Thursday, January 17, 2013

17/01/2013 * ดอลลาร์ สรอ เยน ป่วนโลก นักลงทุนรายย่อยไทยจะทำอย่างไร

ค่าเงินบาทจากกราฟรายสัปดาห์ (weekly chart) จะเห็นว่าค่าเงินบาทอยู่ในช่อง SEC (standard error channel) ขาขึ้น (คือแนวโน้มเงินบาทอ่อนค่า) มาประมาณ 2 ปี เพิงจะหลุดกรอบมาเมื่อปลายปี 2012 นี่เอง ซึ่งเป็นช่วงที่อเมริกาออก QE 3 แปลว่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่ามาตั้งแต่ช่วงกลางปีถึงปลายปี 2012 แล้ว  


กราฟค่าเงินบาทที่เป็นกราฟรายวัน จะเห็นว่าเมื่อสองวันก่อนเงินบาทแข็งค่าอย่างฉับพลัน เกิดแท่งเทียนดำใหญ่ (big black candle) สองแท่ง เป็นสัญญาณว่าเงินบาทอาจแข็งค่าต่อไปได้อีก


ช่วงนี้ลุงแมวน้ำไม่ค่อยได้อัปเดตเว็บบล็อก เพราะว่ามัวไปยุ่งกับอีคอมเมิร์ซ ใครมาเห็นโขดหินของลุงแมวน้ำจะต้องตกใจ เพราะว่าหาตัวลุงแมวน้ำไม่เจอ เนื่องจากเห็นแต่สินค้าวางกองเต็มไปหมด ส่วนลุงแมวน้ำก็จมอยู่ในกองสินค้านั่นเอง ขอเวลาอีกสักนิด เรื่องราวใกล้ลงตัวแล้ว อีกหน่อยก็จะมีเวลามากขึ้นและสามารถอัปเดตเว็บบล็อก คุยเรื่องราวต่างๆได้มากขึ้น ^__^

แต่ถึงแม้ว่าจะห่างจากการอัปเดตเว็บบล็อกไปบ้าง แต่เมื่อมีประเด็นที่ลุงแมวน้ำคิดว่าสำคัญ ลุงแมวน้ำก็จะพยายามอัปเดตทางเฟซบุ๊ก มีอะไรก็ไม่ทิ้งกันอยู่แล้ว

ช่วงนี้มีประเด็นร้อนอีกแล้ว นั่นคือเรื่องค่าเงินบาท ที่จริงในปีที่แล้ว 2012 ตั้งแต่สหรัฐอเมริกาออกมาตรการ QE 3 ก็คาดการณ์กันได้แล้วว่าต่อไปเงินดอลลาร์อเมริกัน จะอ่อนค่าลงไปอีก และเงินตราสกุลอื่นๆจะแข็งค่าขึ้นมา รวมทั้งเงินบาทก็มีแนวโน้มจะแข็งค่าด้วย แต่เนื่องจากในปีที่แล้ว สถานการณ์ค่าเงินบาทของเราดูยาก เพราะต้นปีเงินบาทอ่อน กลางปีเงินบาทแข็ง ปลายปีเงินบาททรงตัว ก็เลยดูเหมือนว่าค่าเงินบาทไม่ค่อยมีอะไรมาก

แต่ในความเป็นจริงแล้วในปี 2012 มีทุนต่างชาติไหลเข้ามามาก ส่วนใหญ่เข้าไปอยู่ในตลาดตราสารหนี้ แต่ที่ดูเงินบาทผันผวนไม่มากสาเหตุหนึ่งก็เพราะว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีการรักษาดุลยภาพของเงินบาท โดยมาตรการส่วนหนึ่งก็คือการผ่อนคลายให้ทุนไทยออกไปลงทุนนอกประเทศได้มากยิ่งขึ้น ดังนั้นแม้มีเงินดอลลาร์ สรอ ไหลเข้ามาแต่ก็มาเงินที่ไหลออกไปมากเช่นกัน ดังนั้นอัตราแลกเปลี่ยนจึงไม่หวือหวานัก

แต่อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ต้นปี 2013 ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็วทีเดียว สถานการณ์ช่วงนี้ไม่ค่อยปกตินัก เนื่องจากตามปกติหากเงินดอลลาร์ สรอ อ่อนค่า เงินสกุลหลักอื่น เช่น ยูโร เยน ฯลฯ จะแข็งค่า เพราะอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กัน คือเป็นเชิงเปรียบเทียบ สกุลหนึ่งอ่อน ก็ต้องมีบางสกุลแข็ง รวมทั้งเมื่อดอลลาร์ สรอ อ่อนค่า ราคาทองคำก็มักพุ่งสูงขึ้น

แต่มาในช่วงนี้ สถานการณ์กลับผิดแผกไปจากที่เคยเป็นมา นั่นคือ ดอลลาร์ สรอ อ่อนค่า อันเป็นผลจากมาตรการ QE 3 และ QE 4 (QE 4 คือมาตรการซื้อพันธบัตรที่ขยายมาจากโครงการ operation twist ที่หมดอายุไปแล้ว บางคนก็เรียกขำๆว่า QE 4) แต่ขณะเดียวกัน เงินเยนก็อ่อนค่าลงด้วย เนื่องจากญี่ปุ่นก็ออกมาตรการ QE ฉบับซามูไรด้วยเช่นกัน คือยอมเป็นหนี้สาธารณะเพิ่ม ขอเอาเงินอนาคตมาใช้เพื่อเอาตัวรอดในตอนนี้ไปก่อน ว่าแล้วก็อัดฉีดเงินรอบล่าสุด ประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์ สรอ ที่จริงธนาคารกลางของญี่ปุ่นอัดฉีดสภาพคล่อง หรือใช้มาตรการ QE มาหลายรอบแล้ว การอัดฉีดครั้งใหม่เมื่อต้นปีนี้น่าจะเป็นรอบที่ 10 ซึ่งผลจากการแทรกแซงตลาดด้วยการพิมพ์เงินเพิ่มใส่เข้ามาทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วในช่วงปลายปี 2012

นอกจากนี้ ในช่วงปลายปี ราคาทองคำก็ยังดิ่งลงจนไปเทรดกันที่ประมาณ 1600 ดอลลาร์ สรอ กว่าๆ สถานการณ์จึงกลายเป็นว่าเงินดอลลาร์ สรอ อ่อน เงินเยนอ่อน ราคาทองคำอ่อน

ทางด้านเงินยูโรจึงแข็งค่าขึ้นมา เนื่องจากดังที่บอกแล้วว่าเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องสัมพัทธ์ เงินบางสกุลอ่อนก็ต้องมีบางสกุลแข็ง แต่เนื่องจากกลุ่มยูโรโซนที่ใช้เงินยูโรเองก็มีฐานะทางเศรษฐกิจอ่อนแอ ธนาคารกลางของยุโรปก็ใช้มาตร QE เช่นกัน โดยออกมาในรูปการอัดฉีดสภาพคล่องแก่ประเทศสมาชิกที่มีปัญหาด้วยการเข้าไปช่วยซื้อพันธบัตรเอาไว้ เงินยูโรก็ต้องพิมพ์เงินเพิ่มเพื่ออัดฉีดประเทศที่มีปัญหา ดังนั้นเงินยูโรควรจะอ่อนค่า แต่ที่แข็งค่าขึ้นมาเพราะว่าดอลลาร์กับเยนอ่อน แต่ด้วยปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจยุโรปเองทำให้เงินยูโรแข็งค่าไปไม่ได้มากนัก


ค่าเงินดอลลาร์ พิจารณาจาก USD index (ดัชนีดอลลาร์ สรอ) เงินดอลลาร์อเมริกันอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว เกิดแท่งเทียนดำใหญ่ (blig black candle) บ่งบอกว่าค่าเงินดอลลาร์ สรอ อาจอ่อนลงไปได้อีก


เมื่อมีข้อจำกัดเช่นนี้ ผลก็คือเงินสกุลหลักกับทองคำพากันอ่อน เงินสกุลรองก็ต้องแข็งค่าขึ้นมา และนั่นเองคือสาเหตุที่ทำให้เงินตราสกุลต่างๆทยอยแข็งค่าขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเงินปอนด์อังกฤษ ฟรังก์สวิส โครนกับโครนาของยุโรป ดอลลาร์ออสเตรเลีย ไล่ไปจนถึงเงินสกุลเอเชีย คือ บาท ดอลลาร์สิงคโปร์ วอนเกาหลี ฯลฯ

นักลงทุนหนีจากการถือเงินสกุลที่อ่อนไปถือเงินสกุลที่แข็งกว่า เพื่อรักษาค่าของสินทรัพย์ของตนเองเอาไว้ ดังนั้นเงินจึงไหลออกจาดอลลาร์ เยน ไปสู่เงินตราสกุลอื่น ซึ่งไทยเองก็ได้รับผลจากการไหลของเงินตราด้วยเช่นกัน โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่วันมานี้

ถามว่าเงินต่างชาติเข้ามาแล้วทำอะไร เงินเหล่านี้ก็เข้ามาลงทุน หากเป็นเงินเพื่อการลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริงก็อยู่นานหน่อย แต่หากเป็นเงินพวกหนีร้อนมาพึ่งเย็น หรือว่าพาเงินมาพักชั่วคราว พวกนี้จะไม่ลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริง แต่จะลงทุนในตลาดรอง นั่นคือ ตลาดตราสารหนี้กับตลาดหุ้นนั่นเอง

แล้วต่างชาติได้ผลตอบแทนอะไรบ้าง ได้หลายอย่างเชียวแหละ อย่างแรกคือรักษามูลค่าสินทรัพย์ของตนเองเอาไว้ไม่ให้ด้อยค่าลง ข้อต่อมาก็คือได้กำไรจากผลตอบแทนในตลาดหุ้นหรือตลาดพันธบัตร และเมื่อตอนขายเงินลงทุนออกไปก็ยังได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนอีก

ตอนนี้เงินต่างชาติไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทยจริงหรือเปล่า ลองดูข้างล่างนี้


กราฟและตารางแสดงปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้น เปรียบเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยน จะเห็นในในช่วงไม่กี่วันมานี้มูลค่าการซื้อขายหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นระดับ 5-6 หมื่นลล้านบาทต่อวัน พร้อมกับเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็ว แสดงว่ามีเงินทุนไหลเข้ามาในตลาดหุ้น


แล้วนักลงทุนไทยรายย่อยควรทำยังไง เงินทุนที่ไหลเข้ามาทำให้ตลาดหุ้นขึ้น ถ้าหากมองด้วยทฤษฎีคลื่นของอีเลียต ก็คือการที่ตลาดเข้าสู่คลื่น 3 หรือคลื่น 5 นั่นเอง นักลงทุนก็ควรรู้ว่าต้องทำอย่างไร

แล้วถ้าเงินทุนไหลกลับออกไปล่ะ จะให้ทำยังไง ปกติเงินทุนก็เข้าๆออกๆอยู่แล้ว หากไม่ถึงกับทำให้ตลาดเสียหายก็ว่ากันไปตามแนวโน้ม แต่หากเงินทุนต่างชาติจำนวนมากขายหุ้นออกไปอย่างต่อเนื่อง ตลาดหุ้นก็ต้องกลับทิศเป็นขาลงอยู่แล้ว และนั่นก็เทียบได้กับการเข้าสู่คลื่น 4 หรือคลื่น A นั่นเอง ถึงตอนนั้นก็ต้องทำตามหลักการลงทุนในคลื่นขาลง ตลาดไม่ได้ขึ้นตลอดกาล มีขึ้นก็มีลง เงินต่างชาติเข้ามามากทำให้ตลาดหุ้นขึ้นได้ ตอนออกก็ทำให้ตลาดลงได้เช่นกัน ถือว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่นักลงทุนต้องรับมือให้ได้ เพราะตลาดหุ้นคือเกมที่มีผู้แพ้และผู้ชนะ คนหนึ่งได้เงิน อีกคนต้องเสียเงิน


เปรียบเทียบเงินตราบางสกุล และทองคำ สังเกตว่าช่วงนี้เยนอ่อนค่าอย่างผิดหูผิดตา นั่นคือผลจากมาตรการ QE ฉบับซามูไร และการแทรกแซงค่าเงิ


ลุงแมวน้ำเคยเขียนถึงเรื่องการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์หรือในกองทุนต่างประเทศที่เป็นเงินดอลลาร์ สรอ ในยามเงินดอลลาร์อ่อนมาแล้ว ขอสรุปอีกทีว่า ยามดอลลาร์ สรอ อ่อน ทรัพย์สินที่เราลงทุนเป็นเงินดอลลาร์ คือคำนวณค่าอิงกับเงินดอลลาร์ สรอ ทรัพย์สินนั้นจะราคาไม่ค่อยขึ้น 


เปรียบเทียบเงินตราบางสกุล และทองคำ สังเกตว่าราคาทองคำที่เป็นเงินดอลลาร์ สรอ ขึ้นไป 9.64% แต่ราคาทองคำที่เป็นเงินบาท ทั้งของฟิวเจอร์ส กองทุน ที่ไม่ป้องกันความเสี่ยงค่าเงินได้กำไรน้อยกว่ากองทุนที่ป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน


การลงทุนที่อิงกับเงินดอลลาร์ สรอในช่วงดอลลาร์อ่อนตัวนั้นเราจะเสียเปรียบอัตราแลกเปลี่ยน กำไรมากจะกลายเป็นกำไรน้อย กำไรน้อยจะกลายเป็นขาดทุน แต่หากลงทุนในกองทุนที่ป้องกันความเสี่ยงจะได้กำไรเต็มเม็ดเต็มหน่วย และต้องไม่ลืมว่าในทางร้าย หากขาดทุนผลขาดทุนก็เต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วยเช่นกัน

การซื้อทองคำแท่งก็ลงทุนเป็นเงินบาท สู้กองทุนทองคำที่ป้องกันเสี่ยงไม่ได้เช่นกัน และนอกจากนี้ ช่วงนี้ยางพาราก็เข้าข่ายในด้วย คือราคายางตลาดโลกขึ้นแต่ยางไทยได้กำไรไม่มาก เพราะราคายางของไทยอิงกับราคายางตลาดโตคอมที่เป็นเงินเยน ตอนนี้เยนอ่อน ผลก็จะคล้ายๆกัน

ลองติดตามค่าเงินบาทในวันนี้ (17/01/2013) หากเกิดแท่งเทียนดำใหญ่อีกหนึ่งแท่งจะเข้ารูปแบบ 3 black crows ซึ่งอาจหมายถึงการแข็งค่าโลดของเงินบาท ตามดูกันนะคร้าบ ^__^