Sunday, January 26, 2014

26/01/2014 เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ: ตำนานเพลง สู้ไม่ถอย



กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ หรือจิ้น กรรมาชน ในวัยต่างๆ


เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในวัยต่างๆ

ลุงแมวน้ำว่างเว้นไม่ได้เขียนบทความลงในเว็บบล็อกมาพักใหญ่ เผลอเดี๋ยวเดียวก็ว่างเว้นมาเดือนกว่าแล้ว ที่จริงลุงแมวน้ำก็ไม่ได้หายไปไหนหรอก เพียงแต่ว่าช่วงหลังเนื่องจากลุงแมวน้ำมีเวลาเขียนอะไรต่ออะไรน้อยลง จึงมักโพสต์ในเฟสบุ๊กเป็นหลัก

วันนี้ลุงแมวน้ำอยากเขียนบทความให้พวกเราอ่านกันเพลินๆในวันหยุด แต่อาจจะยาวเกินไปสำหรับโพสต์ในเฟซบุ๊ก ก็เลยมาเขียนในเว็บบล็อกดีกว่า

สู้เข้าไปอย่าได้ถอย มวลชนคอยเอาใจช่วยอยู่
รวมพลังทำลายเหล่าศัตรู พวกเราสู้เพื่อความยุติธรรม...

ช่วงนี้เพลงฮิตติดตลาดเพลงหนึ่งที่ติดหูชาวกรุงเทพฯส่วนใหญ่ก็คงหนีไม่พ้นเพลง สู้ไม่ถอย เพลงนี้กลายเป็นเพลงปลุกใจของเหล่ามวลชน กปปส และต่อมาภายหลังเสมือนกับเป็นเพลงประจำตัวของลุงกำนัน สุเทพ เทือกสุบรรณ เนื่องจากเมื่อใดที่ลุงกำนันปรากฏตัวบนเวทีปราศรัยก็จะมีเพลงสู้ไม่ถอยนี้เปิดนำและปิดท้ายการปราศรัยทุกครั้ง รวมทั้งเมื่อใดที่ลุงกำนันออกเดินถนนเยี่ยมประชาชนก็จะมีรถเครื่องขยายเสียงคอยเปิดเพลงนี้คลออยู่ตลอด

ที่จริงแล้วเพลงนี้ไม่ใช่เพลงใหม่แต่อย่างใด ตรงกันข้าม หากนับจนถึงปี พ.ศ. 2557 เพลงนี้ก็มีอายุถึง 41 ปีแล้ว เรามาดูกันว่าเพลงนี้มีประวัติความเป็นมาอย่างไร

ในบทความชุด 14 ตุลา 2516 ที่ลุงแมวน้ำเขียน หากพวกเรายังจำกันได้ ลุงแมวน้ำได้เล่าเอาไว้ว่ามีเหตุการณ์หลายๆอย่างเกิดขึ้นในประเทศเหมือนแม่น้ำร้อยสายที่ไหลมารวมกันจนกลายเป็นเหตุการณ์มหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 ในที่สุด และส่วนหนึ่งของเหตุการณ์เหล่านั้นก็คือการที่นิสิตนักศึกษากลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติในยุคนั้น ได้ออกหนังสือตีแผ่ข้อเท็จจริงที่ชื่อว่า ‘บันทึกลับจากทุ่งใหญ่’ โดยเปิดโปงกรณีเฮลิคอปเตอร์ตกจากกรณีทุ่งใหญ่นเรศวร ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2516 และรัฐบาลในยุคนั้นอ้างว่าเฮลิคอปเตอร์เข้าไปปฏิบัติราชการ แท้ที่จริงแล้วเป็นการเข้าป่าล่าสัตว์ของข้าราชการและนักการเมือง

จากนั้นนักศึกษารามคำแหงก็ออกหนังสือออกมาบ้างในช่วงกลางปี 2516 ชื่อว่า ‘มหาวิทยาลัยไม่มีคำตอบ’ โดยมีเนื้อหาเสียดสีจอมพลถนอม นายกรัฐมนตรี

อธิการบดีในยุคนั้นสั่งลบชื่อนักศึกษารามคำแหง 9 คนที่เป็นแกนนำในการออกหนังสือเล่มนั้นเพื่อเป็นการลงโทษที่ออกหนังสือเสียดสีนายกรัฐมนตรี จนเกิดเหตุการณ์ประท้วงของนิสิตนักศึกษากันวุ่นวายที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเวลาต่อมา อันเป็นเดือนมิถุนายน 2516 และท้ายที่สุด อธิการบดีรามคำแหงในตอนนั้นต้องคืนสภาพนักศึกษาทั้งเก้าคน และตนเองก็ลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี



การประท้วงของนักศึกษา กรณีนักศึกษารามคำแหง 9 คนถูกสั่งลบชื่อ เนื่องจากเป็นแกนนำในการออกหนังสือ มหาวิทยาลัยไม่มีคำตอบ


เพลง สู้ไม่ถอย ก็แต่งขึ้นเพื่อปลุกเร้าให้กำลังใจแก่มวลชนในการประท้วงในเหตุการณ์ขับนักศึกษารามคำแหงในครั้งนั้นนั่นเอง โดยผู้ที่แต่งเพลงนี้คือ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผู้นำนักศึกษาในยุคนั้น โดยในตอนนั้นเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 โดยแต่งทั้งเนื้อร้องและทำนอง

ต่อมา หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ในปลายปี 2516 นั้นเอง เหตุการณ์ 14 ตุลา ได้ส่งผลต่อสังคมอย่างมาก โดยเฉพาะในหมู่นิสิตนักศึกษา แนวคิดเพื่อสังคม เพื่อมวลชน รับใช้ประชาชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคมระหว่างเมืองกรุงอันสุขสบายกับชนบทอันยากไร้ได้แผ่ขยายอย่างกว้างขวางและรวดเร็วในหมู่นิสิตนักศึกษา และในช่วงนั้นเองที่เกิดแนวเพลงเพื่อชีวิตขึ้น และวงดนตรีเพื่อชีวิตยุคแรกก็เกิดขึ้นในช่วงนั้นนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น วงคาราวาน กรรมาชน ฯลฯ

ในปี 2517 เป็นช่วงที่เพลงแนวเพื่อชีวิตเฟื่องฟูมาก และในมหาวิทยาลัยมหิดลก็ได้ก่อกำเนิดวงดนตรีเพื่อชีวิตวงหนึ่งขึ้น มีกุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ ซึ่งมีชื่อเล่นว่าจิ้น เป็นหัวหน้าวง โดยวงดนตรีนี้เปิดการแสดงเป็นครั้งแรกในงาน  14 ตุลาคม 2517 อันเป็นงานที่ระลึกครบรอบปีของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วงดนตรี กรรมาชน วงดนตรีที่ก่อตั้งในยุคหลัง 14 ตุลา อันเป็นยุคที่แนวเพลงเพื่อชีวิตได้รับความนิยม


หลังจากการแสดงเปิดตัวในครั้งนั้น ชื่อเสียงของวงกรรมาชนก็ขจรขจาย แม้จะเป็นวงใหม่แต่ก็โด่งดังมาก ด้วยแนวเพลงเพื่อชีวิตแบบเร่าร้อน สนุกสนาน ทำให้ได้รับความนิยม ตระเวนเล่นตามงานต่างๆอย่างต่อเนื่อง และได้ออกอัลบัมชุดแรกในปีนั้นเอง โดยเป็นเทปคาสเซ็ต มีชื่อว่า กรรมาชน ชุดที่ 1 ในช่วงปลายปีนั้นเอง

ปกเทปอัลบัม กรรมาชน ชุดที่ 1 ซี่งมีเพลง คนกับควาย เป็นเพลงเอก และมีเพลง สู้ไม่ถอย กับ มาร์ชประชาชนเดิน รวมอยู่ในอัลบัมด้วย

เพลงเอกของกรรมาชน ชุดที่ 1 คือ คนกับควาย และ เพลงสู้ไม่ถอย ก็ถูกบรรจุอยู่ในอัลบัมนี้ด้วยเช่นกัน และนอกจากนั้นก็ยังมีเพลง มาร์ชประชาชนเดิน อีกด้วย รวมทั้งยังมีเพลงอื่นๆอีก เช่นเพลง แสง ที่แต่งขึ้นเพื่อระลึกถึง แสง รุ่งนิรันดร์กุล หนึ่งใน 9 นักศึกษารามคำแหงที่ถูกลบชื่อออกจากสถาบันในปี 2516 ซึ่งต่อมาถูกลอบสังหารจนเสียชีวิต และหลังจากนั้นวงกรรมาชนยังได้ออกอัลบัมตามมาอีกหลายชุด

วงกรรมาชนมีบทบาทเคลื่อนไหวในทางการเมืองด้วย ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2516 ที่ขวาพิฆาตซ้าย วงกรรมาชนจึงต้องสลายตัว สมาชิกในวงต่างต้องหลบหนีกระจัดกระจายกันเข้าป่าไป รวมทั้งเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผู้แต่งเพลงสู้ไม่ถอยก็ต้องหลบหนีเข้าป่าด้วยเช่นกัน

กาลเวลาผ่านไป ในที่สุด นักศึกษาที่หลบหนีเข้าป่าก็ได้กลับมาสู่อ้อมอกของมาตุภูมิอีกครั้งหนึ่ง แต่ละคนก็มีเส้นทางเดินในชีวิตที่แตกต่างกันไป จนในปี 2532 วงกรรมาชนก็ได้กลับมรวมวงกันอีกครั้งหนึ่งและเปิดการแสดงในหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2532 เนื่องในโอกาสรำลึกถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยการแสดงในปี 2532 นั้นมีเพลง สู้ไม่ถอย อยู่ด้วย และการแสดงในวันนั้นก็ได้ออกเป็นเทปบันทึกการแสดงสดในเวลาต่อมา



อัลบัมบันทึกการแสดงสดของวงกรรมาชน ในปี พ.ศ. 2532


เทปคาสเซ็ตชุดกรรมาชนในยุคแรก รวมทั้งอัลบัมการแสดงสด 2532 ต่างเป็นเทปชุดที่หายากในปัจจุบัน เพลงสู้ไม่ถอยที่เปิดกันในเวที กปปส ปัจจุบันนี้คือเพลงที่นำมาจากการแสดงสดในปี 2532 นั่นเอง และเพลง สู้ไม่ถอย นี้มักเป็นเพลงที่นำมาร้องกันในงานรำลึกถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ของทุกปี

นอกจากนี้ ยังมีข้อเท็จจริงอีกหลายเรื่องที่เราอาจไม่ยังรู้ นั่นก็คือ

ข้อที่ 1.
เนื้อเพลงท่อน

เร็วเร็วมา มาร่วมกันเดิน
เรามาเดิน เหล่าประชาชน...

เพลงท่อนนี้เป็นต้นไป ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเพลง สู้ไม่ถอย แต่เป็นเพลง มาร์ชประชาชนเดิน อันเป็นเพลงในอัลบัม กรรมาชน ชุดที่ 1 เช่นกัน ปัจจุบันเรามักนำมาร้องต่อกันไปจากเพลงสู้ไม่ถอย จนทำให้หลายคนเข้าใจผิดไปว่าเพลงท่อนหลังนั้นคือส่วนหนึ่งของเพลงสู้ไม่ถอย

ข้อที่ 2.
เสกสรรค์ ประเสริญกุล หรือ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุลในปัจจุบัน ไม่ได้มีความคิดเห็นทางการเมืองในแนวทางเดียวกับ กปปส

ข้อที่ 3.
กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ หรือจิ้น กรรมาชน ได้แต่งเพลงให้แก่ นปช หลายเพลงในช่วงปี 2553  เช่น มาร์ชแดงทั้งแผ่นดิน, นักสู้ธุลีดิน, เดิมพัน, ปณิธานแห่งเสรีชน, เอาคืน, สีแดง, วันของเรา ฯลฯ


เพลง สู้ไม่ถอย จากอัลบัม กรรมาชน ชุดที่ 1 ถือว่าเป็นเพลงสู้ไม่ถอยเวอร์ชันดั้งเดิม


เพลง สู้ไม่ถอย จากอัลบัม บันทึกการแสดงสด ปี 2532 เป็นเวอร์ชันที่นำมาเปิดกันในปัจจุบัน


เพลง มาร์ชประชาชนเดิน จากอัลบัม กรรมาชน ชุดที่ 1 ปี 2517



เพลง สู้ไม่ถอย

สู้เข้าไปอย่าได้ถอย มวลชนคอยเอาใจช่วยอยู่
รวมพลังทำลายเหล่าศัตรู พวกเราสู้เพื่อความยุติธรรม
เราเดินเคียงบ่าเคียงไหล่ สู้ต่อไปด้วยใจมุ่งมั่น
เขาจะฟาดเขาจะฟัน เราไม่พรั่นพวกเราสู้ตาย
สู้เข้าไปอย่าได้หนี เพื่อเสรีภาพอันยิ่งใหญ่
รวมพลังผองเราเหล่าชาวไทย สู้เข้าไปพวกเราเสรีชน


เพลง มาร์ชประชาชนเดิน

เร็วเร็วมา มาร่วมกันเดิน
เรามาเดิน เหล่าประชาชน
จงร่วมใจ เดินเข้าไป
จงคว้าชัยมาให้มวลชน
ความตายนั่นหรือ
เราไม่กลัว เราไม่เกรง
ใครมาข่มเหง เราจะสู้เราไม่ถอย
เราจะสู้จนชีพหลุดลอย
ไทยจะต้องเป็นไทย