแสดงมากกว่า เช่น บ้านเรือนภายนอกต้องเป็นแบบเก่าดั้งเดิม แต่ข้างในจะแอบตกแต่งหรูๆก็ได้ แต่อย่าให้นักท่องเที่ยวเห็น เป็นต้น ก็เหมือนกะเหรี่ยงคอยาว เดี๋ยวนี้มีแค่คนรุ่นเก่ามาโชว์นักท่องเที่ยวสองสามคนเท่านั้น สาวๆสมัยนี้ไม่มีใครยอมใส่ห่วงให้คอยาวแล้ว เป็นต้น

ดังนั้นเรื่องการอนุรักษ์บางกะเจ้า ลุงแมวน้ำคิดว่าต้องมองด้วยใจที่เป็นธรรม คิดถึงใจเขาใจเรา หากต้องการอนุรักษ์ปอดเอาไว้ ภาครัฐควรมีแผนบริหารจัดการที่ให้คนในชุมชนได้ประโยชน์และพัฒนาได้ตามที่พวกเขาต้องการด้วย เช่น ซื้อที่ดินเอาไว้เองเพื่อทำปอด ที่ดินบางส่วนก็ทำเป็นหมู่บ้านอนุรักษ์ รองรับนักท่องเที่ยว แต่พื้นที่อื่นก็อาจต้องปล่อยให้พัฒนาตามกระแสการพัฒนาไป จะได้ลดความเหลื่อมล้ำได้ ไม่ใช่ภาครัฐเองช่วยสร้างความเหลื่อมล้ำ หากการพัฒนาไปเพิ่มความเหลื่อมล้ำ ความขัดแย้งย่อมต้องตามมา และบานปลายไม่สิ้นสุด


Saturday, July 12, 2014

12/07/2014 เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ เติมฝันวันฟ้าใสที่บางกะเจ้า (3)



ทางไปตลาดน้ำบางน้ำผึึ้ง ตลาดน้ำขึ้นชื่อของบางกะเจ้า



วันหยุดนี้ลุงแมวน้ำพามาเที่ยวบางกะเจ้ากันต่อ ในตอนที่แล้วลุงแมวน้ำขี่จักรยานตั้งต้นมาจากสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ ลัดเลาะมาตามซอยเพชรหึงษ์เพื่อมุ่งสู่ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง

ไปต่อกันเลยคร้าบ ลุงเล่าไปเรื่อยๆพร้อมกับภาพ ภาพมาก่อน คำบรรยายตามหลัง



เที่ยวตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง





เอาละ ตอนนี้ลุงแมวน้ำออกมาถึงถนนเพชรหึงษ์แล้ว ออกมาจากซอยเพชรหึงษ์ 33 นั่นแหละ ลุงหยุดแล้วถ่ายย้อนเข้าไปในเส้นทางเมื่อขามา จักรยานสีฟ้าคันนั้นคือคันที่ลุงขี่มานั่นเอง ^_^




ถนนเพชรหึงษ์เป็นถนนคอนกรีตสองเลน เป็นถนนเส้นหลักของบางกะเจ้า พอเข้ามาในถนนใหญ่แล้วบรรยากาศชนบทแบบที่ผ่านมาในซอยย่อยหายไป กลายเป็นเส้นทางที่เริ่มจอแจ ยวดยานเริ่มมีมากขึ้น

พอโผล่เข้ามาในถนนใหญ่ปุ๊บก็เจอับป้ายประกาศขายที่ดินที่เสาไฟฟ้าปั๊บ ป้ายประกาศขายที่ดินยังมีให้เห็นต่อเนื่องไปตามถนนใหญ่ ราคาที่ดินที่ประกาศขายก็หลากหลายและแตกต่างกันมาก เท่าที่ลุงเห็น มีตั้งแต่ราคาตารางวาละ 9,000 บาทไปจนถึงตารางวาละ 90,000 บาท และขายกันตั้งแต่ไม่กี่ตารางวาจนถึงหลายไร่ ว้าว ราคาที่ดินแถวนี้ไม่เบาเลย ^_^

ทำไมที่สวนเก่าๆจึงได้แพงขนาดนี้ เดี๋ยวค่อยมาดูกัน แต่ว่าตอนนี้ขี่จักรยานเที่ยวกันก่อน




มีแผงขายดอกเกลือข้างทางด้วย แต่ว่าคงยังเช้าอยู่ เจ้าของแผงจึงยังไม่มา ดอกเกลือนี้หาซื้อได้ค่อนข้างยาก และมีราคาแพงกว่าเกลือแกงทั่วไป บางทีก็เรียกเกสรเกลือ

ที่จริงเกลือไม่ได้ผลิดอกออกเกสรได้หรอก ดอกเกลือนี้เป็นผลึกเกลือที่เกิดขึ้นบนผิวน้ำในนาเกลือ ผลึกเกลือนี้เกิดขึ้นในตอนรุ่งเช้าและลอยอยู่บนผิวน้ำได้เนื่องจากผลึกยังจับตัวกันไม่หนานัก แต่พอสายหน่อยผลึกเกลือที่ผิวน้ำก็จะหนาตัวขึ้นและมีน้ำหนักมากขึ้น และจะจมลงไป ดังนั้นการเก็บดอกเกลือหรือเกสรเกลือจึงต้องเก็บในตอนรุ่งเช้า ดอกเกลือนิยมใช้ทำอาหารเพราะมีรสชาติกลมกล่อมกว่าเกลือแกงทั่วไป และยังใช้ขัดผิวได้อีกด้วย ลุงก็อยากได้สักถุงเหมือนกัน แต่ว่าเขายังไม่มาขาย จึงอด >.<





ยิ่งใกล้ถึงตลาดบางน้ำผึ้ง บ้านเรือนสองข้างทางก็แออัดยิ่งขึ้น ร้านสะดวกซื้อ เทสโก้ ธนาคาร ร้านแว่น เคาน์เตอร์เซอร์วิส หาได้แถวนี้หมด ตรงนี้เป็นแถวๆซอยเพชรหึงษ์ 26 ซึ่งลุงต้องเลี้ยวเข้าไปในซอยนี้เพื่อไปสู่ตลาดน้ำ




วินมอเตอร์ไซค์และศาลาคอยรถเมล์ รถประจำทางที่วิ่งในบางกะเจ้าก็เก๊า เก่า  >.<




ลุงแมวน้ำขี่จักรยานต่อไปอีกเดี๋ยวเดียวก็เห็นตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง ที่ตลาดมีจัดลานกว้างไว้ให้เป็นที่จอดรถยนต์สำหรับผู้ที่ขับรถมาเองด้วย




ตอนนั้นเป็นเวลาเกือบ 8 โมงเช้า ตลาดยังไม่เปิดดี บางเจ้าก็เปิดแล้วแต่บางเจ้าเพิ่งจะมาจัดร้าน ลุงแมวน้ำไม่กล้าจอดจักรยานทิ้งไว้หน้าตลาด เพราะกุญแจล็อกจักรยานก็ไม่มี เกิดรถหายละก็ลุงคงแย่ ลุงจึงจูงจักรยานเข้าไปชมตลาดด้วย  >.<





อาหารและขนม น่าสนใจอยู่เหมือนกัน เห็นแล้วหิวขึ้นมาเชียว >.< ลุงแมวน้ำชมตลาดด้วยความทุลักทุเลนิดหน่อย จะซื้อขนมก็ลำบาก เพราะเกะเกะเจ้าจักรยาน ซอยที่เป็นพื้นที่ขายของนี้ยาวพอสมควร มีทั้งขนม เครื่องดื่ม ของกิน ของใช้ มากมาย




ด้านหนึ่งของตลาดที่เลียบลำคลอง สามารถจัดเป็นตลาดน้ำได้โดยนำเรือมาจอดขายของ ส่วนใหญ่เป็นของกิน


ลุงแมวน้ำจูงจักรยานเดินจนทั่วตลาด ตลาดตอนแปดโมงยังเปิดไม่เต็มที่จึงพอจูงจักรยานเข้าไปได้ หากเปิดขายเต็มที่ คนคงแน่น คงจูงจักรยานเข้าไปไม่ได้แน่ ได้แต่เดินๆ ดมๆ และชมๆ ขนมไปเรื่อยๆ ไม่ได้ซื้ออะไรสักอย่าง

เกือบเก้าโมง อากาศร้อนอบอ้าวแล้ว ผู้คนก็เริ่มมาเที่ยวตลาดกันแน่นขึ้น ลุงแมวน้ำยังต้องไปเที่ยวสวนศรีนครเขื่อนขันธ์อีก รีบเร่งทำเวลาหน่อยดีกว่า จึงออกจากตลาด และขี่จักรยานย้อนกลับมาทางเก่า




แต่ในระหว่างทางนั้นเองลุงแมวน้ำก็ได้เห็นรถเก๋งป้ายแดงคันหนึ่ง ใหม่เอี่ยมอ่อง รถเก๋งป้ายแดงกับสภาพแวดล้อมที่เป็นเรือกสวน ทำให้รถดูเด่นสะดุดขึ้นมาเป็นพิเศษ นี่แหละตัวอย่างของกระบวนการ urbanization




พิพิธภัณฑ์ปลากัดไทย แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อแห่งหนึ่งของบางกะเจ้า และอยู่ในเส้นทางวงรอบเล็กที่ลุงแมวน้ำขี่จักรยานนี้ด้วย แต่ลุงแวะไม่ทัน เพราะไม่อยากชมสวนศรีฯยามใกล้เที่ยง จึงได้แค่นำภาพมาให้ดู



ในครั้งต่อไป ลุงแมวน้ำจะพาไปชมสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ พร้อมกับเล่าให้ฟังถึงสภาพการณ์ในท้องถิ่นบางกะเจ้า ซึ่งเพิ่งมีการประกาศใช้ผังเมืองฉบับใหม่เมื่อต้นปี 2557 ซึ่งหลายฝ่ายเกรงกันว่าปอดสีเขียวใกล้กรุงเทพฯแห่งนี้อาจจะถูกทำลายไปเพราะผลของผังเมืองฉบับใหม่ และกลายเป็นชุมชนเมืองขึ้นมาแทน ซึ่งขณะนี้มีกระแสทัดทานผังเมืองนี้กันอยู่

ที่จริงปัญหาของบางกระเจ้าเป็นประเด็นโลกแตก นั่นคือ อนุรักษ์กับพัฒนา จะอยู่ด้วยกันได้ไหม จะไปด้วยกันได้อย่างไร แต่ลุงแมวน้ำเห็นว่าปัญหาแบบบางกะเจ้านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ กรณีมีมานานแล้วในพื้นที่ต่างๆ และอนาคตก็จะมีต่อไป ท่ามกลางกระแสของการพัฒนา หากเราไม่วางแผนเอาไว้ล่วงหน้าและมีการบริหารจัดการที่เป็นธรรมเพื่อรับมือ

คราวหน้าเราไปบางกะเจ้ากันอีกนะคร้าบ

Tuesday, July 8, 2014

08/07/2014 การลงทุนหุ้นและกองทุนรวมในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ (healthcare industry) (6)





แง้มดูพอร์ตภัทร โกลบอล เฮลธ์แคร์ (PHATRA GHC)

“เอาละ คราวนี้เรามาแง้มดูพอร์ตการลงทุนของกองทุนเปิดภัทร โกลบอล เฮลธ์แคร์ หรือ PHATRA Global Health Care กัน” ลุงแมวน้ำพูดหลังจากดูดน้ำปั่นเสร็จ “ดังที่ลุงบอกว่ากองทุนรวมนี้ต่างจาก BCARE เนื่องจาก BCARE เป็นกองทุนที่นำเงินไปลงทุนในกองทุนแม่เพียงกองทุนเดียว ส่วน PHATRA GHC เป็นกองทุนที่นำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมอีทีเอฟในตลาดหุ้นอเมริกาถึง 6 กองทุน”

“ทำไมต้องลงทุนถึง 6 อีทีเอฟเลยละลุง” ลิงจ๋อถาม

“มาถามลุงแล้วลุงจะรู้ไหมเนี่ย ลุงไม่ใช่ผู้ออกกองทุน” ลุงแมวน้ำหัวเราะ “แต่ถ้าจะให้เดาก็น่าจะเป็นเพื่อกระจายการลงทุนในซับเซ็กเตอร์ต่างๆของอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ ลองดูตารางนี่สิ”

ลุงแมวน้ำพูดจบก็ดึงกระดาษออกมาจากหูกระต่ายอีกแผ่นหนึ่ง

พอร์ตการลงทุนของ PHATRA GHC ณ มีนาคม 2014

“นี่ไง เป็นกองทุนรวมอีทีเอฟ 6 กองทุนที่ PHATRA GHC ลงทุนอยู่ จะสังเกตว่าอีทีเอฟแต่ละกองหรือว่าแต่ละตัวมีธีมย่อยแตกต่างกันออกไป XPH กับ PJP เน้นไปทางหุ้นบริษัทยา IXJ เป็นอีทีเอฟที่ลงทุนแบบคละ IHI เน้นไปทางทางหุ้นเครื่องมือแพทย์ ส่วน XBI เน้นไปทางหุ้นไบโอเทค และสุดท้ายคือ IHF เน้นไปทางผู้ให้บริการ ได้แก่ หุ้นโรงพยาบาล คลินิก ประกันสุขภาพ ฯลฯ

“หากสังเกตจากธีมการลงทุนของอีทีเอฟทั้งหก ก็พอจะคะเนได้ว่า PHATRA GHC ให้น้ำหนักการลงทุนในบริษัทยาเป็นสัดส่วนสูงที่สุด เพราะลงทุนในอีทีเอฟด้านบริษัทยาถึงสองอีทีเอฟ”

“แสดงว่าความหวือหวาเร้าใจของกองทุนรวมนี้น่าจะน้อยกว่า BCARE ใช่ไหมครับ” ลิงถาม “เพราะลงทุนในหุ้นไบโอเทคน้อยกว่า”

“ถ้าจะสรุปแบบนั้นก็ยังเร็วไป ตอนนี้เรามาดูเรื่ององค์ประกอบของพอร์ตกันก่อน เดี๋ยวลุงค่อยพาไปดูเรื่องความผันผวนและผลตอบแทน” ลุงแมวน้ำตอบ จากนั้นพูดต่อ “หากพูดถึงองค์ประกอบของพอร์ตกองทุนรวม PHATRA GHC นั้นค่อนข้างซับซ้อนกว่า เนื่องจากไปลงทุนในอีทีเอฟซึ่งเป็นกองทุนรวมแบบหนึ่ง และยังไปลงทุนอีทีเอฟถึง 6 กองทุน ในอีทีเอฟแต่ละกองทุนก็มีไส้ในประกอบด้วยหุ้นนับสิบตัว ดังนั้น 6 อีทีเอฟหากนำไส้ในมาวิเคราะห์แล้วจะพบว่ามีการลงทุนซ้ำซ้อนกันอยู่ด้วย และนอกจากนี้ อีทีเอฟบางกองทุนยังลงทุนในหุ้นที่เป็นบริษัทโฮลดิง (holding company) อีก ซึ่งบริษัทโฮลดิงนี้ก็ไปลงทุนในหุ้นด้านเฮลท์แคร์อีกต่อหนึ่ง

“ยกตัวอย่างเช่น หุ้น Johnson & Johnson (JNJ) นี้มีการลงทุนซ้ำซ้อนกันจากหลายอีทีเอฟและจากบริษัทโฮลดิงด้วย ดังนั้นหากนำไส้ในของ PHATRA GHC มาวิเคราะห์ให้ละเอียดก็ซับซ้อนและซ้ำซ้อนดังที่ว่า แต่ว่าลุงก็ลองวิเคราะห์เจาะลึกดู และนับรวมการลงทุนที่ซ้ำซ้อนกัน พบว่ากองทุนนี้มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นหลัก 20 หุ้นแรกประมาณนี้ เอ้า ลองดูตารางกันหน่อย” ลุงแมวน้ำพูดจบก็ดึงตารางอีกแผ่นหนึ่งออกมาจากหูกระต่ายและคลี่ให้ลิงดู

หุ้น 20 ลำดับแรกในพอร์ตของ PHATRA GHC และสัดส่วนโดยประมาณ ณ มีนาคม 2014

เมื่อนายจ๋อได้ดูตารางแล้ว ลุงแมวน้ำก็พูดต่อ

“จากสัดส่วนการลงทุนที่ลุงคำนวณมาอย่างคร่าวๆ จะเห็นว่าพอร์ตของ PHATRA GHC หุ้นที่ลงทุนมากที่สุดก็ยังมีน้ำหนักเพียง 3% ดังนั้นพอร์ตนี้เป็นพอร์ตกระจายการลงทุนมากทีเดียว มีหุ้นอยู่หลายสิบบริษัท และในหลายซับเซ็กเตอร์ ดังนั้นจะหวังผลตอบแทนแรงๆคงไม่ได้เช่นกัน”


แง้มดูพอร์ตศรีโกลบอลเฮลธ์แคร์อิควิตี้ปันผล (KF-HEALTHD)

“ต่อจากนั้นเรามาแง้มดูพอร์ตการลงทุนของกองทุนเปิดศรีโกลบอลเฮลธ์แคร์อิควิตี้ปันผล (KF-HEALTHD) กัน” ลุงแมวน้ำพูดหลังจากดูดน้ำปั่นเสร็จ “กองทุนนี้คล้ายกับ Bcare ในแง่ที่ว่าเป็นกองทุนลูก (feeder fund) ที่ลงทุนในกองทุนหลักหรือว่ากองทุนแม่ (master fund) เพียงกองทุนเดียว นั่นคือ KH-HealthHD ลงทุนในกองทุน JPMorgan Global Healthcare Fund Class A และลงทุนเป็นสกุลเงินดอลลาร์ สรอ

“กองทุน KH-HealthHD มีความเสี่ยงระดับ 6 มีการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหน่วย และป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน

“สำหรับกองทุนหลักคือ JPMorgan Global Healthcare Fund นั้นมีโครงสร้างการลงทุนคือลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาประมาณ 60% ของพอร์ตการลงทุน ส่วนที่เหลือก็กระจายการลงทุนไปในยุโรป (สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ เยอรมนี ฯลฯ) แคนาดา ญี่ปุ่น

“ทางด้านการกระจายในซับเซ็กเตอร์ต่างๆ และรายชื่อหุ้น 10 อันดับแรกในพอร์ตการลงทุนก็ดูได้ตามนี้เลย กองทุนรวมนี้ให้น้ำหนักในซับเซ็กเตอร์ยามากที่สุด คือ 47.5% รองลงมาเป็นซับเซ็กเตอร์ไบโอเทคโนโลยี” ลุงแมวน้ำพูดพลางดึงกระดาษออกมาอีกสองแผ่นจากหูกระต่ายและกางให้ลิงจ๋อดู


พอร์ตการลงทุนของ JPMorgan Global Healthcare Fund
กระจายในซับเซ็กเตอร์ต่างๆ (subsector breakdown) ณ พฤษภาคม 2014


รายชื่อหุ้น 10 อันดับแรกในพอร์ตการลงทุนของ JPMorgan Global Healthcare Fund (Top Ten Holdings) ณ พฤษภาคม 2014


เปรียบเทียบกองทุนรวมและหุ้นเฮลท์แคร์ ผลตอบแทนและความผันผวน


“ผลตอบแทนของสามกองทุนนี้เป็นอย่างไรบ้างละครับลุง” ลิงถาม “ที่อยากรู้ที่สุดก็เรื่องนี้แหละ ลุงก็ไม่บอกเสียที”

“อ้าว ใจเย็นๆสิ ลุงก็ค่อยๆเล่าไปทีละเรื่อง ที่เล่ามาตั้งเยอะก็เพราะว่าลุงอยากให้นายจ๋อลงทุนด้วยความรู้ ไม่ใช่ลงทุนด้วยความไม่รู้” ลุงแมวน้ำตอบ “ทีนี้ก็มาถึงเรื่องที่นายจ๋ออยากรู้แล้วล่ะ ลุงหาข้อมูลมาให้มากกว่าที่นายจ๋ออยากรู้เสียอีก”

“เอ๊ะ ยังไง” ลิงสงสัย

“ดูนี่เลย” ลุงแมวน้ำพูด พลางดึงกระดาษอีกแผ่นออกมาจากหูกระต่าย

“นี่เป็นตารางแสดงผลตอบแทนในรอบ 5 ปี และแสดงความผันผวนไว้ด้วย”


ตารางแสดงผลตอบแทน 5 ปีของหุ้น กองทุน และดัชนีด้านเฮลท์แคร์ และค่าความผันผวน


“ดูยังไงน่ะลุง” ลิงจ๋อยกหางขึ้นมาเกาหัว

“ลุงจะค่อยๆอธิบายตารางนี้ให้ฟัง ตารางนี้สำคัญมาก เพราะเป็นสรุปและเปรียบเทียบการลงทุนในหุ้นและกองทุนต่างๆในรอบ 5 ปี คือเริ่มลงทุนตั้งแต่ เมษายน 2009 และสิ้นสุดที่มีนาคม 2014 รวม 5 ปี

“หุ้นและกองทุนที่ลุงทำผลงานการลงทุนมาให้ดูเปรียบเทียบกันก็มีหลายอย่าง ได้แก่ กองทุนรวม BCARE, PHATRA GHC นอกจากนี้ยังมีผลตอบแทนของดัชนี SET, ผลตอบแทนของดัชนีเซ็กเตอร์สุขภาพ (Health sector index) ของตลาดหุ้นไทย

“นอกจากนี้แล้ว ลุงยังได้เปรียบเทียบผลตอบแทนในรอบ 5 ปี ของหุ้นและอีทีเอฟอีก 6 ตัว นั่นคือ หุ้นโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH), หุ้นเครือบางกอกเชน (BCH เครือโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ โรงพยาบาลการุญเวช)

“และยังมีอีทีเอฟ XLV (SPDR Health Care Select Sector Fund) ซึ่งเป็นอีทีเอฟด้านเฮลท์แคร์ที่มีสินทรัพย์สูงสุดในตลาดอเมริกา คือประมาณ 10,500 ล้านดอลลาร์ สรอ หรือสามแสนกว่าล้านบาท กับยังมีกองทุนรวม JPMorgan Global Healthcare Fund ที่เป็นกองทุนแม่ของ KF-HEALTHD

“ยังมีอีก ลุงยังเปรียบเทียบกับหุ้นในกลุ่มเฮลท์แคร์ในตลาดหุ้นเอเชียอีก 3 บริษัท เพื่อให้เห็นบรรยากาศการลงทุนของหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ในเอเชียด้วย ได้แก่ หุ้นแรฟเฟิลส์เมดิคัล (Raffles Medical Group) ในตลาดหุ้นสิงคโปร์ ทำธุรกิจสถานพยาบาล, ไซโนฟาร์มาซูติคัล (Sino Biopharmaceutical) ในตลาดหุ้นฮ่องกง ทำธุรกิจผลิตยาในจีน และหุ้นฟู่ต้านจางเจียงไบโอฟาร์มาซูติคัล (Shanghai Fudan-Zhangjiang Bio-Pharmaceutical) ในตลาดหุ้นฮ่องกง ทำธุรกิจยาไบโอเทคในจีน”

“โอ๊ย 1,350%” ลิงคราง “ทำไมมันแรงยังงี้ หุ้นอะไรกันเนี่ย”

“หุ้นบริษัทฟู่ต้านจางเจียง ทำธุรกิจยาและไบโอเทคในจีนแผ่นดินใหญ่ จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง หุ้นตัวนี้คิดง่ายๆว่าลงทุน 100 บาท ห้าปีต่อมาได้ผลตอบแทนมาอีก 1350 บาท” ลุงแมวน้ำพูด “แต่เดี๋ยวก่อน อย่าเพิ่งคุยถึงหุ้นตัวนี้ นี่เราคุยเรื่องกองทุนเฮลท์แคร์กันอยู่ เห็นตัวเลขผลตอบแทนแล้วตาโตเชียว”

“ก็แน่ละสิ ซื้อกล้วยได้หลายปีเลย ฮิฮิ” ลิงหัวเราะ “อ้อ เดี๋ยวก่อนลุง ผมสังเกตว่าในตารางผลตอบแทน มีคำว่า non total return กับ total return มันต่างกันยังไง”

“เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อลุงคิดผลตอบแทนหรือว่า performance ลุงคิดจากราคาหุ้นหรือราคากองทุนในรอบ 5 แล้วคิดเป็นร้อยละออกมาเลย คือดูกราฟที่ต้นงวดและท้ายงวด เอามาคำนวณเลย นั่นหมายความว่า พวกเงินปันผลจ่ายจะไม่ถูกนำมาคำนวณเป็นผลการดำเนินงาน พวกนี้เรียกว่าผลตอบแทนแบบ non total return คือไม่ได้รวมเงินปันผลเข้ามาด้วย

“ทีนี้กองทุน BCARE ไม่ได้จ่ายเงินปันผล แต่ว่า PHATRA GHC จ่ายปันผล ลุงจึงคำนวณผลตอบแทนของ PHATRA GHC แบบ total return คือรวมเงินปันผลให้ดูด้วย จะได้เทียบกับ BCARE ได้อย่างยุติธรรม ส่วนหุ้นหรือกองทุนอื่นๆลุงไม่ได้คำนวณแบบ total return เอาไว้เพราะว่าแค่อยากเปรียบเทียบให้เห็นภาพคร่าวๆเท่านั้นเอง

“จะเห็นว่า ผลตอบแทนของ BCARE กับ PHATRA GHC ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาก็สูสีกัน คือ 147% กับ 144% ตามลำดับ แม้ว่าน้ำหนักการลงทุนในซับเซ็กเตอร์จะแตกต่างกันบ้าง และที่อยากให้สังเกตก็คือ ผลตอบแทนของกองทุนรวมทั้งสองนี้ด้อยที่สุดเมื่อเทียบกับการลงทุนในหุ้นและดัชนีอื่นๆดังที่เห็นในตาราง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงนั่นเอง ก็เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข เฉลี่ยผลตอบแทนกันไป กองทุนแบบนี้ผลตอบแทนสวยใช้ได้ ผลตอบแทนขนาดปีละกว่า 20% ก็หรูมากแล้ว และมั่นคงดี ไม่ต้องไปอิจฉาทางเลือกอื่นๆในตารางหรอก ผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงก็ย่อมสูงตามไปด้วยนั่นแหละ

“ลุงยังไม่ได้นำเอากองทุน KF-HEALTHD มาเปรียบเทียบร่วมกับ BCARE และ PHATRA GHC เนื่องจาก KF-HEALTHD เป็นกองทุนไทยที่เพิ่งออกใหม่ ยังไม่มีผลงานให้เปรียบเทียบ แม้ว่าลุงแสดงผลการดำเนินงานของกองทุนแม่คือ JPMorgan Global Healthcare Fund ไว้ให้ดูด้วย แต่ไม่ควรนำเอาผลงานของกองทุน JPMorgan Global Healthcare Fund มาเปรียบเทียบกับ BCARE และ PHATRA GHC เนื่องจาก BCARE และ PHATRA GHC มีผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย”

“เดี๋ยวก่อนครับลุง แล้วค่า volatility ในตารางนี่คืออะไร” ลิงถาม

“นี่แหละ คือค่าความผันผวน ลุงคำนวณเปรียบเทียบให้ดู ค่าต่ำแปลว่าความผันผวนน้อย ค่าสูงกว่าคือผันผวนมากกว่า และหากลองสังเกตดูจะพบว่าพวกที่เป็นหุ้นความผันผวนจะสูง นี่แหละ หากจะลงทุนเป็นหุ้นต้องทำใจไว้ด้วยว่าแกว่งแรง ส่วนกองทุนรวมที่กระจายการลงทุนมักผันผวนต่ำเพราะกระจายการลงทุนออกไปนั่นเอง”

“ผมยังสงสัยอีกอย่าง” ลิงถามอีก “ลุงบอกว่า BCARE ลงทุนในหุ้นไบโอเทคเยอะกว่า PHATRA GHC ใช่ไหม ที่จริงผมเดาเอาไว้ว่า BCARE น่าจะผันผวนกว่า PHATRA GHC แต่ทำไมจากในตาราง ค่าความผันผวนของ BCARE กลับต่ำกว่า PHATRA GHC ล่ะ”

“ช่างสังเกตดีนี่ BCARE ผันผวนต่ำกว่าหน่อยจริงๆด้วย” ลุงแมวน้ำชม “ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า BCARE ลงทุนในกองทุนรวม WGHCEPAE ความผันผวนของ BCARE เกิดจากความผันผวนของราคาหุ้นในพอร์ต WGHCEPAE นี่เราตัดเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนออกไปก่อนนะ สมมติว่าไม่มีเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาเกี่ยวข้อง

“ส่วน PHATRA GHC ลงทุนในอีทีเอฟ ความผันผวนของ PHATRA GHC เกิดจากความผันผนของราคาหุ้นในพอร์ตของอีทีเอฟ และความผันผวนจากราคาอีทีเอฟเองด้วยเพราะอีทีเอฟก็เทรดกันในกระดานหุ้น เรียกว่ากองทุนนี้รับความผันผวนสองชั้นเลยทีเดียว ทั้งจากราคาหุ้นและราคาอีทีเอฟ จึงผันผวนกว่านิดหน่อย” ลุงแมวน้ำตอบ

“อ้อ ยังงี้นี่เอง” ลิงจ๋อพยักหน้า

ลุงแมวน้ำดึงกระดาษออกมาจากหูกระต่ายอีกหลายใบ

“เอ้า นี่ ลุงมีกราฟให้ดูประกอบ


กราฟ 5 ปีของ SET, Health sector index, และราคาหุ้น BH, BCH เปรียบกทียบกับกองทุน XLV, Phatra GHC, BCARE

“ดูภาพนี้ก่อน ภาพนี้เป็นกราฟที่ลุงเปรียบเทียบให้ดูความเคลื่อนไหวของราคาของกองทุนและหุ้นต่างๆในรอบ 5 ปี สังเกตเห็นไหมว่ากราฟของ PHATRA GHC ค่อยๆขึ้น ไม่หวือหวา กราฟของ BCARE ก็คล้ายๆกัน แต่ลุงไม่ได้ทำ BCARE มาให้ดู นี่แหละการกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสมทำให้เส้นกราฟดูมั่นคง ผันผวนมากก็ใจหายใจคว่ำมาก

“และเรื่องที่ควรตระหนักไว้เสมอ 2 เรื่อง คือ ทั้งสองกองทุนนี้ลงทุนเป็นเงินสกุลดอลลาร์ สรอ ดังนั้นความผันผวนส่วนหนึ่งมาจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ส่วนจะมีผลมากหรือน้อยขึ้นกับว่ากองทุนบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีเพียงใด และอีกข้อหนึ่งก็คือ องค์ประกอบของทั้งสองกองทุนรวมนี้ส่วนใหญ่เป็นหุ้นในตลาดอเมริกา ดังนั้นความผันผวนของตลาดหุ้นอเมริกาย่อมมีผลต่อความผันผวนของกองทุนด้วย ส่วนจะมีผลมากน้อยเพียงใดบอกได้ยากเนื่องจากเวลาต่างกัน สถานการณ์ต่างกัน ผลกระทบก็ต่างกันออกไป



กราฟราคาหุ้นโรงพยาบาล BH ของไทย เทียบกับราคาหุ้นในกลุ่มเฮลท์แคร์ของสิงคโปร์และฮ่องกงบางตัว

“ภาพนี้เป็นกราฟราคาหุ้นในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพในตลาดหุ้นไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง หุ้นที่อยู่ในตารางข้างบนนั่นแหละ ลุงยกตัวอย่างให้ดู


กราฟราคาหุ้นในตลาดอเมริกา ฮ่องกง และสิงคโปร์ ที่ขาดทุนหนัก เป็นอุทาหรณ์สำหรับการลงทุน

“และภาพนี้ลุงให้ไว้เพื่อเตือนสติ ที่ผ่านมาเราดูแต่ผลตอบแทนที่สวยหรู เราอย่าประมาท ต้องไม่ลืมอีกด้านหนึ่งด้วย ลุงเอากราฟราคาหุ้นที่ขาดทุนยับมาให้ดู ชอบแต่ของแรงๆ พลาดเข้าก็แย่เหมือนกัน”



สรุปแนวโน้มการลงทุนในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ


“ลุงแมวน้ำเล่ามาเสียเยอะ สุดท้ายก็มาพูดเรื่องขาดทุนยับ สรุปแล้วอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์น่าลงทุนไหมเนี่ย” ลิงถาม

“ถามแบบนี้ก็ตอบยาก เพราะเป็นเรื่องต่างจิตต่างใจ คนนั้นก็ชอบอุตสาหกรรมนั้น คนนี้ก็ชอบอุตสาหกรรมนี้ ต่างคนก็มีเหตุผลของตัวที่ชอบและไม่ชอบ คนที่ชอบอุตสาหกรรมไหนก็ย่อมมีเหตุผลสนับสนุน ไม่มีถูกไม่มีผิดหรอก” ลุงแมวน้ำตอบ

“แหม่ แทงกั๊กจริงลุง เอาเป็นว่าความเห็นของลุงล่ะ” ลิงทำหน้ายู่ยี่เมื่อได้ยินคำตอบของลุงแมวน้ำ

“อ้าว ไม่ได้แทงกั๊ก ถ้าถามความเห็นของลุง ลุงก็เห็นว่าอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพนี้เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่น่าสนใจลงทุน เพราะเป็นการลงทุนที่สอดคล้องกับกระแสโลกหรือว่าเมกะเทรนด์ ซึ่งเป็นแนวโน้มใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และยังดำเนินไปอีกนาน ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นสังคมผู้สูงอายุ พูดง่ายๆก็คือเป็นคนแก่ที่มีเงิน คนกลุ่มนี้แม้อยู่ในประเทศที่การสาธารณสุขดี แต่เรื่องความแก่ชราไม่เข้าใครออกใคร ถึงจะรวยหรือสาธารณสุขดีเพียงใด พอแก่แล้วก็ต้องออดๆแอดๆ ก็ต้องพึ่งสินค้าและบริการในอุตสาหกรรมนี้

“ส่วนในประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น ไทย จีน และประเทศอื่นๆในย่านเอเชีย ตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ แอฟริกา ฯลฯ เหล่านี้เป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ประชาชนมีการเลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจ ชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น ชุมชนเมืองขยายตัวรวดเร็ว คนที่กลายมาเป็นชนชั้นกลางเหล่านี้ต้องการการบริการทางการแพทย์ที่ดียิ่งขึ้น แม้จะจ่ายแพงขึ้นก็ยอม ดังนั้นก็ต้องพึ่งสินค้าและบริการในอุตสาหกรรมนี้เช่นกัน

“โดยเฉพาะในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ เซ็กเตอร์ย่อยยา โรงพยาบาล เติบโตดีมากทีเดียว ยกตัวอย่างเช่นในประเทศจีน ตอนนี้ชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น กำลังซื้อของชาวจีนมีมากขึ้น อุตสาหกรรมยาของจีนเติบโตดีมาก แต่ทางด้านโรงพยาบาลเอกชนยังก๊อกๆแก๊กๆอยู่ ผลตอบแทนยังไม่ค่อยดีนัก แต่ลุงมองว่าเป็นโอกาสในการลงทุนมากกว่า อีกหน่อยหุ้นที่เกี่ยวกับโรงพยาบาลของจีนก็ต้องเติบโตดีเช่นกัน เพียงแต่รอเวลาเท่านั้น

“ส่วนหุ้นโรงพยาบาลของไทยนั้นยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีก อันเป็นไปตามกระแส urbanization เพียงแต่ว่าการเข้าลงทุนควรหาจังหวะที่เหมาะสม และหุ้นยา อาหารเสริม ก็ยังเติบโตได้อีก

“หากสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ และเลือกหุ้นไม่ถูก หรือกลัวว่าเลือกแล้วผิดตัว ก็ลงทุนในกองทุนรวมก็ได้ อาศัยกองทุนรวมเป็นผู้คัดเลือกหุ้นให้ และจัดพอร์ตให้กระจายการลงทุน ก็เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง ซึ่งการลงทุนในกองทุนรวมนั้น เราลงทุนในกองทุนรวมที่จัดตั้งในเมืองไทยแต่นำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ ปัจจุบันมีอยู่สองกองทุน ดังที่ลุงเล่ามาแล้ว แต่ต้องเข้าใจความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ส่วนกองทุนรวมที่ลงทุนในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพที่เป็นหุ้นภายในประเทศ ปัจจุบันยังไม่มี


“แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพยังไปต่อได้เรื่อยๆ ดังนั้นหุ้นและกองทุนรวมต่างๆที่ลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ก็ยังมีโอกาสเติบโตได้อีก แต่แน่นอน ราคาย่อมต้องมีแกว่งขึ้นลงอันเป็นธรรมชาติของราคาหุ้นและกองทุน ดังนั้นผู้ลงทุนควรคาดหวังผลตอบแทนในระยะยาวมากกว่าการเฝ้าดูราคาทุกวัน เพราะจะทำให้สุขภาพจิตเสีย


“ลุงสรุปให้แบบนี้คงไม่ว่าลุงแมงกั๊กแล้วนะ” ลุงแมวน้ำพูด

“คร้าบ ไม่ว่าแล้วคร้าบ” ลิงจ๋อหัวเราะดังนั้น  “ได้ข้อมูลแล้ว ผมคงต้องกลับเสียที เอาไว้เมื่อมีปัญหาจะมาปรึกษาลุงแมวน้ำใหม่”

ว่าแล้วลิงก็เอาหางเกี่ยวกิ่งไม้และห้อยโหนจากไป

“คราวหน้าถ้าจะมา อย่าลืมเอาน้ำปั่นมาฝากลุงด้วยล่ะ” ลุงแมวน้ำร้องบอกไล่หลัง