Sunday, April 20, 2014

20/04/2014 ฉันจะออมได้เท่าไรกว่าจะถึงวัยเกษียณ





หลังจากที่ลุงแมวน้ำคุยกับยีราฟสาวไปเมื่อวันก่อน หลายวันต่อมายีราฟสาวแวะมาหาลุงแมวน้ำที่โขดหินอีก

“สวัสดีจ้ะลุง ขอคุยด้วยหน่อยสิ” แม่ยีราฟทักทาย

“ได้สิ แม่ยีราฟจะคุยเรื่องอะไรล่ะ” ลุงแมวน้ำถาม ที่จริงถามไปยังงั้นแหละ เพราะเดาได้อยู่แล้วว่าแม่ยีราฟจะมาคุยด้วยเรื่องอะไร

“อยากคุยกับลุงเรื่องการออมสำหรับวัยเกษียณหน่อยจ้ะ” ยีราฟพูด เป็นไปตามที่ลุงคาด นี่ถ้าลุงซื้อหวยก็ถูกไปแล้ว

“ได้สิ แม่ยีราฟจะถามว่าอะไรล่ะ” ลุงแมวน้ำถาม

“ฉันอยากรู้ว่าฉันจะออมเงินได้เท่าไรเมื่อถึงวัยเกษียณน่ะสิ” ยีราฟสาวถาม “วันก่อนลุงยกตัวอย่างและการคำนวณสำหรับการเกษียณในปี 2566 แต่ของฉันกว่าจะเกษียณมันยังไกลกว่านั้น”

“อ้าว” ลุงแมวน้ำอุทาน “แล้วลุงจะไปรู้ได้ยังไงว่าแม่ยีราฟจะออมเงินได้เท่าไร”

“แหม ก็ช่วยบอกฉันหน่อยเถอะ นะ นะ” ยีราฟสาวออดอ้อน “ไหนว่าความรู้รอบพุงเยอะไง ถามแค่นี้ทำไมตอบไม่ได้”

“ก็แม่ยีราฟหาเงินเอง เก็บเงินเอง แล้วลุงจะไปรู้ได้ยังไง” ลุงแมวน้ำเริ่มปวดหัวกับคำถามของยีราฟสาวอีกแล้ว

“ไม่รุ ลุงต้องบอกฉัน” ยีราฟสรุปเอาดื้อๆ

“ยังงี้ก็มีด้วย เดี๋ยว ขอลุงนึกก่อน จะทำยังไงดี” ลุงแมวน้ำนิ่งนึกอยู่สักครู่ “เอายังงี้ก็แล้วกัน”

ว่าแล้วลุงแมวน้ำก็ดึงกระดาษแผ่นหนึ่งออกมาจากหูกระต่าย

“ถ้ายังงั้นเราต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ละกัน ลุงแมวน้ำจะสมมติใหม่ ลองฉายภาพอนาคตใหม่อีกสักภาพ แล้วแม่ยีราฟลองดูว่าพอเอาไปใช้ประโยชน์ได้ไหม” ลุงแมวน้ำพูด “มาดูภาพนี้กัน”

ลุงแมวน้ำคลี่กระดาษกางออกให้ยีราฟดู พลางอธิบาย





“เราลองมาสมมติกันใหม่...” ลุงแมวน้ำพูด “เอ้า หลับตา แล้วจินตนาการว่า เมื่อปี 2554 แม่ยีราฟอายุ 22 ขวบ เพิ่งจบปริญญาตรีมาใหม่ๆและเพิ่งเริ่มทำงานที่คณะละครสัตว์เป็นปีแรก”

“ฮ่าฮ่า ลุงแมวน้ำสมมติเว่อจัง” ยีราฟหัวเราะ

“ไม่เว่อหรอก ลุงสมมติแบบนี้มีที่มาที่ไป ไม่ได้ยกขึ้นมาลอยๆ” ลุงแมวน้ำตอบ “คิดตามไปก่อน ถ้าเริ่มทำงานเมื่ออายุ 22 ปี 2554 แปลว่าทำงานปีสุดท้ายเมื่ออายุครบ 60 ขวบคือปี 2592 จากนั้นปี 2593 ก็จะว่างงาน เริ่มใช้จ่ายเงินเกษียณเป็นปีแรก”

“จ้ะ เอายังงั้นก็ตามใจลุง”

“ด้วยแผนหลังเกษียณแบบประหยัด คุณภาพชีวิตจำกัด ตามที่คำนวณไว้ในปีฐาน 2554 คือ 246,500 บาท ณ ปี 2593 แม่ยีราฟน่าจะมีค่าใช้จ่ายต่อปีราวปีละ 645,725 บาท” ลุงแมวน้ำพูดพลางชี้ให้ดูในตารางในกระดาษ “สมมติต่อไปอีกนิด และถ้าวันที่แม่ยีราฟเกษียณมีเงินออมอยู่ 10,500,000 บาท และเงินนั้นทำงานด้วยตัวเอง ให้ผลตอบแทนปีละ 5% แม่ยีราฟจะอาศัยเงินก้อนนั้นใช้ชีวิตไปได้จนอายุ 80 ปี”

“พูดง่ายๆว่า หากเกษียณในปี 2566 ตอนนั้นต้องมีเงินออม 5,400,000 บาท แต่ถ้าไปเกษียณในปี 2593 กลายเป็นว่าต้องมีเงินออม 10,500,000 บาท” แม่ยีราฟทวน “ถูกไหมลุง”

“แม่นแล้ว” ลุงแมวน้ำตอบ “เพราะผลจากเงินเฟ้อนั่นเอง”

ลุงแมวน้ำหยุดคิดนิดหนึ่ง แล้วจึงพูดต่อ

“นั่นคือจำนวนเงินที่ต้องใช้ ทีนี้ก็มาถึงคำถามของแม่ยีราฟที่ว่า เมื่อถึงวันที่เราเกษียณแล้วเราจะมีเงินออมได้สักเท่าไร เรื่องนี้ก็ต้องสมมติเงื่อนไขอะไรหลายอย่างเพิ่มเข้ามา เพื่อให้สมจริงและคำนวณได้

“ในปี 2554 สมมติว่าแม่ยีราฟอายุ 22 ปี และเพิ่งจบปริญญาตรี ทำงานเป็นปีแรก ตอนนั้นแม่ยีราฟได้เงินเดือนเดือนละ 12,000 บาท”

“ทำไมต้องเป็น 12,000 บาทล่ะ” ยีราฟสงสัย “ลุงโมเมเอาเหรอ”

“เขาเรียกว่าสมมติแบบมีหลักการ ไม่ใช่โมเม” ลุงแมวน้ำพูดแก้ “สภาพความเป็นจริงของตลาดแรงงาน ในปีนั้นจบปริญญาตรีมา ทำงานครั้งแรก เงินเดือนก็ 10,000 บาทหรือสูงกว่านั้น ตามแต่สาขาที่จบมา ลุงก็ใช้ตัวเลข 12,000 บาทต่อเดือน ถือว่าเป็นกลุ่มที่จบปริญญาตรี สาขาทั่วๆไป

“จากนั้นลุงก็สมมติต่อไปว่าอัตราเงินเฟ้อปีละ 2.5% และแม่ยีราฟได้ขึ้นเงินเดือนทุกปี ปีละ 3% เงินเดือนขึ้นชนะเงินเฟ้อหน่อยนึง”

“แล้วฉันจะเก็บเงินได้เดือนละเท่าไรล่ะ” ยีราฟถาม

“นั่นก็ต้องสมมติอีก แต่สมมติแบบมีหลักการ มีงานวิจัยที่สำรวจการออมของคนไทยเอาไว้ พบผู้ที่มีเงินเดือนในช่วงหนึ่งหมื่นถึงสองหมื่นบาท มักออมได้ไม่เกิน 20% ของเงินเดือน ค่ากินอยู่แย่งเอาไปเสียเยอะ ถ้าเป็นระดับเงินเดือนสามสีหมื่นบาทก็ออมได้ราว 40% อันนี้ตัวเลขคร่าวๆนะ ลุงไม่ได้เอามาเป๊ะ

“ลุงก็เอาข้อมูลนี้มาสมมติเกณฑ์ในการออม นั่นคือ

“เงินเดือน 15,000 บาทหรือต่ำกว่านั้น ออมได้เดือนละ 15% ของเงินเดือน

“เมื่อไรที่เงินเดือนเกินกว่า 15,000 บาท การออมจะเปลี่ยนไป เป็นออมเดือนละ 20%

“”เมื่อไรที่เงินเดือนเกินกว่า 25,000 บาทต่อเดือน จะออมเดือนละ 25% ของเงินเดือน

“และเมื่อไรที่เงินเดือนเกินกว่า 35,000 บาทจะออมเดือนละ 30% ของเงินเดือน

“และยังสมมติอีกว่าอยู่ตัวคนเดืยวไปเรื่อยๆ  เพราะหากสมมติว่ามีครอบครัว มีลูก ด้วยละก็ตัวเลขจะยิ่งซับซ้อน ตัวเลขซับซ้อนมากไปลุงก็ปวดหัว เอาแค่นี้แหละ อย่าให้ยากนัก”

“จ้ะๆ ยังงี้ก็ดีแล้ว แล้วยังไงต่อ” ยีราฟถาม

ลุงแมวน้ำจึงดึงกระดาษออกมาจากหูกระต่ายอีกแผ่นหนึ่ง กางให้ยีราฟดู

“นี่ลุงคำนวณมาให้ดู ภายใต้สมมติฐานที่ลุงเล่ามาเมื่อกี้ เมื่ออายุมากขึ้น แม่ยีราฟจะมีเงินเดือนเพิ่มมากขึ้น และก็จะมีเงินออมต่อเดือนเพิ่มมากขึ้น สมมติว่าพอสิ้นปีก็นำเงินที่ออมได้ตลอดปีไปลงทุนทันที ขณะที่ยังไม่ครบปี เงินออมนั้นถือว่ายังไม่นำมาลงทุน





“ดังนั้น ในปี 2554 อันเป็นปีแรกที่มาทำงาน จึงถือว่าแม่ยีราฟยังไม่ได้นำเงินออมมาลงทุน พอขึ้นปีใหม่ 2555 เป๊ง แม่ยีราฟก็นำไปลงทุนเลยทันที จากนั้น สิ้นปี 2555 แม่ยีราฟจะมีเงิน 3 ก้อน นั่นคือ ก้อนแรก เงินออมของปี 2554 ก้อนที่ 2 ดอกผลของเงินออมปี 2554 และก้อนที่ 3 เงินออมระหว่างปี 2555 ที่ยังไม่ได้นำไปลงทุน ถ้าย่อหน้านี้งงก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องสนใจก็ได้ เราข้ามไปเลย ดูในตารางก็พอ

“สรุปว่าลุงคำนวณมาให้เบ็ดเสร็จ ว่ากรณีที่แม่ยีราฟนำเงินออมไปลงทุน แล้วได้ผลตอบแทนระดับต่างๆ เมื่อวัยผ่านไป แม่ยีราฟจะมีเงินสะสมเท่าไร ก็ดูเอาในตาราง

“กรณีที่นำเงินออมไปฝากธนาคาร ลุงคิดว่าให้ดอกผลปีละ 2% ซึ่งก็คือดอกเบี้ยเงินฝากนั่นเอง เมื่อถึงปี 2592 แม่ยีราฟจะเกษียณพร้อมด้วยเงินก้อน 3,095,291 บาท

“แต่ฉันต้องมี 10.5 ล้านนะลุง” ยีราฟท้วง

“ก็นั่นน่ะสิ วิธีนี้คงไม่พอใช้จ่าย เกษียณไม่สุขแน่ๆ” ลุงแมวน้ำพูด “มาดูกันต่อ หากแม่ยีราฟนำเงินไปลงทุนอย่างอื่นละ เช่น ลงทุนในหุ้น กองทุนรวม ฯลฯ นำเงินไปซื้อหุ้นหรือกองทุนรวมเพิ่มทุกปีๆ และได้ผลตอบแทนปีละ 5% แม่ยีราฟจะมีเงินสำหรับวัยเกษียณ 5,147,098 บาท”

“ก็ยังไม่พอ” ยีราฟพูด

“ทีนี้ถ้าให้ผลตอบแทน 8% ต่อปีล่ะ ได้ถึง 9,322,091 บาทเชียว เกือบถึงเป้า 10.5 ล้านบาทแล้วนะ และลุงแอบไปคำนวณมาให้แล้วล่ะ ว่า เงิน 9.3 ล้านนี้แม่ยีราฟอยู่ได้ถึงอายุ 77 ปี พลาดเป้าไป 3 ปีเท่านั้น”

“อือม์ อันนี้ค่อยยังชั่ว” ยีราฟพึมพำ “แต่ฉันจะทำได้ถึงเหรอจ๊ะ”

“ลุงแมวน้ำอยากบอกว่า นี่แหละ การออมและการลงทุนเป็นกระบวนการตลอดชีวิต เหมือนกับการเรียนรู้นั่นแหละ ดังนั้น ควรหัดเป็นนิสัยตั้งแต่วัยเยาว์ และเริ่มออมตั้งแต่อายุยังน้อย เงินเดือน 12,000 บาทและเงื่อนไขอื่นๆที่ลุงสมมติมานั้น เป็นเงื่อนไขกลางๆสำหรับผู้ที่จบปริญญาตรี คือเป็นคนปริญญาตรี ทำงานกินเงินเดือนทั่วๆไปนี่แหละ ไม่ใช่เงื่อนไขที่สูงส่งอะไรเลย หากจบปริญญาตรี และทำงานเสมอต้นเสมอปลาย ขยันตามสมควร บุคคลผู้นั้นก็มีโอกาสเกษียณสุขได้ หากทำได้ดีกว่านั้น ก็มีโอกาสสุขสบายยิ่งขึ้น”

“แล้วถ้าไม่จบปริญญาตรีหรือทำไม่ได้ตามนั้นละจ๊ะลุง ชีวิตเราก็อาจจะพลาดด้วยเหตุอะไรก็ได้ ใครจะรู้” ยีราฟยังสงสัยต่อ

“โอย ลุงปวดหัวแล้ว” ลุงแมวน้ำมึนตึ้บกับคำถามของยีราฟสาว “ยังงั้นเราเอาไว้คุยต่อกันในวันหลังละกัน”

Friday, April 18, 2014

18/04/2014 ต้องมีเงินเท่าไรสำหรับวัยเกษียณสุข (2)




“หากต้องการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพดีขึ้นกว่านี้ หรือจะเรียกว่าหรูกว่าตัวอย่างที่ลุงยกมานี้ เราลองมาดูตัวอย่างอื่นๆกัน” ลุงแมวน้ำพูดพลางล้วงกระดาษออกมาอีก 2 แผ่นจากในหูกระต่าย

ลุงแมวน้ำเลือกกระดาษมาแผ่นหนึ่งและคลี่กางออกให้ลิงจ๋อและพวกดู และพูดว่า

“นี่เป็นภาพฉายของการใช้ชีวิตหลังเกษียณในระดับที่ดีขึ้นมาอีกหน่อย ลุงจะเรียกว่าระดับค่อนข้างดีละกัน” ลุงแมวน้ำชี้ให้ดูรายการค่าใช้จ่ายในตาราง “ชีวิตระดับนี้มีค่าใช้จ่ายขึ้นมาอีก ลุงจะแจงให้ดูในบางประเด็น ตัวอย่างที่แล้วที่เป็นคุณภาพชีวิตระดับพอใช้ ค่าอาหารก็จำกัด ค่าสันทนาการต่างๆก็จำกัด งานบ้านต้องทำเอง และเจ็บป่วยก็ต้องพึ่งบัตรทองอย่างเดียว





“แต่ในตัวอย่างนี้ งบประมาณในด้านต่างๆจะมากขึ้น ทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น อย่างเช่น ค่าแม่บ้าน เราสามารถจ้างคนทำความสะอาดหรือจ้างคนช่วยซักรีดได้

“ค่าสันทนาการ เราสามารถเป็นสมาชิกฟิตเนสคลับที่หรูขึ้น ซึ่งจะมีเครื่องเล่นต่างๆมากมายหลากหลายขึ้น งบสำหรับไปเที่ยวก็มากขึ้นเป็น 30,000 บาท ไปเที่ยวได้ไกลหน่อย เช่น ประเทศจีน รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพแม้ว่ายังต้องพึ่งบัตรทองเป็นหลักเช่นเดิม แต่งบสำหรับตรวจรักษาเพิ่มเติม และงบสำรองสำหรับใช้จ่ายฉุกเฉินก็จัดให้มากขึ้น

“คุณภาพชีวิตในระดับนี้ คิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อปี ณ ค่าครองชีพปี 2554 ก็คือ 410,950 บาทต่อปี แต่หากมองไปในอนาคต ณ ปี 2566 อันเป็นปีที่เราไม่ได้ทำงานแล้ว ค่าใช้จ่าย ณ ปีนั้นก็น่าจะเป็นปีละ 552,682 บาทต่อปี”

“กรี๊ด” แม่รีราฟแลบลิ้นยาวพลางบ่น “ยิ่งแพงขึ้นไปอีก แล้วต้องมีเงินออมเท่าไรละลุง”

“เท่าที่ลุงคำนวณเอาไว้ เมื่อยามที่เราเกษียณ หากเรามีเงินออมอยู่ 9,000,000 บาท และเงินเก้าล้านบาทนี้ไม่ได้ให้ดอกผลอะไรเลย แม่ยีราฟก็จะอยู่ได้จนอายุ 73 ปี แล้วเงินออมก็จะหมด” ลุงแมวน้ำหยุดนิดหนึ่งแล้วพูดต่อ “แต่ถ้าเงินออมก้อนนี้ให้ดอกผลได้ปีละ 5% หมายความว่าในช่วงที่แม่ยีราฟเกษียณก็ใช้เงินออมนี้ไปเรื่อยๆ ส่วนที่ยังไม่ได้ใช้ก็สามารถออกดอกผลได้ปีละ 5% ถ้าเป็นแบบนี้ก็จะใช้เงินก้อนนี้ไปได้จนอายุ 80 ปี จากนั้นเงินก็จะหมด

“แต่ถ้าเงินออมนี้ออกดอกผลได้ปีละ 8% ก็จะอยู่ได้นานถึงอายุ 93 ปี” ลุงแมวน้ำพูด

“เงินเก็บเก้าล้านบาทเชียว” ลิงจ๋อพูดเบาๆด้วยท่าทางใช้ความคิด “แล้วกระดาษอีกแผ่นละลุงแมวน้ำ มีอะไรอยู่ในนั้น”

“อ๋อ แผ่นที่สามเป็นภาพฉายของคุณภาพชีวิตในระดับที่ดีหรือว่าหรูขึ้นไปอีกน่ะสิ” ลุงแมวน้ำพูดพลางคลี่กระดาษแผ่นที่สามออกมา

“เอ้า เก้าล้านก็ยังไม่พอ ดูแผ่นนี้ซิว่าจะกี่ล้าน” ลิงจ๋อพูด




“แผ่นนี้ลุงแมวน้ำฉายภาพชีวิตหลังเกษียณที่ดียิ่งขึ้นไปอีก เรื่องหลักก็คือ ค่าพาหนะเพิ่มขึ้น จากเดิม 2 แผนแรกนั้นต้องพึ่งบริการรถสาธารณะเป็นหลัก แต่สำหรับในแผนนี้สามารถใช้รถยนต์ได้ โดยตั้งงบค่าน้ำมันและค่าซ่อมบำรุงรถยนต์เอาไว้ด้วย แต่ว่าต้องมีรถยนต์อยู่แล้วนะ ส่วนที่อยู่อาศัย ชีวิตในแบบนี้ลุงคาดว่าน่าจะอยู่บ้านที่ใหญ่หน่อยหรืออาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมระดับดี ดังนั้นจึงตั้งงบค่าส่วนกลางและการซ่อมบำรุงที่พักอาศัยเพิ่มมากขึ้น

“ที่สำคัญก็คือ ในแผนนี้มีงบด้านสุขภาพมากขึ้น สามารถทำประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุได้ เบี้ยประกันสุขภาพชนิดนี้ค่อนข้างแพง แต่ก็ทำให้การรักษาพยาบาลสะดวกสบายมากขึ้น เพราะพึ่งบัตรทองแค่บางส่วน บางส่วนก็พึ่งประกันสุขภาพไป นอกจากนี้ยังตั้งงบประมาณค่ารักษาพยาบาลส่วนเกิน และเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินมากขึ้น งบท่องเที่ยวสันทนาการก็มากขึ้น คราวนี้ไปได้ถึงยุโรป อเมริกาเลย

“สำหรับคุณภาพชีวิตระดับดีตามแผนนี้ ลุงคำนวณแล้วว่า ณ ปี 2566 ต้องมีเงินออม 18,600,000 บาท หรือจะจำง่ายๆก็ปัดเป็นสิบเก้าล้านบาทก็ได้”

“แล้วเงินก้อนนี้จะใช้ชีวิตแบบนี้ไปได้กี่ปีจ๊ะลุง” ยีราฟถาม

“ก็ถ้าเงินออมไม่ให้ผลตอบแทนเลย แม่ยีราฟก็จะใช้จ่ายได้จนอายุ 73 ปี จากนั้นเงินจะหมด แต่ถ้าเงินออมให้ดอกผลบ้าง 5% ต่อปี ก็มีเงินใช้จ่ายได้จนอายุ 80 ปี และถ้าเงินออมให้ผลตอบแทนได้ถึงปีละ 8% ก็ใช้ไปได้จนอายุ 92 ปี”

“ฟังแล้วท้อจังลุง แต่ละแผนต้องมีเงินออมหลักล้านทั้งนั้น แม้แต่แผนที่ประหยัดที่สุดก็ยังต้องมีถึงห้าล้านสี่ ชีวิตของฉันจะมีโอกาสออมได้ถึงขนาดนั้นไหมเนี่” แม่ยีราฟเริ่มแสดงอาการวิตกจริตอีก “อยากรู้จังว่าจะมีสักกี่คนที่ออมได้ขนาดนั้น”

“นั่นสิลุง ฟังแล้วห่อเหี่ยวเลย เพราะคงไม่มีโอกาสไปถึงจุดนั้น” ลิงจ๋อพูดขึ้นบ้าง

“โอ๊ย อย่าเพิ่งท้อสิ ชีวิตไม่ได้มีเส้นทางเพียง 3 เส้นนี้เท่านั้น” ลุงแมวน้ำพูด “นี่แม่ยีราฟถามมาลุงก็ตอบไป ก็ว่าไปตามการคำนวณ แต่ชีวิตไม่ได้มีอยู่เพียงแค่นี้ เรายังมีทางเดินให้เลือกอีกมากมาย ที่สามารถใช้ชีวิตในวัยเกษียณได้อย่างมีความสุข ลุงยังเล่าไม่หมดเลย อีกอย่าง ถ้าเราเรียนรู้วิธีการออมและการลงทุนตั้งแต่วันหนุ่มสาว เมื่อถึงยามเกษียณก็ไม่อับจนหรอก”

“อ้าว ลุงยังเล่าไม่หมดหรอกเหรอ แหม่ ค่อยมีกำลังใจหน่อย” ลิงจ๋อพูดด้วยแววตาที่แจ่มใสขึ้น “งั้นเล่าต่อเลยลุง”

“เอาไว้ก่อน ลุงเมื่อยแล้ว วันหลังค่อยมาคุยกันต่อละกัน” ลุงแมวน้ำตอบ

Thursday, April 17, 2014

17/04/2014 ต้องมีเงินเท่าไรสำหรับวัยเกษียณสุข (1)




เช้าวันสงกรานต์ แม้ว่าอากาศจะร้อนอบอ้าว แต่ว่าโขดหินของลุงแมวน้ำก็เย็นสบายพอสมควร ขณะที่ลุงแมวน้ำกำลังนอนผึ่งพุงอยู่บนโขดหินแสนสุขอยู่นั้นเอง ลิงจ๋อ แม่ยีราฟ กระต่ายน้อย และสมาชิกอื่นๆอีกหลายตัวในคณะละครสัตว์ก็แวะมาหา

“วู้ ลุงแมวน้ำ พวกเรามารดน้ำดำหัวลุงแน่ะ” ลิงจ๋อส่งเสียงเอะอะมาแต่ไกล

“ไม่น่าต้องลำบากเลย” ลุงแมวน้ำพูด

“ไม่ลำบากหรอกฮะ พวกเราจะมาขออั่งเปาด้วย” กระต่ายน้อยพูด

“อั่งเปานี่มันสำหรับตรุษจีนนี่ จะรออั่งเปาคงต้องรอปีหน้าละมั้ง” ลุงแมวน้ำอ้าปากค้าง เพราะไม่เคยเจอธรรมเนียมแจกอั่งเปาในวันสงกรานต์

“ไม่เป็นไรลุง พวกเราไม่ถือ จีนไทยไม่ใช่อื่นไกลพี่น้องกัน ตรุษไทยจะผสมธรรมเนียมจีนบ้างก็ได้” ลิงจ๋อพูดหน้าตาย

“ลุงไม่ได้เตรียมเอาไว้น่ะสิ” ลุงแมวน้ำพูด “ไม่รู้ล่วงหน้านี่”

“ถ้ายังงั้นวันหลังค่อยมารดละกัน” ลิงจ๋อพูด “พวกเรา กลับกันก่อน”

“วุ้ย นายจ๋อบ้า” แม่ยีราฟดุ “ชอบแกล้งลุงแมวน้ำเสียเรื่อยเชียว ลุงอย่าไปฟังนายจ๋อ นายนี่ติดหุ้นจนเพี้ยนแล้ว”

“เอาเถอะ รดก็ได้ ไม่รดก็ได้ ตามสะดวกละกัน” ลุงแมวน้ำพูด

“รดสิคร้าบ ผมชอบแกล้งลุงแมวน้ำจัง ไม่รู้เป็นอะไร” ลิงจ๋อหัวเราะ

“เป็นโรคจิตไงฮะ” กระต่ายน้อยพูดบ้าง

“กลับไปลงหมวกเลย ไม่ต้องพูดมาก” ลิงดุกระต่าย

หลังจากที่หยอกล้อกันพอสนุกสนาน การรดน้ำดำหัวก็เริ่มขึ้น หลังจากที่รดน้ำเสร็จ บรรดาสมาชิกก็แยกย้ายกันกลับ เหลือเพียงแม่ยีราฟที่โอ้เอ้ ส่วนลิงจ๋อกับกระต่ายก็นั่งอยู่บนหลังแม่ยีราฟ

“ลุงแมวน้ำจ๊ะ ขอถามอะไรหน่อย” ยีราฟกระแอม

“เอาสิ ลุงตอบให้ฟรีๆ ไม่คิดเงินหรอก” ลุงแมวน้ำหัวเราะที่เห็นแม่ยีราฟท่าทางจริงจัง

“ฉันอยากรู้ว่าฉันควรมีเงินเก็บสักเท่าไรจึงจะมีชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุขน่ะ” ยีราฟถาม

“โอ๊ย คุณเธอมาถามอะไรเอาตอนนี้ ยังสาวอยู่เลย” ลิงจ๋อขำ

“ฉันน่ะวัยกลางยีราฟแล้ว ต้องคิดเตรียมการสำหรับอนาคตไว้บ้าง นายจ๋อก็ต้องคิดไว้บ้างนะ วันๆเอาแต่ลอยไปลอยมา” ยีราฟเตือน

“อ้าว ฉันก็โหนกิ่งไม้ไปมา วันๆก็ต้องลอยไปลอยมาอยู่แล้ว” ลิงจ๋อพูดตลก แต่สังเกตดูท่าทางก็อึ้งไปนิดหนึ่ง

“ว่าไงจ๊ะลุง” ยีราฟถามอีก “ฉันอยากรู้ จะได้เตรียมเก็บเงินเอาไว้”

ยีราฟสาวตัวนี้มีนิสัยเก็บหอมรอมริบอีกทั้งยังมักวางแผนชีวิตเอาไว้ล่วงหน้า ต่างจากลิงจ๋อที่สนุกสนานเฮฮา ไม่ค่อยคิดวางแผนอนาคตเท่าไรนัก

“ที่แม่ยีราฟถามนั้นก็ตอบได้ยาก เพราะว่าคำตอบมีอยู่หลากหลาย ขึ้นกับปัจจัยหลายๆอย่าง” ลุงแมวน้ำพูดอย่างใช้ความคิด “มันต้องมีรายละเอียดมากกว่านี้ อย่างเช่นว่าต้องการมีคุณภาพชีวิตระดับไหนหลังจากที่เกษียณไปแล้ว จำนวนเงินออมที่แตกต่างกันย่อมส่งผลให้คุณภาพชีวิตหลังเกษียณแตกต่างกันออกไป”

“ก็เอาแบบที่ฉันพอมีกำลังทำได้นั่นแหละลุง” ยีราฟตอบแบบเอากีบเท้าทุบดิน

“เอาล่ะ ลุงพอเข้าใจ” ลุงแมวน้ำพูด “แม่ยีราฟเองตอนนี้อาจยังวาดภาพตนเองเมื่อหลังเกษียณไม่ออก ระดับคุณภาพชีวิตหลังเกษียณก็ขึ้นกับกำลังในการออมยามหนุ่มสาวด้วย ไม่ใช่ว่าอยากสบายเท่าไรก็จะไปถึงจุดนั้นได้”

“ถ้ายังงั้นคงต้องคุยกันต่อละ ไปนั่งที่สวนข้างโขดหินกันดีกว่า” ลุงแมวน้ำเชิญชวน “นายจ๋อกับกระต่ายน้อยจะกลับก่อนไหม ลุงคงต้องคุยกับแม่ยีราฟสักพัก”

“ไม่กลับฮะลุง” กระต่ายน้อยบนหลังยีราฟส่ายหางดุ๊กดิ๊ก “ฟังลุงกับน้ายีราฟคุยกันดีกว่า”

“ผมก็ด้วย” ลิงจ๋อตอบ

พวกเราจึงเดินมานั่งคุยกันที่สวนข้างโขดหิน อันเป็นสถานที่ที่เรามักมานั่งคุยกันเป็นประจำอยู่แล้ว

“เอาล่ะ” ลุงแมวน้ำพูด “มาเข้าเรื่องกัน ฝรั่งเขามีการสำรวจและพบว่าหากต้องการมีชีวิตหลังเกษียณที่ใกล้เคียงกับก่อนเกษียณ ควรมีเงินใช้ราว 70% ของรายได้ก่อนเกษียณ”

“งง” ลิงจ๋อรีบพูด

“แปลง่ายๆว่า สมมติว่าก่อนเกษียณ มีรายได้เดือนละ 10,000 บาท เมื่อยามที่เกษียณไปแล้ว หากต้องการรักษาคุณภาพชีวิตให้ใกล้เคียงเดิม ก็ควรมีรายได้หลังเกษียณเดือนละ 7,000 บาท หากต่ำกว่านั้นมากเท่าไร คุณภาพชีวิตก็จะลดหย่อนลงไปตามส่วน”

“แล้วมันแปลว่าฉันต้องมีเงินเก็บเท่าไรล่ะลุง” ยีราฟยังไม่หายสงสัย “ลุงตอบมาเป็นตัวเลขชัดๆเลยสิ”

ลุงแมวน้ำเริ่มปวดหัวกับคำถาม แต่แล้วก็นึกอะไรขึ้นมาได้

“เอายังงี้” ลุงแมวน้ำพูด “ต้องมีสักห้าล้านสี่”

“เจี๊ยก” แม่ยีราฟร้อง “ทำไมมันเยอะยังงี้ ลุงแมวน้ำไปเอาตัวเลขมาจากไหน”

“แหม เธอนี่” ลิงจ๋ออดพูดไม่ได้ “พอลุงแมวน้ำบอกว่าตอบยาก เธอก็จะให้ฟันธงเอาตัวเลขมา พอลุงแมวน้ำบอกตัวเลข เธอก็ร้องเจี๊ยกเป็นลิง จะเอายังไงกันแน่”

“ก็ตกใจนี่ เงินมันเยอะ” ยีราฟพูด

“ที่จริงก็ไม่เยอะหรอกนะ” ลุงแมวน้ำพูด “เงิน 5,400,000 บาทนี้ถือว่าใช้ชีวิตได้ตามอัตภาพเท่านั้นด้วย ไม่ใช่สุขสบายหรูหรา”

“แล้วลุงไปเอาตัวเลขมาจากไหนน่ะ ผมก็ชักสงสัย” ลิงจ๋อสงสัยด้วย “ขนาดนี้ลุงยังบอกว่าแค่ตามอัตภาพ”

“ลุงจะอธิบายให้ฟัง” ลุงแมวน้ำพูดพลางดึงม้วนกระดาษออกมาจากหูกระต่าย เมื่อคลี่ออกมาก็เป็นตารางแผ่นหนึ่ง

“ลุงเคยคำนวณเอาไว้เล่นๆเมื่อสองสามปีก่อน พอดีวันนี้ได้ใช้ประโยชน์” ลุงแมวน้ำพูด “ก่อนอื่นลุงขอเท้าความสักหน่อย คือจากการสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าปัจจุบันคนไทย 77.4% มีการเก็บออมเงิน และมีผู้ที่ไม่มีเงินออมเลยอยู่ 22.6%

“ทีนี้ในจำนวน 77.4% ที่มีเงินออมนั้น มีวัตถุประสงค์ในการออมเงินหลายแบบ เช่น ออมเพื่อการศึกษาบ้าง เพื่อซื้อข้าวของเครื่องใช้บ้าง ส่วนผู้ที่ออมเพื่อวัยเกษียณมีเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

“และจากการสำรวจของทีดีอาร์ไอที่ทำในกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่าผู้สูงอายุไทยมีผู้ที่มีเงินออมอยู่เพียงหนึ่งในสามเท่านั้น พูดง่ายๆว่าคนแก่ 100 คน มีคนแก่ที่มีเงินออมเพียง 33 คนเท่านั้น ที่เหลืออีก 64 คนไม่มีเงินเก็บหรือเงินออม ต้องมีชีวิตหลังเกษียณที่ไม่ค่อยมั่นคง”

“หูย น่ากลัวจัง” แม่ยีราฟเริ่มวิตกจริต “แล้วฉันต้องทำยังไงเนี่ย”

“ยังไม่ต้องทำอะไร ฟังลุงเล่าให้จบก่อนสิ” ลุงแมวน้ำรีบขัด “เอ้า มาดูตารางกัน”




ลุงแมวน้ำพูดพลางคลี่ตารางกางให้ดูกันถนัดๆ

“นี่เป็นตารางที่ลุงคิดเอาไว้เมื่อปี 2554 เป็นการประเมินค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตหลังเกษียณ ว่าหากเกษียณในปีนั้นแล้วชีวิตหลังเกษียณจะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

“ค่าใช้จ่ายนั้นลุงก็ทำเอาไว้ให้ดูกันง่ายๆ รายจ่ายบางรายการเกิดเป็นประจำทุกวัน บางอย่างเกิดทุกเดือน ก็กรอกในช่องรายจ่ายประจำวันหรือประจำเดือน พวกที่เกิดไม่แน่นอน หรือนานๆมีค่าใช้จ่ายสักที ก็เหมาไปเลยเป็นรายปี แล้วทุกอย่างจะเอามาคำนวณในขั้นสุดท้ายว่ารวมแล้วปีหนึ่งมีค่าใช้จ่ายเท่าไร

“สำหรับตารางนี้ เป็นคุณภาพชีวิตหลังเกษียณ สำหรับค่าครองชีพในเมืองใหญ่ และใช้จ่ายอย่างประหยัด สำหรับคนเดียว อาศัยอยู่ในคอนโดหรือบ้านเดี่ยวมีเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง คือไม่มีภาระเรื่องผ่อนบ้านแล้ว

“ลุงจะยกตัวอย่างค่าใช้จ่ายบางรายการ จะเห็นว่าให้ค่าอาหารวันละ 100 บาทต่อคน ก็ไม่เหลือเฟือ ค่าเสื้อผ้าให้ปีละ 4000 บาท ก็ไม่มาก ผู้สูงอายุควรใส่ใจเรื่องเสื้อผ้านิดนึง ซื้อของใหม่สีสดใสบ้าง จิตใจจะสดชื่น อย่าใส่แต่เก่าๆ โทรมๆ จิตใจจะห่อเหี่ยว อันนี้เป็นจิตวิทยาผู้สูงอายุ

“ค่ารถให้วันละ 150 บาท ขึ้นรถไฟฟ้าบ้าง รถเมล์บ้าง ไปหาเพื่อนฝูง หรือไปเดินเล่นสวนสาธารณะ ค่าพักผ่อนหย่อนใจให้ปีละ 20,000 บาท ได้แค่ไปเที่ยวต่างจังหวัด หรือไปฮ่องกงสิงคโปร์

“งานบ้านต้องทำเอง จ้างแม่บ้านไม่ได้เพราะต้องประหยัด ส่วนการออกกำลังกายก็คงได้แค่เป็นสมาชิกฟิตเนสของ กทม หรือตีแบด ตีเทนนิส ว่ายน้ำ เป็นครั้งคราว จะเป็นสมาชิกฟิตเนสคลับแบบหรูๆก็ไม่ไหว

“และที่สำคัญคือ ให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพปีละ 10,000 บาท หมายความว่าเจ็บไข้ได้ป่วยอะไรก็พึ่งบัตรทองทั้งหมด ขาดเหลืออะไรก็ควักกระเป๋าจ่ายเองได้เพียงปีละ 10,000 บาทเท่านั้น ซึ่งเผื่อไว้ให้น้อยมาก นี่แหละที่ลุงว่าคุณภาพชีวิตตามแผนนี้ค่อนข้างจำกัดจำเขี่ย ไม่ได้หรูหราอะไรเลย

“ทีนี้ตามตาราง จะเห็นว่าหากเกษียณปี 2554 ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณในปี 2554 จะเป็น 246,500 บาทต่อปี ปีนี้ลุงถือว่าเป็นปีฐานในการคำนวณ หากไม่เกษียณในปี 2554 จะเกษียณปีไหนล่ะ สมมติปี 2566 ณ ปีนั้น ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณจะกลายเป็นปีละ 331,515 บาทต่อปี เพราะผลจากเงินเฟ้อนั่นเอง 

“เอาละ สมมติว่าทำงานถึงปี 2565 คือแม่ยีราฟอายุ 60 ปีและในปีนั้นมีเงินออม 5,400,000 บาท ตัวเลขนี้ลุงสมมติขึ้นมาลอยๆก่อน เงินออมห้าล้านสี่แสนบาทในปี 2566 หากเงินนั้นไม่ได้งอกเงยให้ผลตอบแทนใดๆอีกเลย เงินก้อนนั้นแม่ยีราฟก็จะใช้ไปได้อีกจนถึงอายุ 74 ปีเท่านั้น”

“แล้วถ้าฉันอายุยืนกว่านั้นล่ะ” ยีราฟสงสัย

“อ้าว ไม่รู้แล้ว ก็เงินหมดแล้วนี่ จะอยู่ต่อยังไงนั่นคือปัญหา” ลุงแมวน้ำตอบ “แต่ถ้าเงินห้าล้านสี่นั้นแม่ยีราฟเอาไปลงทุนและให้ผลตอบแทนบ้าง สัก 5% ต่อปี แม่ยีราฟก็จะประวิงเวลาใช้เงินไปได้จนอายุ 80 ปีกว่าที่เงินจะหมด และถ้าแม่ยีราฟสร้างผลตอบแทนจากเงินออมได้ปีละ 8% แม่ยีราฟก็จะมีเงินใช้จนถึงอายุ 93 ปี กว่าที่เงินจะหมด ดังนั้นเงินออมที่ต้องเก็บออมเอาไว้ก็สำคัญ และที่สำคัญอีกอย่างคือต้องรู้จักให้เงินทำงานด้วย ไม่อย่างนั้นจะอยู่ได้ยาก ดังที่ลุงยกตัวอย่างมาให้ดู” ลุงแมวน้ำสรุป

“แล้วถ้าอยากมีชีวิตที่สบายขึ้นกว่านี้ละลุง ต้องมีเงินออมสักเท่าไร” ลิงจ๋อชักสนใจและถามขึ้นมาบ้าง

Sunday, April 13, 2014

13/04/2014 : สุขสันต์วันสงกรานต์ เข้าสู่ปีที่ 6 ดูหนังวันหยุดกัน




ลุงแมวน้ำเริ่มทำเว็บบล็อกนี้มาตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ของปี 2009 มาจนถึงวันนี้ สงกรานต์ 2014 เวลาได้เวียนมาบรรจบครบ 5 ปีพอดี

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์มากมายหลายอย่างเกิดขึ้นในโลกและในตลาดทุน อันเป็นของธรรมดาโลก ลุงแมวน้ำก็ปรับเปลี่ยนแนวทางในการนำเสนอหลายต่อหลายครั้ง ทั้งปรับเล็กๆน้อยๆและปรับครั้งใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง

จนถึงวันนี้ ขณะที่ย่างเข้าสู่ปีที่ 6 สถานการณ์การลงทุนในโลกและในไทยก็หมุนเวียนเปลี่ยนไปอีก ลุงแมวน้ำจึงทำการปรับปรุงครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

คงเห็นว่าลุงแมวน้ำปรับปรุงรูปโฉมของเว็บบล็อกเสียใหม่ อันเปรียบเหมือนกับการแต่งบ้าน ครั้งนี้แต่งเสียยกใหญ่ ทาสีบ้านและตกแต่งเสียใหม่ ดูแปลกตาออกไป ราวกับขึ้นบ้านใหม่ แต่ที่จริงก็บ้านเดิมนั่นแหละ ^_^

นอกจากการเปลี่ยนรูปโฉมภายนอกแล้ว เนื้อหาภายในก็ยังปรับเปลี่ยนไป โดยลุงแมวน้ำจะปรับแนวทางการนำเสนอให้ครอบคลุมการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น โดยจะเน้นไปที่การลงทุนในตลาดทุนของอเมริกา เพราะที่สหรัฐอเมริกามีผลิตภัณฑ์ในการลงทุนมากมายหลายหลาก มีทั้งหุ้น อีทีเอฟ (etf) และอนุพันธ์คือฟิวเจอร์สและออปชัน (futures & options) ครอบคลุมการลงทุนในประเทศต่างๆทั่วโลก และครอบคลุมสินทรัพย์เสี่ยงประเภทต่างๆ ดังนั้นการเข้าสู่ตลาดทุนของสหรัฐอเมริกาก็เท่ากับสามารถกระจายการลงทุนไปได้ทั่วโลก และกระจายไปในสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ อาทิ หุ้น พันธบัตร สินค้าโภคภัณฑ์ และอสังหาริมทรัพย์

นอกจากนี้ ลุงแมวน้ำยังจะคุยเกี่ยวกับเรื่องกองทุนรวมที่อยู่ในตลาดทุนไทยแต่ไปลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกมากมายเช่นกัน โดยมีทั้งกองทุนรวมธรรมดาและกองทุนรวมแบบลดหย่อนภาษี (RMF) ที่พาเงินของเราไปลงทุนในต่างประเทศ โดยครอบคลุมสินทรัพย์เสี่ยงในประเภทต่างๆเช่นกัน ทั้งหุ้น พันธบัตร สินค้าโภคภัณฑ์ และอสังหาริมทรัพย์

ดังนั้นเว็บบล็อกของลุงแมวน้ำตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป จึงเป็นก้าวย่างใหม่ของการลงทุน นั่นคือ การโกอินเตอร์หรือออกไปสู่โลกกว้าง

ในช่วงปีที่แล้ว 2013 ลุงแมวน้ำปรับปรุงเว็บบล็อกน้อยลง และหันไปโพสต์ในเฟซบุ๊กเสียมากกว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าลุงแมวน้ำขี้เกียจนั่นเอง ^_^ โพสต์ในเฟซบุ๊กง่ายกว่า แต่ว่าปีนี้ลุงแมวน้ำจะพยายามปรับปรุงเสียใหม่ ด้วยการหันกลับมาเขียนเรื่องราวในเว็บบล็อกเป็นหลัก เพราะแม้จะทำได้ยาก แต่ว่าทำให้ผู้อ่านติดตามเรื่องราวได้ง่ายและดีกว่า จะค้นมาดูในภายหลังก็ง่ายกว่าด้วย พร้อมกันนั้นก็จะคัดลอกเนื้อหาไปโพสต์ในเฟซบุ๊กด้วย แต่ภาพที่นำไปโพสต์ในเฟซบุ๊กอาจไม่ครบถ้วนเท่ากับในเว็บบล็อก แต่ก็เรียกได้ว่าอำนายความสะดวกกันสุดๆ ใครถนัดอ่านในสื่อชนิดใดก็เลือกได้ตามใจชอบ

เอาละ พูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงกันไปแล้ว ต่อไปเรามาคุยเรื่องบันเทิงในวันหยุดกันดีกว่า ^_^

ช่วงเทศกาล โดยเฉพาะสงกรานต์ เป็นช่วงที่ลุงไม่อยากไปไหนเลย เพราะแหล่งท่องเที่ยวต่างๆทั้งในและต่างประเทศจะมีคนไทยแห่ไปเที่ยวกันเต็มไปหมด ไปเที่ยวเมืองจีน ฮ่องกง ในช่วงสงกรานต์ราวกับอยู่ในเมืองไทย เพราะว่านักท่องเที่ยวไทยเต็มไปหมด เดินอยู่บนถนนสุขุมวิทยังคล้ายเดินอยู่เมืองนอกมากกว่าเสียอีก ^_^

พูดถึงคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศ ตอนนี้ร้านค้าไทยกลัวนักท่องเที่ยวจีนกันมาก เรียกว่าอยากได้เงินแต่ไม่อยากต้อนรับ เพราะว่ามีนักท่องเที่ยวจีนที่แสดงพฤติกรรมไม่ค่อยดีเอาไว้จนร้านค้าเข็ดขยาด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องมารยาทและความเกรงอกเกรงใจ

แต่ขณะเดียวกัน ตอนนี้คนญี่ปุ่นก็กลัวนักท่องเที่ยวไทยเช่นเดียวกัน และก็ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกันกับที่ร้านค้าไทยกลัวนักท่องเที่ยวจีน เนื่องจากตอนนี้มีนักท่องเที่ยวไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นกันมาก เพราะค่าเงินเยนอ่อน ทำให้ค่าทัวร์ไปญี่ปุ่นไม่แพง อีกทั้งยังไม่ต้องขอวีซ่าเข้าญี่ปุ่นอีกด้วย ได้ข่าวว่านักท่องเที่ยวไทยไปสร้างวีรกรรมเอาไว้ที่ญี่ปุ่นพอสมควรทีเดียว

ว่าจะพูดเรื่องบันเทิงวันหยุด ไหงมาพูดเรื่องท่องเที่ยวไปได้ มากลับเข้าเรื่องกันดีกว่า ^_^

สำหรับผู้ที่ไม่ได้เดินทางไปไหน ลุงแมวน้ำมีหนังซีรีส์จีนแนวแอคชั่น ดรามา ผจญภัยมาให้ชมกันแก้เหงา ตอนนี้ลุงกำลังติดเรื่องนี้งอมแงมอยู่เช่นกัน เราไปดูรายละเอียดกัน

ภาพยนตร์ซีรีส์ที่ว่านี้เป็นนิยายผจญภัย แฟนตาซี บู๊ ขำ รัก เศร้า แถมเพลงยังไพเราะอีกต่างหาก เรียกว่ามีครบทุกรส แต่ไม่จับฉ่าย ก่อนอื่นลุงเล่าความเป็นมาเสียก่อน

รู้จัก เฉินหลง กันใช่ไหม แจกกี ชาน (Jackie Chan) ไง เป็นนักแสดงและผู้กำกับชาวฮ่องกง หนังแนวที่ถนัดคือหนังแนวแอคชันกังฟู เพราะว่าเฉินหลงเองนั้นดังมาจากการเป็นดาราหนังกังฟูนั่นเอง

หนังแอคชันกังฟูของเฉินหลงนั้นไม่โหด ไม่ใช่ประเภทตัดแขน ตัดหัว เลือดท่วมจอ แต่เป็นหนังบู๊แนวขำๆ สมัยที่เฉินหลงหนุ่มๆนั้นเริ่มดังจากหนังแนวกำลังภายใน จากนั้นก็มาโด่งดังจากหนังชุด Police Story ซึ่งมีหลายภาค ลุงก็นับไม่หมด แต่อย่างน้อยก็ 5 ภาคล่ะ ซึ่งหนังชุด Police Story นี้ในภาคไทยมีชื่อว่า วิ่งสู้ฟัด บู๊กันแหลกลาญ และต่อมา หนังของเฉินหลงที่ฉายในไทยต้องมีคำว่า ฟัด ห้อยอยู่ด้วยตลอด เช่น วิ่งกระเตงฟัด ใหญ่ฟัดโลก ฯลฯ

และเมื่อเฉินหลงมีอายุมากขึ้น ก็พยายามลดคิวบู๊ของตนเองในหนังลง เพราะสังขารย่อมเสื่อมไปตามวัย จะให้วิ่งสู้ฟัดแบบหนุ่มๆย่อมไม่ได้ และนี่เองที่เป็นจุดเปลี่ยนของแนวหนังเฉินหลง

ในปี 2005 เฉินหลงออกฉายหนังเรื่อง The Myth หรือชื่อไทยคือ ดาบทะลุฟ้า ฟัดทะลุเวลา แนวของหนังเปลี่ยนจากแนวตำรวจที่บู๊แหลกลาญ กลายเป็นการหยิบตำนานรักมาเล่าขาน โดยผสมฉากบู๊เข้าไป เป็นหนังแอคชันกังฟูที่มีความเป็นดราม่าสูง ซึ่งทำให้เฉินหลงเลี่ยงบทบู๊เจ็บตัวไปได้เยอะทีเดียว ในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างสีสันใหม่ๆให้แก่หนังของตน

เนื้อเรื่องของ The Myth หนังเรื่องนี้เป็นแนวทวิภพ คือย้อนยุค ลัดมิติ ทะลุเวลาไปสู่อดีตในยุคจิ๋นซีฮ่องเต้ โดยพระเอก (เฉินหลง) เป็นนักโบราณคดี เดินทางย้อนเวลาไปหลงรักสนมของจิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งนางเอกในเรื่องนี้เป็นดาราเกาหลีชื่อคิมฮีซอน เพลงเอกของหนังเรื่องนี้ไพเราะมาก เราลองมาดูตัวอย่าง (trailer) ของหนังเรื่องนี้กัน




หนังเรื่องนี้เรตติงหรือคะแนนนิยมทางโลกตะวันตกไม่ค่อยเท่าไรนัก แต่ความนิยมในย่านเอเชียใช้ได้เลยทีเดียว ดังนั้นต่อมาในปี 2009 เฉินหลงจึงนำหนังเรื่อง The Myth นี้มาขยายเป็นหนังซีรีส์เพื่อฉายทางทีวี โดยในฉบับซีรีส์นี้มีเนื้อหาและรายละเอียดในเชิงประวัติศาสตร์เพิ่มเติมขึ้นอีกมากมาย มีความเป็นดราม่าสูง ขณะเดียวกันก็ยังมีกังฟูและมุขขำๆ ฮาๆ ตามสไตล์ของเฉินหลง

ภาพยนตร์ชุดทางทีวีนี้ทุ่มทุนสร้างถึง 40 ล้านหยวนหรือ 200 ล้านบาท ยาว 50 ตอน ออกฉายในปี 2010 ทางช่อง CCTV 8 ของจีน ดาราแสดงนำเปลี่ยนใหม่เป็นดาราจีน พระเอกเปลี่ยนจากเฉินหลงจมูกโตเป็นหูเกอ ดาราจีนหน้าตากวน ส่วนนางเอกก็เป็นไป๋ปิง ดาราจีนเช่นกัน มาดูภาพโปสเตอร์หนังซีรีส์กัน


The Myth 2010 (TV series)


เพลงเอกของซีรีส์จีนนี้ยังเป็นเพลงเดิม คือ Endless Love (美丽的神话 ชื่อในภาษาจีนแปลว่าเทพนิยายอันงดงาม) จาก The Myth 2005 ที่เป็นหนังโรง แต่เปลี่ยนนักร้องและไม่มีเนื้อร้องท่อนเกาหลีแล้ว (Endless Love เวอร์ชัน 2005 มีเนื้อร้องท่อนหนึ่งเป็นภาษาเกาหลีด้วย) เพลงนี้ดังทีเดียว มีนักร้องนำมาร้องหลายคู่ ฉบับที่นิยมกันคือฉบับที่ร้องโดยหูเกอกับไป๋ปิง รองลงมาเป็นคัฟเวอร์เวอร์ชัน ร้องโดยซุนหนานกับหานหง เรามาฟังฉบับของหูเกอไป๋ปิงกัน




ซีรีส์นี้ยังไม่ได้นำเข้ามาฉายในเมืองไทย แต่สามารถดูได้ทาง youtube ตามนี้เลยคร้าบ






มีพากย์ไทยให้เรียบร้อย ทยอยออกสัปดาห์ละตอน ตอนนี้มีพากย์ไทยถึง 16 ตอนแล้ว (ดูที่ playlist ทางด้านขวา จะมีชื่อตอนให้เลือกดู)

และถ้าหากไม่ทันใจ ก็ไปดูฉบับที่เป็นพากย์อังกฤษ (ซับอังกฤษ) ซึ่งมีครบทั้ง 50 ตอนแล้ว ไปที่นี่เลย




ที่นี่นอกจากมีฉบับซับอังกฤษแล้วยังมีฉบับซับไทยด้วย แต่แปลไทยกะพร่องกะแพร่ง เพราะแปลด้วยโปรแกรม ฉบับซับอังกฤษลุงแมวน้ำประเมินว่าถ่ายทอดได้สัก 80-90% ส่วนซับไทยนั้นรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ต้องเดาเยอะทีเดียว

พักผ่อนดูหนังกันให้สนุกในวันสงกรานต์คร้าบ



Monday, April 7, 2014

07/04/2014 เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ : ข้าวแช่ชาววังคลายร้อน



ข้าวแช่ชาววัง เมนูชื่นใจคลายร้อน


ช่วงนี้ลุงแมวน้ำกำลังง่วนกับการปรับปรุงเว็บบล็อกอยู่ ตั้งใจจะทำให้เสร็จฉลองครบรอบ 5 ปีของเว็บบล็อกลุงแมวน้ำในวันสงกรานต์ปีนี้ จากนั้นก็จะย่างเข้าปีที่ 6 แล้ว วันเวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ลุงยังปรับปรุงไม่เสร็จเลย ฮือ จะทันไหมเนี่ย >.<

วันหยุดแวะมาคุยเล่นกันก่อน

วันนี้ลุงแมวน้ำเอาข้าวแช่มาฝาก กินแก้ร้อนกัน

ข้าวแช่เดิมทีนั้นว่ากันว่าเป็นอาหารมอญ ต่อมาตำรับนี้เข้าไปในราชสำนัก กลายเป็นอาหารที่นิยมกันภายในวังตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา และแพร่หลายออกมานอกราชสำนักในช่วงรัชกาลที่ 4-5 และช่วงนี้เองที่มีการดัดแปลงเติมน้ำแข็งลงไป เพื่อให้เย็นสดชื่นสะใจยิ่งขึ้น จากที่ก่อนหน้านั้นไม่เติมน้ำแข็ง ก็คงจะเป็นเพราะเมื่อก่อนเก่าน้ำแข็งหายากด้วยแหละ พอมาถึงยุครัชกาลที่ 4 มีการนำน้ำแข็งเข้าจากสิงคโปร์ จึงค่อยมีการเติมน้ำแข็งกัน สมัยก่อนน้ำแข็งก็ต้องนำเข้ากันทีเดียว

ดังนั้นข้าวแช่ชั้นดีตำรับดั้งเดิมจึงเป็นตำรับของในรั้วในวัง นี่เองจึงเป็นที่มาของคำว่าข้าวแช่ชาววัง ส่วนข้าวแช่ตำรับชาวบ้านนั้นก็พลิกแพลงเอาตามอัธยาศัยตามวัถุดิบและฝีมือที่มีอยู่ แต่ส่วนใหญ่เมื่อทำขาย ไม่มีใครประโคมตัวเองหรอกว่าเป็นข้าวแช่ชาวบ้าน เห็นแต่ข้าวแช่ตำรับชาววังทั้งนั้น ^_^

ส่วนประกอบของข้าวแช่นั้น มาดูที่เครื่องกันก่อน เครื่องของข้าวแช่มี ลูกกะปิ เนื้อฝอย (บางทีก็หมูฝอย) ไชโป๊วผัดหวาน พริกหยวกสอดไส้ ปลาแห้ง แล้วก็กินกับผักซึ่งมักเป็นกระชายสด แตงร้าน ฯลฯ

ส่วนข้าวนั้นใช้ข้าวสวยแช่น้ำ วิธีกินก็กินข้าวสวยแช่น้ำ (ใส่น้ำแข็งด้วย) พร้อมกับเครื่องดังที่ว่า

ถามว่าความยากของอาหารเมนูนี้อยู่ที่ไหน ก็ตอบว่าหากทำกันแบบไว้ฝีมือโบราณจริงๆก็ยากทุกส่วนเลย ส่วนเครื่อง (ลูกกะปิ ไชโป๊ว ฯลฯ) นั้นมีหลายอย่าง การทำให้อร่อย กรอบ แลดูสวยงามนั้นทำได้ยาก อย่างเช่นกระชาย หากไว้ฝีมือหน่อยก็ต้องสลักเสลา กินไปก็ดูความสวยงามไป เป็นต้น

ผักที่กินเป็นเครื่องเคียง (เรียกว่าผักแนม) มักเป็นกระชาย แตงร้าน ต้นหอม ฯลฯ ซึ่งหากต้องการให้ประณีตก็ต้องมีการแกะสลักลวดลายลงไปด้วย กระชายมักสลักเป็นจำปี แต่งร้านก็สลักเป็นใบไม้ ดอกไม้สีส้มในภาพเป็นดอกจำปา ทำจากแครอท

ส่วนข้าวนั้นก็ต้องใช้ข้าวที่ค่อนข้างแข็ง เช่น ข้าวเสาไห้ ใช้ข้าวหอมมะลิไม่ได้ เพราะเมื่อแช่น้ำแล้วยุ่ยเละหมด ข้าวนี้ก็ต้องนึ่ง ไม่ใช่หุง

ส่วนน้ำที่แช่ข้าว ส่วนนี้แหละ ดูง่ายๆแต่ที่จริงยากมากถึงมากที่สุด เพราะน้ำที่แช่ข้าวสวยแล้วกินอร่อยนั้น ตามตำรับดั้งเดิมต้องเป็นน้ำฝนที่สะอาดบริสุทธิ์ แต่สมัยนี้หากอยู่ใน กทม ใช้น้ำฝนไม่ได้แล้วล่ะ เพราะมลพิษในอากาศทำให้น้ำฝนไม่สะอาด ต้องใช้น้ำสะอาดอย่างอื่นแทน

เมื่อได้น้ำสะอาดมาแล้วก็ต้องมาอบร่ำควันเทียน ซึ่งควันเทียนนี้มาจากเทียนอบ เทียนอบนี้หากจะให้หอมก็ต้องทำเองซึ่งขั้นตอนการทำเทียนอบก็ยุ่งยาก รวมทั้งการอบร่ำให้น้ำสะอาดมีกลิ่นควันเทียนนั้นก็ยาก เพราะหากทำไม่เป็น น้ำจะมีแต่กลิ่นควันไฟเหม็นๆแทน

การอบร่ำควันเทียนแก่น้ำข้าวแช่ ตองใช้เทียนอบโดยเฉพาะ (เทียนไขไม่ได้เชียว) เทียนอบนี้ก็มีสูตรการทำเฉพาะตัว กลิ่นหอมหรือไม่ขึ้นกับฝีมือการทำเทียนอบและฝีมือการอบร่ำ หากทำไม่เป็น น้ำที่ได้จะมีแต่กลิ่นควันไหม้ๆ

และนอกจากนี้ น้ำแช่ข้าวนี้อบควันเทียนยังไม่พอ ยังต้องลอยด้วยดอกไม้หอมเพื่อให้กลิ่นดอกไม้หอมละลายลงไปในน้ำอีกด้วย ดอกไม้หอมที่นิยมใช้มักเป็นมะลิ หรือกุหลาบมอญ

ยัง ความยากของน้ำแช่ข้าวยังไม่หมด สมัยนี้ดอกมะลิหรือกุหลาบล้วนแต่พ่นยาฆ่าแมลงทั้งนั้น ดังนั้นหากจะทำตามตำรับโบราณจริงๆก็ต้องลงทุนปลูกกุหลาบมอญหรือมะลิเอง เห็นไหม ว่าแค่น้ำข้าวแช่ก็ยังยากเย็นแสนเข็ญ

ขั้นตอนการลอยดอกไม้ในน้ำข้าวแช่เพื่อให้น้ำมีกลิ่นดอกไม้ มักใช้มะลิหรือกุหลาบมอญ การทำน้ำดอกไม้ก็มีเทคนิคเช่นกัน น้ำดอกไม้ที่ลอยดอกไม้ในช่วงเช้ามืดจะมีกลิ่นหอมสดชื่นกว่าการทำในเวลาอื่น เพราะดอกไม้เหล่านี้บานและส่งกลิ่นหอมยามเช้านั่นเอง นี่เป็นเทคนิคอันละเอียดอ่อน คุณภาพของน้ำลอยดอกไม้จะหอมหรือไม่ส่วนหนึ่งก็อยู่ตรงนี้แหละ และส่วนใหญ่มักไม่บอกกัน น้ำลอยดอกไม้อบร่ำควันเทียนที่ทำอย่างประณีตฝีมือดีๆนั้นหาดื่มได้ยากมากในสมัยนี้ ใครได้ชิมแล้วจะสดชื่น เพราะรสชาติดีมาก ได้ทั้งกลิ่นและรสอันหอมละมุน ราวกับอยู่ในความฝันอันแสนสุขทีเดียว ^_^

การกินข้าวแช่ให้อร่อยควรใส่น้ำลอยดอกไม้ (น้ำข้าวแช่) ในคนโฑดินเผา เมื่อน้ำมาเสิร์ฟจะเย็นชื่นใจ

สมัยก่อนหากลุงมีโอกาสแวะไปท่าพระจันทร์ทีไรก็มักเข้าไปกินข้าวแช่ที่ร้านริมน้ำตรงท่าพระจันทร์ (ไม่ใช่ร้านชื่อริมน้ำ แต่ว่าอยู่ริมน้ำ) ข้าวแช่เป็นอาหารที่ราคาไม่ถูกนัก เพราะว่าทำยาก ตำรับชาววังมักราคาแพงหน่อย แต่หากลดรูปลงไปบ้างเป็นตำรับชาวบ้านก็ย่อมเยาลงมาบ้าง ต่อมาลุงก็เลิกกินไป

ที่เลิกกินเพราะว่าหากินได้ค่อนข้างยาก เป็นอาหารที่วัยรุ่นหนุ่มสาวไม่ค่อยนิยม จึงไม่ค่อยมีใครทำขายกัน และอีกประการ ที่ลุงเลิกกินเพราะว่าไม่แน่ใจในน้ำลอยดอกไม้นั่นแหละ ลุงกลัวยาฆ่าแมลงที่มากับดอกไม้

ปัจจุบัน เมนูข้าวแช่ถือว่าเป็นเมนูที่หากินได้ยาก และมีราคาพอสมควร แต่เรื่องความปลอดภัยดูเหมือนจะดีขึ้นมั้ง เพราะบางเจ้าบอกว่าปลูกดอกไม้เอง ไม่พ่นยาใดๆ ร้านเดิมที่ลุงเคยกินที่ท่าพระจันทร์ไม่รู้ว่าไปไหนแล้ว แต่ว่าที่บางลำภูมีร้านเก่าแก่อยู่เจ้าหนึ่ง ซึ่งลุงก็ไม่เคยกินสักที แต่ที่เคยลองลิ้มชิมคือในห้องอาหารของโรงแรมเวียงใต้ บางลำภู อร่อยดีคร้าบ ^_^

ห้องอาหารของโรงแรมเวียงใต้นั้นเป็นแหล่งของกินโบราณสมัยก่อน ลูกค้าที่มากินก็อายุไม่น้อยกันเป็นส่วนใหญ่ มาพบปะสังสรรค์และนั่งรำลึกความหลังกัน คิดง่ายๆ เมื่อเดินเข้าไปเพลงนางฟ้าจำแลงของสุททราภรณ์ก็ลอยมาตามลมนั่นแหละ คงพอนึกออกว่าลูกค้าเป็นวัยระดับไหน ^_^

การทำข้าวแช่สมัยนี้ง่ายขึ้น ลุงเคยคิดอยากทำข้าวแช่กินเองอยู่เหมือนกัน โดยไปซื้อข้าวนึ่งกับเครื่องมา ส่วนน้ำลอยดอกไม้อบควันเทียนลุงก็ทำเอง  น้ำลอยดอกไม้ เดี๋ยวนี้มีน้ำกุหลาบน้ำเข้ามาขาย ก็แพงหน่อย แต่ปลอดภัย ส่วนการร่ำควันเทียนก็มีกลิ่นควันเทียนที่เป็นกลิ่นสังเคราะห์ หยดลงไปหน่อยก็พอคลับคล้ายอยู่เหมือนกัน ทุ่นแรงไปได้เยอะ นี่เป็นไอเดียของลุงนะ คิดเล่นๆ ยังไม่มีโอกาสทำสักที ^_^